eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“คลองกระบุรี: แม่น้ำนี้สองแผ่นดิน”

สุมาตร ภูลายยาว  searin
ตีพิมพ์ครั้งแรกจุดประกายปริทัศน์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๗

แม่น้ำบางสาย-ลำคลองบางแห่ง-ห้วยบางที่ คือเส้นแบ่งระหว่างชุมชน หมู่บ้าน จังหวัด แต่หากลองนับไล่เรียงดูแล้ว มีแม่น้ำสักกี่สายที่เป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนระหว่างประเทศ?

หากทางภาคเหนือของประเทศไทยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนระหว่างประเทศ ภาคใต้ก็มีแม่น้ำกระบุรีเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย

แม่น้ำกระบุรีหรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า คลองกระ มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในเขตอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และไหลเรื่อยลงมาจนถึงจังหวัดระนอง และไหลไปออกสู่ทะเลอันดามันที่บริเวณปากน้ำระนอง ด้วยความยาวราว ๙๐ กิโลเมตร

ในช่วงที่แม่น้ำกระบุรีไหลลงมาจากชุมพรนั้น แม่น้ำสายนี้ก็ไหลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่า

ยามเที่ยงวันของปลายฤดูหนาวทางภาคเหนือที่ยังคงมีอากาศหนาวเย็น แต่ทางภาคใต้กลับร้อนแรงด้วยแสงแดด และรอยอาลัยต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สึนามิปลายปีที่ผ่านมายังคงวนเวียนอยู่ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปภายหลังโศกนาฏกรรม

“ตอนนี้คลองกระมีปลาแปลกๆ เข้ามาเยอะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ปลาที่ไม่เคยเห็นก็เข้ามา ปลาที่เคยเห็นแต่ไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้วก็เข้ามา” สมนึก เชือนเชื้อ คนหาปลาบ้านบางกุ้ง ตำบลน้ำจืด ซึ่งเพิ่งจะพายเรือเข้าเทียบท่าเล่าให้ฟัง

สมนึกยกตระกร้าสำหรับใส่ปลาจากเรือขึ้นสู่ฝั่ง ในตระกร้าใบย่อมมีปลาหลากชนิดอยู่เกือบเต็ม

“ปลาคลองกระนี่ แต่ละฤดูมันไม่เหมือนกันนะ” สมนึกเริ่มเล่า

“ปลามันตามน้ำ อย่างช่วงหน้าฝน น้ำจืดไหลลงมาเยอะปลาน้ำจืดก็ลงมา หน้าฝนหนักๆ น้ำจืดดันน้ำเค็มลงไปเกือบถึงปากน้ำโน่น อีกราวๆ ๓๐ กิโลจากที่เรายืนอยู่นี่ แต่หน้าแล้งน้ำทะเลหนุนก็จะเป็นปลาน้ำเค็มขึ้นมาจากทะเล ปูทะเลก็ขึ้นมาด้วย ปูเยอะ เมื่อก่อนชาวบ้านใช้แร้วดัก แต่ปูมันหลุดออกไปได้ ก็เลยใช้ลอบ ทีนี้ปูก็หนีไปไม่ได้แล้ว ขายได้กิโลละร้อย

“โดยมากชาวบ้านเราก็จับปลากันทุกบ้าน จับปลาแค่พอกิน เหลือก็เอาไปขายที่ตลาดในอำเภอบ้าง นิดๆ หน่อยๆ ที่จับปลาเป็นอาชีพอย่างเดียวเลยนี่ไม่ค่อยจะมี เพราะมีสวนกันอยู่แล้วแทบทุกบ้าน” ชายหนุ่มอดีตชาวเพชรบุรีซึ่งเปลี่ยนตัวเองมาเป็นชาวระนองอธิบายด้วยสำเนียงเหน่อแบบเพชรบุรีให้ฟัง

“ปลาพวกนี้ถึงตัวไม่ใหญ่แต่ก็อร่อย ปลอดภัยกว่าปลาจากเรือใหญ่ที่เขาใส่ฟอร์มาลีน ลุงไปเห็นเขาใส่กันเพราะใช้น้ำแข็งน้อยกว่า ปลาก็ไม่เสียง่าย ไม่คิดถึงคนกิน ไปเห็นกับตานี่ไม่กล้ากินเลย กินปลาเล็กแบบนี้สบายใจกว่า” ลัด ธนบัตร ที่นั่งอยู่ข้างๆ เล่า พลางชูให้ดูปลาดาบเงิน- ดาบทอง ตัวแบนยาวสีเงินเลื่อม หน้าตาเหมือนสัตว์ประหลาด ไม่คุ้นเคยสำหรับคนที่มาจากภูเขาอย่างเรา

“กุ้งก้ามกรามนี่เมื่อก่อนจับได้กันทีละหลายกิโล ตัวใหญ่ๆ กันทั้งนั้น ผมว่ากุ้งที่คลองกระน่าจะเยอะเท่าๆ กับที่แม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อน หมู่บ้านนี้ถึงได้ชื่อบางกุ้ง หน้าฝนกุ้งลงมาจากต้นน้ำ ตามน้ำจืดลงมา จับกินกันไม่หวาดไม่ไหว” ลุงลัด เล่าถึงวันวาน แสงแดดยามบ่ายเจิดจ้าเหนือผิวน้ำแวววาว ใบหน้าของผู้เล่าดูอ่อนวัยลงเมื่อนึกถึงวันคืนแห่งความอุดม

“แต่เดี๋ยวนี้กุ้งก้ามกรามเหลือน้อยแล้ว มีแต่กุ้งเลี้ยง เขามาทำนากุ้งกันหมด”

นากุ้งจำนวนมากเข้ามารุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลน และเรียงรายไปตามริมฝั่งน้ำนับวันจะมากขึ้นทุกวัน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมามีนายทุนเงินหนาพากันมากว้านซื้อที่ดินทำนากุ้งเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ที่ริมฝั่งน้ำส่วนมากจึงกลายเป็นนากุ้งของนายทุนต่างถิ่น

ด้วยธรรมชาติของน้ำในคลองกระบุรีที่ถ่ายเทไหลออกทะเลอย่างรวดเร็วทำให้เจ้าของนากุ้งสามารถปล่อยน้ำเสียออกจากบ่อลงสู่แม่น้ำโดยตรง การปล่อยน้ำเสียจากนากุ้งลงสู่ทะเลนั้น เจ้าของนากุ้งไม่มีการบำบัดน้ำเสียในบ่อพัก การปล่อยน้ำเสียจากบ่อกุ้งลงสู่น้ำกระบุรีจึงนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของแม่น้ำสายนี้ รวมทั้งนานาชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำ

“โลมาหัวบาตรแบบที่ออกทีวีเป็นข่าวที่บางปะกงน่ะ ที่คลองกระนี่ก็มี เคยขึ้นมากันทุกปี ช่วงเดือนกุมภาถึงเมษา ตอนนี้น้ำคลองเริ่มเสียจากนากุ้งก็เลยไม่ค่อยเห็นแล้ว เหลืออยู่แค่ ๒ ฝูง มีกัน ๔-๕ ตัว” สมนึกเล่าให้ฟังพลางขนตระกร้าปลาขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปยังตลาดที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน

วงสนทนากันระหว่างคนแปลกหน้ากับเจ้าของถิ่นจบสิ้นลง เมื่อรถมอเตอร์ไซค์คันนั้นวิ่งหายลับไปจากสายตา

เรือแจวลำน้อยของลุงลัดพาพวกเราออกสู่แม่น้ำ หลังจากคุณลุงตกลงใจเอื้อเฟื้อไมตรีพาคนต่างถิ่นช่างซักอย่างพวกเราขึ้นไปดูแม่น้ำถึงหน้าอำเภอกระบุรี ซึ่งต้องเอาเรือทวนลำน้ำขึ้นไปราว ๓-๔ กิโลเมตร

ลุงลัด แม้จะดูมีอายุ แต่พอได้นไปยืนอยู่บนเรือแล้ว มือทั้งสองข้างก็จับกุมหางเสือเรือและเริ่มบังคับหางเสือเรืออย่างมั่นคง

บนริมฝั่งน้ำใบแหลมเรียวสีเขียวของต้นจากมากมายพลิ้วไหวเจิดจ้าอยู่ใต้แสงแดดอันระอุร้อน ชาวบ้านแถบนี้แทบทุกหลังคาเรือนทำสวนจากเป็นอาชีพรอง อาชีพหลักคือการทำสวนยางเพราะความที่จากแถบนี้เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าใบใหญ่ ต้นจากจึงถือว่าสัญลักษณ์ของแม่น้ำกระบุรีที่คนจะกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อถึงนึกแม่น้ำสายนี้

“ต้นจากนี่แต่เดิมมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ชาวบ้านก็มาปลูกเพิ่มอีกจนเป็นสวน ใบจากอ่อนๆ ใช้มวนยาสูบดี แต่ละวันนี่ก็มีคนมารับซื้อเหมาสวนกันเลยทีเดียว คนมาซื้อจากออกจากสวนยอดละ ๗ บาท เอาไปขายก็ไปบวกกำไรเพิ่ม จากที่นี่ถึงอีสานโน่น เอาไปเป็นยอด พอไปถึงก็ค่อยกรีดเอาใบอ่อนออกมาตาก ขายกันตั้ง ๓๐ บาท แต่เราขายออกจากสวนได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว” ลุงคนหนึ่งเล่าพลางแบกยอดจากก้านยาวขึ้นจากเรือมากองไว้ริมถนนเพื่อรอคนรับซื้อที่กำลังเดินทางมา

ในเปลวแดดอันร้อนแรงที่เต้นเริงร่าอยู่เหนือผืนน้ำ คนขับเรือได้บังคับเรือน้อยตัดเกลียวคลื่นเลี้ยวเข้าสู่สวนจาก เรือมุ่งหน้าไปตามแถวต้นจากที่ถูกแหวกออกให้เป็นทางสัญจรดูไปดูมาเหมือนเป็นซอยเล็กๆ พอให้เรือบรรทุกยอดจากวิ่งเข้า-ออกได้

“ขึ้นมาดูสิ นี่แหละโรงน้ำตาลจาก” ลุงลัดว่า พลางผูกเรือไว้ริมตลิ่ง

เหนือตลิ่งน้ำ โรงเรือนขนาดย่อมมุงหลังคาใบจากตั้งอยู่บนเนิน กลางโรงเรือนมีเตาดินพื้นบ้าน ๓-๔ เตา ทำจากไม้ไผ่สานฉาบดินเหนียว กระทะโลหะใบใหญ่และกระบอกไม้ไผ่มากมายห้อยระโยงระยางอยู่ข้างเสา บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ในสวนแห่งนี้

“ช่วงนี้เขาพักกัน ไม่มีน้ำตาล เขาทำน้ำตาลกันช่วงปลายฝน พอลูกจากออกช่อชาวบ้านก็จะตัดยอดลูกจาก เอากระบอกไม้ไผ่ไปรองไว้ พอน้ำจากยอดลูกจากเต็มกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาน้ำที่ได้มาเคี่ยวจนงวดในโรงนี่ พอมันงวดแล้วก็จะได้น้ำตาล บางคนก็ส่งน้ำตาลที่ได้จากต้นจากขาย พอได้เงินซื้อข้าว ส่งลูกเรียน” ลุงลัดว่าพลางพาพวกเราลัดเลาะเข้าไปดูยอดลูกจากในสวน ที่มีต้นจากขึ้นอยู่ระเกะระกะสุดลูกหูลูกตา

ออกจากสวนจาก เรือลำเล็กก็มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ผ่านป่าลำพูซึ่งนอกจากเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อยแมลงเรืองแสงแสนสวยยามค่ำคืนแล้ว ป่าลำพูที่ทอดยาวริมน้ำนี้ยังเป็นบ้านของลิงแสมที่ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีอยู่มากมาย แต่บัดนี้จำนวนค่อยลดลงเรื่อยๆ เพราะนานวันป่าธรรมชาติก็ถูกบุกรุกเป็นนากุ้งมากขึ้นทุกที

มองข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งพม่า ไม่ค่อยมีบ้านเรือนให้เห็นมากนัก ผืนป่าฟากโน้นยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่มาก

“บางที่ชาวบ้านก็ข้ามไปจับปลาฝั่งโน้นบ้าง เพราะยังอุดมสมบูรณ์ ปลาไปอยู่เยอะ ฝั่งโน้นไม่ค่อยมีหมู่บ้านด้วย คนอยู่กันน้อย มีอยู่กันเยอะหน่อยก็ที่ตรงข้ามกับอำเภอกระบุรี” ลูกคลองกระเล่าพลางเบี่ยงหัวเรือหลบคลื่นจากเรือใหญ่ที่แล่นสวนมา

บนเรือมีคนจากฝั่งพม่าโดยสารกันอยู่จนแทบจะล้นลำเรือ ที่เราบอกได้เพราะสาวๆ ที่นั่งหน้าแฉล้มกางร่มอยู่บนหลังคาเรือต่างทาแป้งพม่าแก้มสีเหลืองนวลละออ คล้ายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกชนชาติ

“เมื่อก่อนชาวบ้านก็อยู่กันทั้ง ๒ ฝั่ง ข้ามไปข้ามมาไม่มีเขตประเทศ ตอนนี้บางคนก็ยังมีญาติๆ อยู่ฝั่งโน้นบ้าง คนไทยที่ไปตกข้างอยู่ฝั่งโน้นเพราะพากันกลับมาประเทศไทยไม่ทันในช่วงที่แบ่งพรมแดนประเทศ”

ลุงลัดพาเรือเข้าจอดที่ท่าเรือหน้าตลาดอำเภอ ซึ่งเป็นท่าเรือเล็กๆ มีเรือแจวจอดอยู่ ๓-๔ ลำ ที่ท่าเรือ หนุ่มสาวจากฝั่งพม่าเดินกันไปมาหลายคน บางคนก็กำลังหอบหิ้วสินค้ากลับสู่เรือเพื่อข้ามไปยังบ้านของตนเอง

“ตรงนี้เป็นจุดผ่อนปรน คนแถวนี้ข้ามไปมาซื้อของได้ตามสะดวก ในตลาดก็มีคนจากฝั่งโน้นมาซื้อของกันเยอะ เหมือนเป็นเพื่อนบ้านกันนั่นแหละ” พ่อค้าร้านขายของชำที่หน้าตลาดเล่าพร้อมกับบอกด้วยความห่วงใยเนื่องจากเห็นเป็นคนต่างถิ่นว่า “แต่ถ้าไม่เคยไปก็อย่าข้ามไปฝั่งโน้นเลย เดี๋ยวจะโดนจับได้”

ที่ท่าน้ำฝั่งพม่า เรือประมงขนาดใหญ่หลากสีหลายลำจอดอยู่ สอบถามชาวบ้านแถบนั้นได้ความว่าเรือเหล่านี้ออกไปหาปลาในทะเลอันดามัน ช่วงที่มีคลื่นยักษ์สึนามินั้น คลื่นได้เข้ามาตามแม่น้ำถึงแถบนี้จนทำให้เรือใหญ่ที่จอดอยู่อับปางลงถึง ๒ ลำตรงหน้าท่าน้ำนี่เอง

ระหว่างการเดินทางกลับ คลื่นจากเรือพัดมาอีกหลายระรอก เรือหาปลาขนาดกลางหลายลำแล่นเป็นสายผ่านไป เรือเหล่านี้ไม่มีหลังคา มีเพียงร่มผ้าใบคุ้มกันแดดให้แก่คนขับเรือ

“เรือตกหมึก เห็นไหมน่ะมีแขนแขวนหลอดไฟพับอยู่ตรงกลาง เวลาตกหมึกก็กางออก เปิดไฟสว่างล่อหมึก หมึกมันชอบเล่นไฟ” ลุงลัดว่า

“พวกนี้เขามากันจากฝั่งอ่าวไทยโน่นแน่ะ ขนเรือใส่รถบรรทุกข้ามมาจนถึงคอคอดกระ ไม่กี่สิบกิโล แล้วก็ลงน้ำคลองกระ แล่นออกไปหาปลาที่อันดามัน มากันทีหนึ่งอยู่หลายเดือน”

เรือประมงข้ามถิ่นเหล่านี้จะมากันช่วงหน้าหนาว พอถึงหน้ามรสุมก็กลับไปหาที่อ่าวไทยอีกครั้ง เหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

นอกจากเรือขนาด ๕ ตันที่เราเห็นอยู่นี่แล้ว เรือใหญ่ขนาด ๒๐ ตันก็ยังข้ามฝั่งผ่านคลองกระมาเก็บเอาสินในน้ำจากทะเลอันดามันเพื่อยังชีพ

บนลำน้ำสายนี้ เรือแจวเล็กๆ ก็หาปลาเล็กปลาน้อยริมฝั่ง ส่วนเรือใหญ่ก็ออกไปหาในทะเลกว้าง ต่างก็ได้พึ่งพาแม่น้ำ

ภาพของเรือลำใหญ่ค่อยๆ วิ่งเรียงแถวล่องตามน้ำมุ่งหน้าสู่ทะเลใหญ่จนลับสายตาไป เป็นภาพที่คุ้นเคยของชาวบ้านแถบนี้เป็นอย่างดี

กระบุรี แม่น้ำสองแผ่นดินสายนี้ยังคงไหลเรื่อย กิ่งลำพูโน้มลงเรี่ยผิวน้ำ ใต้น้ำนั่นเป็นบ้านของปลามากมาย เช่นเดียวกันกับหลายๆ ชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ แม้คืนวันอันอุดมจะค่อยๆ ถูกรุกรานเข้ามาทุกที

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา