eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สัมภาษณ์

ดร.ไทสัน อาร์ โรเบิร์ต
ณ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน สันเขื่อนปากมูน
21 สิงหาคม 2544

“ในฐานะที่คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบนิเวศน์แม่น้ำ และพันธุ์ปลา คุณมีความเห็นอย่างไรต่อเขื่อนปากมูน และผลกระทบที่เกิดขึ้น”

ไทสัน : เรากำลังนั่งอยู่ห่างจากลำน้ำโขงประมาณ 4 กม. ในประเทศไทย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขงในไทย ที่มีชื่อว่าแม่น้ำมูน และจากตรงนี้ไปราว 400 ม.เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เรียกว่า เขื่อนปากมูน ที่สร้างเสร็จในปี 2536 หรือ 8 ปีที่แล้ว แม่น้ำโขงนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในดินแดนแถบนี้ว่าเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ ผมเป็นนักวิชาการด้านปลา ผมได้ทำการศึกษาปลาในแม่น้ำโขงมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่มาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2513

ตอนที่มีการเสนอสร้างเขื่อนนี้ ผมกลัวว่า ถ้าได้สร้างจริง ปริมาณปลาจะลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะปลาธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่มากสำหรับชาวประมง ชาวบ้านและตลาดท้องถิ่น ในช่วงที่ผมมาที่นี่ ก่อนสร้างเขื่อน ผมได้เห็นว่า แม่น้ำมูนนั้นเป็นแหล่งปลาสำหรับตลาดปลาน้ำจืดที่ดีที่สุดสองแห่งเท่าที่มีในประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งเป็นตลาดปลาในเมืองใหญ่กลางลำน้ำมูน ราว 60-70 กม.ทวนน้ำขึ้นไปจากตรงนี้ มีตลาดปลาที่ดีที่สุด ตลาดปลาน้ำจืดที่ดีที่สุดในเมืองไทย ตลาดปลาเหล่านี้เคยดีกว่าตลาดใดๆตามเมืองใหญ่สองฝั่งแม่น้ำโขง และก็ดีกว่าตลาดปลาริมแม่น้ำสายอื่นๆในเมืองไทย เช่น เจ้าพระยา เสียอีก

ผมกลัวว่า มันจะหมดไปทันทีที่เขื่อนสร้างเสร็จ แต่ผมก็ไม่สามารถทำนายได้ว่า ปลาในอ่างเก็บน้ำจะสามารถชดเชยปลาธรรมชาติได้มากแค่ไหน รวมถึงที่เพาะโดยกรมประมง กับที่เลี้ยงหรือจับมาเลี้ยงในกระชังในบริเวณอ่าง ตอนนั้นผมนึกว่า มันคงได้ผลมากพอที่จะทดแทนได้บางส่วน และผมก็ไม่ได้คาดถึงผลกระทบที่เลวร้ายของเขื่อนที่มีต่อปลาของลำน้ำมูนตอนกลางและตอนล่างทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์มาก ผมได้แต่นึกว่า ด้วยมาตรการที่สำคัญบางอย่าง อาจชดเชยได้ด้วยปลาในอ่างเก็บน้ำที่มีความยาว 35-40 กม. ที่ถูกกั้นโดยสันเขื่อนสูง 20 ม.

ผมรู้ว่ากรมประมงและเจ้าหน้าที่ของไทยทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้การเพาะเลี้ยงปลาในอ่างประสบผลสำเร็จ พวกเขาเพาะปลาปล่อยลงในอ่าง บางชนิดเป็นชนิดที่มีอยู่ที่นี่ตามธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติ และเขาก็ปล่อยลูกปลาจำนวนมากที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณปลาในอ่าง

สิ่งที่เราพบและสิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือ ตัวอ่างเก็บน้ำเองมีสภาพที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของปลา แล้วกระแสน้ำที่ไหลออกจากเขื่อน ซึ่งไหลเป็นระยะทางราว 4-5 กม. จนบรรจบกับแม่น้ำโขง ก็ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของปลาเลยเช่นกัน ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ ไม่มีการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง หรือไปมาระหว่างลำน้ำมูนและลำน้ำโขง และปลาที่ไม่อพยพส่วนใหญ่ก็หายไปด้วย พวกมันไม่สามารถอยู่ได้ทั้งเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน และเราก็ยังพบด้วยว่า ความพยายามในการเพาะเลี้ยงปลานั้นไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก

นี่เป็นเขื่อนที่พิเศษมาก เพราะเขาอ้างว่ามันเป็นเขื่อนแบบ น้ำไหลผ่าน( run-of-the-river) ในแง่วิศวกรรม นั่นหมายความว่า เขื่อนนี้ไม่สูงมาก แต่ก็ประมาณ 20 ม. หรือกว่านั้น มันไม่กักเก็บน้ำปริมาณมากนัก มันจะปล่อยน้ำออกมาเท่าๆกับที่ไหลเข้ามา ก็เลยเรียกว่า “น้ำไหลผ่าน” ดังนั้นวิศวกรสร้างเขื่อนก็เลยบอกว่า นี่เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน และนี่เป็นแห่งแรกในภูมิภาคแถบนี้เลย แห่งแรกในเมืองไทยแน่นอน และผมว่ามันก็เป็นแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงด้วย เคยนึกกันว่า เขื่อนแบบนี้จะเป็นมิตรกับปลา ชาวประมง การประมง และระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น ปรากฏว่า สภาพที่เรียกกันว่า”น้ำไหลผ่าน” นี่ ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติเลย ได้ทำให้เกิดสภาพที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่กับกระแสน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนเท่านั้น แต่ภายในอ่างเองด้วย บางทีสภาพที่แย่ที่สุดของกระแสที่ไหลออกจากเขื่อนคือว่า เขื่อนถูกใช้ประโยชน์เพื่อจุดประสงค์หลักคือการผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด หมายความว่า ในช่วงตอนเย็นเมื่อมีความต้องการไฟฟ้าขึ้นสูง ก็จะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม และในเวลาที่เหลือจะไม่มีน้ำไหลออกจากเขื่อน แต่ว่าในช่วง 4 ชม.นั้นจาก 24 ชม. กระแสน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนจะไหลเชี่ยวแรงมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อปลา และด้วยเหตุผลนี้เอง กระแสที่ออกจากเขื่อนแบบ”น้ำไหลผ่าน”นี้เป็นอันตรายมากสำหรับปลา และขัดขวางการอพยพของปลา และปลาไม่สามารถอาศัยอยู่ในกระแสที่เชี่ยวกรากนั้นได้ ตอนที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้า

ตัวอ่างเก็บน้ำก็มีสภาพไม่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตของปลา เพราะมีตะกอน อ่างมีตะกอนมาก เพราะมีเขื่อนปิดอยู่เกือบตลอดเวลา มีการตกตะกอนตลอดเวลา ตลอดความยาว 40 กม.ของอ่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ไม่ว่าจะทางประตูระบายน้ำหรือการปล่อยน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ตะกอนพวกนี้ก็จะถูกกวนขึ้นมาในอ่างยาว 35-40 กม. และก้นอ่างก็เต็มไปด้วยตะกอน มันคือแดนมรณะสำหรับปลาจริงๆ ไม่มีใครคาดถึงเรื่องนี้มาก่อน

และที่สองสิ่งนี้ ผมกำลังพูดถึงสองปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เกิดสภาพที่ไม่เป็นธรรมชาติสำหรับปลา แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแค่สองปัจจัยนี้เท่านั้น เหตุผลที่บันไดปลาโจนที่เคยคาดว่าจะแก้ปัญหาได้ อย่างน้อยก็การอพยพของปลา ไม่ได้ผล ไม่ใช่ว่าปลาไม่สามารถปีนข้ามได้ แต่โดยพื้นฐานคือว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับปลาที่จะข้ามจากที่หนึ่งที่มันอาศัยอยู่ไม่ได้ มีแต่ตาย ว่ายข้ามบันได แล้วก็มาอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ในอ่างเก็บน้ำที่มันเองก็อยู่ไม่ได้อีกเช่นกัน มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีบันไดปลาโจนที่พามันจากสถานที่ที่มันอยู่อาศัยไม่ได้ ไปยังสถานที่ที่อยู่อาศัยไม่ได้เช่นกันด้วยเหตุผลอีกชุดหนึ่ง ตอนนี้ ผมพูดได้แต่เพียงว่า สัญญาณที่ดีเพียงอย่างเดียว แง่มุมที่ดีเพียงแง่เดียว ของสภาพการณ์อันน่าเศร้าสำหรับปลาลำน้ำมูนนี้ คือ เขื่อนนี้ถูกสร้างขึ้นมาแต่เนิ่นๆ พอที่พวกเราจะได้เห็นผลกระทบจริงๆของเขื่อนแบบ”น้ำไหลผ่าน” ก่อนที่เขื่อนแบบนี้จะถูกสร้างอีกตามลำน้ำโขง ในปี 2538 มีการประกาศแผนจะสร้างเขื่อนแบบน้ำไหลผ่านเรียงกันเป็นชุดตามลำน้ำโขง ตามแบบเขื่อนปากมูน มีประตูน้ำแบบเดียวกัน ระบบปฏิบัติการแบบเดียวกัน มีอ่างเก็บน้ำแบบเดียวกันแต่ใหญ่กว่ามาก มีสันเขื่อนแบบเดียวกันแต่สูงกว่ามาก ที่ใหญ่ที่สุดจะมีสันเขื่อนสูงถึง 50 ม. และจะมีอ่างเก็บน้ำแบบน้ำไหลผ่านยาว 160 กม. ผมคิดว่าอ่างเก็บน้ำคงจะเป็นแบบเดียวกับปากมูลแต่ใหญ่กว่า ซึ่งจะเป็นหายนะสำหรับลำน้ำโขง

“คุณคิดว่า การเปิดประตูเขื่อนปากมูน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และการกลับมาของพันธุ์ปลา หรือไม่ อย่างไร”

ไทสัน : เมื่อสองเดือนหรือประมาณ 9 สัปดาห์ที่แล้ว ประตูขนาดใหญ่ 8 บานของเขื่อนปากมูน ที่อยู่ห่างจากจุดบรรจบแม่น้ำโขง 4.5 กม. ถูกเปิดขึ้น เหตุผลที่เปิดคือเพื่อจะได้ดูว่า การเปิดประตูจะช่วยฟื้นฟูการประมงในลำน้ำมูนให้กลับคืนมาได้หรือไม่ ผมคิดว่า หลักๆก็คือว่า ถ้าคุณเปิดประตู ปลาในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งก็ 9 สัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้กลาง ใกล้จะปลายเดือนสิงหาคม ในเดือนมิถุนากับกรกฎา ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาส่วนใหญ่อพยพจากแม่น้ำโขงมายังแม่น้ำมูน ถ้าคุณเปิดประตูระบายน้ำ ปลาก็จะอพยพขึ้นมาอีก และชาวประมงก็จะสามารถจับปลาที่อพยพขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง แล้วปลาส่วนที่เหลือก็จะสามารถว่ายไปต่อ แล้วก็วางไข่ เพิ่มจำนวนปลาให้กับลำน้ำมูน และแหล่งปลาฟื้นคืนมา ผมคิดว่าว่านี่คือความคาดหวังหลัก และผมก็ยังคิดว่า มันก็เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ

แต่ผมคิดว่า นี่เป็นเพียงคำอธิบายบางส่วนว่าทำไมเรามีแหล่งปลากลับคืนมาบ้างในบริเวณเหนือเขื่อนปากมูน ที่เป็นบริเวณอ่างเก็บน้ำยาว 40 กม. ที่เกิดขึ้นมาโดยเขื่อนปากมูล แต่ผมคิดว่าปลาส่วนใหญ่ที่จับได้คราวนี้ ช่วงกลางถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ผมมาที่นี่ได้สัก 2-3 วันแล้ว ผมก็เลยได้เห็นปลาที่จับได้จำนวนมากทีเดียว เป็นปลาที่ไม่สามารถอยู่อาศัยในอ่างเก็บน้ำได้ เมื่อประตูถูกปิดและเขื่อนยังคงถูกใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงความต้องการสูงสุด ปลาเหล่านั้นไม่สามารถอยู่ได้เพราะน้ำขุ่นมากเกินไป บริเวณก้นอ่างขุ่นมาก เนื่องจากมีตะกอนเพราะเขื่อนขวางทางน้ำไว้อยู่ ทำให้น้ำไหลช้าลง ตะกอนก็นอนก้นแทนที่จะไหลไปตามน้ำตามปกติ ดังนั้นทุกวันเมื่อเขื่อนถูกใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ตะกอนพวกนี้ก็จะถูกกวนขึ้นมา ผมคิดว่าปลาไม่สามารถอาศัยอยู่ในช่วง 40 กม.นี้ได้ด้วยเหตุผลนี้ ผมคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านจับปลาได้คราวนี้ ไม่ใช่แค่ว่าปลาทวนน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำโขง แต่ปลาว่ายตามน้ำลงมาจากแม่น้ำมูนทางบนๆลงมามากกว่า พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็กและไม่ค่อยอพยพมากนัก แต่พวกมันว่ายตามน้ำลงมาและตอนนี้อยู่ที่นี่ พวกมันสามารถอยู่ที่นี่ได้เพราะสภาพลำน้ำได้ถูกฟื้นคืนสภาพด้วยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านประตูไปได้ ทันทีที่ประตูเหล่านั้นถูกปิด ผมคิดว่าปลาเหล่านี้ก็จะหายไปจากบริเวณอ่าง 40 กม.นี้อีก

ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ที่ผมไม่คิดว่า การเปิดประตูจะสามารถฟื้นคืนการอพยพของปลาที่สำคัญในลำน้ำมูนได้ เพราะผมคิดว่า ประตูระบายน้ำเป็นตัวกีดขวางที่สำคัญมาก มันไม่ง่ายนักที่จะว่ายผ่านไปได้ ประตูมันมีโครงสร้างซีเมนต์ที่ซับซ้อน อยู่ข้างล่าง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับปลาที่จะว่ายขึ้นมา ผมมีความสงสัยอย่างมากว่าการอพยพนี้จะฟื้นคืนได้มากแค่ไหน ตราบใดที่ยังมีเขื่อนนี้อยู่ และต่อให้การอพยพกลับคืนมา ระบบนิเวศน์ของปลาจะไม่มีทางฟื้นคืนมาได้เลยด้วยการเปิดประตูเพียงเท่านั้น

มันไม่ใช่หน้าที่ของผม ผมไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือและทุน และไม่มีปัจเจกบุคคลคนใดสามารถศึกษาการอพยพของปลาผ่านประตูพวกนี้ และผมก็ไม่เห็นใครที่จะศึกษาปัญหาว่า ปลาจะสามารถ…และปลาชนิดไหนที่สามารถผ่านประตูพวกนี้ได้ ผมไม่เห็นใครที่มานี่ตั้งแต่เปิดประตูเมื่อ 9 สัปดาห์ที่แล้ว จะศึกษาอย่างจริงจังถึงการเคลื่อนย้ายของปลาในบริเวณเหนือและล่างประตู เพื่อให้รู้ว่ามีการเคลื่อนย้ายผ่านประตูพวกนั้นหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีใครทำ และผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

“เขื่อนปากมูน ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไทย และสังคมโลก”

ไทสัน : ปากมูนเป็นบทเรียนสำหรับชาวเอเชียเขตร้อน คือว่า เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า จะเปลี่ยนแม่น้ำให้มีสภาพที่ไม่น่าอยู่อย่างยิ่งสำหรับปลา แน่นอนว่าผมจำกัดตัวเองเฉพาะเรื่องปลา แต่ผมคิดว่ามีสิ่งอื่นๆอีกมากเกี่ยวข้องด้วย แต่ผมจำกัดตัวเองอยู่ที่ปลา และตอนนี้เรามีตัวอย่างอยู่เบื้องหน้าเราที่แสดงให้เห็นว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขงเลวร้ายอย่างไร มันส่งผลเลวร้ายอย่างไรต่อแม่น้ำสายนี้ที่มีปลาอุดมสมบูรณ์ถ้าไม่มีเขื่อน


ถึงกระนั้น เกือบทุกรัฐบาลในแถบนี้และหน่วยงานระหว่างประเทศขนาดใหญ่ทั้งหมด หน่วยงานพัฒนาต่างๆ กำลังโปรโมทการสร้างเขื่อนในประเทศลุ่มน้ำโขงเกือบทุกประเทศ ทั้งจีน พม่า ลาว เวียตนาม เขมร มีแต่เมืองไทยที่ดูจะไม่โปรโมทการสร้างเขื่อนในประเทศตัวเองอีกแล้ว แต่จริงๆแล้วรัฐบาลไทยก็กำลังสนับสนุนการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องแย่ และบางทีเป็นการไม่ฉลาดเพราะอนาคตของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้านั้นสั้นมาก และในไม่ช้าเราก็จะมีแหล่งพลังงานทางเลือก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ช่วยซ้ำเติมให้เกิดความยากจนเหมือนที่ปากมูนทำ

ผมคิดว่าโครงการที่น่าหวั่นใจมากที่สุดกำลังเกิดขึ้นโดยประเทศจีน บนแม่น้ำลานคัง(Lancang ชื่อที่คนจีนเรียกแม่น้ำโขง—จ๊าด คนแปล) พวกเขาสร้างแล้วหนึ่งแห่ง สูงประมาณ 113 ม. เรียกว่า มานวาง(Manwang) แล้วยังกำลังวางแผนที่จะสร้างอีก 6-7 เขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน ซึ่งจะสูงตั้งแต่ 100-300 ม. และยังวางแผนด้วยที่จะสร้างทางเดินเรือในลำน้ำโขงตามน้ำลงมาจากจีนจนถึงทะเลจีนใต้ ระยะทางประมาณ 2,500 กม. นี่จะสร้างความหายนะจริงๆให้กับระบบนิเวศน์ทั้งหมดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผมไม่ได้พูดถึงแค่แม่น้ำโขง ผมพูดถึงลำน้ำโขงจะถูกทำลาย และระบบนิเวศน์ของมนุษย์ทั้งหมดของประเทศทางตอนล่างรวมจีนด้วยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จีนดูเหมือนว่าแน่วแน่ที่จะเดินหน้าโครงการต่อ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สำเหนียกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับทางตอนล่างของลำน้ำ

ผมกลัวจริงๆ ผมคิดว่าทำไมประเทศไทย ยกตัวอย่าง ซึ่งอาจจะไม่ถูกกระทบมากนักโดยตรง ไม่เท่าลาว เขมร เวียตนาม แต่ผมคิดว่าประเทศไทยและคนไทยควรใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะประเทศเพื่อนบ้านจะถูกผลกระทบอย่างหนัก ถ้าจีนเดินหน้ากับแผนการสร้างเขื่อนกับทางเดินเรือบนลำน้ำโขง เพื่อนบ้านของไทยอย่าง ลาว เวียตนาม เขมรจะย่อยยับ ผมคิดว่า คงไม่มีประเทศไหนที่อยากให้เพื่อนบ้านถูกทำลาย เพราะมันไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย แม้แต่คนที่เห็นแก่ตัวมากที่สุดในโลกก็ไม่อยากให้เพื่อนบ้านถูกผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น แต่ผมนึกถึงคุณภาพชีวิตทั้งหมด รากฐานของชีวิต การเกษตร ประมง ป่าไม้ ทุกแง่มุมของคุณภาพชีวิตจะถูกกระทบอย่างร้ายแรงจากโครงการของจีน ถ้ามีการเดินหน้า และผมคิดว่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยมากต่อลาว เขมร และเวีนตนาม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา