eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จดหมายเปิดผนึก ถึง  ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

วันที่ 12 สิงหาคม 2554

เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

เรียน ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

จากสถานการณ์ น้ำท่วมลุ่มน้ำยมที่ผ่านมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีการเสนอให้มีการทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ของประเทศไทย ให้มีการบูรณาการแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ อีกทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอให้มีการปรับแก้ระเบียบราชการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนและทันต่อสถานการณ์

เครือข่ายลุ่มน้ำยม ได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์สภาพปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ของลุ่มน้ำยมมาอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะได้มีการทบทวนแผนการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำแบบบูรณาการ และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งเน้นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หัวใจสำคัญของแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ต้องเน้นการพัฒนาที่มาจากชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา การวางแผนการพัฒนาลุ่มน้ำจึงต้องมีมิติแบบองค์รวมไม่มองน้ำแยกส่วนจากทรัพยากรในลุ่มน้ำ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ จึงควรขับเคลื่อนไปด้วยกันในการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำ อาทิ การจัดการที่ดิน การเกษตรบนที่สูง การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโฉดชุมชน การจัดการน้ำชุมชน การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่าชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีในการอนุรักษ์ป่าของพีน้องชนเผ่า ฯลฯ ล้วนเป็นมิติที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ

เครือข่ายลุ่มน้ำยม ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้

1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน โดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ

2.การผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผนและสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม

3.แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีของลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

4.แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในกรณีของลุ่มน้ำยม มีอยู่ 96 ตำบล ใช้งบประมาณไม้เกินแหล่งละ 5-10ล้านบาท ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่

5.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน เป็นต้น

6.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก)

7.การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

8.การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

9.การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง มากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น

จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า แม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว อาทิ ลุ่มน้ำปิง มีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ลุ่มน้ำน่าน มีเขื่อนสิริกิตต์ แต่ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ดังน้ำข้ออ้างที่ว่าหากมีเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน หรือ เขื่อนยมล่าง แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง ในทางกลับกัน เขื่อนขนาดใหญ่ดังกล่าว จะนำไปสู่การทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย กว่า 24,000 ไร่ และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่ รวมพื้นที่ป่าที่จะศูนย์เสียไปกว่า 60,000 ไร่ จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งในการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยม และลุ่มน้ำยม อีกทั้งยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ

1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่า สึนามิหลายเท่า

2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8เปอร์เซ็นต์

3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ดังนั้น เครือข่ายลุ่มน้ำยม จึงขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ยุติการสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่กั้นแม่น้ำยม และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และผลักดันการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำทั้ง 25ลุ่มน้ำสืบต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายลุ่มน้ำยม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา