eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ระบบเหมืองฝาย: การจัดการน้ำของคนล้านนา”
สุมาตร ภูลายยาว โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต - SEARIN

ระบบเหมืองฝาย เป็นระบบการจัดการน้ำระบบหนึ่ง โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการ การทำเหมืองฝายแยกออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวฝาย ส่วนนี้ทำไว้เพื่อกั้นน้ำ ให้ระดับน้ำสูงขึ้น ส่วนที่ ๒ คือ ลำเหมือง ส่วนนี้จะมีการขุดดินเพื่อเป็นคอลงส่งน้ำไปตามที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ตอนท้ายของลำเหมือง บริเวณตัวฝายจะมีประตูเปิด-ปิดน้ำเอาไว้ เพื่อเปิด-ปิดน้ำตามเวลาที่ต้องการ น้ำที่ส่งไปตามเหมืองฝายก็เพื่อการอุปโภค บริโภค  

การจัดสรรน้ำให้กับคนที่อยู่ท้ายเหมืองฝายที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลูกฝาย’ จะมีสัญญาประชาคมร่วมกันของผู้ใช้น้ำว่า การจัดสรรรับน้ำเข้าที่นา จะต้องมีการจัดการดูแลซ่อมแซมเหมืองฝายร่วมกันทุกๆ ปี รวมไปถึงมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบเหมืองฝาย เมื่อมีการละเมิดกฎระเบียบของเหมืองฝายคนที่มีหน้าที่พิจารณาโทษ ชาวบ้านเรียกว่า ‘แก่ฝาย’

‘แก่ฝาย’ เป็นบุคคลสำคัญที่ถูกเลือกมาจากชุมชนผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝาย คนที่ถูกเลือกเข้ามาต้องเป็นบุคคลที่มีความเป็นธรรม และสามารถจัดสรรน้ำให้กับลูกสมาชิกฝายได้ใช้กันอย่างทั่วถึง

ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายเอาไว้ว่า การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายในเมืองเชียงใหม่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๐ -๑๒๐๐ ในยุคสมัยของพ่อขุนมังรายณ์ในขณะที่รวบรวมอาณาจักรต่างๆ ก็ได้ใช้กุศโลบายให้พญาญีบาซึ่งเป็นผู้ครองเมืองหริภุญชัยให้เกณฑ์แรงไปขุดเหมืองแข็งหรือเหมืองแก้ว โดยการขุดนั้นเป็นการขุดเลียบเชิงเขายาวรวมความยาวทั้งสิ้น ๑๗,๐๐๐ วา ในสมัยพ่อขุนมังรายณ์ที่ได้มีการตรากฎหมายมังรายณ์ศาสตร์ขึ้น ตามที่ปรากฎในวันเพ็ญ สุรฤกษ์ได้กล่าวไว้ถึง ๗ ฉบับด้วยกัน จะเห็นว่าระบบเหมืองฝายเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองที่มีระเบียบวินัยควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวไว้ให้เป็นระเบียบไว้ป้องกันการเกิดโกลาหล

กฎหมายมังรายศาสตร์ได้เอื้ออำนวยการจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายไว้อย่างชัดเจนว่า “มาตรา ๑ ทำนาติดกัน ผู้หนึ่งชวนไปทดน้ำเข้านา มันไม่ยอมไปช่วย แต่คอยขโมยน้ำจากท่าน หรือแอบขุดหนองน้ำท่าน เจ้านาเจ้าหนอง ได้ฆ่ามันตายก็เป็นอันสิ้นสุดไป อย่าว่าอะไรแก่เจ้านา ผีไม่ฆ่ามัน ก็ให้ปรับไหม ๑,๐๐๐,๐๐๐ เบี้ย” (ประเสริฐ ณ นคร ๒๕๑๔ : ๘๓)

การใช้ชื่อเรียกต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น มีมาตั้งแต่ยุคสมัยของราชการที่ ๖ ขุนนายฝายเรียกว่า ‘แก่ฝาย’ ตำแหน่งหัวหน้าเหมืองเรียก ‘แก่เหมือง’ ต่อมาคือ ‘หมื่นล่ามน้ำ’ มีหน้าที่ประสานเกี่ยวกับเรื่องราวไร่นาในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องพื้นที่ทำนา ข้าวกล้าในนา เพื่อให้การทำนาราบรื่นไปตลอดฤดู ‘เลียบน้ำ’ มีหน้าที่ตรวจตราดูแลจัดแบ่งน้ำ การระบายน้ำ อาจมีการตั้งเวรเปลี่ยนกันเป็นครั้งคราวไป

ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้วในสมัยก่อนจะได้รับการปูนบำเน็จรางวัลตลอดจนมีรายได้จากการปรับไหม จากผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆ เช่น หากมีคนขโมยเปิดเหมืองเพื่อส่งน้ำเข้านาตัวเองเพียงลำพังไม่ได้ปรึกษา แก่เหมือง เมื่อชาวบ้านรู้ก็จะมีการลงโทษ

การลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบก็มีหลายอย่างเช่น การเอามื้อเอาแรงร่วมกันทำเหมืองฝาย ผู้ใดหนีงานหรือไม่ยอมช่วยทำ คอยแต่จะเอาประโยชน์อย่างเดียว หรือเมื่อเกิดสภาพแห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ก็ขโมยน้ำการขโมยน้ำนั้นก็มีหลายลักษณะ เช่น ทำนาติดกัน ผู้หนึ่งชวนไปทดน้ำเข้านา ไม่ยอมไปช่วย แต่คอยขโมยน้ำจากนาคนอื่นหรือแอบขุดหนองน้ำ เจ้านาหรือเจ้าหนองก็มีสิทธิ์ปรับไหมได้ตามกฎระเบียบที่ได้ตั้งกันไว้

เหมืองฝายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะถ้าไม่มีเหมืองฝาย ก็จะไม่มีน้ำดังนั้น ฝายจึงมีศาลเทพารักษ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้เฝ้ารักษา ในหลักการปฏิบัติตามจารีตประเพณีดั้งเดิม และตามกฎหมายมังรายศาสตร์ได้กล่าวถึงหอผีฝายเอาไว้ว่า ‘ผู้ใดอุกอาจทำให้หอผีฝายเสียหาย ผิดผีฝาย ผู้ใดตีหอฝายหรือทำหอฝายพัง ต้องถือว่าผิดผีฝาย ให้สร้างหอผีฝายขึ้นดังเดิม แล้วให้จัดเครื่องพลีกรรมบูชาให้ถูกต้อง แล้วให้สร้างใหม่เหมือนเดิม ในการสร้างฝายไม่ได้ เมื่อมีการร้องของให้คนอื่นมาช่วย คนที่ทำผิดต้องจัดการเลี้ยงผู้คนที่มาสร้างฝายจนกระทั่งแล้วเสร็จ หากไม่ยอมเลี้ยงดู ให้ปรับเป็นเงินแล้วเอาเงินนั้นมาจ่ายเลี้ยงคนทั้งปวง’

การเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการให้คุณค่าต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเท่าเทียมกันกับหยาดเหงื่อ แรงงาน ค่าเสียเวลา และข้าวปลาอาหารที่ใช้ในการก่อสร้างของทุกคนที่เป็นเจ้าของฝาย ทั้งยังมีนัยยะของความมั่นคงถาวรที่แฝงไว้ต้นทุนทางสังคมอื่นๆ อีกที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ใครก็ละเมิดสิทธิ์นั้นไม่ได้

ปัจจุบันในเขตเมืองเชียงใหม่มีฝายอยู่หนึ่งฝายคือ ‘ฝายพญาคำหรือฝายท่าศาลา’ เป็นฝายขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เป็นฝายทดน้ำที่สร้างปิดกั้นน้ำและยกระดับน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อทดน้ำเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ๑๖,๗๒๑ ไร่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน รวม ๓ อำเภอ ๘ ตำบลคือ ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ (พื้นที่ส่งน้ำ ๔๒๐ ไร่) ตำบลหนองผึ้ง (พื้นที่ส่งน้ำ ๑,๕๕๐ ไร่)  ยางเนิ้ง (พื้นที่ส่งน้ำ ๒,๙๘๐ ไร่)  สารภี (พื้นที่ส่งน้ำ ๒,๗๓๐  ไร่)  หนองแฝก (พื้นที่ส่งน้ำ ๑,๘๑๔  ไร่)  ชมพู (พื้นที่ส่งน้ำ ๒,๘๘๐  ไร่)  และไชยสถานเขต อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่ส่งน้ำ ๕๔๖  ไร่)  และตำบลอุโมงค์ เขตอำเภอเมืองลำพูน (พื้นที่ส่งน้ำ ๑,๘๐๑  ไร่)

ฝายพญาคำเกิดขึ้นจากการชาวบ้านเดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดยมีนายพญาคำ เรืองฤทธิ์ กำนันตำบลสารภีในขณะนั้น เป็นผู้รวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนมาช่วยกันขุดและสร้างฝายทดน้ำ เพื่อปิดกั้นลำน้ำปิง ฝายที่สร้างขึ้นเป็นฝายไม้รวก ซึ่งตัวฝายนี้มักจะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะทำลายแตกทุกปีต้องซ่อมแซมกันเสมอในการบริหารจัดการน้ำจากเหมืองฝาย ทางภาคเหนือของประเทศเรานี้ จะมีการทำ “สัญญาเหมืองฝาย” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่สังคมน้ำของชาวล้านนาว่า เป็นกฎข้อบังคับ ที่สมาชิก ผู้ใช้น้ำและหัวหน้าเหมืองฝาย ช่วยกันตั้งขึ้นไว้ใช้ในระบบชลประทานของตนเอง

การร่วมกันสร้างเหมืองฝาย การซ่อมแซมฝาย การขุดลอกเหมือง การเรียกเก็บและการยินยอมจ่ายเงินค่าน้ำในข้างต้นนี้ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่เรื่องธรรมดาๆ นี้แหล่ะที่แสดงให้เห็นว่า การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย เป็นโครงการน้ำที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และดำรงอยู่ได้ด้วยการบริหารจัดการจากชุมชนท้องถิ่นโดยแท้

เพราะการบริหารจัดการน้ำหรือทรัพยากรใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่โครงการที่เกิดขึ้นจากความฝันอันสวยหรู ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงินและวัตถุเท่านั้นที่หาซื้อ ฤาเร่ขายกันได้ รวมถึงไม่ใช่การผลักภาระหน้าที่ในการดูแลจัดการ ไปเป็นสัมปทานของบริษัทข้ามชาติ หรือของใครคนใดคนหนึ่งเพียงเท่านั้น  แต่จะต้องเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ อันจะก่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรที่ต้องดูแลรักษา ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศของเราก็จะมีแต่ได้กับได้ คือได้มี ได้ใช้ทรัพยากร ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

ในสถานการณ์ที่ประเทศเรากำลังถูกคุกคามด้วยภัยแล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราไม่เคยได้ตระหนักเลยว่า ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากที่ใด ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของฝนหรือเรื่องของการจัดน้ำกันแน่ หากปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากขาดการจัดการน้ำที่ดี การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องภาวการณ์ขากแคล้นน้ำในประเทศของเราได้ ที่สำคัญการจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายนั้น ชาวบ้านสามารถทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย เพราะมันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และที่สำคัญภูมิปัญญาอย่างนี้ได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายร้อยปีแล้วเช่นกัน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา