eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สภาเศรษฐกิจสาวเขื่อนวันนี้ 'ชนะ รุ่งแสง' ลุยสอบเหตุรัฐสูญเปล่า

กรุงเทพธุรกิจ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๔  

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เปิดเวทีถกวันนี้ ความคุ้มค่า ในการสร้างเขื่อนบางปะกง รวมทั้งการใช้งบประมาณ ในการจ้างที่ปรึกษา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หลังเขื่อนสร้างเสร็จมานาน แต่กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษา และติดตามการดำเนินงาน โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง โดยมีนายชนะ รุ่งแสง สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นประธาน โดยในวันนี้ จะมีการประชุมคณะทำงาน เพื่อกำหนดแนวทาง ในการประชุมร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองอธิบดีกรมชลประทาน

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาความเห็น ของคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน เกี่ยวกับโครงการศึกษา และอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งพิจารณางบประมาณปี 2545 ของคณะทำงานศึกษา และติดตามการดำเนินงาน โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกงด้วย

โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง เป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำบางปะกง ตอนบน และสาขา ประกอบด้วย 8 โครงการ 1.โครงการคลองระบม (ตอนล่าง) 2.โครงการคลองพระปรง 3.โครงการคลองสียัด 4.โครงการคลองพระสะทึง 5.โครงการห้วยไคร้ 6.โครงการคลองใสน้อย-ใสใหญ่ 7.โครงการห้วยโสมง และ 8.โครงการลำพระยาธาร

มีการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง มาหลายยุคสมัย กระทั่งมาเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2539 สมัยที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรมว.เกษตรฯ และแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ศึกษา และกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเมื่อปี 2533

จากนั้น ไจกา ได้มอบหมายให้ Sanyu Consultants Inc. นำไปใช้ในการออกแบบรายละเอียด เพื่อก่อสร้าง และได้ส่งรายละเอียดและ Specification ให้กรมชลประทานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2537

ปัญหาจากเขื่อนทดน้ำบางปะกงเกิดขึ้น เมื่อทำการทดลองใช้เขื่อนกั้นลำน้ำบางปะกง โดยพบว่า น้ำตอนบนของเขื่อนเกิดเน่าเสีย เค็ม

ส่วนลำน้ำท้ายเขื่อนปรากฏว่า เมื่อปิดกั้นน้ำทำให้ตลิ่งทรุดตัวเป็นแนวยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน และกรมชลประทาน ตัดสินใจยุติการปิดกั้นลำน้ำ และให้ ไจกา รวมทั้งจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด โดยจะรู้ผลการศึกษาได้กลางปีหน้า

โดยที่ หลายฝ่ายต่างยืนยันว่า สาเหตุที่น้ำเหนือเขื่อนเสีย เนื่องจากการทำฟาร์มเลี้ยงหมู และการทำนากุ้ง ส่วนตลิ่งพังนั้นเป็นเรื่องปกติของการสร้างเขื่อน แต่ที่พังอย่างรุนแรงนั้น อยู่นอกเหนือการคาดการณ์

อย่างไรก็ดี รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ กรมชลประทานได้ให้ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ประธานโครงการสหวิทยาการบัณฑิตศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง กลับเตือนไว้ในหน้าที่ 197 ระบุว่า จะเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงหลังเปิดใช้เขื่อน   

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา