eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เปาโล คำสวัสดิ์ "ผมแค่อยากกลับบ้านไปหาปลา"

อธิคม คุณาวุฒิ

กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย 2 มค 46 http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20030102/page1.html

ผมอยากให้รัฐบาลทำตามผลวิจัยของม.อุบลฯ ลองเปิดเขื่อนสัก 5 ปีก็ได้ แล้วเรามาดูกันว่าชีวิตผมเป็นยังไง ดูว่าพ่อผมน้องผมเป็นยังไง ถ้าผ่านไป 5 ปีผมยังหาปลาไม่ได้ ชีวิตผมไม่ได้ดีขึ้นจริง ผมจะยอมเลิกเรียกร้องทุกอย่าง เลิกชุมนุมผมไม่เอาอะไรแล้ว ไม่ต้องมีใครมาสนใจผมด้วย ปล่อยให้ผมไปคุ้ยขยะที่ไหนกินก็ได้

***********************

ปีที่เปิดเขื่อน ผมกับพ่อผมกับน้องได้ออกไปหาปลาด้วยกัน เรามีความสุขมาก เงินเราก็มีใช้ กับข้าวเราก็เลือกได้ว่าจะกินอะไร เมื่อก่อนเราต้องกินปลากระป๋อง ต้องเอาเงินซื้อทุกอย่าง แต่พอเปิดเขื่อนพ่อผมเริ่มมีเงินเก็บ น้องผมก็มีเงินไปโรงเรียนเยอะขึ้นกว่าเดิม ก่อนเปิดเขื่อนน้องผม 3 คนได้ตังค์ไปโรงเรียนวันละบาท บางวันก็ไม่ได้ เด็กในเมืองเขาได้เงินไปโรงเรียนวันละเป็นร้อยไม่ใช่เหรอครับ...เงินขนาดนั้นน้องผมกินได้เป็นเดือน

***********************

วันที่นายกรัฐมนตรีเปิดเวทีให้ตัวแทนผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนปากมูลจำนวน 30 คน เข้าชี้แจงปัญหาและข้อเท็จจริง นายกรัฐมนตรีผู้พยายามญาติดีกับชาวบ้านเอ่ยปากทักถามเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไมตรีว่า...ทำไมถึงชื่อ 'เปาโล'

เด็กหนุ่มคนนั้นตอบนายกรัฐมนตรีว่า "ชื่อผมเป็นเรื่องของผมกับพ่อ แต่วันนี้เรามาคุยกันประเด็นปัญหาของชาวบ้านดีกว่า"

ใครที่เคยลงพื้นที่ปากมูลหรือติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาบ้าง น่าจะคุ้นหน้าเด็กหนุ่มคนนั้นดี เปาโล คำสวัสดิ์ เป็นดาวไฮด์ปาร์กในสนามต่อสู้มาตั้งแต่อายุไม่เต็ม 10 ขวบ ระยะเวลาร่วม 10 ปีที่เขามีชีวิตอยู่กลางม็อบ หล่อหลอมให้เด็กชายคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มเจนเนอเรชั่นพิเศษ (ไม่ว่าจะมีใครตั้งใจอยากให้เป็นหรือไม่ก็ตาม)

ท่าทีและคำพูดที่เขากล่าวกับนายกรัฐมนตรี...ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับภาพในจินตนาการของคนเมืองบางกลุ่ม ที่มองผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ...เต็มไปด้วยคำถามข้อสงสัย...หรือกระทั่งเกลียดชังรำคาญ

เปาโล คำสวัสดิ์ อาจจะไม่ใช่คนของความอ่อนโยน แต่เราจะปฏิเสธได้จริงหรือว่า สังคมไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับการร่วม 'ผลิต' เด็กหนุ่มเจนเนอเรชั่นนี้ขึ้นมา โดยผ่านกระบวนการความขัดแย้ง...คำโกหก..การคุกคามชีวิตร่างกาย..กฎหมาย..ไม้กระบอง..ไล่ไปจนถึงคมเขี้ยวสุนัขตำรวจ

เด็กหนุ่มจากลุ่มน้ำมูลมีข่าวสารบางอย่าง อยากเล่าให้เพื่อนร่วมผืนแผ่นดินเดียวกับเขาได้รับฟัง..

+ปีนี้เปาโลอายุเท่าไหร่

ย่าง 18 ปีแล้วครับ ผมเริ่มเข้าร่วมขบวนต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2537

+แต่โครงการสร้างเขื่อนปากมูล เริ่มมาก่อนหน้านั้นนี่ ?

ใช่ครับ คืออย่างนี้...ช่วงนั้นมีชาวบ้านรวมกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนอยู่ก่อนแล้วแต่เป็นกลุ่มเล็กๆ ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ยังไม่รู้เรื่องว่าเขาจะมาทำอะไร ระยะนั้นก็จะมีกำนันมีผู้ใหญ่บ้านออกมาให้ความรู้ชาวบ้าน พูดถึงข้อดีว่าถ้ามีเขื่อนปากมูลแล้วจะเป็นยังไง มีเขื่อนแล้วเราจะได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ปลาที่เราเคยจับได้ก็จะยิ่งจับได้เยอะขึ้นกว่าเดิม เขาก็บอกว่าปลาที่ขึ้นมาแล้วจะไม่กลับไปแม่น้ำโขง เสร็จแล้วจะมีการปล่อยพันธุ์ปลาลงแม่น้ำอีกเยอะแยะ...เขาก็ว่าอย่างนี้

ตอนนั้นพ่อผมก็เชื่อ ครอบครัวผมก็อยากให้มีเขื่อน

+ตกลงคือตอนนั้นครอบครัวเปาโลก็ถือว่ายืนอยู่ฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ?

(หัวเราะ) ใช่ครับ ฟากเราบางคนก็พากันใช้ก้อนหินปาหลังคาบ้านพวกที่คัดค้าน ก็มีอย่างนั้นจริงๆ

+ได้ไปช่วยปาหลังคาบ้านเพื่อนกับเขาบ้างหรือเปล่า

(หัวเราะ) ยังครับ ตอนนั้นผมแค่ 5-6 ขวบเองมั้ง

ผมพออายุได้สัก 7-8 ขวบเขื่อนก็สร้างเสร็จ ปีแรกที่เขื่อนสร้างเสร็จกั้นแม่น้ำมูลเรียบร้อย พ่อผมก็เริ่มหาปลาไม่ได้แล้ว

+อาชีพหลักของที่บ้านคือเป็นชาวประมง ?

ทำนาด้วยครับ แต่อาชีพหลักคือหาปลา เพราะปลามันหาได้ตลอดทั้งปี แต่ทำนาได้แค่ปีละครั้ง ยิ่งชาวบ้านแถวโขงเจียมเขาไม่ทำนาเลยนะครับ หาปลาอย่างเดียวก็ส่งลูกเรียนได้

แต่พอเขื่อนสร้างเสร็จ ปลามันก็เหมือนถูกขังแค่อยู่ในสระ อพยพเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ วางไข่ก็ไม่ได้ ขณะที่ชาวบ้านก็ยังหาปลาอยู่เหมือนเดิม จำนวนปลามันก็ไม่พอกับคน

+ปีเดียวเห็นผลอย่างนั้นเลยเหรอ

ปีเดียวก็เห็นครับ คือปลาแม่มูลเป็นปลาอพยพเคลื่อนย้ายอยู่ตามเกาะแก่ง ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ แบบปลาในบ่อ แล้วปลาที่เขาปล่อยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ปลาท้องถิ่น เป็นปลาที่เลี้ยงแบบให้หัวอาหาร เลี้ยงแบบต้องคอยเติมออกซิเจน และปีที่เขาปล่อยปลาก็เป็นปีที่แม่น้ำมูลเริ่มเน่าแล้ว เพราะมีตะกอนดินมีใบไม้ถมอยู่ข้างล่าง ปลาที่ปล่อยลงไปก็อยู่ไม่ได้

พอพ่อผมเริ่มหาปลาไม่ได้ ก็เริ่มมีคนเข้ามาคุยมาบอกมารณรงค์ทำความเข้าใจกันใหม่ ชาวบ้านก็เริ่มหันหน้ามาคุยกัน

+ช่วงแรกๆ คุยกันรู้เรื่องเหรอ เพราะเราก็เคยอยู่ฝ่ายสนับสนุนเขื่อนมาก่อน

ตอนแรกก็ไม่เข้าใจครับ พ่อผมเองก็ไม่ได้อยากเข้าไปสู้ ถึงวันนี้ผมเองยังเคยถามพ่อว่า ทำไมพ่อถึงไม่เข้ามาต่อสู้ตั้งแต่แรก พ่อเขาก็บอกว่ากลัว...กลัวรัฐบาล กลัวตำรวจ กลัวเจ้านาย ชาวบ้านทางอีสานเป็นอย่างนี้ครับ เรามองตำรวจมองข้าราชการเป็นเจ้านายหมด พวกเราเป็นแค่ประชาชนไม่ควรไปต่อสู้เจ้านาย เพราะเขามีทั้งอำนาจ มีทั้งกฎหมาย

+พอมีตัวแทนชาวบ้านมีเอ็นจีโอเข้าไปรณรงค์ ทำไมถึงเชื่อทำไมถึงไว้ใจคนกลุ่มนี้

ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยรู้จักคนพวกนี้เลยครับ ไม่เคยรู้เลยว่าเอ็นจีโอเป็นใครทำอะไร เราไม่สนใจ

แต่เหตุผลที่ทำให้พ่อลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นครั้งแรกคือ ปลามันหายจริงๆ ครับ...หายหมด ที่เขาเคยบอกว่าจะได้ทำนาปีละ 2 ครั้งก็ทำไม่ได้ เขากักน้ำเอาไว้ปั่นไฟแต่ไม่ยอมแบ่งมาให้พวกเราปลูกข้าว แถมที่นาบางคนยังถูกน้ำหลังเขื่อนท่วมอีก ปลาที่ปล่อยก็อยู่ไม่ได้เพราะน้ำเน่าเสีย ปัญหาที่ตามมาก็คือไมยราบยักษ์ระบาดทั่วฝั่งแม่น้ำมูล ควายที่เราเลี้ยงก็ลงไปกินน้ำมูลไม่ได้ เพราะไมยราบยักษ์มันมีหนาม

สุดท้าย พ่อผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมกับเขา ตอนนั้นขบวนคัดค้านยังปักหลักอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ระบบชุมนุมคือ 1 ครอบครัวต้องส่งตัวแทนไปร่วมต่อสู้ 1 คน แต่พอดีแม่ผมกำลังคลอดน้องคนที่ 3 พ่อผมก็ต้องออกมาจากการชุมนุม

+เปาโลมีพี่น้องทั้งหมดกี่คน

5 คนครับ ผมเป็นคนโต มีน้องสาว 2 คน น้องชายอีก 2 คน

พอพ่อต้องกลับมาดูแลแม่ ผมก็เลยต้องไปชุมนุมที่ศาลากลางแทนพ่อ ติดตามญาติพี่น้องบ้านเดียวกันไปชุมนุมกับเขาด้วย

+ตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า

ยังเรียนอยู่ครับ ช่วงนั้นไปได้แค่เสาร์-อาทิตย์ ก็ไปชุมนุมกับเขาเรื่อยๆ จนแม่แข็งแรงพ่อไปชุมนุมได้ ผมก็กลับมาอยู่กับแม่เหมือนเดิม

+จำได้มั้ยตอนนั้นอายุเท่าไหร่

ประมาณ 8-9 ขวบมั้งครับ

+แล้วพ่อหารายได้เข้าบ้านยังไงล่ะครับ

พ่อเขาไปเป็นยามในตัวเมืองอุบลฯ แม่ก็อยู่บ้านเลี้ยงน้อง ผมก็ช่วยเลี้ยงควาย หากบหาเขียดมาทำกับข้าว

+เล่าให้ฟังได้มั้ย เป็นไงมาไงถึงได้ขึ้นเวทีไฮด์ปาร์กตั้งแต่ยังเด็กๆ

ช่วงนั้นประมาณปี 37-38 เราย้ายจากศาลากลางมาชุมนุมอยู่สันเขื่อนเริ่มตั้ง หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน แล้ว เขาก็จัดงานวันเด็กแห่งชาติ ตอนแรกพ่อเขาก็ว่าจะพาน้องไปด้วยแต่น้องยังเล็กอยู่ ก็เลยพาผมมากินขนมงานวันเด็กคนเดียว ทีนี้ในงานก็มีการประกวดให้เด็กได้ขึ้นพูดว่าเขื่อนปากมูลในความคิดของเด็กเป็นยังไง...เด็กๆ อย่างเราชอบมั้ย...เห็นว่าเขื่อนดีจริงมั้ย

พ่อผมก็ไปลงชื่อผมสมัครเอาไว้กับเด็กอีก 11 คน มาจากหลากหลายหมู่บ้าน ก่อนจะขึ้นพูดเราก็ไปกินขนมไปเล่นกับเพื่อน แต่พอดีก่อนหน้านั้นผมเคยไปชุมนุมแทนพ่ออยู่แล้ว พอเราเคยไปเราก็ได้ยินแกนนำเขาประชุมกัน เราก็นั่งฟังเขาประเมินวิเคราะห์สถานการณ์อย่างนั้นอย่างนี้...ผมก็ไปนั่งฟังกับเขา

+เรายังเด็กแค่นั้นฟังแล้วเข้าใจเหรอ

ผมไม่ค่อยได้เรื่องหรอกครับ (หัวเราะ) นั่งฟังนิดหน่อยก็อยากไปวิ่งเล่นกับเพื่อน แต่เราก็เคยฟังมาบ้าง เคยได้ยินเขาวิเคราะห์ประเมินกันมาบ้าง แล้วถึงตอนเย็นก็จะมีการขึ้นไฮด์ปาร์ก จะมีพวกแกนนำใหญ่ๆ พวกชาวบ้านเก่งๆ หรืออาจารย์กับนักศึกษาที่มาช่วยงานชาวบ้านเขาขึ้นไปพูดบนเวที...เราก็นั่งฟังอยู่ทุกวัน

พอถึงวันต้องประกวดการพูดผมก็จำๆ เอาจากที่เคยได้ยิน...ก็พูดเรื่องนี้แหละเรื่อง ปลาแดกบ่เบิ๊ดไห ช่วงนั้นกฟผ.กำลังโฆษณาว่าสร้างเขื่อนมีบันไดปลาโจนแล้ว ปลาร้าจะไม่หมดไห ผมเองเวลาอยู่สันเขื่อนก็ชอบไปเล่นแถวบันไดปลาโจน เรามีมองขาดๆ อยู่อันนึง (มอง คือเครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) ...ก็ไปดักรอปลา มันก็มีปลาตัวเล็กๆ เต้นเด๊งๆ ๆ ขึ้นมา..ผมก็ไปช้อนมากิน

ก่อนสร้างเขื่อนชาวบ้านเราไม่เคยจับตัวเล็กๆ มากินหรอกครับพี่ เราจะจับแต่ปลาเศรษฐกิจตัวใหญ่ๆ พวกปลาอีตู๋ ปลาเคิง พอได้กินได้ขาย ปลาสร้อยปลาเล็กๆ เราไม่เคยจับ...ผมก็พูดไปแบบนี้แหละครับ บอกว่าบันไดปลาโจนมันขึ้นได้แต่ปลาเล็กๆ ปลาใหญ่ๆ หายหมด...พูดแค่นี้ก็จบ ตัดสินออกมาผมได้ที่ 1

+เสร็จเลยสิทีนี้...ตอนหลังเลยต้องขึ้นไฮด์ปาร์กตลอด ?

(หัวเราะ) ครับ ทางคณะกรรมการเขาประกาศแต่งตั้งขึ้นมาว่าใครชนะเลิศจะได้ไปหาพ่อชวนที่หน้าทำเนียบ ตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลชวน 1 แต่สุดท้ายก็ได้มากันทั้ง 11 คน...ก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ

+แล้วได้เจอพ่อชวนจริงมั้ย

ไม่ได้ครับ (หัวเราะ) ได้แค่มอบดอกไม้ยื่นหนังสือให้ตำรวจ นายกฯเขาไม่ออกมารับ

+พอต้องเข้ามาร่วมขบวนชุมนุม แล้วเรื่องเรียนหนังสือทำยังไง

ผมลาออกจากโรงเรียนช่วงหลังๆ ที่มาม็อบ

+ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนแม่มูนมั่นยืนเหรอ

เปล่าครับ ผมเรียนที่โรงเรียนวังสะแบง อำเภอโขงเจียม ตอนที่ลาออกจากโรงเรียนปกติเหตุผลคือ หนึ่ง พ่อแม่ไม่มีเงินส่งแล้ว สอง ครูที่โรงเรียนเขาก็พูดใส่เราว่าเราเป็นพวกม็อบ พวกขัดขวางหน่วงเหนี่ยวความเจริญ...เราก็เกิดน้อยใจ มีปมด้อย ไปโรงเรียนก็ไม่มีความสุข

+มีเพื่อนบ้างมั้ย นอกจากเด็กรุ่นเดียวกันที่อยู่ในม็อบ

ไม่มีเลยครับ พ่อคนไหนที่ไม่มาม็อบเขาก็จะพูดกับลูกว่าอย่ามาเล่นกับเรา...แม้กระทั่งครูก็พูดใส่เราแบบนี้ บางทีผมก็มานั่งสงสัยว่า เอ๊ะ...หรือว่าเราทำผิดจริงๆ

+สรุปแล้วเปาโลได้เรียนถึงชั้นไหน

ผมจบป.5 ที่โรงเรียนวังสะแบง แล้วมาต่อโรงเรียนมูลนิธิเด็ก ตอนนี้ผมกำลังสมัครเรียนมัธยมต้นที่กศน.

+ตอนเด็กๆ ก่อนที่จะมาร่วมขบวนม็อบ เคยฝันบ้างมั้ยว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

คิดครับ...เด็กๆ เราก็อยากเป็นครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ ตอนนั้นคิดอย่างนี้ เห็นตำรวจเขาจับผู้ร้ายเก่งจังเลยเราก็อยากเป็นบ้าง

+เสร็จแล้วก็มาถูกตำรวจไล่ตีซะเอง ?

ความฝันแบบนั้นมันหายไปตอนที่ผมมาอยู่ในม็อบ...ผมอยู่ในที่ชุมนุมก็ต้องมาเจอตำรวจสลายการชุมนุม เอาไม้เอากระบองไล่ตีพ่อใหญ่แม่ใหญ่

+ตั้งแต่ชุมนุมมาเคยโดนหนักๆ ไปกี่ครั้ง

หนักๆ ก็ตอนช่วงท้ายๆ รัฐบาลชวนครับ ช่วงที่เอาหมามาไล่กัดม็อบ อีกช่วงก็ตอนที่ชาวบ้านจะปีนเข้าทำเนียบ...นั่นก็หนัก แต่ส่วนย่อยๆ ก็ยังมีอีกเยอะ (หัวเราะ)

ถึงตอนนี้ที่เคยฝันไว้ผมก็ไม่อยากเป็นแล้ว ผมอยากเป็นแค่ชาวนาเป็นชาวประมง

+อ้าว..แล้วไม่อยากทำงานเอ็นจีโอเหรอ

ไม่ครับ ผมไม่เคยอยากทำงานแบบนี้เลย

ชีวิตผม...ผมอยากมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องเดินทางไปที่ไหน ผมอยากหาปลากับพ่อกับแม่ อยากทำนากับน้อง แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว

ตอนนี้ผมยังคิดเลยว่าคนที่เรียนจบสูงๆ เรียนจบปริญญา เขาก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเรา เขาก็ต้องดิ้นรนหางานทำ มีงานก็กลัวตกงาน ตกงานมาก็ไปผูกคอตายไปโดดตึก ขนาดคนรวยๆ คนเรียนสูงยังเป็นอย่างนี้ ผมเองเป็นแค่ลูกชาวนาจะไปแข่งกับเขาได้ยังไง

พี่รู้มั้ย 1 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลเปิดเขื่อนให้ ผมกับพ่อ...ผมกับน้องได้ออกไปหาปลาด้วยกัน เรามีความสุขมากนะครับ เงินเราก็มีใช้ กับข้าวเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไร เรากำหนดได้ว่าวันนี้เราจะเอาตังค์กี่บาท...เราจะหาปลาอะไรที่ไหน...เราจะกินอะไร...หาปลาได้เราจะเอาไปฝากใคร ทุกอย่างเราสามารถกำหนดได้หมด

10 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยกำหนดชีวิตได้ เราต้องกินปลากระป๋อง เราต้องเอาเงินซื้อทุกอย่าง แม้กระทั่งพริก ผงชูรส หรืออย่างปลาร้าเราก็ต้องซื้อนะ แต่พอเปิดเขื่อนพ่อผมเริ่มมีเงินเก็บ ผมเองก็มีเงินเก็บของผม น้องผมก็มีเงินไปโรงเรียนเยอะขึ้นกว่าเดิม

+แค่ปีเดียวนี่น่ะนะ ?

ใช่ครับ (ยืนยันทันที) ก่อนเปิดเขื่อนน้องผม 3 คนได้ตังค์ไปโรงเรียนวันละบาท บางวันก็ไม่ได้ ผมถามหน่อยว่าเด็กในเมืองได้ตังค์ไปโรงเรียนวันละกี่บาท เขาได้กันเป็นร้อยไม่ใช่เหรอครับ...เงินขนาดนั้นน้องผมกินได้เป็นเดือน

พ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่า นาที่เรามีตอนนี้เป็นนาที่พอได้มาจากเงินหาปลากับพ่อใหญ่แล้วซื้อหาเอาไว้ ซื้อแล้วถึงได้มาแบ่งลูกแบ่งหลานแบ่งให้พ่อผม

+ที่บ้านตอนนี้มีนากี่ไร่

15 ไร่ครับ

+ที่ขนาดนี้เข้าสูตรเศรษฐกิจพอเพียงเลยนะ ?

ใช่ครับ...คืออย่างนี้พี่ ถ้ารัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ผมไม่ต้องซื้อข้าวเลยนะ ปลาที่ผมเหลือกินแล้วเอาไปขายก็คือเงินเก็บล้วนๆ ผมรู้สึกว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว บ้านผมมีทั้งหมด 7 คน ที่นา 15 ไร่กินกันพอครับ แล้วปีนี้ผมเพิ่ง 18 ถ้าเปิดเขื่อนตลอดจนผมอายุ 50 เท่าพ่อ ผมว่าถึงเวลานั้นนะ ผมมีเงินซื้อนามากกว่า 15 ไร่อีก

+ตอนนี้ทางขบวนผู้ชุมนุมประเมินสถานการณ์ว่ายังไง...คิดว่านายกฯจะสั่งให้เปิดเขื่อนจริงมั้ย

เราไม่รู้จริงๆ ครับ ข้อมูลข้อเท็จจริงผลการศึกษาเป็นยังไง เราก็บอกไปหมดแล้ว แต่ท่านจะตัดสินใจต่อยังไงผมยอมรับว่าเดาใจยากจริงๆ

+เปาโลโตมากับรัฐบาล 4-5 ชุด พอจะประเมินเปรียบเทียบได้มั้ยว่าแต่ละชุดที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง

คือ...คนที่ดีก็มีนะครับ (นิ่งคิด) แต่ผมยังประเมินอะไรสุดโต่งไม่ได้

+เอาเรื่องท่าทีก่อนก็ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงระดับนโยบาย

ท่าทีนายกฯทักษิณก็ดีนะครับ เปิดเวทีให้ชาวบ้านชี้แจง เดินลงมาคุยกับชาวบ้านด้วยตัวเอง พ่อใหญ่จิ๋วนี่ก็ถือเป็นอันดับ 2 ยังใช้ได้อยู่ คือยังลงมาพูดกับชาวบ้าน แต่อย่างว่ามันเป็นแค่ท่าที...ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงระดับนโยบายแล้วท่านจะตัดสินใจยังไง

คือถ้าเรามองแบบผิวเผิน มองแบบคนที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างผมหรืออย่างชาวบ้านคนอื่นๆ เราก็อาจจะมองได้ว่านายกฯคนนี้ดีนะ อุตส่าห์ลงมาคุยลงมากินข้าวกับชาวบ้านด้วยความเป็นกันเอง แต่ลึกๆ แล้วเราก็ยังไม่รู้ครับว่าจะออกมารูปไหน

เราเคยประเมินกันถึงเรื่องนโยบายนะครับว่า นโยบายอย่างการต่อสู้กับความยากจน นโยบายอย่างให้เงินหมู่บ้านละล้าน เอาเข้าจริงแล้วมันยิ่งทำให้ชาวบ้านแตกแยก ซึ่งขัดกับแนวคิดที่จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง แต่เมื่อปีที่ผ่านมามีคำสั่งให้เปิดเขื่อน ผมว่านี่คือวิธีที่จะสร้างความเข้มแข็งสร้างความปรองดองให้กับชุมชนอย่างแท้จริง เราได้ออกหาปลาด้วยกัน เราได้กินข้าวป่าด้วยกัน (กินข้าวป่า มีความหมายใกล้เคียงกับการตั้งแคมป์หรือปิกนิก) เราได้ไปเนาด้วยกัน (เนา เป็นประเพณีของชาวอีสาน ชาวบ้านจะออกหาปลาแล้วเอาปลามารวมกันก่อนที่จะแบ่งไปตามบ้าน อาจมีการนิมนต์พระไปร่วมฉันด้วย)

แล้วพอถึงช่วงนี้ชาวบ้านก็จะไม่มีการมาแบ่งนะครับว่า กูเป็นคนเรียกร้องให้เปิดเขื่อน เมื่อก่อนมึงไม่เห็นมาสู้ มึงบอกให้ปิดเขื่อนก็ได้ เพราะฉะนั้นมึงไม่ต้องมาหาปลา...ชาวบ้านเขาไม่พูดกันอย่างนั้นนะครับ ใครหาได้ก็หาไป แล้วส่วนมากคนที่ไม่ได้มาชุมนุมกับเรา เขาหาปลาได้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำ

+ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะครับ

เพราะว่าอะไร...เพราะพวกนี้เขามีเวลาที่จะเตรียมเครื่องมือประมง เขาไม่ต้องมาชุมนุม พอฟังข่าวว่าจะเปิดเขื่อนเขาก็เตรียมเครื่องมือหาปลาได้พร้อมกว่าเรา อย่างกำนันเสวก (เสวก บรรเทา อดีตกำนันในจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามม็อบปากมูล) บ้านเขาก็หาปลา ตอนนั้นชาวบ้านยังเคยไปถามเขาเลยว่า เปิดเขื่อนแล้วเป็นยังไง หาปลาดีขึ้นมั้ย เขาก็ตอบเป็นภาษาอีสานว่า โอ้ย...มีปลาหลายเนาะ เห็นด้วยนำอยู่ดอก - ว่าซั่น (หัวเราะ) คือเขาก็เห็นประโยชน์จากการเปิดเขื่อน

+อ้าว..เห็นด้วยแต่ไม่ลงแรง ?

คือมันเป็นอย่างนี้พี่...มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เรื่องของเงินๆ ทองๆ คือคนที่ออกมาพูด ออกมาวิจารณ์ชาวบ้าน พวกนี้ส่วนใหญ่เขาก็ได้ผลประโยชน์จากกฟผ.บ้าง อย่างอดีตแกนนำสมัชชาคนจนบางคนก็ถูกกำนันเสวกซื้อ กำนันเสวกก็ได้จากกฟผ.อีกต่อหนึ่ง เขาก็ต้องพูดไปตามบท แต่ข้อเท็จจริงเป็นยังไงเขาก็เห็น ซึ่งต่อให้เขาก็ได้ประโยชน์ข้อเรียกร้องของเราแต่มันก็ต้องพูดตามบท ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้หมดครับ ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. แม้กระทั่งนักข่าวท้องถิ่น ซึ่งถ้าไปถามกันลึกๆ ถามความรู้สึกของเขาจริงๆ ผมคิดว่าเขายังต้องการให้เปิดเขื่อน

พี่ลองไปถามชาวบ้านที่เขาถูกจ้างให้นั่งรถมาคัดค้านเราก็ได้ เขามีข้าวกิน เขามีเงินจ้าง จ้างมาวันสองวันเขาก็กลับ ได้เงินกลับบ้าน ทำไมชาวบ้านจะไม่เอาล่ะดีกว่าอยู่เฉยๆ แต่ถ้าไปถามจริงๆ ถึงเวลาเปิดเขื่อนเขาก็เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เขาเองก็มาหาปลากับพวกเราด้วย...เขาก็มาไหลมองที่เดียวกับเรานี่แหละ (ไหลมอง คือวิธีจับปลาโดยใช้มองเป็นอุปกรณ์)

+ถึงเวลาอย่างนั้นไม่มีทะเลาะกันบ้างเหรอ

ไม่มีครับ ในส่วนของสมัชชาคนจน เราพยายามบอกให้ชาวบ้านเข้าใจร่วมกันว่า คนที่เราต้องต่อสู้คือรัฐบาล ไม่ใช่ชาวบ้านด้วยกันเอง

+พูดถึงเรื่องที่เปาโลบอกว่าอีกฝ่ายเขาถูกจ้างมา ถ้าอย่างนั้นคนทั่วไปก็คงมีคำถามเหมือนกันว่าชาวบ้านปากมูลเองล่ะถูกจ้างมาด้วยหรือเปล่า

มันก็เป็นธรรมดาครับ...ผมก็เคยได้ยินอย่างนี้มาเยอะ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯหรือคนในเมืองสงสัยว่าเราจะถูกจ้างหรือถูกเอ็นจีโอหลอกมาหรือเปล่า ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือมาลงพื้นที่ดูสิครับ ลงมาดูสภาพการอยู่การกินของเรา ลงมาดูบรรยากาศการชุมนุม ลองคิดดูเราชุมนุมต่อเนื่องเรียนรู้กระบวนการต่อสู้ ผ่านบทเรียนลองผิดลองถูกกันมาเป็นสิบๆ ปี เอ็นจีโอจะเก่งถึงขั้นหลอกชาวบ้านได้เป็นสิบๆ ปีเหรอ จะมีใครหลอกชาวบ้านเป็นพันๆ คนต่อเนื่องกันได้เป็น 10 ปีเหรอครับ ก็เหมือนอย่างที่ผมบอกที่พ่อผมตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม ไม่ใช่เพราะว่าเชื่อเอ็นจีโอ แต่พ่อกับผมเห็นกับตาว่าพอสร้างเขื่อนขึ้นมาแล้วปลามันหายไปจริงๆ

พี่ลองดูก็ได้...อยู่บ้านดีๆ มีใครอยากมานอนตบยุงดมควันรถเมล์เหรอ ผมก็อยากกลับบ้าน อยากไปสูดอากาศที่บ้านเหมือนคนอื่นๆ แล้วถ้ามีใครมาจ้างพวกเรา ผมว่าอย่างน้อยคนๆ นั้นต้องพิมพ์เงินเองได้แน่ๆ คนเป็นพันนะครับ อ่ะ...ถ้าจ้างหัวละร้อยเป็นเวลา 10 ปี พี่ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่

+สำหรับคนที่เขาบอกว่าเราเรียกร้องไม่สิ้นสุดได้คืบจะเอาศอก ที่ดินทำกินก็ให้แล้ว เงินชดเชยก็ให้แล้ว จะเอาอะไรอีก อย่างนี้เปาโลจะว่ายังไง

ตอนสร้างเขื่อนเขาให้ค่าชดเชยอย่างนี้ครับ คนที่ถูกน้ำท่วมที่นารัฐก็จะจัดสรรที่ให้ แต่จัดสรรที่แบบไหนตรงไหนมันก็อย่างที่เรารู้ คือมันเป็นที่ๆ ทำกินเกือบไม่ได้ ดินมันไม่เหมือนกับดินที่เราใช้ปลูกข้าว ส่วนบ้านไหนที่น้ำไม่ท่วมนาเหมือนครอบครัวผม เราก็จะได้แค่ค่าชดเชยค่าสูญเสียโอกาสจากการจับปลาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเขาก็คำนวณออกมาเป็นเงิน 9 หมื่นบาท แล้ว 9 หมื่นบาทนี่ก็ไม่ได้ให้ทีเดียว จ่ายเป็นเงินสด 3 หมื่นบาท ที่เหลืออีก 6 หมื่นต้องโอนเข้ากองทุน

เงิน 3 หมื่นผ่านมา 10 ปีโดยที่พวกเราทำมาหากินไม่ได้เดี๋ยวเดียวมันก็หมด แล้วเงินอีก 6 หมื่นที่เข้ากองทุน พอถึงกำหนดเขาเปิดให้ชาวบ้านกู้ยืม ชาวบ้านก็ไปกู้ กู้มาแล้วไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไรเราก็ไม่มีเงินใช้คืน สุดท้ายก็ต้องลาออกจากกองทุนให้เขายึดเงินไป...บางคนก็เป็นหนี้กันต่อ

แล้วต่อให้เราได้เงินเต็ม 9 หมื่นจริงนะครับ...(นิ่งคิด) ผมก็ไม่รู้ว่านายกฯเงินเท่าไหร่ แต่เงิน 9 หมื่นนั้นมันผ่านมา 10 ปีแล้ว เราเองยังต้องมีชีวิตต่อ เขาเอาเงิน 9 หมื่นมาซื้อเราทั้งชีวิต

+บางคนเขาสงสัยว่า ทำไมชาวบ้านหรือคนหาปลาแม่น้ำมูลถึงไม่ลองดิ้นรนทำมาหากินอย่างอื่นบ้าง ?

มันไม่เหมือนกันนะครับ สมมติว่าคนกรุงเทพฯเรียนบัญชีจบบัญชีมา พอทำงานบัญชีอยู่บริษัทหนึ่งแล้วบริษัทเกิดเจ๊ง อย่างมากเขาก็ไปหาบริษัทใหม่ทำต่อ บริษัทใหม่เจ๊งอีกก็อาจจะรอจังหวะหาโอกาสทำบริษัทอื่นๆ ได้อีก เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

แต่คนหาปลามันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะ อย่างผมกับพ่อรู้จักก้อนหินทุกก้อนในแม่น้ำมูล รู้ว่าน้ำใต้แก่งเป็นยังไง รู้ว่าถ้าเราจะหาปลาชนิดนี้พันธุ์นี้เราต้องใช้เครื่องมือชนิดไหน และจะออกไปเวลาไหน แต่สมมติผมจะเอาวิธีเดียวกันไปหาปลาที่แม่น้ำโขง สภาพมันก็ต่างกัน เราอาจจะหาปลาไม่ได้เลยก็ได้ ก็เหมือนพ่อผมตอนนี้ต้องมาเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ หาเงินเลี้ยงชีวิตไปวันๆ เรายังดิ้นรนไม่พออีกเหรอ

+คนกลุ่มเดิมเขาอาจจะถามว่า แทนที่ชาวบ้านจะเรียกร้องฝ่ายเดียว ทำไมคนปากมูลถึงไม่รู้จักเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมบ้าง ?

เหมือนที่เขาบอกว่าเขื่อนลงทุนสร้างไปตั้ง 7 พันล้านแล้ว ถ้าเปิดเขื่อนเงินทุนก็จะสูญเปล่า...อย่างนี้ใช่มั้ยครับ

ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า คือเงิน 7 พันล้าน สมมติเราลงทุนเป็นค่ายาเอามารักษาชาวบ้าน ตอนแรกก็บอกว่าจะช่วยให้ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จะช่วยให้หาปลาได้เยอะขึ้น แต่สุดท้ายก็เอาไปปั่นไฟป้อนคนเมือง แล้วเขื่อนปากมูลก็ปั่นไฟได้น้อยมากนะครับ ถามว่าแล้วส่วนรวมที่พูดนี้หมายถึงใคร เพราะปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้มันรองรับคนแค่หยิบมือเดียวให้มีไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้น ตอนหลังกฟผ.เองก็ออกมายอมรับว่าถึงปิดเขื่อนตอนนี้ก็ยังมีไฟใช้จนถึงปี 48

แต่เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของคนที่ต้องเสียสละ ผมมองว่าค่ายา 7 พันล้านที่ลงทุนไป แทนที่มันจะช่วยเยียวยารักษาโรค มันกลับทำให้ชาวบ้านป่วยทรุดหนักเข้าไปอีก ยิ่งใช้ยาตัวนี้เรายิ่งป่วย พอหยุดใช้ปีเดียวอาการเราดีขึ้นทันตาเห็น มองอย่างนี้ต่อให้ลงทุน 7 พันล้านแล้วเอาไปซื้อความป่วยไข้...เราจะไปลงทุนทำไมครับ ลงทุนเพื่อเลี้ยงไข้ทำให้อาการเรายิ่งทรุดลงเรื่อยๆ เหรอ...มันเป็นเหตุเป็นผลเหรอครับ

+ข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่บอกว่าให้เปิดเขื่อนถาวร คืนชีวิตให้ชุมชน และเอาธรรมชาติระบบนิเวศกลับคืนมา...อันนี้มายังไง เพราะอย่างข้อแรกคนเมืองก็คงพอเข้าใจว่าเปิดเขื่อนก็คือเปิดเขื่อน แต่ 2 ข้อหลังอย่างคืนชีวิตคืนระบบนิเวศ เปาโลคิดว่าต้องทำยังไง

ข้อเรียกร้องทั้งหมดมาจากการประชุมกันของชาวบ้าน ตอนแรกเราก็ถกเถียงกันว่าจะเรียกร้องเป็นตัวเงินอีกหรือเปล่า แต่ตอนหลังข้อเสนอนี้ก็ตกไปเพราะ หนึ่ง มันไม่ชอบธรรมในสายตาสังคม สอง เงินไม่ใช่สิ่งยั่งยืน เราต้องการเพียงวิถีชีวิตของเรากลับคืนมา

คืนระบบธรรมชาติระบบนิเวศก็คือว่า แก่งไหนที่รัฐบาลเคยระเบิดก็ต้องเอาหินเอาแก่งกลับคืน เพราะแก่งเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลา ไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา แม่น้ำไม่ใช่มีแค่น้ำไหลเฉยๆ แต่มันมีรายละเอียดชีวิตอยู่ในนั้น คืนชีวิตเรากลับมาก็คือ คืนวิถีชีวิตชาวประมงกลับมา 10 ปีที่เราชุมนุมเรียกร้อง เราต้องขายเรือขายเครื่องมือประมงเอามายังชีพ เรือหาปลาลำหนึ่งไม่ใช่ถูกๆ นะครับ ลำหนึ่งเป็นหมื่น รัฐบาลต้องชดเชยชีวิตคืนให้เราด้วย ต้องหาเครื่องมือยังชีพให้เรา

ผมอยากให้รัฐบาลทำตามผลวิจัยของม.อุบลฯ ลองเปิดเขื่อนสัก 5 ปีก็ได้ แล้วเรามาดูกันว่าชีวิตผมเป็นยังไง ดูว่าพ่อผมน้องผมเป็นยังไง ถ้าผ่านไป 5 ปีผมยังหาปลาไม่ได้ ชีวิตผมไม่ได้ดีขึ้นจริง ผมจะยอมเลิกเรียกร้องทุกอย่าง เลิกชุมนุมผมไม่เอาอะไรแล้ว ไม่ต้องมีใครมาสนใจผม ปล่อยให้ผมไปคุ้ยขยะที่ไหนกินก็ได้

+เรื่องแบบนี้เปาโลคิดเองเหรอ...หรือว่ามีคนมาบอกให้เราพูดแบบนี้ เห็นคนเขาสงสัยกันเยอะว่าชาวบ้านจบแค่ชั้นประถมคิดอย่างนี้จริงๆ เหรอ

ผมไม่ได้เรียนในระบบครับ แต่ผมเรียนจากชีวิตจริง วันๆ ผมก็นั่งฟังพ่อใหญ่แม่ใหญ่เขาคุย เขาก็พูดถึงวิถีชีวิตของเขาว่าเคยเป็นยังไง พ่อผมก็เคยเล่าให้ฟังบ้าง เราก็จับมาปะติดปะต่อ เพราะมันเป็นชีวิตจริง มันเป็นธรรมชาติที่ไม่มีในตำราแต่เราเห็นมาด้วยชีวิต

สำหรับอาจารย์นักวิชาการหลายท่านที่ลงมาทำงานกับชาวบ้าน เขาก็มาพูดอีกแบบ พูดเรื่องสิทธิพื้นฐาน พูดเรื่องระบบคิดทางวิชาการ

+คือนักวิชาการก็มาสอนให้เราคิดเป็นระบบคิดขึ้น ?

ใช่ครับ มันก็ทำให้เราสามารถเรียบเรียงเนื้อหาที่พ่อใหญ่แม่ใหญ่พูดกระจายๆ กลายเป็นโครงใหญ่ขึ้นมา ทำให้เรามองเห็นภาพทั้งภาพ

+ระหว่างสู้กับรัฐบาล กับสู้กับความเข้าใจของคนอื่นๆ ในสังคม อันไหนยากกว่า

อันหลังครับ...รัฐบาลเราก็เรียกร้องไป ถึงเวลาเราก็สู้เราเห็นตัวเห็นเป้าหมายชัด แต่คนร่วมสังคมที่เขาไม่เข้าใจบางทีมันทำให้เราท้อแท้ เรามีทุกข์เราจึงมาเรียกร้องแต่ก็ถูกมองว่ามีเบื้องหลัง บางคนก็มองว่าเราโง่ถูกคนหลอกมาอีกที

ผมเองก็ไม่เข้าใจ ทีคนกรุงเทพฯถูกเวนคืนบ้านเขายังสู้ยังเรียกร้องกันได้ แล้วทำไมชาวบ้านอย่างเราจะสู้เพื่อสิทธิเราบ้างไม่ได้...ผมอยากให้คนเมืองมาดูพวกเรามาลงพื้นที่ดูเหตุการณ์จริง ถ้าเขาได้เห็นเขาอาจจะเปลี่ยนความคิด

+ถามจริงๆ ร่วมขบวนมาตั้งแต่เด็กอย่างนี้ มีช่วงไหนรู้สึกกลัวบ้างมั้ย

กลัวสิครับ กลัวไปหมดแหละ กลัวถูกกลั่นแกล้ง กลัวถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้กฎหมายมาทำร้ายเรา กลัวคนอื่นจะมองเราไม่ดี ทุกวันนี้ผมขึ้นเวทีไฮด์ปาร์กกลายเป็นเป้าสายตาคน ก็ต้องคอยรักษาภาพพจน์ ไม่อยากให้คนมองว่าเราเป็นคนเหลวไหลไม่ได้เรื่อง

+ถ้ากลัวแล้ววันที่เข้าไปคุยกับนายกฯ พอนายกฯถามว่าเปาโลแปลว่าอะไร...ทำไมไปตอบเขาอย่างนั้น

(หัวเราะ) ตอนนั้นผมคิดแค่นั้นจริงๆ คือเราก็เตรียมประเด็นเตรียมข้อมูลที่จะไปพูดปัญหาของเรา เพราะโอกาสอย่างนี้ไม่ได้มีบ่อย ทุกอย่างมันสุมอยู่ในหัวผมเต็มไปหมด พอนายกฯทักษิณถามผมก็เลยตอบไปแบบนั้น (หัวเราะ)

+ไม่คิดเหรอว่า ถ้าเราตอบไปดีๆ ก็น่าจะช่วยให้บรรยากาศการพูดคุยดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็อาจจะคุยกันง่ายขึ้น

ตอนนั้นผมไม่มีสติจะไปคิดเชื่อมโยงอะไรได้ขนาดนั้น ผมคิดอย่างเดียวว่าเวลามีน้อย ผมต้องรีบพูดประเด็นปัญหา ถ้าผมไปพูดประเด็นอื่นมันจะสูญเสียโอกาส เบียดเบียนประเด็นที่ผมเตรียมไว้ในหัว

+แล้วตอนนี้พูดได้หรือยังว่าชื่อเปาโลมาจากไหน

(หัวเราะ) ไม่มีอะไรครับ ตอนนั้นแป้งเปาโลมันดัง...ดังมาก พอเกิดมาพ่อกับแม่ก็ใช้แต่แป้งเปาโลทาตัวผม สุดท้ายพ่อก็เลยบอกว่า เอ้า ชื่อเปาโลก็แล้วกัน (หัวเราะ)

+รู้สึกมั้ยว่าตัวเราเป็นคนก้าวร้าว

(นิ่งคิด) ผมยอมรับนะครับว่าผมเป็นเด็กแก่แดด แต่ผมโตมาแบบนี้ ผมคุยแต่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ พูดกันแต่เรื่องปัญหา มองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา มีแต่เรื่องต้องเข้าไปต่อสู้เรียกร้อง ผมเห็นคนถูกตีเห็นชาวบ้านถูกรังแก...ผมอาจจะก้าวร้าวก็ได้ แต่ผมโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนี้

+เคยเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กรุ่นเดียวกันคนอื่นๆ บ้างมั้ย

บางทีก็คิดครับ ถ้าบ้านผมหาปลาได้ผมคงไม่ต้องมานั่งอยู่ที่นี่ พี่รู้มั้ยทุกวันนี้ผมคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันคนอื่นไม่รู้เรื่อง เขาพูดถึงดาราคนนั้นคนนี้ พูดถึงนักร้องดังๆ ผมไม่รู้จักสักคน (หัวเราะ) ถ้าไม่มีเรื่องเขื่อนผมก็อยากเป็นเด็กอ่อนโยนเหมือนคนอื่น แต่ผมโตขึ้นมาจากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่เลย ผมไม่มีเวลาเป็นวัยรุ่นไปเที่ยวเล่นกับใคร...บางทีผมก็รู้สึกนะ ผมก็อยากเที่ยวเล่นอยากมีเวลาสนุกเหมือนคนอื่นบ้าง

แต่อีกทางหนึ่ง ผมก็มีโอกาสได้คิด มีโอกาสรับรู้เรื่องที่คนรุ่นเดียวกันเขาไม่มีวันเข้าใจ ทุกวันนี้เด็กวัยรุ่นบ้านผมบางคนก็ไปกินยาบ้า ไปเป็นขโมย แต่ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าสูญเสียอะไรมาก แต่ถ้าผมไม่สู้สิ...ผมอาจจะกลายเป็น...(คิดนาน) อะไรก็ไม่รู้

+เปาโลยืนยันเหรอว่า อนาคตไม่อยากทำงานต่อสู้แบบนี้อีก

ไม่ล่ะครับ หมดจากการต่อสู้ครั้งนี้ผมก็อยากกลับบ้าน อยากกลับไปหาปลา ไม่อยากมาชุมนุมที่นี่แล้ว ถ้าหากนายกฯทักษิณทำตามคำเรียกร้อง 3 ข้อ ผมคิดว่าไม่มีใครอยากมาชุมนุมหรอก ที่ผมกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ต้องมาที่นี่เพราะเราไม่มีที่จะไป เราไม่มีอนาคต เราไม่รู้จะไปทำอะไร ผมเองเรียนก็ไม่สูง ที่เรามาเพราะหลังชนฝาเป็นหมาจนตรอกแล้ว

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา