eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สะเอียบ ร่อนหนังสือถึงอธิบดีกรมชล ให้ยุติการดำเนินการเขื่อนยมบน เขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง)

อ้างผลาญงบประมาณแผ่นดิน ทำลายป่าสักทอง ทำลายแหล่งหากินของชุมชน

เสนอ 12 แนวทางแก้น้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยมอย่างยั้งยืน

สะเอียบ แพร่ / 28 เมษายน 2556

                เช้าวันนี้ (28 เมษายน 2556) เมื่อเวลา 07.00 น. ชาวบ้าน ต.สะเอียบ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่ศาลาวัดดอนชัย บ้านดอนชัย หมู่ 1 ต.สะ เอียบ อ.สอง จ.แพร่ เกี่ยวกับเรื่องการที่กรมชลประทานได้มีหนังสือเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านบางคน เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง) จ.แพร่ ซึ่งชาวบ้านได้มีมติไม่เข้าร่วมและ ไม่ให้ความร่วมมือกับโครงการเหล่านี้มา อย่างต่อเนื่อง จนกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ที่มาทำการศึกษาผลกระทบต่างๆ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีรายงานสรุปออกมาว่าเห็นควรให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

                เมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ กรมชลประทานก็มีการเริ่มผลักดันโครงการเขื่อนยมบน และเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง) ขึ้นมาแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองเขื่อน เว้นตำบลสะเอียบไว้ไม่ให้น้ำท่วมกว่า 1,000 ครัวเรือน แต่ยังท่วมที่ทำกินและป่าสักทองอยู่เหมือนเดิม จึงทำให้ชาวบ้านตำบลสะเอียบยังคงยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง มาอย่างต่อเนื่อง

                นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ กล่าวว่า "กรมชลประทานใช้วิธีเดิมๆ จ้างบริษัทที่ปรึกษามาจัดเวทีต่างๆ แล้วก็ไปสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วย ตัวอย่างเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มีมหาวิทยาลัยมหิดลมาจัดเวทีที่อำเภอสอง แล้วก็สรุปเป็นเล่ม 200-300 หน้า สรุปออกมาว่าสมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่เราชาวสะเอียบ ยกขบวนไปคัดค้านด้วยเหตุด้วยผล จนทั้งเวทีก็ตอบคำถามชาวสะเอียบไม่ได้ แต่ข้อสรุปก็ยังออกมาเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เหมือนเดิม เรามารู้ทีหลังว่ามหาวิทยาลัยมหิดลถูกกรมชลประทานจ้างมาอีกต่อหนึ่ง ผลาญเงินไป 80 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นกรมชลได้ศึกษาออกแบบเขื่อนแก่งเสือเต้นใช้เงินไปกว่า 200 ล้านบาท ผลาญงบประมาณแผ่นดินเงินภาษีของเราทั้งนั้น" นายสมมิ่งกล่าว

                ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ได้มีมติให้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่าง เกี่ยวกับเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) เขื่อนแก่งเสือเต้น และขอให้ยกเลิกการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งคืนงบประมาณการดำเนินการให้กับแผ่นดิน โดยเสนอแนวทางแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมอย่างยั้งยืนทั้ง 12 แนวทางอีกด้วย

                ด้านนายวิชัย รักษาพล ประธานคัดค้านเขื่อนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "กรม ชลประทานไม่เคยฟังชาวบ้านเลย ดื้อ เอาแต่ใจตัวเอง สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ จนด้วยเหตุผล ก็จะมาขอสร้างเขื่อนยมนบยมล่าง ท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินของพี่น้องสะเอียบเหมือนเดิม ไม่ยอมหนีไปไหน เราเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาทั้ง 77 ลำ น้ำสาขา ก็ไม่ยอมทำ จะเอาเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเดียว งานวิจัย นักวิชาการต่างๆ ก็ศึกษามาแล้วว่าไม่คุ้มทุน กระทบต่อป่าสักทองอย่างรุนแรง ป่าไม้เรายิ่งเหลือน้อยยังจะคิดมาทำลายป่าอีก ผมว่าซักวันหนึ่งกรมชลนี่ต้องถูกเผาเหมือนปลอดประสพ" นายวิชัยกล่าว

                โครงการเขื่อนยมบน และเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง) ทั้งสองเขื่อนมีแผนที่จะสร้างที่ อำเภอสอง จ.แพร่ ความจุน้ำ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับกักเก็บที่ 230 ม.รทก.และที่ 258 ม.รทก ท่วมพื้นที่ประมาณ 31,856 ไร่ ซึ่งกระทบต่อป่าสักทองธรรมชาติและป่าเบญจพรรณ รวมทั้งที่ทำกินของชาวสะเอียบ อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงที่สำคัญเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่นเรศวรผืนป่าแม่วงก์อุทยานแห่งชาติ แม่วงก์ ที่มีนกยูงหนาแน่นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

                นางสุดารัตน์ ไชยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า "กรม ชลประทานควรล้มเลิกความคิดที่จะสร้างเขื่อนเหล่านี้ได้แล้ว ชาวบ้านที่นี่ร้อยเปอร์เซ็นต์คัดค้านมาตลอด เพราะเห็นว่ากระทบกับป่าสักทอง กระทบกับที่ทำกินของชาวบ้าน และยังท่วมแหล่งทำมาหากินของชุมชน รวมทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงไทย ควรอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานโดยหาวิธีการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้แล้ว เราเสนอแนวทางไปตั้ง 12 แนวทาง ทำไมไม่ทำ ทั้งแก้มลิง ทั้งทางเบี่ยงน้ำ การสร้างอ่างตามลำน้ำสาขากระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม หรือเงินทอนมันน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่" นางสุดารัตน์ กล่าว

                หนังสือที่คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ส่งถึงอธิบดีกรมชลประทาน ยังระบุอีกว่า กรมชลประทาน และหรือ บริษัทที่ปรึกษา ได้ขโมยรูปภาพของชาวสะเอียบไปตีพิมพ์เป็นเอกสารสรุปโครงการและเอกสารโฆษณา โครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ซึ่งเป็นการไม่มีคุณธรรม และขาดจริยธรรม หากยังนำไปพิมพ์เผยแพร่อีก ชาวสะเอียบก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องตามสิทธิ์ต่อไป

ศูนย์ประสานงานชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา