eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อุทยานแห่งชาติแม่ยม ที่โลกลืม

ผู้จัดการออนไลน์  7 ตุลาคม 2552

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000118584&Keyword=%bb%e8%d2

ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี [1] ผู้ประสานงานโครงการยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ลุ่มน้ำยม อย่างยั่งยืน



ณ อุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ดงสักงาม ป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่กว่า 20,000 ไร่ ที่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างหนาแน่น มีความอุดมสมบูรณ์ของแมกไม้นานาพรรณ ไม่น่าเชื่อว่าป่าสักทองผืนนี้จะผ่านการสัมปทานมาแล้วถึงสองยุคสองสมัย โดยในช่วงแรกยุคบริษัทฝรั่งอย่างอีสต์เอเชียติ๊ก เข้ามาสัมปทานไม้ประมาณปี 2480 ส่งไม้ไปยังอังกฤษ ไม้ขนาดใหญ่สองสามคนโอบซึ่งมีอายุหลายร้อยปี จึงถูกส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อทำพระราชวัง เรือยอชต์ ฯลฯ

       ยุคสมัยที่สอง บริษัทของคนไทยอย่าง บริษัท ชาติไพบูลย์ ได้รับสัมปทานประมาณช่วงปี 2500 และในปี 2529 พื้นที่กว่า 284,218.75 ไร่ หรือประมาณ 454.75 ตารางกิโลเมตร ได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แพร่ น่าน ลำปาง และพะเยา ต่อมามีการประกาศปิดป่าและยุติการให้สัมปทานป่าในปี 2532 เป็นต้นมา ทำให้ป่าสักทองผืนนี้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง
       
        ป่าไทย ป่าเขตร้อนชื้นของโลก
       
        ประเทศไทย เคยมีพื้นที่ป่าไม้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกถึงแม้จะไม่มีการเปิดให้สัมปทานไม้แล้วก็ตาม ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศผิดเพี้ยนไปไม่ตรงตามธรรมชาติ เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง สืบเนื่องมา ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น การลดลงของป่าไม้ในเขตร้อนชื้นตามแนวเส้นสูงสูตร ส่งผลให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป ในนามที่ทุกคนทราบกันดีคือ ภาวะโลกร้อนนั่นเอง

      ป่าสักทองกับการลดภาวะโลกร้อน
       
        ขณะที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมากับภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เกิดพายุเฮอริเคนในอเมริการุนแรงและถี่ขึ้น เกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรงและถี่ขึ้นในเอเชีย น้ำท่วม ภัยพิบัติเกิดและรุนแรงมากขึ้น เกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมวลมนุษยชาติไม่เพียงเท่านั้น โรคภัยไข้เจ็บที่อุบัติขึ้นมาใหม่ๆ จากภาวะภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้คร่าชีวิตมวลมนุษย์อย่างน่าวิตก และยังมีแนวโน้มที่อันตรายมากขึ้นทุกวัน ป่าไม้ซึ่งทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนเยียวยาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
       
        ดงสักงาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น
       
        ดงสักงาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ไม่เพียงแต่เป็นป่าสักทองธรรมชาติที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยเท่านั้น ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแพร่ สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน โอบอุ้มน้ำเมื่อหน้าฝน และปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงผู้คนในฤดูแล้ง ทำให้แม่น้ำยมมีชีวิตที่ยืนยาวมาจนปัจจุบัน อีกทั้งป่าสักทองกว่า 20,000 ไร่ รวมทั้งป่าเบญจพรรณของอุทยานแห่งชาติแม่ยม 284,218.75 ไร่ ยังได้ทำหน้าที่ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเยียวยาภาวะโลกร้อนได้โดยไม่มีใครเห็นความสำคัญ แต่กลับมีคนจ้องที่จะทำลายมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยในนามการพัฒนาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
       
        ปัจจุบันสภาพป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ที่ฟื้นคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ให้กับมวลมนุษย์ ทั้งพันธุ์พืช สมุนไพร ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพรรณไม้นานาชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าใหญ่น้อย จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสภาพน่าเป็นห่วง 4 ชนิด คือ หมาจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง และยังมีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ตามสมุดปกแดงของ IUCN คือเลียงผา

     ภัยคุกคาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น
       
        การสัมปทานป่าไม้ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อป่าไม้ไทย จนเหลือพื้นที่ป่าไม่ถึง 26 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ป่าสักทองธรรมชาติแก่งเสือเต้นก็หลีกไม่พ้นเช่นกัน หากแต่กาลเวลาได้ฟื้นฟูสภาพป่าสักทองให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าสักทองธรรมชาติที่มีสภาพสมบูรณ์แห่งหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ของประเทศไทย แต่ยังมีโครงการพัฒนาของรัฐในนามโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สันเขื่อนสูงถึง 69 เมตรจากท้องน้ำ ระดับเก็บกักปกติที่ 258 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ความจุประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้จะส่งผลกระทบต่อป่าสักทองธรรมชาตินับหมื่นไร่

       การคุกคามป่าสักทองยุคหลังเริ่มจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยคาดว่าจะมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ 48 เมกะวัตต์ แต่เมื่อผลสรุปออกมาว่าเป็นโครงการที่ไม่คุ้มทุน ในปี 2528 กฟผ. จึงโอนเขื่อนแก่งเสือเต้นให้กับกรมชลประทาน เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการชลประทาน
       
        การคุกคามป่าสักทอง ในนามการพัฒนา
       
        ยุคหลังช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาเป็นเสือตัวที่ห้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรเกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง เขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกลำน้ำถูกปิดกั้นโดยเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเพื่อการชลประทาน หากแต่ผลพวงที่ตามมาคือการเสียพื้นที่ป่า เกิดภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมมากขึ้นทุกปี ขณะที่พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของกำลังไฟฟ้าทั้งประเทศ จนต้องร้องเรียกหาพลังงานนิวเคลียร์ การพัฒนาจึงนำพามาทั้งความเจริญ ความสะดวกสบาย และความล่มสลายของป่าไม้ไทย รวมทั้งชุมชนคนในพื้นที่ที่ต้องสังเวยความล่มสลายของครอบครัวและชุมชนเพื่อการพัฒนาป่าสักทองแก่งเสือเต้น และชุมชนสะเอียบ ก็หลีกหนีไม่พ้นเช่นกัน กรมชลประทานเดินหน้าผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ท่ามกลางการคัดค้านของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน นักพัฒนาเอกชน รวมทั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ในนาม สมัชชาคนจน จนทำให้คณะรัฐมนตรียุคพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีมติในวันที่ 29 เมษายน 2540 ให้ชะลอโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไว้ก่อน


      บทสรุปต้องยุติการคุกคาม สร้างความยั่งยืนให้กับป่าสักทองธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน
       
        รัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 รับรองสิทธิชุมชน และรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะเอียบ ก็มีความเข้มแข็ง เป็นชุมชนตัวอย่างในการปกป้อง พิทักษ์ รักษาป่าสักทองธรรมชาติ ไว้ให้ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน ยังจะมีเหตุผลอันใดอีกเล่าที่จะอ้างการพัฒนาเพื่อทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนนี้ไปได้อีก ประกอบกับการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการลงทุนที่ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจไม่คุ้มทุน จึงเป็นโครงการที่ไม่สมควรได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
       
        นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศยุติการให้เงินกู้เพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้อีกด้วย
ประกอบกับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ทำให้เห็นว่ามีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการลุ่มน้ำยมอีกมากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมในลุ่มน้ำยม อาทิ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การทำแก้มลิง การทำทางเบี่ยงน้ำ การขุดลอก คู คลอง แม่น้ำ การจัดทำสะพานระบายน้ำตามแนวถนนที่ปิดกั้นทางน้ำ การวางแผนระบบการเกษตรที่สอดคลองกับน้ำต้นทุน การสร้างสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

       ทางเลือก ทางออก ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง การจัดการลุ่มน้ำยม มีการศึกษาไว้หมดแล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาลงมือปฏิบัติ เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมากเหมือนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 12,000 ล้านบาท ซึ่งต้องวางรากฐานป้องกันแผ่นดินไหว เพราะจุดหัวงานสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่ยังมีพลังอยู่ เก็บป่าสักทองไว้ให้ลูกหลาน และมวนมนุษยชาติเถิด ดีกว่าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อทำลายป่า ทำลายชุมชน และยังต้องหวาดผวากับภัยร้ายเขื่อนแตกอีกด้วย


 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา