eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ไร้สิ้นกลิ่นปลาแดก.. ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน

เดอะเนชั่นสุดสัปดาห์
รายงานพิเศษ / แม่มูนมั่นยืน / บายไลน์ - ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

                 จริงอย่างที่นักวิชาการหลายคนบอกทีเดียวว่า ที่นี่มีหลายสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อสังคมไทย แต่ไม่มีใครพูดถึง เป็นหลายสิ่งที่ทำ ให้เราซึ่งพาตัวเองมารับรู้และสัมผัสมีอันต้องอึ้ง และบางทีต้องกลับไปไล่เรียงสิ่งที่ตัวเองรู้เสียใหม่ ว่ารู้มาแบบผิดๆ หรือไม่ เหมือน อมตะนิยายเรื่องดอน ฆีโฮเต้ ที่อัศวินบ้าบอตอบโต้กับศาสตราจารย์นักวิชาการท่านหนึ่งว่า ""รู้มาก็มาก แต่ก็รู้มาผิดๆ"" อย่างไรอย่าง นั้น

                ที่ๆ เรายืนอยู่ คือเขื่อนปากมูล เขื่อนอันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน" หมู่บ้านที่ไม่ได้รับการรับรองใดๆ ไว้ในทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย เป็นหมู่บ้านที่ไม่อยู่ในชายคาของอำนาจรัฐก็ว่าได้ บ้านหลังเล็กๆ หรืออันที่จริงควร เรียกว่ากระต๊อบที่เรียงรายแออัดยัดเยียดตลอดพื้นที่อันลาดชันบริเวณหัวเขื่อนและสองฝั่งทางหลวง บ้างใช้ผ้าพลาสติก บ้างใช้ซองบะหมี่สำเร็จรูป บ้างเป็นหญ้าคา หรือวัสดุตามแต่จะหาได้ มามุงเป็นหลังคาในระดับที่ต้องโค้งตัวเข้าบ้าน บอกเราว่า นี่ไม่ใช่ลักษณะและที่ทางที่ใครจะมาตั้งถิ่นฐานที่เรียกว่าเป็นบ้านได้

                ทว่า นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า ทุกคนที่นี่ยังมีหัวใจอันเปี่ยมหวังที่จะมีหมู่บ้านและบ้านที่ถาวรให้กับตนและลูกหลาน บ้านที่พอจะมีใต้ถุนให้ลมพัดผ่านในขอบเขตของรัฐที่มีความเป็นธรรมให้กับทุกชีวิต

ใครสร้าง ใครรับกรรม?

                ไม่น้อยกว่า 7 ปีที่ชาวบ้านสมัชชาคนจน ปักหลักต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่ได้หมายเพียงแต่ค่าชดเชย กว่า 13 เดือนที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนปักหลักเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการตั้งเป็นหมู่บ้านชั่วคราวที่ชื่อว่า แม่มูนมั่นยืน โดยยึดเอา หัวเขื่อนปากมูลเป็นที่ตั้ง อันเป็นยุทธวิธีทั้งรับและรุก อย่างที่ อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อธิบายว่า

                ""นี่เป็นการเรียกร้องที่สุภาพที่สุดสำหรับชุมชนที่ถูกกดขี่และด้อยโอกาส เพราะเขาไม่ได้เรียกร้องโดยใช้ความ รุนแรงอะไรเลย การไปเรียกร้องที่ทำเนียบนั้นก็เสียชีวิตไป 13 คน แต่การที่มาอยู่ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เป็นการต่อสู้ที่ สร้างความเป็นมนุษย์กลับมา นี่คือการต่อสู้ที่ชาญฉลาด ซึ่งเอาวิถีชีวิตเดิมมาสู้แล้วก็ยั่งยืน ที่น่าเสียดายก็คือว่า รัฐไม่มีสติปัญญา พอที่จะมองเห็นความสำคัญของชาวบ้าน รัฐมองชาวบ้านในฐานะที่เป็นม็อบตลอด แต่ชาวบ้านได้พิสูจน์ว่าที่อยู่กันนี้ไม่ใช่ ม็อบ มันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ มันเป็นชุมชน""

                ใช่แล้ว ที่นี่ไม่ได้เพียงแต่มีบ้านที่แออัดยัดทะนานเอาไว้เป็นที่นอนเพื่อตื่นขึ้นมานั่งชุมนุมเรียกร้องอย่างที่หลายคน ที่ไม่เห็นภาพคิดไว้ ที่นี่มีสภาของตนเองสำหรับนั่งปรึกษาหารือ มีสภากาแฟสำหรับความบันเทิงอย่างมีสาระ มีร้านค้าใน ระบบสหกรณ์ มีหอประชุม มีศูนย์พยาบาลในระบบการแพทย์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการแพทย์พื้นบ้าน ตั้งแต่หมอยาพื้นบ้าน อบสมุนไพร การนวดแผนโบราณ มีการทำเกษตรปลอดสารพิษ มีกระบวนการแยกขยะอย่างที่คนเมืองผู้ผลิตขยะตัวจริงทำ ไม่ได้เท่า นอกเหนือจากนี้ ยังมีวัดที่มีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น งานบุญ งานบวช มีครอบครัวที่คนทำงานพลัดถิ่นสามารถฝาก ลูกฝากหลานไว้ให้พ่อแก่แม่แก่เลี้ยง

                และพื้นที่ที่ดูจะกว้างขวางที่สุดที่ชุมชนพร้อมใจกันเจียดให้คือ โรงเรียน ที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นอาคารก็เมื่อต้นปีที่ผ่าน มา ทั้งๆ ที่มีการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 13 เดือนที่ตั้งหมู่บ้านขึ้นแล้วก็ตาม โรงเรียนแห่งนี้ยังได้รับความอุปถัมภ์และ การรับรองให้เป็นสาขาของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี โดยการจัดครูมาสอน มีนักเรียนในระดับประถมศึกษา จนมัธยมต้นประมาณ 50 คน

                ป้ายทางเข้าโรงเรียน มีปรัชญาการเรียนการสอนบอกกล่าวผู้มาเยือนว่า โรงเรียนแห่งนี้สอนให้คิด มิได้สอนให้ท่อง สอนให้รัก ไม่สอนให้ดูถูกในภูมิปัญญาของชุมชน และอะไรอีกหลายข้อที่บ่งบอกว่ามีความรู้หลายอย่างที่ได้จากโรงเรียน ในระบบที่ต้องทบทวน

                การได้คุยกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้หลายคน บอกให้เรารู้ว่า โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้แยกเรื่องเรียนออกจากเรื่อง เล่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไร้ซึ่งวินัยและการแยกแยะ ในความเป็นจริงที่สะท้อนให้เห็นได้ในแววตาสดใส การเรียน ของผู้ใหญ่ตัวน้อยเหล่านี้เป็นเรื่องสนุกและหลอมรวมการเรียนรู้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ""หนูชอบ เพราะครูไม่ตีเวลา หนูลืมทำการบ้าน"", ""อยากไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนมีเพื่อน มีครูใจดี"" และอีกหลายถ้อยที่เราเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อันเนื่องมาจากเราเข้าใจภาษาอังกฤษดีกว่าภาษาถิ่นที่เราไม่ถนัดนัก

                ครูที่นี่บอกว่า เด็กๆ เก่งคณิตศาสตร์ ขณะที่กลับไปอ่อนภาษาไทย ซึ่งไม่รู้ว่าทำไม แต่ที่แน่ๆ เด็กหลายคนบอกเรา ด้วยอาการน้อยใจเล็กๆ ว่า ""หนูว่ายน้ำไม่เก่งเท่าพี่ๆ"" เพราะแม่น้ำมูลที่หล่อเลี้ยงชีวิต และสร้างภูมิปัญญาให้เขาได้เปลี่ยน ไป แล้วด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ขวางลำน้ำที่ทำให้เขาต้องมาตั้งหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนแห่งนี้

วันนี้..ไม่มีปลาแดก

                พูดถึงเรื่องเขื่อน เขื่อนนี้ก็เหมือนทุกเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่จะต้องมีคำว่าอเนกประสงค์ต่อท้าย อันที่จริงทิวทัศน์บริเวณสร้างเขื่อนนี้ก็สวยงามแปลกตา แต่ยังไม่ทันที่ กฟผ.จะตบแต่งบริเวณเขื่อนให้เป็นบ้านพักตากอากาศ และสวนหย่อม ชาวบ้านสมัชชาคนจนก็เข้ายึดตั้งเป็นหมู่บ้านเสียก่อน

                เนื่องจากเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีแบบน้ำไหล run of river เขื่อนนี้จึงยังคงดูเป็นแม่น้ำ ไม่ใช่ทะเลสาบแบบทุกเขื่อนที่เห็น เพียงแต่เป็นแม่น้ำที่มีระดับน้ำสูงขึ้น มีแท่งคอนกรีตขนาดยาวและใหญ่มาขวางกั้น แม่น้ำมูลไว้เท่านั้น และนั่นทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แก่งต่างๆ ที่อยู่เหนือเขื่อนที่เป็นฝายน้ำล้นตามธรรมชาติและเป็น วังปลาก็ถูกน้ำท่วม แก่งบริเวณเขื่อนนั้น ถูกระเบิดไปเรียบร้อยตอนสร้าง เปลี่ยนสภาพจากฝายน้ำล้นตามธรรมชาติ ให้กลาย เป็นเขื่อนที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมน้ำ

                ระดับน้ำเหนือเขื่อนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องค่าชดเชยของชาวบ้านลุ่มน้ำนี้ และปัญหานี้ดูเหมือน จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่งด้วยเงินค่าชดเชยที่ชาวบ้านมิอาจปฏิเสธได้ ทว่า สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ดินที่ถูกน้ำท่วมคือ ปลาที่สูญหายไปพร้อมกับการมาของเขื่อน ที่ไม่เพียงแต่ทำลายแก่งต่างๆ อันเป็นที่อยู่ของปลา ยังสกัดกั้นการเดินทางของ ปลาจากแม่น้ำโขงที่อยู่ท้ายเขื่อนไปไม่มีกี่กิโลเมตรเพื่อมาวางไข่เหนือเขื่อนในแม่น้ำมูล และนั่นหมายถึงอาชีพและภูมิปัญญา ของชาวบ้านปากมูล ที่ต้องสูญเสียไปพร้อมกับปลาอย่างมิอาจประเมินค่าได้

                จากพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล ที่มีการบันทึกไว้ในปี 2537 จำนวน 265 ชนิดนั้น มีปลา 77 ชนิดที่เป็นปลาอพยพ 35 ชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ หากแต่การสำรวจล่าสุดหลังการสร้างเขื่อน พบว่า เหนือเขื่อนมีปลาเหลือเพียง 96 ชนิด และมีพันธุ์ปลาถึง 56 ชนิดที่ไม่ปรากฏว่าจับได้อีกเลย

                อุปกรณ์จับปลาที่เรียงรายอยู่บนเวทีการแสดงของหมู่บ้านนับร้อยนับพันชนิด อันเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ ใช้อุปกรณ์เหล่านี้แล้ว

                เราพาตัวเองเดินจากฝั่งลงไปตามตลิ่งท้ายเขื่อน เนื่องจากเป็นวันหยุดจึงมีเด็กราวๆ 20 คน เล่นน้ำอยู่กับสวนสนุก ราคาหลายพันล้านที่ กฟผ. เรียกว่า บันไดปลาโจน ก็บันไดปลาอันเดียวกับที่ กฟผ. ใช้โฆษณาทางทีวีว่ามันเป็นเครื่องมือ ที่จะทำให้ "ปลาแดกบ่หมดไห" นั่นแหละ แต่สำหรับเด็กๆ น่าจะพอใจที่จะเรียกมันว่าสวนสนุกมากกว่า ตะไคร่น้ำที่เกาะ อยู่ข้างบันไดอันลาดชัน เป็นเครื่องหล่อลื่นอย่างดีสำหรับเด็กๆ จะใช้โรยตัวลื่นไหลลงมาอย่างสนุกสนาน สำหรับเด็กผู้ชาย ดูจะชอบปีนป่ายไปตามความลาดชันของบันไดที่มีน้ำเชี่ยวไหลลงมาตลอดเวลา ซึ่งควรจะเป็นทางสำหรับการปีนป่าย ของปลามากกว่า

                ด้วยความสูงของบันไดปลาโจนประมาณ 15 เมตร ก็ทำให้เด็กบ้านป่าหลายคนที่ปีนป่ายสายน้ำเชี่ยว เหนื่อยได้อย่าง ไม่ต้องสงสัย แต่เราสงสัยเหลือเกินว่า ปลาจะต้องใช้กำลังมากเท่าใดถึงจะอุ้มท้องไต่ระดับไปตามบันไดอันเปรียบเป็น สะพานน้ำข้ามเขื่อนคอนกรีตสูงใหญ่เพื่อไปวางไข่เหนือเขื่อน

                แน่นอน สำหรับเราที่ไม่มีใครมีความรู้เรื่องวิศวกรรมหรือการออกแบบใดๆพร้อมใจกันเรียกบันไดนี้อย่างประชด ใส่ว่า สิ่งมหัศจรรย์ของมนุษย์ ก็เพราะคงต้องอาศัยความ "กล้า" ไม่น้อยที่สร้างบันไดปลานี้ขึ้นโดยหลอกตัวเองอยู่ตลอดว่า มันทำงานอย่างได้ผล ที่สำคัญ บันไดปลาโจน น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ทางวิชาการแบบผิดๆ ได้เป็นอย่างดี

                นี่เองที่ทำให้ กฟผ. ต้องหมดงบประมาณไปไม่น้อยเพื่อปล่อยพันธุ์ปลาลงแม่น้ำมูล เพื่อทำให้ปลาร้าไม่หมดไห เพื่อทำให้บันไดปลาโจนไม่ใช่สวนสนุก เรากังวลอยู่ไม่น้อยว่า กฟผ.จะอ้างว่า ที่ปลาไม่ปีนบันไดเพราะเด็กๆไปเล่นน้ำ เหมือนกับที่เคยอ้างและอ้างอยู่ตลอดว่า ปลาหมดเพราะชาวบ้านไปดักจับปลาตรงบันได

ชุมนุมจอมยุทธ์เหนือลำน้ำมูล

                การมาหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนคราวนี้ จึงทำให้เราเปลี่ยนคติที่เข้าข้างชาวบ้านไว้ก่อนด้วยเหตุเพราะความด้อยโอกาส มาเป็นความรู้ ยิ่งประกอบเข้ากับการเข้าร่วมงานสัมมนาที่รวมเอานักวิชาการคนจนชั้นนำทั้งหมดของไทยมาในเวทีเดียวกัน ซึ่งจัดขึ้นตลอดระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน อันเป็นเหตุที่ทำให้เราได้มีโอกาสมา ยิ่งทำให้สิ่งที่เราเห็นด้วยตา ชัดและกว้าง ขวางมากขึ้น

                งานสัมมนาคราวนี้ เป็นเวทีที่พูดกันถึงเรื่องของคนจนและทางออกล้วนๆ ภายใต้การผลักดันและลงทุนลงแรงของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และลูกศิษย์ลูกหาในนามมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวมไปถึงองค์กรพันธมิตรทั้งหลาย น้อยครั้งนักที่จะเห็น อาจารย์นิธิ ลงนามในจดหมายเชิญวิทยากรและสื่อมวลชนและองค์กรต่างๆ ด้วยตนเอง งานนี้จึงมีตั้งแต่ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน นักวิชาการอาวุโส เช่น เสน่ห์ จามริก, หมอประเวศ วะสี, ส. ศิวรักษ์, อคิน รพีพัฒน์, ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม รวมไปถึงนักวิชาการหนุ่มรุ่นต่างๆ ไล่ลงมา ตลอดจนสื่อมวลชนเกือบทุกสาขา ทุกสังกัด โดยได้รับการสนับสนุนงบ ประมาณบางส่วนจาก Watch Dog ที่จะนำงานสัมมนาไปออกในรายการ ขอคิดด้วยคน และ ลานบ้านลานเมือง

                นอกจากบทสรุปที่ได้จากเวทีสัมมนา ที่ว่า ความจนและคนจนเกิดขึ้นจากโครงสร้างแล้ว ดูเหมือนเรื่องที่พูดกัน มากก็คือ เรื่องของความรู้ เทคโนโลยีของเขื่อนแบบน้ำไหลที่เชื่อว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 136 เมกะวัตต์ เอาเข้าจริงผลิตได้เพียง 40 เมกะวัตต์และเพียงบางฤดูเท่านั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นคำถามต่อความรู้ต่อเทคโนโลยีนี้ อย่างที่ ส.ศิวรักษ์ เรียกว่า "ไสยศาสตร์ตะวันตก" ไม่เพียงเท่านั้น บันไดปลาโจน ตลอดจนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการสร้างเขื่อน ที่เรียกว่า EIA อย่างที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง เรียกมันว่า EIA แห่งความหวัง คือเติมตัว H เข้าไปข้างหน้าอีกตัว แล้วอ่านรวมตัวย่อเป็น เสียงภาษาไทย ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึง อันเป็นที่มาของความจนทั้งหลาย

                นิธิ ได้สรุปการสัมมนาในช่วง 2 วันเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

                การสัมมนานี้ มีการพูดถึงในสี่ห้าทางออกด้วยกัน คือ การพูดถึงความรู้ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ในมหาวิทยาลัยและนอก สถาบันการศึกษาทั้งหลาย ว่าเป็นความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรม ให้เหตุผล เพื่อสนับสนุนการแย่งชิงทรัพยากร จากคนจนมากกว่า ฉะนั้น ทางออกของมันที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คนจนและพันธมิตรของคนจน จะต้องสร้างความรู้ขึ้นมา แข่งขันกับความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่าๆ กัน มีความจริงเท่าๆ กัน ในการที่จะเผชิญหน้ากับการคุกคามกับสภาพที่เกิดขึ้นได้

                ประเด็นที่สอง การใช้ความรู้เพื่ออำนาจ มีการพูดถึงการใช้เครือข่ายแนวนอนกับคนชั้นกลาง มีการพูดถึงเรื่องของ สื่อที่เข้าถึงยากมากในโลกของทุนนิยม ฉะนั้น จะต้องคิดถึงเรื่องของการสร้างสื่อทางเลือกให้มากขึ้น รวมทั้งโอกาสที่จะเกิด ขึ้นจากกฎหมายที่เป็นกฎหมายลูกในมาตรา 40 ซึ่งจะให้โอกาสแก่ชาวบ้านที่จะเป็นเจ้าของสื่อ นับตั้งแต่วิทยุหรือหอกระจาย ข่าวในภายหน้าด้วย รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และอื่นๆ ก็ตาม""

                ทั้งนี้ สำหรับทางออกด้านการเมืองของคนจนที่ไม่ได้หมายเพียงแค่กลุ่มสมัชชาคนจน ที่อาจารย์นิธิเก็บความมาสรุป ทิ้งท้ายไว้รูปธรรม ก็คือ

                ""ไม่ยอมจำนน ขยายพันธมิตร คิดยุทธวิธีใหม่ และสร้างวาระแห่งชาติที่เป็นของคนจนเอง""

                งานสัมมนาผ่านไป เหลือไว้แต่คำถามที่มีบทสรุปบ้างไม่มีบ้างให้กับชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนต้องตอบและเลือก ชะตาชีวิตของตนเอง แต่ภาพที่คนเรือนพันลุกขึ้นชูสองมือและตะโกนบอกว่า เปิดเขื่อนๆ ๆ อย่างพร้อมเพรียงในวันนั้น ยิ่งเข้าใจความหมายว่า เขื่อนเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาแบบสร้างความยากจนแล้วด้วย ก็ทำให้เรารู้แล้วว่าปลายทางของ การต่อสู้อยู่ที่ไหน แม้ว่าวันนี้ยังไม่เห็นชัยชนะก็ตาม

หมายเหตุ : อ่านเรื่องประกอบได้ที่หน้า 40 และขอขอบคุณ สุกัญญา หาญตระกูล และกลุ่มเพื่อนประชาชน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา