eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
คิดถึงปลาร้าเต็มไห ในวันแปรรูป

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม
จาก นสพ. มติชน   4 พค. 47

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act06050547&show=1& sectionid=0130&day=2004/05/05

จําโฆษณาปลาร้าเต็มไหของ กฟผ.ได้ไหม?

เมื่อประมาณเกือบ 7-8 ปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในโครงการเขื่อนปากมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบอกว่า การสร้างเขื่อนทำให้การขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติถูกกีดขวาง แต่ทาง กฟผ. ก็อ้างว่าได้มีการทำบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลากระโดดข้ามและสามารถขึ้นไปแพร่พันธุ์ได้ตามปกติ

โฆษณาชุดปลาร้าเต็มไหก็ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อแสดงให้เห็นภาพบันไดปลาโจนที่สามารถทำให้ปลากระโดดข้ามเขื่อนปากมูลได้ ความอุมสมบูรณ์ในแม่น้ำก็จะไม่แตกต่างไปตามเดิม ชาวบ้านยังคงสามารถจับปลามาทำปลาร้าได้เต็มไห

ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเขื่อนปากมูลเคยท้าให้เจ้าหน้าที่ของ กฟผ.มานั่งนับปลากันตรงบันไดปลาโจนว่าจะมีปลาสักกี่ตัวที่สามารถกระโดดข้ามเขื่อนปากมูลมาได้ แต่ก็ยังไม่มีการรับคำท้าดังกล่าว ขณะที่งานวิจัยหลายชิ้นได้ยอมรับว่าบันไดปลาโจนไม่สามารถทำให้ปลาแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติดังที่เคยเป็นมา

แม้จะไม่มีหลักฐานสนับสนุนถึงประสิทธิภาพของบันไดปลาโจน แต่โฆษณาชุดนี้ก็ถูกนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง

เช่นเดียวกับโฆษณาแปรรูป กฟผ. ที่กำลังโหมแพร่ภาพอยู่ทางโทรทัศน์ในขณะนี้

อาจารย์ประสาท มีแต้ม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ชี้ให้เห็นประเด็นว่าโฆษณาชุดนี้เลือกที่จะให้ข้อมูลบางส่วนแก่สาธารณะ และปกปิดข้อมูลบางด้าน ดังการกล่าวข้อมูลหนี้สินของ กฟผ. แต่ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์สินโดยรวมขององค์กร หรือการกล่าวถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในระบบไฟฟ้า โดยไม่อธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดในการบริหารงานขององค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโดยตรง

ทั้ง 2 เหตุการณ์บอกอะไรแก่เราได้บ้าง

ในฐานะของประชาชนธรรมดาที่รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านสื่อสารมวลชน ข้อมูล ข่าวสารจากสื่อย่อมมีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำหนดจุดยืน ทรรศนะคติของผู้รับสื่อต่อปรากฏการณ์ การได้รับข้อมูลกลุ่มหนึ่งย่อมมีผลต่อการสนับสนุนหรือคัดค้านในประเด็นต่างๆ ที่กลายเป็นข้อขัดแย้งขึ้นในสังคม

ถ้าชาวบ้านจากเขื่อนปากมูลมีทุนเพียงพอจะทำโฆษณาเพื่อชี้ให้เห็นว่า เขื่อนปากมูลนอกจากทำลายวิถีชีวิตของชุมชนในลุ่มน้ำมูลแล้ว เขื่อนนี้ยังมีความไม่คุ้มค่า เพราะไม่สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งปี โดยสมมุติว่าทาง กฟผ.ไม่สามารถตอบโต้ทางสื่อได้ บางทีบทสรุปของเขื่อนปากมูลอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ได้

แต่ในความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในปัจจุบันที่มีผลกระทบรุนแรงติดตามมา เช่น การสร้างเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้า โครงการท่อก๊าซ มักก่อให้เกิดผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการเกิดขึ้น

ซึ่งการมีความเห็นที่แตกต่างย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปัตย์ที่ผู้คนอาจมีความเห็นกันไปในคนละทิศทาง บนฐานของความรู้ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ทางออกของความขัดแย้งเช่นนี้ก็คือการถกเถียงแลกเปลี่ยนบนหลักของการใช้เหตุและผล เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ได้มีการใช้ความรู้อย่างเต็มที่

แต่สำหรับสังคมไทย ความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้มักดำเนินไปด้วยการปิดล้อมทางสื่อจากหน่วยงานของรัฐหรือธุรกิจขนาดใหญ่

ดังที่สามารถพบเห็นได้ว่า ขณะที่มีการโต้แย้งคัดค้านโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนั้นๆ ก็จะซื้อโฆษณาทางสื่อมวลชนหลายแขนง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวจากฝ่ายของตน

หรือบางครั้งหน่วยงานเหล่านี้มักเป็นผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ของสื่อต่างๆ ก็อาจเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อที่จะไม่นำเสนอข่าวซึ่งเป็นผลกระทบต่อองค์กรที่เป็นลูกค้าของตน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ที่คัดค้านโครงการลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึงสังคมด้วย เพราะการส่งข่าวสารบางด้านออกมาย่อมนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่สามารถมองเห็นผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน การสร้างเขื่อนและวางแผนการจัดการไฟฟ้าที่ล้มเหลวของ กฟผ. ก็นำมาสู่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของทุกคนในสังคม

จะยอมให้การโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ กระนั้นหรือ

จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้สังคมถูกหลอกจากการโฆษณาข้อมูลฝ่ายเดียว ปัจจุบันมีการคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาสินค้า และบริการที่เกินไปจากความจริง ทั้งโดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชน รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้รับสินค้าและบริการตามที่อวดอ้าง

แม้ว่าการโฆษณาดังที่กล่าวมาจะมิได้มุ่งขายสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าผลที่กระทบตามมามีผลไม่น้อยไปกว่ากัน คำโฆษณาที่บิดเบือนความจริง(ปลาร้าเต็มไห) หรือการเลือกนำเสนอข้อมูลด้านเดียว(แปรรูป กฟผ.) ควรต้องถูกตรวจสอบถึงความถูกต้องของสิ่งที่ถูกนำเสนอด้วย

อันเป็นปัญหาสำคัญว่าปัจจุบันยังไม่มีระบบการตรวจสอบการโฆษณาในลักษณะเช่นนี้ สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยสื่อโฆษณาที่ทั้งโกหกอย่างหน้าด้านๆ และอย่างแนบเนียน

ลำพังเพียงปัจเจกบุคคล อาจไม่มีกำลังและความสามารถเพียงพอต่อการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน บทบาทของกลุ่มองค์กรต่างๆ จึงมีความจำเป็นในการโต้แย้งเพื่อไม่ให้มีการหลอกลวงอย่างเสรี

สหภาพ กฟผ. ควรได้รับการยกย่องต่อการตรวจสอบสื่อที่เอียงข้างในการโฆษณานโยบายแปรรูป กฟผ. ว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลอย่างไม่เป็นธรรม

แต่บทบาทนี้ควรขยายออกไปถึงโฆษณาอีกหลายชิ้นของ กฟผ. ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างออกไป ทั้งที่ได้เกิดขึ้นในอดีต เช่น โฆษณาปลาร้าเต็มไห และที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีกมากในโครงการต่างๆ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา