eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แม่มูล ลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุด

ข่าวสด หรรษา ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2543

เรื่อง - ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN)
ภาพ - ศรีนิตย์ ศรีอาภรณ์ -ธีระยุทธ ยุวนิมิ

'ถ้าแม่น้ำโขงคือราชาแห่งสายน้ำ แม่น้ำมูลก็คือบัลลังก์แห่งราชานี้' ประโยคของนักเขียนสารคดีตะวันตกนี้ สามารถอธิบายถึงความสำคัญของแม่น้ำมูลได้เป็นอย่างดี

ด้วยขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 117,000 ตารางกิโลเมตร กินอาณาบริเวณตั้งแต่ด้านใต้ของทิว เขาภูพาน ด้านตะวันตกของทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพญาเย็น และด้านเหนือของทิวเขาสันกำแพง และพนมดง รักไปจนจรดแม่น้ำโขง

แม่น้ำมูลจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของคนอีสาน ที่หล่อเลี้ยงคนในลุ่มน้ำนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งคน ท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า 'แม่มูล' ที่หมายถึง 'ทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ'

จุดเด่นที่สำคัญของแม่น้ำมูลก็คือ ระบบนิเวศที่หลากหลาย แม่น้ำมูลที่ไหลโค้งตวัดไปมาทำให้เกิดระบบนิเวศแบบ พื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ไพศาลกระจายตลอดสองฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศแบบป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบ นิเวศแถบทะเลสาบเขมร

ป่าบุ่งป่าทามเหล่านี้ คือ แหล่งอาศัย วางไข่ และอนุบาลพันธุ์ปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับระบบนิเวศ แถบทะเลสาบเขมร

ขณะที่บริเวณปากมูลตั้งแต่พิบูลมังสาหารลงไปจนถึงปากมูล สภาพทางธรณีวิทยาทำให้เกิดระบบนิเวศแบบแก่ง หินกลางลำน้ำ ซึ่งเป็นระบบที่สลับซับซ้อน มีแก่งต่างๆ มากกว่า 50 แก่ง ที่เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลา

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลา ระบุว่า แถบปากมูลก่อนการสร้างเขื่อนปากมูลมีพันธุ์ปลาท้องถิ่นถึง 258 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยเฉพาะแก่งและย้ายถิ่นอยู่ถึง 160 ชนิด

แม่น้ำมูลจึงได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบนิเวศที่สลับ ซับซ้อนนี้ กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสร้าง เขื่อนทั้งบนลำน้ำมูลและแม่น้ำสาขา
จนกระทั่งลุ่มน้ำมูลเป็นลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จในลุ่มน้ำมูลถึง 13 เขื่อน คือเขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน และเขื่อน ปากมูล

นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนอีกประมาณ 14 เขื่อน ภายใต้โครงการผันน้ำโขง ชี มูล ที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง เช่น เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา

เขื่อนเหล่านี้นักสร้างเขื่อนได้ทำให้สังคมไทยเชื่อมาตลอดว่า เพื่อเป็นการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย และความอยู่ดีกินดี แต่หากรื้อประวัติศาสตร์เพื่อดูเบื้องหลังของการสร้างเขื่อนในภาคอีสานแล้วข้ออ้างเหล่านี้เป็น เพียงเสื้อคลุม เท่านั้น

ประการแรก เขื่อนคือมรดกของจักรวรรดินิยมในยุคสงครามเย็น จากการที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจากประ เทศโลกที่หนึ่ง ได้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการขยายอิทธิพลในเขตอนุภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

สหรัฐและพันธมิตรเข้ามาวางแผนสร้างเขื่อนในภาคอีสาน ด้วยความเชื่อที่ว่าเขื่อนจะนำมาซึ่งการพัฒนาให้ภาค อีสานกลายเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม และใช้วิธีการนี้ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่นำโดย จีน และโซเวียต

เขื่อนที่กล่าวถึงนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการขององค์กรสร้างเขื่อน และองค์การช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐ และพันธมิตร และภายใต้โครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาขององค์กรเหนือรัฐ อย่างธนาคารโลก องค์การสห ประชาชาติ และคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง

แม้ปัจจุบันนี้ โครงการเขื่อนต่างๆ ที่กำลังขัดแย้งกันในลุ่มน้ำนี้ไม่ว่าจะเป็น โครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร หรือโครง การเขื่อนลำโดมใหญ่ ก็ล้วนแต่วางแผนไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ประการที่สอง เขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำมูลสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐ ดังจะ เห็นได้จากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่สัมพันธ์กับการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐในภาคอีสาน ดังเช่นเขื่อน สิรินธรที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับฐานทัพสหรัฐที่อุบลราชธานี

ด้วยเหตุนี้ เขื่อนหลายเขื่อนในลุ่มน้ำมูลจึงไม่ควรที่จะสร้าง แต่ก็ยังถูกสร้างขึ้นมา เช่น เขื่อนสิรินธรที่มีกำลังผลิต ติดตั้งเพียง 36 เมกะวัตต์ (น้อยกว่าเขื่อนปากมูลถึงสี่เท่า) แต่ได้ท่วมผืนป่าและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า ๑๘๐,๐๐๐ ไร่ แล้วยังอพยพชาวบ้านอย่างถอนรากถอนโคนมากกว่า ๓,๐๐๐ ครอบครัว

ประการที่สาม การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลเกิดจากแรงผลักดันของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ ที่ประกอบธุรกิจอุตสา หกรรมเขื่อน ผ่านองค์กรเหนือรัฐในนามของโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา แต่ท้ายที่สุดก็เพื่อประโยชน์ของ บรรดาอุตสาหกรรมเขื่อนจากประเทศโลกที่ 1 นั่นเอง

ตัวอย่างก็คือ การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งได้รับเงินทุนจากกองทุนพิเศษสหประชาชาติ และสนับสนุนการก่อสร้าง จากธนาคารเพื่อการบูรณะของเยอรมัน (Kreditanstalt fur Wiedraufbau) หลังจากนั้น บริษัทของเยอรมันก็เข้ามา ผูกขาดการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ กล่าวคือ บริษัท Salzgitter Industrial Gamb H. เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อ สำรวจรายละเอียด ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง ส่วนงานก่อสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้า ก่อสร้างโดยบริษัทจากเยอรมัน ขณะที่เครื่องกังหันและ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ผลิตโดยบริษัทจากเยอรมันเช่นกัน

หรือกรณีเขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ที่สร้างโดยกลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยผ่านบทบาทของบริษัท EPDC (Electric Power Development Company)

กรณีเขื่อนปากมูลที่กำลังขัดแย้งอยู่นั้น หากพลิกดูเบื้องหลังแล้วก็เกิดจากการผลักดันของธนาคารโลกโดยการสนับ สนุนการศึกษาจากฝรั่งเศส และเงินกู้จากธนาคารโลกก็กลับไปจ้างหรือซื้ออุปกรณ์จากบรรษัทอุตสาหกรรมเขื่อน

ปัจจุบัน แม้ว่าสงครามเย็นจะสงบลงแล้ว แต่บรรดาทุนอุตสาหกรรมเขื่อนจากประเทศโลกที่หนึ่งก็ยังเข้ามาผลักดัน เขื่อนในลุ่มน้ำนี้ต่อไป ดังเช่น เขื่อนลำโดมใหญ่ ที่ได้รับผลักดันโดยญี่ปุ่น เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว ความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในลุ่มน้ำมูลจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่น ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิต และทรัพยากร กับบรรดานักสร้างเขื่อนที่รับเอาลัทธิการพัฒนาแบบทุนนิยมที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น

โดยที่ประโยชน์ของการสร้างเขื่อนนี้ก็เพื่อบรรดาบรรษัทสร้างเขื่อนและองค์กรเหนือรัฐ โดยที่รัฐไทยเป็นเพียง ตัวดำเนินการที่ไม่แตกต่างกับม้าไม้เมืองทรอย

ขณะที่ประเด็นของผลกระทบทางสังคมนั้น เขื่อนที่สร้างขึ้นในลุ่มน้ำมูลนั้นได้เป็นสาเหตุของการทำลายชุมชน ท้องถิ่นอย่างถอนรากถอนโคน

จนถึงปัจจุบัน ประมาณว่าคนในลุ่มน้ำมูลต้องอพยพเพราะเขื่อนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ครอบครัว โดยที่ยังไม่ นับชาวบ้านที่ต้องอพยพและสูญเสียที่ดินจากการสร้างระบบคลองส่งน้ำ

ขณะที่ยังมีชาวบ้านที่กำลังจะต้องถูกอพยพอีกนับแสนคน เฉพาะโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โครงการเดียวก็จะต้อง มีการอพยพชาวบ้านเป็นจำนวนถึง 149,921 คน

ปัจจุบันคนท้องถิ่นเหล่านี้ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้าย แตกกระสานซ่านเซ็น และกลายเป็นคนจนอย่างฉับ พลันและถาวร

ในบางกรณี ต้องถูกผลักให้อยู่ที่ชายขอบของสังคมดังเช่น ชาวบ้านบากชุมที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ที่ทุกวันนี้ต้องกลายเป็นคนคุ้ยขยะในกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อม เขื่อนเป็นตัวการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและแม่น้ำมูลอย่างรวดเร็ว จนทำ ให้แม่น้ำที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศต้องเหลือเพียงตำนาน

ประการแรก การสร้างเขื่อนทำให้เกิดพื้นที่ท่วมป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค รวมทั้งที่ดินทางการเกษตรที่อุดม สมบ
ูรณ์สองฝั่งแม่น้ำ

จนถึงปัจจุบันประมาณว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนได้ทำลายป่าไม้และที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ไปถึง 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้รวมถึงที่ดินในที่ราบลุ่มและป่าบุ่งป่าทามสองฝั่งแม่น้ำมูล

ประการที่สอง การสร้างเขื่อนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำและพันธุ์ ปลา ยิ่งกว่าสาเหตุของจับปลามากเกินไป หรือการเกิดมลภาวะในระดับปานกลาง ทั้งนี้ เพราะเขื่อนได้ปิดกั้น อินทรีย์สารที่เป็นฐานของห่วงโซ่อาหาร ไม่ให้ไหลลงมาท้ายน้ำ อินทรีย์สารเหล่านี้ถูก แยกสลายลงจนสิ่งมีชีวิต ชั้นสูงกว่าไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ น้ำในอ่างเก็บน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ปลาไม่สามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีอาหารและเป็นพิษ เช่นนี้ได้ แต่หอยทากพันธุ์ที่เป็นเชื้อพาหะโรคพยาธิ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของน้ำที่ไม่มีออกซิเจนเช่น นี้ได้ดี

ด้วยเหตุนี้ ปลาในอ่างเก็บน้ำนั้นจึงเป็นที่สงสัยตลอดมาว่าน่าจะเป็นที่มาของโรคพยาธิใบไม้ในตับ มีรายงานยืน ยันว่าภายหลังมีการสร้างเขื่อนในอีสานเสร็จใหม่ๆ ได้พบพยาธิหลายชนิด ในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน เช่น เขื่อนอุบลรัตน์พบว่ามีชาวบ้านในบริเวณนั้นติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับ สูงขึ้นร้อยละ 50.07 ภายในระยะเวลา 3-5 ปี และในที่สุดชาวบ้านก็ติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์

การวิจัยของคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าโรคร้ายแรงนี้ยังเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและ ในพื้นที่ชลประทาน สร้างความบั่นทอนชีวิตของประชาชนที่เป็นโรคนี้ถึง 4 ล้านคนในภาคอีสาน

เขื่อนที่อ้างว่าจะทำให้เกิดการพัฒนานั้น จริงๆ แล้วคือการสร้างแหล่งบ่มเพาะโรคร้ายที่ค่อยๆ บั่นทอนชีวิตของ คนท้องถิ่นนั่นเอง ที่สำคัญก็คือ เขื่อนได้ปิดกั้นการเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล ที่นักชีววิทยา ยืนยันว่ามีความ อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีพันธุ์ปลาถึง 1,238 ชนิด จะเป็นรองก็แต่แม่น้ำ อะเมซอนเท่านั้น การเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลนี้เอง ทำให้แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขามีความ อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งโปรตีนตามธรรมชาติของคนอีสาน

ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ได้ปิดตายระบบลุ่มน้ำมูนทั้งระบบ แม้ว่ามีการสร้าง บันไดปลาโจนขึ้นมาแก้ปัญหานี้ แต่บันไดปลาโจนก็ไม่สามารถทำให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ใน แม่น้ำมูลได้

การศึกษาของกรมประมงเองก็ระบุว่าปลาสามารถผ่านบันไดปลาโจนได้ 63 ชนิด หรือคิดเป็น 21.4% ของพันธุ์ปลา ในแม่น้ำมูนที่เคยมี บางวันปลาเดินทางขึ้นเพียง 2 ถึง 3 ตัวเท่านั้น และยังเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่ใช่ปลาทาง เศรษฐกิจ

การปิดตายลุ่มน้ำมูลด้วยเขื่อนปากมูล จึงไม่ได้มีเพียงชาวประมงกว่า 6,000 ครอบครัว ที่อยู่รอบอ่างเท่านั้น แต่รวม ถึงคนลุ่มน้ำมูลและลำน้ำสาขาอื่นที่มีอาชีพประมงและจับปลาเป็นอาหารในครอบครัวด้วย

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมล่าสุดที่เขื่อนบนลุ่มน้ำมูลสร้างขึ้นมาก็คือ ปัญหาการกระจายของดินเค็ม ซึ่งปรากฏชัด ในกรณีเขื่อนราษีไศล และโครงการโขง ชี มูล เนื่องจากแผ่นดินอีสานนั้นคือแผ่นดินที่เค็มไปด้วยเกลือ โดยที่ราบ แอ่งโคราช มีชั้นของเกลือแทรกอยู่กับชั้นหินทรายและหินชนิดต่างๆ ตั้งแต่ระดับ 3-40 เมตร ลงไปจนถึง 7-800 เมตร โดยมีภูเขาโดมเกลือใหญ่ใต้ดิน 6-7 แห่ง

การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำนั้น จะทำให้เกิดการยกระดับของน้ำใต้ดินที่เค็มให้ขึ้นมาใกล้ผิวดินมากยิ่งขึ้น และเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำนี้ ในฤดูแล้งก็จะสะสมอยู่บนผิวดินกลายเป็นคราบเกลือและปัญหาดินเค็มตามมา

ส่วนในอ่างเก็บน้ำก็จะมีการสะสมของเกลือ และทำให้น้ำที่เก็บมีความเค็ม ขณะที่พื้นที่ชลประทานที่ได้รับน้ำจาก การสร้างเขื่อนก็จะมีการสะสมของเกลือ จนไม่สามารถใช้สำหรับการเพาะปลูกได้อีกต่อไป

ปัญหาการกระจายของดินเค็มนี้ ในที่สุดก็นำมาซึ่งความวิบัติให้กับคนท้องถิ่นที่ยากแก่การแก้ไข

หากพิจารณาในแง่มุมที่ว่า เขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลไม่ได้มาจากความต้องการของคนท้องถิ่น และผลประโยชน์ที่ ได้นั้นน้อยมาก ดังเช่น เขื่อนปากมูลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ บางเดือนก็ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้ เลย

เขื่อนสิรินธรนั้นมีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 36 เมกะวัตต์ หรือเขื่อนราษีไศลที่ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยทั้งที่สร้างไป แล้ว 7 ปี ในขณะที่คนท้องถิ่นต้องแบกรับภาระจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ โครงการเขื่อนต่างๆ ที่ยังไม่ได้สร้างก็ควรถึงเวลาที่จะทบทวนและยกเลิก ขณะเดียวกันเขื่อนที่กำลัง ก่อสร้าง เช่น เขื่อนหัวนา และเขื่อนอื่นๆ ในโครงการโขง ชี มูล ก็ควรระงับไว้ก่อน ส่วนเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และ ไร้ประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยมาก ก็ควรยกเลิกการใช้ โดยการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและพันธุ์ ปลา และคืนที่ดินที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน

บทเรียนของการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่มีนานกว่า 4 ทศวรรษนั้น สามารถสรุปได้แล้วว่าพอแล้วสำหรับการสร้าง เขื่อนบนลุ่มน้ำมูล

การคืนอิสรภาพให้แม่น้ำมูลจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างเขื่อนกับคนอีสาน!?!

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา