eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สรุปสถานการณ์ เขื่อนหัวนา

 กว่า 1 ปี ของการติดตามปัญหาขององค์กรชาวบ้าน

กรกฎาคม 2541- กันยายน 2542

                  เขื่อนหัวนา เป็นอีกเขื่อนหนึ่งในโครงการ โขง ชี มูล เช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล  ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและ ส่งเสริม พลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดและสิ่งแวดล้อม  ( รายละเอียดเอกสาร A 1 )  ขณะนี้เขื่อนหัวนาสร้างใกล้เสร็จ  เหลือ เพียงติดตั้งบานประตู  ซึ่งหากติดตั้งบานประตูและเก็บกักน้ำ  ความเดือดร้อนก็จะซ้ำรอยกับราษีไศล

                ชาวบ้านในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อน 5 อำเภอได้มีการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนหัวนามา ตั้งแต่เริ่ม สร้าง  แต่ก็ไม่ได้รับความชัดเจน  จนกระทั้งเมื่อสถาณการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของเขื่อนราษีไศลบานปลายมากขึ้น  ทำให้ ชาวบ้าน เริ่มตื่นตัวและรวมกันขึ้น

2 กรกฏาคม  2541

                 ชาวบ้านจำนวนประมาณ 3,100 คน จาก อ.ราษีไศล อ. กันทรารมย์  อ. ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ สมาชิกสมัชชาลุ่ม น้ำมูล  ได้ไปชุมนุมที่สนามหน้าที่ว่าการ อำเภอราษีไศล  เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

                1. ให้ปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนาให้ชัดเจน  แจ้งให้ราษฎรทราบ

                2. ตรวจสอบและรังวัดที่ดินทำกินของราษฏรที่มีที่ทำกินในเขตอ่างเก็บน้ำและทำการพิสูจน์สิทธิ์พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ทำ ประโยชน์ร่วมกันให้เรียบร้อย

                3. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง  ให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนราษฎรจำนวนครึ่งหนึ่ง ในคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น

                4. ในระหว่างดำเนินการข้างต้น  (ข้อ 1,2,3 ) ให้รัฐบาลสั่งการให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานชะลอการเก็บกักน้ำเอาไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

                 ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน

6 กรกฎาคม 2541     ได้ส่งหนังสือไปที่ นายพรเทพ  เตชะไพบูลย์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม  ให้ตรวจสอบพื้นที่ผลกระทบเขื่อนหัวนา  พร้อมข้อเรียกร้อง 4 ข้อ  โดยแนบรายชื่อราษฏรผู้เดือดร้อน 31,000 คนไปด้วย

 14 กรกฏาคม  2541                 ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนาจำนวนประมาณ 600 คน รอรับฟังการเปิดเผยข้อมูลการ ก่อสร้างเขื่อนหัวนา  จากนายพรเทพ  เตชะไพบูลย์  รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นช่วงที่นายพรเทพ ตรวจราชการที่ จ.สุรินทร์

                กลุ่มชาวบ้านได้รอคอยนายพรเทพเป็นเวลานาน จนกระทั่งเวลา  17.00 น. มีเพียงนายพานิช  พงศ์ภิโรดม ผู้อำนวยการสำนัก งานปฏิบัติงานซ่อมบำรุงรักษากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กระทรวงวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยคณะ  เดินทางมาพบผู้ชุมนุม   เมื่อมาถึง ได้เชิญตัวแทนของสมัชชาลุ่มน้ำมูล  พร้อมด้วยนายบุญสาย  ยอดเซียน นายอำเภอราษีไศล  เข้าห้องประชุมเพื่อปรึกษาหารือ

                เวลา 18.00 น. แกนนำสมัชชาลุ่มน้ำมูล ได้ออกจากห้องประชุมมาชี้แจงผลการประชุมกับชาวบ้านว่า “กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ยอมเปิดเผยข้อมูลปริมาณการเก็บกักน้ำภายในเขื่อนหัวนา ตลอดจนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบให้กับ ประชาชนได้รับทราบตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง  โดยหากมีพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับผลกระทบจากการเก็บน้ำฝายหัวนา กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ก็จะดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ตามข้อเรียกร้องของราษฎรและจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฏหมาย”

                วันเดียวกันได้มีคำสั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่ 59/2541 เรื่อง  แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ภาคราชการและผู้แทนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝายหัวนาของสมัชชาลุ่มน้ำมูล  เซ็นคำสั่งโดยนายยิ่งพันธ์  มนะสิการ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์  โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่  ( ตามเอกสาร A 3 )

31 กรกฎาคม  2541     เวลา 12.00 น.    ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการและผู้แทนกลุ่มที่คาดว่าจะ ได้รับผลกระทบ จากฝายหัวนา ครั้งที่ 1/2541  ตามคำสั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ 59/2541 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม  2541

                การประชุมประเด็นพิจารณาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่คาดว่าได้รับผล กระทบจากฝายหัวนาจังหวัดศรีสะเกษ  ตามข้อเรียกร้อง วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 จำนวน 4 ข้อ โดย ข้อ 3 ได้ทำไปแล้วตามคำสั่ง ที่ 59/2541  ข้อ 4 กรมพัฒนาฯยังไม่ได้เก็บกัก น้ำ  เหลือข้อ 1 ,2

                ข้อ 1 ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พิจารณาที่จะไปปักระดับขอบอ่างที่ระดับ 115 ม.รทก. ได้  โดยขอให้ทำในเขตอำเภอ ราษีไศลก่อน

                ข้อ 2 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541  ลงมติอนุมัติในหลักการให้ กรมพัฒนาฯ  ดำเนินการตรวจสอบสิทธิของ ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ตามมติ ครม. 11 กรกฏาคม 2532  ( เอกสาร  B1 ) และ มติครม. 5 พฤศจิกายน 2539 ( เอกสาร B2 ) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสนอตามความเห็นของสำนักงบประมาณ  ส่วนกลุ่มของฝายหัวนา อยากให้อิง มติครม.11 กค.32 เพื่อตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ  ส่วน มติ ครม. 5 พย. 39 กระทรวงมหาดไทย มอบให้กระทรวงวิทยา ศาสตร์ฯ รับไปตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย  เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงว่าในด้านความเดือดร้อนของราษฏรและผลกระทบที่ เกิดขึ้น  หากดำเนินการช่วยเหลือจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นเท่าใด  และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรอีกครั้ง  ( รายละเอียดเอกสาร A 4 )

19  สิงหาคม  2541 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนาและสมัชชาลุ่มน้ำมูล ได้ยื่นหนังสือไปที่ ประธานคระกรรมาธิการยุติธรรม และ สิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร  เพื่อให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา

14  กันยายน  2541 คำสั่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่  8/2541  เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ไข ปัญหาโครงการฝายหัวนาจังหวัดศรีสะเกษ  (รายละเอียดเอกสาร A5 )

                 สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลที่ได้รับค่าชดเชยแล้ว  ถูกโยงมาเป็นประเด็นทาง การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์  โดย พล.ต.ต.เสรี  เตมียเวส ผบช.ก. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์โจมตีแกนนำชาวบ้าน  ข้าราชการและนักการ เมืองฝ่ายประชาชน  ว่าร่วมมือกันทุจริตกลโกงชาติ กรณีการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับชาวบ้านราษีไศล กลุ่ม 1 รวมทั้งประกาศจับแกนนำ ชาวบ้านราษีไศล 5 คน

22  กันยายน  2541  เวลาประมาณ 9.00 น.ชาวบ้านได้มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ  โดยมีกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน (สคจ.) ซึ่งได้รับค่าชดเชยไปแล้ว  กลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล (สลม.)ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลที่ยัง ไม่ได้รับค่าชดเชยและชาวบ้านที่คาดว่าจะ ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา  และตอนหลังมีสมาชิกสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานมา ร่วมด้วย

                โดยประเด็นที่มาชุมนุมร่วมกันนั้น  เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากสาธารณชนกรณีที่ชาวบ้าน สคจ. ถูกโจมตีและกล่าวหาว่า ทุจจริต  อันเป็นเกมส์การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านจากเขื่อนราษีไศล กลุ่ม 2,3  ในส่วนชาว บ้านหัวนาได้ร่วมชุมนุมให้กำลังชาวบ้านเขื่อนราษีไศล  พร้อมมีข้อเรียกร้อง

                1.ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทำการปักหลักนอกขอบเขตอ่างเก็บน้ำให้เสร็จภายในสิ้นเดือน กย.นี้

                2. ให้นายพรเทพ  เตชะไพบูลย์ รมช วิทยาศาสตร์ฯมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด  โดยมีสัดส่วนราชการครึ่งหนึ่ง  ราษฎรครึ่งหนึ่ง แล้วจัดประชุมภายในเดือนกันยายน

                3. ให้เขื่อนหัวนาทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เสร็จก่อนเก็บกักน้ำ

28 กันยายน 2541     การชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เป็นวันที่ 7  ที่ปรึกษาและแกนนำชาวบ้านรวม 15 คน ได้มีการประชุม ร่วมกับนายพจน์   ใจมั่น ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและราชการฝ่ายปกครอง นายบุญสาย  ยอดเซียน นายอำเภอราษีไศล  นายประสิทธิ์  หวานเสร็จ หัวหน้าโครงการฝายราษีไศล เพื่อหาข้อยุติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน

                ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา  ได้เรียกร้องให้มีการปักเขตเก็บกักน้ำในระดับ 115.5 ม.รทก.  โดย ทางฝ่ายหัวหน้าโครงการฝายหัวนารับปากว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตค.  ตลอดแนวเส้นทางลำน้ำมูล 90 กม. โดยให้มีคณะ กรรมการระหว่างภาครัฐกับสมัชชาจำนวนครึ่งต่อครึ่ง  เข้าร่วมในการดำเนินการในครั้งนี้

27 ตุลาคม  2541        ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา ได้ยื่นหนังสือ  ให้มีการตรวจสอบพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งรัดการ แก้ไขปัญหา  เนื่องจากผ่านระยะเวลามา 4 เดือนแล้ว

2 ธันวาคม  2541      ตัวแทนชาวบ้านจากศูนย์ประสานงานความเดือดร้อนเขื่อนหัวนา  ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการกระทรวงวิทยา ศาสตร์ ฯ นายศุภวิทย์  เปี่ยมพงษ์ศานต์  เรียกร้องขอให้มีการศึกษาผลกระทบเขื่อนหัวนาก่อนมีการกักเก็บน้ำ  โดยได้พูดคุยกับนาย ศุภวิทย์  และรับปากจะลงไปดูพื้นที่

                ในวันเดียวกัน ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือที่ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ถึงอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  เพื่อขอข้อมูล ความเหมาะสมและแผนการก่อสร้างเขื่อนหัวนา  ได้พบกับนายพานิช  พงษ์พิโรดม  โดยนายพานิชบอกว่า ฝายหัวนาเก็บกักน้ำเพียงริม ตลิ่ง  หากเก็บกักน้ำแล้วเสียหายจริงจะจ่ายค่าเสียหายให้  ปลายปี 42 จะลองเก็บกักน้ำดู

4 ธันวาคม 2541     ตัวแทนชาวบ้านจากศูนย์ประสานงานกลุ่มผู้เดือดร้อนเขื่อนหัวนา  ได้ยื่นหนังสือ ถึงเลขาธิการสำนักนโยบายและ แผนสิ่งแวดล้อม  เพื่อขอทราบผลการพิจารณารายงานการศึกษาความเหมาะสมของฝายหัวนา  โดยได้พูดคุยกับคุณวิภาดา  อภินันท์ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรน้ำ  กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ทำให้ทราบว่าโครงการเขื่อนหัวนายังไม่ผ่าน EIA ตาม พ.ร.บ สิ่งแวดล้อม ปี 35 ซึ่งประกาศโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ตามเอกสาร B 3 )แต่ก็ดำเนินการสร้างต่อจนเกือบเสร็จ  

14-15 ธันวาคม  2541     ผู้ตรวจการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  นายศุภวิทย์  เปี่ยมพงษ์ศานต์ ลงตรวจดูพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลการะทบ จากเขื่อนหัวนา  โดยลงเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน  พร้อมทั้งดูทรัพยากรป่าไม้ยางริมน้ำที่บ้านหนองโอง ที่มีสมบูรณ์ และถือว่าเป็นป่าไม้ยางริมน้ำที่หายาก  และหากทำการเก็บกักน้ำเมื่อไหร่ไม้ยางเหล่าน้ำก็จะถูกน้ำท่วมตายหมด   หลังจากนั้น ได้ลงตรวจดูพื้นที่ บ้านคูซอดและราษีไศล  และให้คำแนะกับชาวบ้านในเรื่องการเก็บข้อมูลที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบความเดือดร้อน

16-17 ธันวาคม  2541    มีการสัมมนาเชิงปฏิการ  การประเมินทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านหนองโอง  ผลจากการประเมิน  ทำให้ทราบว่า หมู่บ้านหนองโองมีจำนวน 76  ครัวเรือน  มีรายได้จากการพึ่งพาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า  คือ ข้าว ปลา และอาหารป่า  ซึ่งรวมทั้งหมด มีราย ได้ต่อปีทั้งชุมชน  รวม 13,473,890 บาท   ซึ่งหากชุมชนหนองโองถูกย้ายเนื่องจากเขื่อนหัวนา ย่อมไม่มีหลักประกันในการดำรงชีพได้ เหมือนเดิม

30 ธันวาคม  2541    ศูนย์ประสานงานความเดือดร้อนเขื่อนหัวนา ได้รับหนังสือจากสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยา ศาสตร์  ซึ่งเป็นสรุปการศึกษาในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของฝายหัวนา (ดังรายละเอียด A5 )

5  มกราคม  2542  ชาวบ้านจาก ตำบลหนองอึ่ง  ตำบลบัวหุ่ง  ตำบลเมืองคง  ตำบลหนองแค ตำบลส้มป่อย  อำเภอราษีไศล  จังหวัด ศรีสะเกษ  ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย  ได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล) ทับที่ดิน  ซึ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (มี นส.3 ก ,สค.1)  ได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล  เพื่อขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี

                  ตามระเบียบราชการที่มีการทำโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่แล้ว  หน่วยงานต้องดำเนินการประสานกับกรมหรือกระทรวงที่ รับผิดชอบในพื้นที่  เพื่อขออนุญาตใช้ที่ดินในการทำโครงการ    ซึ่งในกรณีเขื่อนหัวนาก็เช่นเดียวกัน  กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  ได้ประสานไปยังกรมที่ดิน  เพื่อขอใช้พื้นที่ทำอ่างเก็บน้ำ  กรมที่ดินจึงออก น.ส.ล ทับดินของราษฏรแล้วจึงดำเนินการโอนที่ดินให้กรม พัฒนาฯ  ซึ่งจะปรากฏพื้นทีความเดือดร้อน  (ดังเอกสาร A 6) ผลที่ตามมาราษฎรที่มี น.ส.ล. ทับที่ดินจะไม่มีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าชดเชย

25 กุมภาพันธ์  2542    ตัวแทนชาวบ้านจากศูนย์ประสานงานผู้เดือดร้อนเขื่อนหัวนา  ได้ยื่นหนังสือ ถึงหัวหน้าผู้ตรวจการ กระทรวง วิทยาศาสคร์ นายศุ่ภวิทย์  เปี่ยมพงษ์ศานต์   เรื่องขอให้มีการระงับการก่อสร้างเขื่อนหัวนา  โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ

                1. ให้มีการปักหลักเขตซีเมนต์บอกระดับน้ำ 115.5 ม.รทก. และขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ทุก 1 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่จะได้รับ ผลกระทบ

                2. ต้องชี้แจงกับชาวบ้านทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบตามความเป็นจริงในเรื่องการปักหลักเขตและผลกระทบที่เกิดขึ้น

                3. ให้มีการตรวจสอบผลกระทบในพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำและให้มีแผนในการป้องกันผลกระทบ และแผนการชดเชย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านอย่างเป็นธรรม

                4. ให้ระงับการก่อสร้างใดๆ ไว้ก่อน  จนกว่ากระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ของเขื่อนหัวนาจะเป็น ไปตามระเบียบ พรบ.สิ่งแวดล้อม ซึ่งประกาศโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  วันที่ 24 สิงหาคม  2535

                ในวันเดียวกันได้ดำเนินการยื่นจดหมาย ถึงสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม  กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานในข้อเรียกร้อง เดียวกัน  

2-3 มีนาคม 2542   แกนนำชาวบ้าน 5 อำเภอ คือ ราษีไศล อุทุมพรพิศัย  ยางชุมน้อย  คูซอด และกันทรารมย์ รวม 120 คนร่วมงานสัมมนา การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแม่น้ำมุล ที่มหาวิทยาลัยอุบล

5 มีนาคม  2542     หนังสือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์  ส่งถึงตัวแทนชาวบ้าน  รับทราบเรื่องจากจดหมายขอให้มีการระงับการก่อสร้าง เขื่อนหัวนา  ที่ตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นที่กระทรวงวิทยาศาสตร์  เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542

9 มีนาคม  2542    หนังสือจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  ส่งถึงตัวแทนชาวบ้าน  เพื่อส่งข้อมูลสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม และ แผนการก่อสร้างเขื่อนหัวนา  ซึ่งปรากฏว่าเป็นแค่เอกสารโดยย่อของโครงการและแผนทีของโครงการเท่านั้น

8 เมษายน  2542     ตัวแทนชาวบ้านจากศูนย์ประสานกลุ่มผู้เดือดร้อนเขื่อนหัวนา  ได้ยื่นหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยา ศาสตร์ ฯ  ขอให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนหัวนา  โดยได้พบกับ รมช.ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ นายระวี  หิรัญโชติ  ในการพูดคุย ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง นายระวีไม่ได้ให้ความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านเท่าไหร่ โดยอ้างว่าไม่รู้ข้อมูล  แต่รับปากที่จะติดตาม การแก้ไขปัญหาให้ 2 ข้อ  คือ  การปักหลักซีเมนต์บอกระดับน้ำ   และการชี้แจงกับชุมชน

28 พฤษภาคม 2542    หนังสือจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  ถึงชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา  เพื่อชี้แจงการขอ ระงับการก่อสร้างเขื่อนหัวนา   โดยในหนังสือได้ชี้แจงว่า  โครงการฝายหัวนาเป็นโครงการ ที่เป็นไปตามมติ ครม 11 กค. 37 โดยมีพื้นที ชลประทานเพียง 77,300 ไร่ เป็นโครงการที่สำรวจและออกแบบดำเนินการเฉพาะส่วนที่ใช้น้ำในประเทศก่อน (รายละเอียด เอกสาร A 6)

                 จากหนังสือที่ส่งมา ชี้ชัดว่ากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานพยายามที่จะบิดเบือนข้อมูลว่า หน่วยงานของตนไม่ได้ทำผิด กฏหมาย

                - โครงการมีลักษณะเป็นฝาย  ไม่ใช่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ  มีพื้นที่ชลประทาน 77,300 ไร่ และใช้น้ำภายในประเทศเพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษา EIA  ก่อน

                - โครงการฝายหัวนาเซ็นสัญญา ก่อน ที่ พรบ.สิ่งแวดล้อมประกาศใช้ จึงไม่ผิดกฏหมาย

14 มิถุนายน 2542   ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนาจำนวน  30 คน  ได้ยื่นหนังสือ  ต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายพจน์  ใจมั่น  เรื่อง  ขอให้มีการจัดทำเวทีชี้แจงข้อมูลเขื่อนหัวนาต่อประชาชน  แต่ผู้ว่าและรองผู้ว่าไม่อยู่

24 มิถุนายน  2542    ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนาจำนวน  40 คน ได้มาติดตามการยื่นจดหมายของวันที่ 14 มิย. 42 และ ขอพบผู้ว่า ฯ ซึ่งท่านผู้ว่าได้มอบหมายให้ รองผู้ว่า นายสุนาย  ลาดคำกรุง มาพบราฎร    เพื่อรับฟังปัญหาและการขอคำปรึกษาหารือ  เรื่องเขื่อนหัวนา เนื่องจากเขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนที่ยังไม่ผ่านด้านการศึกษาผลกระทบแต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ดำเนินการสร้าง จนใกล้เสร็จเหลือเพียงติดตั้งบานประตู  อันเป็นการ ผิดกฏหมายตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม ปี 35   และจากการประสานงานกับหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รับความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา  ได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน  ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหากลัวจะเกิด ปัญหาซ้ำรอยกับราษีไศล   จึงได้เรียกร้องให้มีการจัดเวทีขึ้น  โดยมีองค์ประกอบของผู้มาชี้แจง

                                1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์

                                2. ผู้ตรวจการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

                                3. เจ้าหน้าที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

                                4. เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

                                5. ตัวแทนนักวิชาการและองค์กรเอกชน

โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นองค์ประธานในเวทีฯ

                ผลจากการประชุม จังหวัดบ่ายเบี่ยงไม่รับตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เดือดร้อนของกลุ่มผู้เดือดร้อนแต่ รับจะนำไปเสนอกรม พัฒนาและส่งเสริมพลังงานต่อไป

18 กรกฏาคม 2542 ชาวบ้านประมาณ 300 คนได้รวมตัวกันที่บ้านทาลาด ฝั่งตรงกันข้ามกับเขื่อนหัวนา  เพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่น้ำมูล

30 กรกฎาคม 2542 ผู้ตรวจการกระทรวงวิทยาศาสตร์ นายศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ ลงพื้นที่บ้านหนองโอง  พร้อมทั้งให้ชาวบ้านเสนอ ในสิ่งที่ชาวบ้านหนองโองวิตกกังวลหากมีเขื่อนหัวนาเก็บกักน้ำ (เอกสาร A 8)

8 สิงหาคม  2542  เจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้มาปักเสาคอนกรีตในที่นาชาวบ้าน (ดังเอกสาร A 7 )  แต่การดำเนิน การปักเสาคอนกรีตทำเฉพาะในเขตตำบลโนนสังข์ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่า  ให้ชาวบ้านทำความเข้าใจก่อนแล้วค่อยทำต่อจนถึงราษีไศล

              ในช่วงนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้มีการติดตามผลจากการยื่นหนังสือที่จังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขอให้ทางจังหวัดจัดเวทีชี้แจง ข้อมูล  ซึ่งการติดตามผลไม่ค่อยได้รับความร่วมมือกับจากทางจังหวัด  โดยไม่ยอมให้มีการถ่ายสำเนาเอกสารที่ทางจังหวัดส่งไป กระทรวงวิทย์

6 กันยายน  2542    ชาวบ้านประมาณ 30 คน ไปที่จังหวัด  เพื่อพยายามประสานงานกับทางจังหวัด ซึ่งได้พบกับรองผู้ว่าฯ นายสุนาย  ลาดคำกรุง  แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการประสานให้เกิดเวทีชี้แจงข้อมูล

                กว่า  1 ปีของการติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา  ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากหน่วย งานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา