eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“  มูนไม่มีเมืองก็ร้างไปทั้งเมือง ”

โดย เกษียร  เตชะพีระ คอลัมน์วัฒนธรรมรัฐของเกษียร   เนชั่นสุดสัปดาห์ ,๘ : ๔๑๙ (๑๒-๑๘ มิ.ย. ๒๕๔๓ )

                กวีมักมีเสาอากาศสูงและไวกว่าผู้คนทั่วไปในการจับกระแสความรู้สึกของสังคม.....

จึงในท่ามกลางเสียงป่าวร้องโพนทะนาตอกย้ำซ้ำซากดังอึงคนึงของผู้บริหารการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทยและทางราชการจังหวัดอุบลราชธานีว่าการที่กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน ผู้ได้รับ ความเดือดร้อน จากเขื่อนปากมูลมานานนับสิบปีเข้าปิดยึดบริเวณที่ทำการสันเขื่อนดังกล่าวมาตั้งแต่กลาง เดือนพฤษภาคม ศกนี้จะทำให้ จังหวัดอุบลราชธานีและอีก ๔-๕ จังหวัดภาคอีสาน

“น้ำท่วม-ไฟดับ ” “ขู่ปิดเครื่องปั่นไฟ  อีสานกระทบแน่ ”    นั้น คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กวีไพร่เจ๊กปนลาว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ก็จับประเด็นฟันธงออกมาคม ชัดฉับไวว่า

“ คนเมืองอยู่เมืองเรืองจำรูญ  

  คนมูนอยู่มูนจำรูญศรี

          แม้นเมืองไม่รักมูนสูญไมตรี  

            มูนไม่มีเมืองก็ร้างไปทั้งเมือง ”

(มติชนรายวัน, ๔ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒)

สอดคล้องโดยบริบทกับเทศนาตอนหนึ่งของหลวงตามหาบัว พระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี หลังฉัน เช้าที่วัดป่าบ้านตาด  อุดรธานี วันที่ ๓ มิ.ย. ศกนี้ว่า

“ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่  ส่วนไหน  ใหญ่เท่าไหร่อยู่บ้านนอกไม่มี  ความเดือดร้อนของบ้านนอกจึง ไม่มีเหมือนในเมืองนะ  แล้วสุดท้ายก็ในเมืองใหญ่ ๆ นั่นแหละมันก่อไฟเผาออกมา  เข้าถึงตาสีตาสา อยู่ตาม ท้องนาก็ ร้อนกันไปหมด  ตาสีตาสาไม่ได้ไปก่อไฟเผาใคร  กองใหญ่ ๆ นั้นล่ะ  กองเมืองเทวดานี้แหละ  เป็น เมืองเปรต เมืองผี  เมืองความโลภไม่พอ  ตะกละตะกลาม  มันกลืนไปหมด  กลืนไปหมด นี่แหละ  เรื่อง ไม่มีศาสนาในใจ  มี แต่ฟืนแต่ไฟ  หวังแต่จะร่ำรวยจะสวยจะงาม  จะดีจะเด่น  ไม่ทราบจะเอาอะไรมา ดีมาเด่น  ก็สร้างตั้งแต่ความชั่ว ทั้งวันทั้งคืน  มันเอาความดีความเด่นมาจากไหน  ก็มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวอก ตัวเองแล้ว  ยังไม่แล้วเผาคนอื่นอีก  ก็ มีเท่านั้นนะเรื่องความชั่ว  อย่าเข้าใจว่ามันจะเอาความดิบความดี  ความสุขความเจริญ  สงบสุขร่มเย็นมาสู่บ้านสู่ เมืองนะ  ไม่มี  มีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งนั้น ”                                             (มติชนรายวัน, ๕ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒๓)

ประเด็น:- มันเป็นเรื่องของ ชนบทกับเมือง อีกนั่นแหละ

          นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในการเมืองวัฒนธรรมไทยที่รัฐราชการไทยปลุก “ชาติเมือง ” ขึ้นมาเหยียบย่ำ ชนบท

          เพื่อกลบเสียงคนชนบทในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ประท้วงการใช้อำนาจรัฐริบและผันทรัพยากรซึ่งเป็นฐาน  เศรษฐกิจพอเพียงของพวกเขา - ไม่ว่าที่ดิน ป่าไม้  หรือแม่น้ำทั้งสายในกรณีนี้ - ให้กลายมาเป็นทรัพยากร พลังงาน หรือวัตถุดิบสำหรับเศรษฐกิจการค้าเพื่อผลิตสินค้าสนองอำนาจซื้อและการบริโภคของคนเมืองและ ตลาดโลก

          รัฐก็ปลุกผีเปรต “ไฟดับ ” บ้าง  “ถนนถูกปิด รถติดแหง็ก ” บ้าง  ขึ้นมาขู่คนเมืองให้กลัว

          กลัวไฟดับ กลัวรถติด กลัวไม่ได้รับความสะดวกสบายที่คุ้นชินตามประสาชีวิตชาวเมือง ฯลฯ มากพอ ที่คนเมืองจะสมยอมมอบฉันทานุมัติโดยนัยหรือโดยเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่รัฐลุยเข้าไปปราบเหยียบและปิด ปากการประท้วงทัดทานในชนบทนั้นเสีย

         ความเงียบสงบราบคาบและสะดวกสบายก็จะฟื้นคืนกลับมาและคงมีแก่ “ชาติเมือง ” ต่อไป และชาติ ไทยเราก็อยู่อย่างสงบราบคาบ สะดวกสบาย แต่ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม และไม่เคารพศักดิ์ ศรีความเป็นม นุษย์กัน  ภายใต้การปลุกปั่นฉวยใช้และครอบงำของรัฐราชการอย่างนี้มานานหลายสิบปี

         ชาวเขื่อนปากมูล  เขื่อนสิรินธร  เขื่อนลำคันฉู  เขื่อนห้วยละห้า  ฝายราษีไศล  ฝายหัวนา  อ่างเก็บ น้ำโป่ง ขุนเพชร  เขื่อนลำโดมใหญ่อุทยานผาแต้ม  อุทยานแก่งตะนะ  ป่าสงวนดงภูโหลน  ป่าสงวนภูลังกา  ที่สาธารณะ บ้านวังใหม่  ที่สาธารณะบ้านตุงลุง  ป่ากุดชุมภู  ด่านช่องเม็ก  เป็นเพียงเหยื่อชนบทที่ถูกรัฐย่ำยี ในนามของ “ชาติ เมือง ” รายล่าสุดในบัญชีซากชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงยาวเหยียดที่รวมเหมืองแม่เมาะ  ดอยเต่า และป่ากาญจนบุรี ในอดีต  และที่กำลังจะรวมบ้านหินกรูดและบ้านด่านในอนาคต

         ถ้าเราเอา “ผลประโยชน์” ของคนชนบทตัวเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ไปตั้งประจัญกับ “ผลประโยชน์” ของ “ชาติ (เมือง) ”  ที่ฟังดูใหญ่โตมโหฬารและเป็น “คนส่วนใหญ่-เสียงข้างมาก ” ตามที่รัฐราชการปลุกปั่นให้ มองแล้ว

          แน่นอน  ข้อสรุปที่ไม่ต้องอ้าปากก็หลับตาเห็นลิ้นไก่ได้โดยอัตโนมัติก็คือ “บุคคลพึงเสียสละให้ ส่วนรวม  คนส่วนน้อยพีงเสียสละให้คนส่วนใหญ่ ท้องถิ่นพึงเสียสละแก่ชาติ ” แต่หยุดคิดทบทวนดูสักหน่อย ก่อนเถิด  ก่อนจะสวมวิญญาณและแว่นของรัฐราชการมามองเพื่อนคน ไทยร่วมชาติด้วยกัน

         “ผลประโยชน์” ของคนชนบทตัวเล็ก ๆ กลุ่มเล็ก ๆ ในกรณีนี้หมายถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรม  ภูมิปัญญา   และเอกลักษณ์ศักดิ์ศรีของเขา

         ปิดกั้นแม่มูลก็ขาดปลา  ความรู้ชื่อปลา พันธุ์ปลานิสัยปลาวิธีและอุปกรณ์จับปลาพื้นบ้านย่อมหมด ประโยชน์ความหมาย  เขาก็ต้องเลิกเป็นชาวประมงหาเลี้ยงชีพ   อพยพเข้าเมืองมาอยู่สลัม  คุ้ยเศษขยะ  เร่ขายพวง มาลัยตามสี่แยก หรือลอบขายยาบ้า

                  พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่าตายาย จะแตกกระจัดพลัดกระจายแยกย้ายกันไปอยู่ทางไหน ?

                       ลูกร้องไห้ใครจะอุ้ม ?  แม่ป่วยไข้ใครจะดูแล  ?  พ่อใหญ่แม่ใหญ่สิ้นใจใครจะเก็บศพ  ?

                 นี่คือเดิมพันชีวิตเบื้องหลังคำง่าย ๆ แต่เลือดเย็นว่า “ผลประโยชน์” ของเขา

          แต่กับ “ผลประโยชน์” ของชาติเมืองชาวเมือง  เรากำลังพูดถึงไฟฟ้าถนนภาพลักษณ์  บรรยากาศ การ ลงทุน  ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ  เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์  ค่าเงิน บาท  ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ทัวริสต์เข้าประเทศ  ฯลฯ

         ของเหล่านี้เป็นของดี  อำนวยความสุขสนุกสนานสะดวกสบายฟุ้งเฟ้อสำราญแก่ชีวิต แต่มีมากไปมี ไม่รู้จักพอก็เป็นโทษ  ดังที่วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อสามปีก่อนเพิ่งสอนเราหมาด ๆ และก็ยอมรับกันตรง ๆ เถอะว่าถึงขาดเหลือไปบ้างก็ใช่จะเป็นจะตาย   มีพอสมควรอย่างรู้จักพอจึงจะเป็นสุข

ยิ่งไปกว่านั้น  การผลิตสินค้าเพื่อสนองความอยากมีอยากได้ซึ่งสามารถเตลิดพล่านไปไกลตาม กิเลสวิสัย อย่างไร้ขอบเขต เหล่านี้ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล  สร้างมลภาวะมากมาย ขณะที่ทรัพยากร ธรรมชาติใน ระบบนิเวศน์ของโลกเรามีจำกัด  เป็นของขวัญที่มนุษยชาติเราได้มาครั้งเดียว  มิอาจขอใหม่จาก เทวดาที่ไหนอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด

         “ผลประโยชน์” ของชาติเมืองชาวเมืองจึงสูงค่าน่าเคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่มีอันตรายแอบแฝง  ต้องรู้จัก เหนี่ยวรั้งจำกัดควบคุม ชักนำไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดอย่างยั่งยืนของคนทั้งชาติไม่ว่า เมืองหรือชนบทรวมทั้งโลกและมนุษย์

         หากมองไกลให้ลึกซึ้งอย่างมีวิสัยทัศน์  โจทย์จึงไม่ใช่การคิดสั้นมองสั้นแค่เอา “ผลประโยชน์” เล็ก ๆ ของชาวชนบทแต่ละท้องถิ่นมาแบ่งข้างแยกส่วนตั้งเป็นปฏิปักษ์ปะทะชนกับ “ผลประโยชน์” ใหญ่ ๆ ของชาติ เมืองชาวเมือง แล้วบอกให้เลือกเอาสิ !  แบบที่หน่วยงานราชการไม่ว่ากฟผ.  ทางราชการจังหวัดอุบลฯ  หรือคณะ ร่างแถลงการณ์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมถนัดสันทัด (ดูมติชนรายวัน, ๖ มิ.ย. ๒๕๔๓, น. ๒๑)

          โดยเนื้อแท้แล้วนี่เป็นวิธีคิดท่วงทำนองเดียวกับเนื้อเพลง “หนักแผ่นดิน ” สมัย ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ ท่อนที่ว่า

                “..... ปลุกระดมมวลชน  ให้สับสนวุ่นวาย  ให้คนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง ”

                ๒๔ ปีผ่านไป  รัฐราชการไทยก็ยังคิดกับคนในชาติเหมือนเดิม ... เฮ้อออออ

         แต่หากคิดใหม่คิดให้ใจกว้างเอื้อเฟ้อและรอบด้าน มันเป็นเรื่องของน้ำหนักคุณค่าล้ำลึกต่อชีวิตชุมชน วัฒนธรรมและธรรมชาติที่ตื้นลึกหนาบางต่างกัน   ขอบเขตแนวโน้มและภยันตรายที่แฝงฝังอยู่ภาย ในต่างกัน ของ “ผลประโยชน์”  ทั้งสองอย่างดังกล่าว ทำอย่างไรจึงจะจัดวางน้ำหนัก ถ่วงดุลและประสานให้ผลประโยชน์ ที่ต่างกันของคนในชาติเอื้ออวย อาศัยซึ่งกันและกัน  เสียสละแก่กันและกัน เพื่อความอยู่รอดยั่งยืนร่วมกันของ ทั้งหมด  ?

         กล่าวคือ ของทั้งเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจการค้า ในระบบรวมทางเศรษฐกิจที่พหุนิยมและหลาก หลาย อย่างเสมอภาค  เป็นธรรม  และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในชาติ

         ชาติไทยที่มีความยุติธรรมให้แก่คนชนบทแต่ละท้องถิ่นให้พวกเขามีทางเลือกและสิทธิที่จะเลือก ที่รู้ จักใช้พลังอนุรักษ์ของเศรษฐกิจพอเพียงมาจำกัดเหนี่ยวรั้งถ่วงดุลศักยภาพที่จะทำลายตัวเองของ  เศรษฐกิจ การค้า  จะได้สามารถเก็บรับประโยชน์จากพลังพลวัตพัฒนาของเศรษฐกิจการค้าอย่างมั่นคงยั่งยืน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา