eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
ปัญหาปากมูล ปัญหาประเทศ : มุมมองฝรั่งใจไทย

เรื่อง - ไมเคิล ไรท
ข่าวสด วันที่ 16 กรกฎาคม 2543


กลางเดือนพฤษภาฯ ผมขึ้นไปร่วมสัมมนาประวัติศาสตร์ "โขง-ชี-มูล" ที่แก่งสะพือ จังหวัดอุบลฯ งานนี้สนุกมากและเปิด โอกาสให้ผมรับบทเรียนที่ไม่มีทางได้ หากนั่งอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนหมาถูกล่ามโซ่

การแต่งตัวผู้เข้าสัมมนา

ผมสะดุ้งที่สังเกตว่า "ท่านผู้มีเกียรติ" จากกรุงเทพฯ ล้วนแต่งกายตามสบาย (ทีเชิ้ต, ยีน, รองเท้าแตะ) ในขณะที่เจ้าภาพจาก สถาบันราชภัฏเมืองอุบลฯ ส่วนใหญ่ผูกไทแต่งสูทเต็มยศ และใส่รองเท้าหนังอย่างดี

"ผมเคารพรักที่เจ้าภาพท้องถิ่นอุบลฯ ได้อุตส่าห์แต่งตัวให้เกียรติแก่อาคันตุกะ แต่เรื่องนี้แสดงถึงความเลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด

ในขณะที่ปัญญาชนเมืองหลวงเริ่มสละละทิ้ง "สูท" เป็นเครื่องหมายของความเจริญนั้น ชาวชนบทยังถูกยัดเยียดว่า "เกียรติ" อยู่ที่การแต่งตัวเหมือนชาว "เมืองนอก" ที่ต้องใส่สูทป้องกันหนาวและผูกไทกันไม่ให้ลมหนาวเข้าไปในอกเสื้อ

ที่น่ารักและน่าสังเกตเป็นพิเศษ คือท่านศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ที่แต่งชุดวอร์มตลอด เหมือนกับว่าไม่ใช่เจ้านาย หรือเทวดามาจากไหน แต่แล้วทำไมต้องใส่ชุดวอร์ม ในเมื่ออากาศเมืองไทยมัน "วอร์ม" จะตายอยู่แล้ว?

คุณผู้หญิงที่เข้าสัมมนาล้วนแต่งกายน่าสนใจเช่นกัน นักปราชญ์หญิงหลายท่านอุตส่าห์นุ่งห่มผ้าไทย แต่ทุกคนพิถีพิถันตัดเย็บ ผ้าซิ่นงามที่ท่านหามาให้เป็นเสื้อและกระโปรง ซึ่งเท่ากับเป็นการขับไล่ความงามของลายผ้าหนีหายไป

ใครจะแต่งตัวอย่างไรไม่ใช่ธุระของผม ใครๆ มีสิทธิ์แต่งตามใจชอบ ผมจึงไม่มีทางติเตียนใคร แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก มีใครอธิบายให้ฝรั่งโง่ๆ อย่างผมเข้าใจได้ไหม ว่าทำไมคนไทยเห่อของไทย แต่แล้วตีตัวห่างของจริง?

การแสดงพื้นเมือง

ในคืนวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาฯ หลังสัมมนาแล้ว ฝ่ายเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงที่อร่อยและสนุกมาก มีการแสดงดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน อุบลฯ โดยคณะที่เก่งมากและน่ารักอย่างยิ่ง เสียอย่างเดี่ยวคือ คนคุมระบบเสียงไม่มีความรู้หรือสำนึก เกี่ยวกับเครื่องขยายเสียง ว่ามันไม่ใช่อาวุธสงคราม!

ผลก็คือเขาเปิดดังมากไปจนเสียงแตก จนเสียงดนตรี (ที่เพราะมาก) กระแทกหูอย่างทรมาน และคำอธิบาย (ที่ดีมาก) ของนาย อ้วน หัวหน้าคณะ ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะเสียงที่ออกจากลำโพงนั้นคล้ายเสียงหมาเห่า

เรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วเมืองไทย ดูเหมือนกับว่าไม่มีใครเข้าใจการควบคุมเครื่องกระจายเสียง และไม่มีใครสำรวม หรือสำนึกว่า ระดับความดังไหนดีสำหรับสถานที่ใด

นี่น่าจะแก้ได้ง่ายมากหากผู้เกี่ยวข้องมานั่งคิดกันสักชั่วระยะหนึ่ง แทนที่จะหลงรักกับเทคโนโลยีที่เขาไม่เข้าใจและไม่เคยศึกษา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมสนใจในงานเลี้ยงคืนนั้นคือ พฤติกรรมของพวกเรา ที่ชมการแสดงพื้นเมืองของคณะนายอ้วน นักแสดงทุกคนต่างแต่งตัวพื้นเมือง (หญิงนุ่งซิ่น, ชายนุ่งโสร่งไหม)

แต่ในหมู่คนเข้าชมการแสดง ทั้งชาวเมืองหลวงและชาวอุบลฯ ที่มีหลายร้อยคนด้วยกัน ไม่มีใครคนใดแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าเป็น ชายหรือหญิง แต่งพื้นเมืองเลย

ในสายตาฝรั่งโง่ๆ อย่างผม ชีวิตพื้นเมืองสยามได้กลายเป็น "การแสดง" ที่คนท้องถิ่นต้องจัดขึ้นมาแสดงเป็นชุดๆ ส่วนชาวสยาม ส่วนใหญ่ก็กลายเป็น "นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ" ที่เข้าชมการแสดงด้วยเสียง "ว่าว! อู้! อ้า!" เหมือนฝรั่งชมการร่ายรำทำเพลง ของชาวแอฟริกา

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองเป็นที่น่ารัก น่าชม แต่ เป็นชีวิตของเขาไม่ใช่ชีวิตของเรา เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงปัญหาเขื่อนปาก น้ำมูล ที่ดูจะเป็น "ปัญหาเขา ไม่ใช่ปัญหาเรา"

ปัญหาปากมูล

ในเรื่องปัญหาเขื่อนปากมูล ใครๆ มักพูดถึงการผลิตไฟฟ้า การอพยพเพื่อวางไข่ของปลา ฯลฯ แต่ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาปากมูล (และปัญหาอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน)

ในปลายศตวรรษที่ 19 ชนชั้นปกครองของสยามถูกอังกฤษบังคับให้ใช้ระบอบการปกครอง Indian Civil Service (ICS) ที่อังกฤษ ใช้ปกครองเมืองขึ้นในอินเดีย

ระบอบการปกครองนี้มีประสิทธิภาพสูง แต่สมมติว่า รัฐบาลมีอาญาสิทธิ์ มีความรู้ความเจริญ เป็นเจ้าของอารยธรรม ในขณะที่ ผู้ที่ถูกปกครอง ไม่มีสิทธิ์ ล้าหลัง ไม่มีอารยธรรมจึงต้องได้รับการสั่งสอน การรับระบอบการปกครอง ICS นี้ ประวัติศาสตร์ไทย เรียกว่า "การปฏิรูปการปกครอง"

ต่อมาใน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) เกิดเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" ที่จริงไม่ได้เกิดการ เปลี่ยนแปลงการปกครองแม้แต่น้อย ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ชนชั้นกลาง ได้ยึดอำนาจจากชนชั้นเจ้านายเก่า แล้วเสวยผลประ โยชน์ที่เกิดจากระบอบการปกครอง ICS ต่อไป

โดยรัฐบาลยังเป็นเจ้าของวัฒนธรรม "ศิวิไลซ์" และชาวไทยชนบทยังดำรงสถานะ "ผู้ล้าหลังที่ต้องสั่งสอน" ในค.ศ.1947 (พ.ศ. 2490) พวกอาชญากรสงคราม พ่อค้ายาเสพติด

และพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำลายรัฐบาลสังคมนิยมของประชาชน และก่อตั้งระบอบการปกครองแบบเผด็จการ 3-4 ทศวรรษ ที่รับใช้ผลประโยชน์มหาอำนาจครั้งสงครามเย็น

รัฐบาลยังถืออาญาสิทธิ์และชาวชนบทต้องถูกปกครองและปราบปรามไม่ให้เป็น "คอมมิวนิสต์" ในปี 1976 (พ.ศ.2519) ได้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก เมื่อทางราชการได้อาศัยอำนาจมาเฟียต่างจังหวัดให้รณรงค์ปราบปราม "ฝ่ายซ้าย" คือปัญญาชนในเมือง

ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาฯ ทางราชการเป็นหนี้บุญคุณมาเฟียอย่างออกหน้าออกตา มองข้ามหรือปฏิเสธไม่ได้ จึงเสื่อมศักดิ์ศรีที่ได้สืบ ทอด (หรือแย่ง) มาจากชนชั้นเจ้านายเก่าในปี 2475 ในขณะเดียวกันพวกมาเฟียต่างๆ ได้หน้าได้ตา และอำนาจเถื่อนของแก๊ง เหล่านี้ได้เปลี่ยนโฉมเป็นอำนาจที่ถูกต้องในรูปของ "พรรคการเมือง" ที่ไม่เป็นตัวแทนของใครนอกจากกลุ่มนายทุนกึ่ง อาชญากร

"พรรคการเมือง" เหล่านี้สมสู่ได้สบายกับราชการที่หมดศักดิ์ศรีและเกือบหมดอำนาจ อำนาจได้เปลี่ยนมืออีกแล้ว แต่ระบอบการ ปกครองยังเป็น ICS อยู่

รัฐบาลของพรรคนายทุนเถื่อนยังถืออาญาสิทธิ์ และประชาชน (ทั้งคนยากจนในชนบทและชนชั้นกลางในเมือง) ต่างถูกหลอก ลวงให้รัฐบาลปล้นกลางปี 2540 เศรษฐกิจไทยพังพินาศ ไม่ใช่เพราะเหตุบังเอิญ หากเพราะพรรคการเมืองของนายทุนเถื่อนได้ ร่วมหัวกับระบอบราชการ ICS เพื่อปล้นแผ่นดิน เหมือนกับว่าเป็นเมืองขึ้นของตน

ในที่สุดประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงปากน้ำมูล (ที่โดนก่อน) หรือชนชั้นกลางในเมือง (ที่เพิ่งรู้ว่าถูก ล้วงประเป๋าทีหลัง)

ประวัติการปกครองโดยสังเขปนี้ มิได้เป็นภูมิหลังของปัญหาปากมูลเพียงอย่างเดียว หากเป็นบริบทของการเจ๊งของเศรษฐกิจ ไทยในค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) ทั้งนี้ แสดงว่าชนชั้นกลางในเมืองกับคนยากจนในชนบท ต่างอยู่ในเรือลำเดียวกัน ที่ผู้คุมเรือล้วน เป็นโจรสลัด

ดังนั้น ชาวเมืองและชาวชนบทควรสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ควรขัดแย้งกัน

อนาคต

การประท้วงที่ปากน้ำมูลเป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะชี้อนาคตทางสังคมและการเมืองของไทย

สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว คนยากจนในชนบทเริ่มมีเสียง (ทั้งๆ ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดสนับสนุนโดยแท้จริง) และชนชั้น กลางในเมืองตระหนักดีว่าการล้มละลายของเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2540 มิได้เป็นเหตุบังเอิญ แต่เป็นฝีมือของผู้มีอำนาจหลายกลุ่ม รวมหัวกันก่อวินาศกรรมโดยโง่บ้าง เจตนาร้ายบ้าง

สี่สิบปีของการพัฒนาเศรษฐกิจจึงชะงัก สี่สิบปีของเหงื่อแรงงานจึงเสียเปล่า และสี่สิบปีของความเพียรในหมู่นักธุรกิจผู้ซื่อถูก เย้ยหยัน

ทุกวันนี้ปัญหาปากน้ำมูลอยู่ที่ว่า

1) ประตูเขื่อน จะเปิด ให้ปลาขึ้นไปวางไข่เพื่อรื้อฟื้นทรัพยากรธรรมชาติ และคืนชีวิตให้แก่ชุมชนท้องถิ่น? หรือ

2) ประตูเขื่อน จะถูกปิด ไว้ตามเคยเพื่อพิสูจน์ว่าระบอบการปกครองแบบ ICS ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ และผู้มีอำนาจมีสิทธิ์ทำลาย ทรัพยากรของชาติและปล้นประชาชนทุกชนชั้นตามใจชอบ?

เรื่องนี้น่าสนใจพอสมควร แม่นบ่?

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา