eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แม่ยม แม่แจ่ม แม่ขาน โป่งอาง ร่วมใจบวชป่าสักทอง

ทำพิธี พุทธ คริสต์ ปกป้องป่า ร่วมใจคัดค้านโครงการเขื่อนยมบน-ยมล่าง

เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนโป่งอาง เตือนรัฐบาลอย่าง่าว หยุดทำลายป่า หยุดทำลายชุมชน

สะเอียบ แพร่ /////

                เช้าวันนี้ (5 ตุลาคม 2556) ที่ดงสักงาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้มีชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ จากอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และชาวบ้านสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ร่วมร้อยคน ได้ร่วมกันจัดพิธีบวชป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ณ ดงสักงาม ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง ในโมดูล A1 ภายใต้งบประมาณ สามแสนห้าหมื่นล้านบาทของ กบอ.

                โดยมีพิธีกรรมสองศาสนา ในทางพุทธศาสนาได้มีพระสงฆ์ 5 รูป สวดบทเอสาหังและไชยันต์โต จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันนำผ้าเหลืองไปผูกที่ต้นไม้ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่าป่าผืนนี้ได้บวชแล้ว หากใครมาทำร้ายจะบาบหนักเสมือนหนึ่งว่าฆ่าพระสงฆ์ จากนั้นได้มีพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา อธิษฐานอวยพรป่า และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า จากนั้นได้นำไม้กางเขนผูกกับต้นไม้ เสมือนหนึ่งว่าพระเจ้าได้ปกป้องผืนป่านี้เพื่อมนุษย์โลกและธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักสืบไป การบวชป่าของชาวบ้านสะเอียบได้มีการจัดต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี แต่ในปีนี้พิเศษที่มีพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาโดยพี่น้องปกาเกอะญอ จากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ มาร่วมบวชป่าด้วย โดยได้นำไม้กางเขนผูกกับต้นไม้ และมีการสวดสรรเสริญพระเจ้าอวยพรป่าให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง

                นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า "พี่น้องชาวสะเอียบ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พี่น้องชาวปกาเกอะญอได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และได้มาร่วมบวชป่าทั้งในทางพุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างหรือเขื่อนแม่น้ำยม ซึ่งคือเขื่อนแก่งเสือเต้นแบ่งออกเป็น 2 เขื่อน และพี่นองแม่แจ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม หรือเขื่อนผาวิ่งจู้ จะได้ร่วมมือกันคัดค้านเขื่อนดังกล่าวจนถึงที่สุด เพราะเขื่อนทำลายป่า ทำลายชุมชน ทั้งที่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง อีกมากมาย เราได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่รัฐบาลและ กบอ. ก็ไม่ใส่ใจ ดันทุรังจะสร้างเขื่อนทำลายป่าอยู่ได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ กบอ.ฟังชาวบ้านบ้าง ไม่ไชเอะอะอะไรก็จะสร้างเขื่อน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อเมริกาเขารื้อเขื่อนทิ้ง แต่ทำไมประเทศไทยจะสร้างเขื่อนจัง เปิดหูเปิดตาดูโลกเขาบ้าง เราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับรัฐบาลในการสำรวจ ศึกษา หรือแม้แต่การประชาวิจารณ์ หากรัฐบาล หรือบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ไชน่าไทยจีน ยังดื้อด้าน เราคงต้องใช้มาตรการสะเอียบ อย่างเข้มข้นตอบโต้ต่อไป" นายสมมิ่งกล่าว

                นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้นาย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พวกเราพี่น้องปกาเกอะญอ ขอเรียกร้องไปยังกรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณายกเลิกโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และเขื่อนอื่นๆ ในทุกแผนงาน โดยหันมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมแต่ละลุ่มน้ำ ที่ไม่กระทบกับสิทธิบุคคลและชุมชน และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอู่อาทรของพวกเรานายทะนงศักดิ์ กล่าว

                ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านอ่านปฏิญญาป่าสักทอง ซึ่งระบุถึงชาวบ้านจะไม่ยอมจำนนท์กับการทำลายป่าอีกต่อไป และชาวบ้านจะร่วมกันคัดค้านเขื่อนที่ทำลายป่า ทำลายชุมชน จากนั้นคณะของชาวบ้านได้เดินทางต่อไปยังจุดชมวิวเพื่อไปดูป่าสักทองมุมบนจากยอดเขาและ กลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันที่ศาลาวัดดอนชัยอีกหนึ่งวัน

                ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า โครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) อ.สอง จ.แพร่ และโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, โครงการเขื่อนแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, โครงการเขื่อนโป่งอาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อยู่ใจโมดูล A1 ของ กบอ. ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ที่รัฐบาลได้วางแผนจัดการน้ำทั้งประเทศ หลังจากเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา

………..………..……….. ………..………..………..

 

ปฏิญญาป่าสักทอง

ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ได้สิ้นสุดลงแล้ว

หยุดการพัฒนาที่บ้าคลั่ง หยุดการพัฒนาจอมปลอม หยุดทำลายป่า หยุดทำร้ายชุมชน

                พวกเรา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้นแปลงร่างแบ่งออกเป็น 2 เขื่อน อำเภอสอง จังหวัดแพร่, ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนโป่งอาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มาพร้อมกันในวันนี้ เพื่อประกาศให้รู้ว่า เรา จะไม่ยอมจำนนท์กับการพัฒนาจอมปลอม ที่ทำลายป่า ทำลายชุมชน อีกต่อไป

                ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้มีแผนงานในการสร้างเขื่อนอีกไม่น้อยกว่า 22 เขื่อน ขณะที่ประเทศอเมริกาได้รื้อเขื่อนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ พวกเราจะไม่ยอมให้นักการเมืองโกงกิน ทำลายป่า ทำลายชุมชนอีกต่อไปแล้ว บทเรียนจากเขื่อนปากมูล บทเรียนจากโครงการโขง ชี มูล ในภาคอีสาน ได้ทำลายป่า ทำลายชุมชน จนทุกวันนี้น้ำท่วมภาคอีสาน รัฐบาลยังไม่สำเหนียกอีกหรือ รัฐบาลที่ผ่านๆ มา คิดแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ สร้างเขื่อน สร้างเขื่อน แล้วทำไม น้ำจึงท่วมหนักขึ้น แล้งหนักขึ้น ไม่รู้กันบ้างเลยหรือ

                พวกเรา ชาวบ้านผู้มีชะตากรรมเดียวกัน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เลิกคิดทำลายป่า หยุดทำลายชุมชน หยุดอ้างการพัฒนาจอมปลอม หันกลับมาเยียวยาพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทั่วประเทศ ให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา พี่น้องเราได้เสียสละเพื่อการพัฒนาจอมปลอมมามากพอแล้ว อย่าได้ง่าวอีกต่อไป

                พวกเรา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนากใหญ่ หันกลับมาใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้องค์ความรู้ของบรรพบุรุษเรา ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และแนวทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย

                พวกเรา ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการพัฒนาจอมปลอม พวกเราจะร่วมมือกันหยุดยั้งการทำลายป่า หยุดยั้งการทำลายชุมชน จนถึงที่สุด

ด้วยจิตรคารวะ

ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน

5 ตุลาคม 2556 ณ ดงสักงาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา