eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

นักวิชาการทึ่งชาวบ้านจัดการน้ำดีกว่ารัฐ 

สำนักข่าวประชาธรรม :  รายงาน

สกลนคร/เปิดเวทีถถทางเลือกการจัดการน้ำในอีสาน  นักวิชาการทึ่งชาวบ้านมีความรู้จัดการน้ำเพียบ สามารถหาแหล่งน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปีไม่ขาด  แถมเหมาะสมกับท้องถิ่น  และภูมินิเวศน์ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม   ชี้จัดการมีประสิทธิดีกว่ารัฐ  หมดเวลารัฐผูกขาดความรู้การจัดการน้ำ    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งนำโดย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมเดินเท้ากับสมัชชาคนจนมุ่งหน้าสู่จ.สกลนคร เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน    และในระหว่างวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับประชาสังคมจังหวัดสกลนคร  สมัชชาคนจน  และองค์กรพัฒนาเอกชนในภาคอีสานได้เปิดเวทีวิชาการเรื่อง “ทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน”  ณ ห้องประชุมคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ จ.สกลนคร   ซึ่งมีบรรดานักวิชาการ   ชาวบ้านในภาคอีสาน  สมัชชาคนจน  กลุ่มเกษตรกรรรมยั่งยืน  จ.สกลนครเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 200 คน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทีสัมมนาตัวแทนชาวบ้านได้นำเสนอองค์ความรู้ของชาวบ้านภาคอีสานในการจัดการทรัพยากรน้ำ  ซึ่งพบว่ามีหลากหลายรูปแบบมาก เช่น ระบบเหมือง  การใช้หลุก  เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก  และการเก็บน้ำในบ่อผิวดิน  เป็นต้น  โดยแต่ละรูปแบบสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์  และระบบนิเวศน์ของท้องถิ่น และภูมิปัญญาของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากน้ำ  ซึ่งในเวทีต่างเห็นว่าแตกต่างไปจากระบบชลประทานของรัฐที่มุ่งทำโครงการขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม  ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ  ท้ายที่สุดก็ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นผู้รับภาระความสูญเสีย  และผลกระทบทั้งหมด 

ในเวทีได้มีการเแลกเปลี่ยนกรณีการจัดการน้ำในเขตป่าบุ่งป่าทาม  ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์เฉพาะท้องถิ่นในภาคอีสาน   แต่เดิมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าบุ่งป่าทามจะใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กตามความเหมาะสม  สูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตร  โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบชลประทานขนาดใหญ่     แต่เดิมในฤดูน้ำหลากชาวบ้านจะประกอบอาชีพประมงทำรายได้ไม่ต่ำกว่าครอบครัวละ 10,000 บาท   นอกฤดูน้ำหลาก  พื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจะใช้ทำนา  ซึ่งได้ผลผลิตถึงไร่ละ 400-600 กิโลกรัมต่อไร่  เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก  แต่การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ทำลายระบบนิเวศน์ของป่าบุ่งป่าทาม และพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านไปจนหมดสิ้น  นอกจากทำงานยสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำลายวัฒนธรรมชุมชนในการอยู่อาศัยร่วมกันด้วย

นายไพจิตร  ศิลารักษ์  แกนนำสมัชชาคนจนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลกล่าวว่าการสร้างเขื่อนทำให้ป่าบุ่งป่าทามจมอยู่ใต้น้ำ  เด็กหนุ่มสาวต้องออกไปหางานทำในเมือง    แม้ว่าตอนนี้จะเปิดประตูเขื่อนราษีไศลแล้ว  ทำให้ชุมชนเริ่มกลับมามีชีวิตใหม่  แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่ารัฐจะปิดประตูเขื่อนอีกเมื่อไหร่  จึงไม่มีความมั่นใจว่าลงทุนลงแรงเต็มที่นัก

นอกจากนี้ในเวทีชาวบ้านยังได้มีการนำเสนอความรู้การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก  โดยใช้ประโยชน์จาก “กุด”  หรือพื้นที่หนองน้ำขังอยู่ในที่ลุ่มของลำน้ำภายหลังจากพ้นฤดูน้ำหลาก   เป็นแหล่งน้ำที่กระจายอยู่โดยทั่วไปในภาคอีสานและมีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี    ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำด้านการเกษตร  แหล่งอาหารของชุมชน    นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำใต้ดินได้แก่น้ำบ่อตามธรรมชาติ  และน้ำบ่อที่ชาวบ้านทำขึ้น  ซึ่งชุมชนจะมีวัฒนธรรมการใช้  และดูแลรักษาร่วมกัน  ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล  แต่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของทั้งชุมชน     ชาวบ้านจะมีความรู้ในการจัดหาแหล่งน้ำ  มีการแบ่งประเภทของบ่อน้ำ  และการใช้ประโยชน์    มีการร่วมกันขุดคลองเชื่อมจากแหล่งน้ำผุดเพื่อให้มีน้ำไหลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ  ทั่วชุมชน  และยังมีความรู้ในการขุดสระน้ำขนาดเล็กเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี  เป็นต้น

ภายหลังการรับฟังประสบการณ์ของชุมชนในการจัดการน้ำแล้ว  นายชัชวาล  บุญปัน  นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้กล่าวแสดงความเห็นว่า  เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่ชาวบ้านมีองค์ความรู้  วัฒนธรรมในการใช้น้ำอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ  และยืนยันได้ว่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความรู้ของตนเอง  สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านมีความรู้ในการจัดการน้ำเช่นกัน  และยังจัดการได้มีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐอีกด้วย   ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ  หรือสถาบันต่าง ๆ ของรัฐจะปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ในการจัดการทรัพยากร  และหมดเวลาแล้วที่รัฐจะเป็นผู้จัดการทรัพยากรปแต่เพียงฝ่ายเดียว

ด้านนายสนธิ  บุญโญทญาณ  เกษตรจังหวัดนครพนมกล่าวว่าระบบชลประทานขนาดใหญ่ของประเทศไทยเลียนแบบมาจากประเทศอเมริกา  ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย  ตนเองนั้นยืนยันได้ว่าระบบชลประทานขนาดเล็กนั้นเหมาะสมกับเมืองไทย  ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม  และทะเลาะกับชาวบ้านด้วย    ซึ่งตนเองคิดว่าคงต้องต่อสู้ความคิดกับราชการอย่างหนัก    เพราะราชการส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดที่สนับสนุนระบบชลประทานขนาดใหญ่   แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ต่อไป.

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา