eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนแก่งเสือเต้น... จะดับเส้นชีวิตลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง

นิยม ติวุตานนท์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา / เขียน

ชื่อเขื่อนแก่งเสือเต้นทำให้รัฐบาลนี้ เต้นไปตามกระแสของพวกที่ต้องการให้สร้าง คุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีพูดว่า "อย่าให้ชื่อเป็นเสือมันน่ากลัว เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้มันลื่นหู เพื่อจูงใจให้คนที่คัดค้านการสร้างยอมโอนอ่อนตามไปด้วย"รัฐมนตรีอื่นหลายคน ยังเต้นแร้งเต้นกาที่จะลุ้นให้มีการสร้างให้จงได้

คุณสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประฃากรไทย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะต้องสร้างโดยมี คุณยิ่งพันธ์ มานะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ขานรับเป็นลูกคู่ คุณยิ่งพันธ์ มานะสิการ ไปตรวจราชการกับคุณบรรหาร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดพิจิตร พูดจาโน้มน้าวให้ราษฏรที่มาประชุมเห็นคุณค่าของการสร้างเขื่อน แล้วก็ขอให้ราษฏรลงมติว่า สมควรจะสร้างหรือไม่ ราษฏรก็ยกมือลงมติให้สร้างอย่างพรึบพรับพร้อมเพรียงเป็นเอกฉันท์ แล้วคุณยิ่งพันธ์ ก็สรุปเอาว่านี้คือ "ประชามติ"

ผมรู้สึกเป็นห่วงในการที่ทางราชการขอประชามติจากประชาชน ทั้งนี้เพราะทางราชการจะพูดแต่ผลประโยชน์และส่วนดีด้านเดียว จะไม่พูดถึงผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น คนฟังก็คล้อยตาม นอกจากนี้ ทางราชการสามารถปลุกระดมคนให้มาฟังให้มารับคำชี้แจงอยู่แล้ว จะปลุกระดมคนเป็นจำนวนนับแสนนับล้านก็ยังได้ จะเห็นได้จากจำนวนคนที่มาจากปลุกระดมที่จังหวัดแพร่ พอมีการปลุกระดมครั้งใดมีคนมาเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสน และทางราชการก็ให้พรรคพวกของตัวพูดจาหว่านล้อมตามที่ตนต้องการ และก็ขอประชามติ อย่างนี้ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ก็ได้คะแนนเต็ม

ผมเป็นห่วงการเสนอข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ว่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริง มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ จะเห็นได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาเต้นอย่างเต็มตัวให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลกระทรวงนี้ ก็ผลักดันอย่างเต็มที่ อย่างนี้ ลูกน้องหรือจะกล้าขัดใจเจ้านาย

ผมขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับลุ่มน้ำแม่ยมตอนล่าง เพื่อให้เห็นว่าการมีเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายเส้นทางชีวิตของพวกเขาเพียงใด ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างตั้งแต่ตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรงลงมา ตลอดถึงอำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ไปจนถึงปากน้ำโพ สองฝั่งลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างดังกล่าวนี้ น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำไม่เดือดร้อน กลับเป็นผลดีแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

ผมพูดอย่างนี้ คนที่ไม่ชอบน้ำท่วมคงเข้าใจว่าผมเป็นคนสติไม่เต็มเต็ง ผมพูดตามข้อมูลที่มันเกิดขึ้นตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบัน การที่น้ำท่วมสองฝั่งตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยมนั้น มันพาเอาปุ๋ยธรรมชาติ มาให้ท้องนาของกสิกรทุกแปลง เป็นปุ๋ยที่ไม่ต้องซื้อหาด้วยเงินตรา ข้าวในนามเจริญงอกงามดี ครั้นเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเขาก็จะไถกลบฟางข้าวเพื่อทำไร่ยาสูบ ปลูกผัก และพืชพันธุ์อื่น ๆ ต่อไป ปรากฏว่า ยาสูบและพืชผักเจริญงอกงามได้ผลดี

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้อาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง คือ การจับปลาน้ำจืด เช่น ปลาค้าว ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย วงเวียนชีวิตของปลาน้ำจืดเหล่านี้ คือ ในฤดูน้ำลดมันจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่ตามวังน้ำลึก ที่เป็นแก่งเสือเต้น พอถึงฤดูฝนน้ำไหลหลากลงไปตามที่ลุ่ม มันจะไปตามน้ำเข้าไปในคลองจนถึงถึงตามทุ่งตามท่า ตามป่า ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมตอนล่างดังกล่าวแล้ว มันจะไปวางไข่แล้วก็แพร่พันธุ์เจริญเติบโต และว่ายออกมาเมื่อถึงฤดูน้ำลด พวกชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำยมตอนล่างก็จับปลาเอามาขาย ปลาสร้อย เป็นปลาที่ใช้ทำน้ำปลารสดีที่สุด ปลารากกล้วยก็ใช้ทำน้ำปลาได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากนิยมใช้ปรุงอาหารสด ๆ ปลาค้าว ปลากราย และปลาเนื้ออ่อน ในลำน้ำขุ่นซึ่งไม่มีเขื่อน จะมีรสชาติอร่อยมากกว่าพวกที่เกิดในลำน้ำใส

วงเวียนชีวิตของปลาดังกล่าวถ้าถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนมันจะสูญพันธุ์หรือลดจำนวนลง ทั้งนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง ตั้งแต่อำเภอบางมูลนาก อำเภอชุมแสง ตลอดไปจนถึงปากน้ำโพ แต่ก่อนซึ่งยังไม่มีการสร้างเขื่อนสิริกิต์นั้น คนในสองฝั่งตอนล่างขอลุ่มแม่น้ำน่านได้รับปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อการกสิกรรมเช่นเดียวกับคนสองฝั่งลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง ครั้นมีเขื่อนสิริกิต์แล้ว น้ำไม่ท่วมบริเวณนี้อย่างเช่นเคย ปุ๋ยธรรมชาติที่เขาได้รับนั้นหมดไป

อาชีพเสริม คือ การจับปลาของคนในท้องที่ตำบลทับกฤช ตำบลคลองปลากด ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอาชีพหลัก ก็พลอยหมดสิ้นไปด้วย เพราะไม่มีน้ำขุ่นตามธรรมชาติ พาปลามาแพร่พันธุ์

คนสองฝั่งแม่น้ำยมตอนล่าง ไม่กลัวน้ำท่วม ไม่เกลียดน้ำท่วม เพราะได้ประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เขาไม่เดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมเพราะเขาปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูง ส่วนตามชุมชนซึ่งเป็นย่านการค้านั้น เขาจะทำถนนคันกั้นน้ำ น้ำจะไม่ท่วมบริเวณนี้ หากปีใดน้ำมากก็อาจจะท่วมบ้าง แต่ไม่แช่อยู่นานเหมือนทางภาคกลาง เพราะน้ำมันขึ้นเร็วลงเร็ว เพียง 2 - 3 วันก็แห้งคนเหล่านี้ไม่เดือดร้อน

คนที่ต้องการสร้างเขื่อนเคยทราบ ข้อมูล เหล่านี้หรือไม่ ถ้ายังไม่ทราบก็ควรไปศึกษาและรายงานให้มันตรงกับความจริงด้วย เพื่อจะได้เป็นข้อประกอบในการพิจารณาถึงผลดี และผลกระทบของการสร้างเขื่อน

แต่ถ้าท่านจะอ้างว่า ผลกระทบดังกล่าวเป็นเพียงส่วนน้อยก็ตามใจ

บ้านเมืองเรามักจะทำอะไรตามแบบอย่างของฝรั่ง การสร้างเขื่อนก็เอาแบบฝรั่ง แต่เวลานี้ฝรั่งเขาไม่สร้างเขื่อนอีกแล้ว และจะทุบทิ้งเขื่อนบางแห่งอีกด้วย คือ เขื่อนเอลวา และเขื่อนไกลน์แคนยอน ที่สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะเขาได้รับบทเรียนว่าเขื่อนทำลายสิ่งแวดล้อม และวัฏจักรของปลาแซมมอน เขายอมทุบเขื่อนทิ้งเพื่อรักษาพันธุ์ปลา ส่วนของเรากำลังจะทำลายพันธุ์ปลาน้ำจืดด้วยการสร้างเขื่อน ถ้าเห็นว่าผลประโยชน์ของคนตามลุ่มแม่น้ำตอนล่างเป็นเรื่องเล็กก็เชิญสร้างเขื่อนเถอะ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา