eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ผักพื้นบ้านในป่าเปิง อุทยานแห่งชาติแม่ยม

จันทรา ใจคำมี
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

๒๕ เมษายน ๒๕๔๙           ป่าสวย น้ำใส ทรายขาว คือคำบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยม
ที่เต็มไปด้วยป่าสักทองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามเป็นอย่างมาก รวมทั้งไม้ที่มีค่าอีกหลายชนิด และมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ ๒๘๔,๒๑๘.๗๕ ไร่ หรือ ๔๕๔.๗๕ ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติแม่ยมโดยทั่วไปเป็น เทือกเขาสูงทั้งด้านทิศตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่ แล้วลาดเอียงลงมายังฝั่งแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตอนกลาง เทือกเขาสูงในพื้นที่เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยต่างๆ ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม 

ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู   ปริมาณและการกระจายของฝนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ๒ ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มพัดผ่านระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ทำให้ฝนตกชุก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มพัดผ่านในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน  โดยจะนำอากาศหนาวและแห้งแล้งเข้ามาปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งในช่วงหน้าแล้งจะมีลักษณะอากาศแตกต่างกัน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง จึงทำให้ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวแห้งแล้ง และในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม อากาศร้อนแห้งแล้ง และมีลมพายุฝนในช่วงนี้ด้วย

ด้วยลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศดังกล่าวข้างต้น ได้เอื้อให้เกิดทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าและให้ประโยชน์ต่อผู้คนอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางด้านสุขภาวะของชาวบ้านที่มีพืชสมุนไพรมาก มายมายให้ชาวบ้านนำมารักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมาช้านาน

จากงานวิจัยจาวบ้าน ของ ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว และแม่เต้น ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อนำเสนอคุณค่าของผืนป่าแห่งนี้ให้กับสาธารณชนได้รับรู้และร่วมกันรักและหวงแหน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้สืบต่อไปนั้น นักวิจัยจาวบ้านได้แบ่งลักษณะป่าในพื้นที่นี้ ออกเป็น ๔ ลักษณะด้วยกัน โดยเรียกตามภาษาถิ่นดังนี้คือ  ป่าสักทอง ซึ่งหมายถึงป่าเบญจพรรณ   ป่าแพะหรือป่าเต็งรัง  ป่าเหล่าคือป่าที่ชาวบ้านแผ้วถางทำไร่แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้าไปทำไร่อีกเป็นเวลาหลายปี และป่าเปิง คือป่าที่มีลักษณะของต้นไม้หลายชนิดขึ้นปะปนกัน โดยมีไม้ขนาดใหญ่ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ เป็นต้น และมีไม้พื้นล่างตระกูลไม้ไผ่ เช่น ไม้ซาง ไม้ไร่ เป็นไม้พื้นล่างขึ้นหนาแน่น นอกจากนั้นยังมีไม้ยืนต้นขนาดกลางอย่างต้นผักหวานและไม้เลื้อยอีกหลายชนิด ซึ่งพืชแต่ละชนิดส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารของชาวบ้าน

ในช่วงหน้าแล้งราวเดือน ๖-๗ (มีนาคม-เมษายน) ต้นไม้ในป่าเปิงจะผลัดใบร่วงหล่นทับถมกันและเกิดไฟป่าขึ้นตามธรรมชาติทุกปี เมื่อฤดูกาลเกิดไฟป่าสิ้นสุดลง ทุกสรรพสิ่งในป่าต่างเฝ้ารอให้หยาดฝนเทลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำให้กับผืนป่าที่โล่งเตียน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ป่าเปิง นั้น ให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง

เมื่อป่าได้รับน้ำฝนสีเขียวของต้นพืชก็เริ่มงอกโผล่พื้นดินส่วนไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ก็ผลิใบอ่อนสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า และเป็นสัญญาณบอกกล่าวให้กับชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลาของฤดูกาล พืชอาหารอีกหลายชนิดที่กำลังจะอกมาให้ชาวบ้าน ได้เก็บกินและเก็บขายกันอีกด้วย ซึ่งถึงได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นผลผลิตจากป่าที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในปีหนึ่งๆ ไม่น้อยเลยที่เดียว

พืชอาหารในป่าเปิงนี้มีให้เก็บหมุนเวียนตามฤดูกาลของพืชแต่ละชนิด เช่น หน่อไม้ ดอกก้าน ผักปู่ก้าหรือผักพ่อค้าตีเมีย ดอกอาวหรือดอกกระเจียว ผักขนมเส้น และยังมีเห็ด เช่น เห็ดซาง เห็ดไร่ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วป่าเปิงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น แลนหรือตะกวด ตุ่น หมูป่า เก้ง กระรอก ไก่ป่า นกยูงบ และนกนานาชนิด ป่าเปิงจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน

ในช่วงของเทศกาลปี๋ใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์นี้ พืชอาหารที่ออกมาให้ชาวบ้านได้เก็บกันนั้นเป็นช่วงฤดูกาลของ “ดอกก้าน” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ชาวบ้านใช้เรียกพืชผักชนิดนี้ หรือคนทั่วไปรู้จักกันในชื่อของ “ผักอีรอก” นั้นเอง เมื่อพื้นดินได้รับความชุ่มชื้นจากพายุฝนในช่วงฤดูแล้งนี้ ดอกก้านก็จะเริ่มงอกขึ้นมาสู่เหนือพื้นดินให้ชาวบ้านได้เก็บกินและเก็บขายกัน ดอกก้านเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับบุก ที่มีเหง้าในดิน และเป็นพืชล้มลุก ลักษณะเป็นพืชที่มีลำต้นเป็นก้านยาวประมาณ ๑-๒ ฟุต บางต้นมีสีเขียว บางต้นสีน้ำตาลม่วงและมีลวดลายทั้งต้น มีดอกอยู่ตรงปลายก้าน รูปดอกคล้ายดอกหน้าวัว มีเกสรเป็นรูปแท่งอยู่ตรงกลาง ในช่วงเกสรกำลังตูมอยู่ชาวบ้านจะเก็บมากินและขาย  เมื่อเกสรบาน ลำต้นจะเริ่มแก่และแข็งชาวบ้านไม่นิยมกิน เพราะจะมีอาการคันเมื่อนำมาแกง ส่วนผลมีลักษณะกลมเรียงติดกันเป็นแท่ง ออกด้านล่างของดอก ผลอ่อนสีเหลือง ผลแก่สีส้มแดง

ดอกก้านมีรสชาติหวานมัน ใช้ก้านนำมาแกงใส่ผักชะอม ผักเสี้ยว หรือแกงส้มโดยใช้ยอดและใบส้มป่อยที่ให้รสชาติเปรี้ยวอร่อยกลมกล่อม  และต้องแกงให้สุกและเปื่อย หากแกงไม่นานจะทำให้คันปากหรือคันในลำคอได้

ดอกก้านนอกจากจะเป็นอาหารอันเลิศรสของชาวบ้านแล้ว ดอกก้านยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย โดยชาวบ้านจะเก็บขายเป็นกำหรือเป็นมัด กำหนึ่งประมาณ ๔-๕   ก้าน ขายมัดละ ๕ บาท วันหนึ่งชาวบ้านมีรายได้คนละ ๓๐๐-๕๐๐ บาท ซึ่งจะมีแม่ค้าพ่อค้าขาประจำที่เข้ามารับซื้อทุกปีรับซื้อไปขายยังตลาดในตัวจังหวัดแพร่

ในช่วงนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นในช่วงเดียวกันนี้และยังเป็นพืชตระกูลเดียวกันนั้นก็คือ บุกไข่ เป็นพืชที่พบเฉพาะป่าเบญจพรรณเท่านั้น ซึ่งป่าเปิงที่ชาวบ้านเรียกนั้นคือส่วนหนึ่งของป่าเบญจพรรณนั้นเอง เป็นพืชที่แปลกกว่าพืชชนิดอื่นคือ บนแผ่นใบจะมีหัวเล็กๆ ที่ช่วยในการขยายพันธ์  บุกไข่จะมีกลิ่นทำให้มีแมลงบินมาตอม โดยเฉพาะแมงกุดจี่หรือแมงขี้ควายที่ชาวบ้านเก็บมาประกอบอาหาร ซึ่งนำมาต้มเค็มหรือทอด ในช่วงที่ดอกก้านออกนี้ต้นบุกไข่ก็ออกมากไม่แพ้กัน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทางอาหารในช่วงหน้าแล้งนี้

หลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูกาลเก็บดอกก้านและแมงกุดจี่บุกไข่แล้ว ฝนก็จะเริ่มตกมากขึ้นทำให้มีผักพื้นบ้านอย่างอื่นออกมาให้ชาวบ้านได้เก็บกินและขายกันอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น ผักปู่ก้า ผักขนมเส้น ผักม้วนหมู ผักม้วนไก่ ซึ่งจะมีแม่ค้าพ่อค้าเข้ามารับซื้อกันถึงในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านให้ถิ่นนี้มีอาชีพเก็บหาของป่าอีกอาชีพหนึ่งด้วย

จากคำบอกเล่าของพ่อเล็ก สมวงค์อินทร์  นักวิจัยจาวบ้านของบ้านแม่เต้นซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการเก็บหาผักพื้นบ้านขายมากที่สุด ได้เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านแม่เต้นส่วนใหญ่จะเก็บหาของป่าขายตามฤดูกาลของผักชนิดนั้นๆ เริ่มตั้งแต่เดือน ๕-๖ (กุมภาพันธ์-มีนาคม) ก็จะเก็บผักหวานและสอยไข่มดส้มหรือไข่มดแดง และไข่จักจั่น ตัวจักจั่นขาย เดือน ๗-๘ (เมษายน-พฤษภาคม) ก็เก็บดอกก้าน ผักปู่ก้า ผักขนมเส้นขายกัน นอกจากนั้นก็จะมีหน่อไม้ เห็ดอีกหลายชนิดให้เก็บขายหมุนเวียนกันไป มีรายได้เข้าบ้านวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาท ปีหนึ่งมีรายได้จากการเก็บของป่าเป็นหมื่นบาทขึ้นไป ของกินจากป่ามีมากมายมีให้เก็บกินตลอดทั้งปีไม่อดอยาก หากไม่มีป่าก็ลำบากเหมือนกัน พวกเราจึงรักและหวงแหนป่าแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานวันข้างหน้า ดูได้จากการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของชาวบ้านอย่างยาวนานกกว่า ๑๗ ปี ที่ผ่านมาเพื่อหวังให้มีมรดกที่มีค่าจากธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน”

จากผลงานการวิจัยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเอง เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงได้เผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าทรัพยากรอันมีค่ามหาศาล ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านมาช้านานนั้นกำลังจะกลืนหายไปกลับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ   แม้ปัจจุบันจะมีการระงับโครงการไว้ก่อน หากแต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าโครงการดังกล่าวจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ หากผู้มีอำนาจที่เข้ามาบริหารประเทศรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาอีกโดยการอ้างเพื่อพัฒนาประเทศ ชาวบ้านก็คงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่านี้ไว้อีกเป็นแน่แท้...................... 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา