eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication

แผนที่นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง

แผนที่เป็นเครื่องมือเชิงอำนาจที่รัฐหรือผู้อำนาจใช้ในการควบคุมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและคนซึ่งมักจะละเลยไม่ให้ความสำคัญ กับการจัดการโดยภาคประชาชนดังจะเห็นได้จากการเลือกแสดงเฉพาะทรัพยากรสำคัญๆในแผนที่ หรือการเลือกที่จะไม่แสดงทรัพยากรหรือเครื่องหมายบางอย่างที่บ่งบอกถึงการจัดการโดยภาคประชาชน    แผนที่นิเวศวัฒนธรรมเป็นแผนที่แสดงระบบนิเวศตามหลักภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระบบนิเวศกำกับอยู่ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของภาคประชาชนในการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรของตนเอง และการอ้างสิทธิของตนในการจัดการด้วยตัวเอง

“แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย” (ฉบับ GPS) ที่โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตและกลุ่มรักเชียงของร่วมมือกันผลิตขึ้นมา เป็นการผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ท้องถิ่นเข้าด้วยกัน   ในแผนที่แสดงให้เห็นระบบนิเวศพื้นบ้านกว่า 438 จุดตลอดความยาว 85 กิโลเมตรตามลำน้ำโขงที่ได้จากการลงสำรวจพิกัดอย่างชัดเจนด้วยเครื่อง GPS แล้วนำมากำหนดจุดลงบนแผนที่ดาวเทียม Landsat ปี 2548 ผสมสีแบบสีธรรมชาติ 345: RGB ขนาดมาตรส่วน 1:40,000    ตำแหน่งนิเวศ 438 จุดดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 11 ระบบนิเวศพื้นบ้านตามที่ได้เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ใน “แม่น้ำโขงแม่น้ำแห่งชีวิตวัฒนธรรม: งานวิจัยจาวบ้าน” ซึ่งประกอบด้วย ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเภทที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ก้อง พื้นที่กลางแม่น้ำ ลั้งหาปลา และเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยระบบนิเวศทุกจุดมีความรู้พื้นบ้านจากการวิจัยประกอบอยู่ไม่ว่าด้านประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ

แผนที่นี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงความไร้พรมแดนของวัฒนธรรม สังคมและระบบนิเวศที่มีอยู่มายาวนาน เป็นสิ่งชี้ว่าเขตพรมแดนที่ฝรั่งเศสได้ขีดกั้นไว้นั้นเป็นมรดกของความขัดแย้งที่แบ่งกั้นเราออกให้เป็น “คนอื่น” ตามแนวคิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่   ในกรณีของลุ่มน้ำโขงตอนล่างหากใช้แนวคิดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และระบบนิเวศมาสร้างแผนที่ของภาคประชาชนให้ครบทั้งลุ่มน้ำจะแบ่งออกได้เป็น 7 เขตตามเขตอารยธรรมในอดีต เช่น เขตสุวรรณโคมคำ เขตศรีโคตรบูน และเขตเจนละ เป็นต้น

แผนที่นิเวศวัฒนธรรมกำเนิดขึ้นจากจากฐานแนวความคิดที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยไทบ้านและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม โดยแผนที่ฉบับแรกที่จัดทำขึ้นคือ “แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย” ซึ่งมีทั้ง ฉบับ GPS    และ ฉบับภาพวาด มันถูกสร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต นักวิจัยไทบ้าน และกลุ่มรักษ์เชียงของ   ปัจจุบันโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตกำลังนำแนวคิดนี้ไปใช้ผลิตแผนที่ในพื้นที่อื่นๆคือพื้นที่อำเภอเชียงคาน-ปากชม นอกจากนี้นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้นำกลุ่มรักษ์เชียงของได้เสนอให้เครือข่ายที่ทำงานเรื่องแม่น้ำโขงทำแผนที่ร่วมกันทั้งลุ่มน้ำ

 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา