eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ชาวบ้านปากมูนพบประธาน คมช. ติงปิดเขื่อนปากมูลไม่ชอบด้วยเหตุผล 

ประชาไท – 10 ก.ค.50

ประชาไท – 10 ก.ค. 50 เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (9 ก.ค.) ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปาก กว่า 70 คนได้เดินทางไปที่หน้ากองทัพบก เพื่อรอฟังผลการหารือระหว่างผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน กับตัวแทนชาวบ้านในนามคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำ ในการนี้มีนักวิชาการจำนวน 6 คน รวมทั้งประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีเขื่อนปากมูล เนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติในวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เห็นชอบ ให้รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูล 106-108 ม.รทก.มติครม.ดังกล่าวถูกนำเสนอโดยพล.อ สนธิ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในและผอ.ศจพ. ซึ่งการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่อ้างทำตามมติครม.ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูนที่เตรียมตัวในการหาปลาในช่วงการเปิดประตูน้ำ 4 เดือน เนื่องจากปลาเข้ามาในแม่น้ำมูนไม่ได้

นางเชย ลายทอง ชาวบ้านบ้านหนองโพธิ์ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลฯ กล่าวว่า ที่ต้องเดินทางมาวันนี้เพราะในวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบให้ปิดเขื่อนทำให้ชาวบ้านเหนือเขื่อนหาปลาไม่ได้ ปีที่แล้วประตูเขื่อนเปิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปลาเข้ามาในแม่น้ำมูนเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเราหาปลามีรายได้ พอบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง ปีนี้คิดว่าจะเขื่อนเปิดเหมือนเดิมพวกเราก็เตรียมเครื่องมือไว้ แต่จนวันนี้เขื่อนยังไม่เปิด ถ้าไม่เปิดปีนี้ชาวบ้านจะจนลงไปอีกมาก เพราะบางคนกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อเครื่องมือหาปลา ครม.วันที่ 12 มิ.ย.ทำให้เราเดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้น ถ้ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องรีบเปิดประตูเขื่อนปากมูลโดยด่วน เพื่อให้ชาวบ้านหาอยู่หากินในแม่น้ำมูนได้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา นางเชยกล่าว

ต่อกรณีที่ ครม.เห็นชอบให้มีการรักษาระดับน้ำของเขื่อนปากมูลได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำมูน และทำให้ชาวบ้านกว่า 6,000 ครอบครัว ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูนได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงวิถีชีวิตของคนสองฝั่งน้ำ โดยสภาพพื้นที่ขณะนี้ปลาจำนวนมากทั้งขนาดใหญ่และเล็กเดินทางจากแม่น้ำโขงเข้ามาในแม่น้ำน้ำมูนเป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถข้ามเขื่อนเข้ามาได้ ชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อนไม่มีโอกาสใช้เครื่องมือที่เตรียมไว้ คนหาปลาหลายคนขนเรือ เครื่องมือลงไปหาปลาบริเวณท้ายเขื่อน แต่ก็มีปัญหาเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานมูลนิธิเพื่อนป่า กล่าวว่า เขื่อนปากมูลเป็นเรื่องความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้นสร้าง เป็นความล้มเหลวของฝ่ายรัฐ เป็นเขื่อนที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งชาวบ้านเองก็ได้คัดค้านมาตั้งแต่ก่อนจะมีการสร้างแต่ฝ่ายรัฐไม่ยอม จนบัดนี้ ข้อมูลทุกด้านออกมาแล้วว่าเขื่อนนี้ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานทั้งๆ ที่เป็นหัวใจหลักของโครงการ เขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็กระทบอย่างมหาศาล แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้นำเสนอความเป็นจริง ในพื้นที่เองก็มีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน กฟผ.จ้างกลุ่มคนไว้ให้เข้ามาสลายชาวบ้านที่ชุมนุม ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นกับตาในช่างที่เดินทางไปดูพื้นที่ที่เขื่อนปากมูล ขณะทำหน้าที่เป็น ส.ว.

ทางด้านนายฟอง ภูเขาทอง ชาวบ้านบ้านคันไร่ใต้ ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลฯ กล่าวว่า ข้อกังวลเรื่องการใช้น้ำจากการสูบน้ำจากแม่น้ำมูนนั้น ขณะนี้น้ำสำหรับการทำการเกษตรมีอยู่อย่างเพียงพอ และคนทำนาในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยน้ำฝน ซึ่งตนคิดว่าขณะนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับระบบนิเวศของแม่น้ำมูน และปลาที่กำลังจะเข้ามาในแม่น้ำมูนมากกว่า ส่วนคนที่ได้รับประโยชน์จากการปิดประตูน้ำนั้นตนคิดว่ามีน้อยมากเพราะคนส่วนใหญ่หาปลา กินปลา ขายปลา ที่เข้ามาในแม่น้ำมูน ส่วนคนที่ใช้น้ำจากคลองมีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งสามารถสำรวจได้จากกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่คลองส่งน้ำที่มีอยู่ไม่กี่หมู่บ้าน

ทางด้าน นายศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตัวแทนที่เข้าพบ ผอ.รมน.ในวันนี้ได้ยื่นหนังสือขอให้เปิดเขื่อนปากมูลโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตัดสินใจปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลของคณะรัฐมนตรี ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ครม.ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่เป็นฐานในการตัดสินใจ งานวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาเรื่องเขื่อนปากมูล สรุปได้อย่างชัดเจนว่าเขื่อนทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านกระทบอย่างมาก เมื่อมีการทดลองเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน วิถีชีวิตชาวบ้านก็ดีขึ้นเป็นลำดับเนื่องจากระบบนิเวศฟื้นตัวขึ้น และประการที่สองการตัดสินใจไม่ได้คำนึงถึงมติครม.ที่ผ่านมาและความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากรณีเขื่อนปากมูลเป็นการเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาเกี่ยวกับเขื่อนปากมูล รัฐบาลมีมติครม.หลายครั้ง ตลอดจนการตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูล แต่มติครม.วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาล้มล้างกลไกทั้งหมดรวมถึงเหตุผลของมติครม.ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะครม.วันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ที่ให้เปิดประตูระบายในวันที่ 17 มิถุนายน 2550

พล.อ สนธิ บุณยรัตกลิน กล่าวว่า ตนจะให้กองทัพศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่าเป็นคนนอกกองทัพเข้าไปทำ ทำให้เกิดปัญหา และในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.50) ตนรับปากจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทบทวนมติครม.เดิม เรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือน ปิด 8 เดือน ทั้งนี้ก็อยากให้ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน พล.อ.สนธิ กล่าวในที่สุด

ขณะที่นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ในนามประธานกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) ออกแถลงการณ์ระบุว่าเครือข่ายฯ ได้ศึกษาติดตามกรณีเขื่อนปากมูลมาโดยตลอด และมีความเห็นตรงกับผลการศึกษาของ TDRI และของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ริมฝั่ง ดำเนินวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและพลิกฟื้นพืชพันธุ์ธัญญาหารตลอดลำน้ำมูล ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน ซึ่งได้ผลผลิตเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินลงทุนสร้างเขื่อนมากกว่า 7,000 ล้านบาท

โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 มิถุนายน 2550 ที่ให้รักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนไว้ที่ 106 – 108 เมตร/ ระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อการชลประทาน ก็ไม่คุ้มค่า เพราะจ่ายน้ำได้ไม่ถึง 10% และชลประทานยังเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านอีก มติดังกล่าวมีผลตรงทำให้ต้องปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการหาอยู่หากินของชาวบ้านที่เตรียมหาปลาตามกำหนดเปิดประตูเขื่อนระหว่างมิถุนายน – กันยายน 2550 ซึ่งมีมติครม. 8 มิ.ย. 2547 รองรับไว้แล้ว และ ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวรับรองการเปิดประตูเขื่อนตามกำหนดไว้ถึง 2 ครั้งต่อเนื่องกัน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2550 และ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2550

“เพื่อพลิกฟื้นคืนวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชน เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล (ชชช.) ที่ให้ทบทวนมติครม. เมื่อ 12 มิ.ย. 50 เพื่อนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลต่อไป” แถลงการณ์ของเครือข่ายดังกล่าวระบุ

คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.)

๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

เรื่อง ขอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล

เรียน พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ผอ.รมน./ผอ.ศจพ.

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูลไว้ที่ประมาณ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) นั้น เป็นการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ๒ ประการคือ

๑. ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่เป็นฐานในการตัดสินใจ

มติคณะรัฐมนตรีซึ่งให้รักษาระดับน้ำที่ ๑๐๖-๑๐๘ ม.รทก. โดยทางปฎิบัติหมายถึง การปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เนื่องจากระดับน้ำ ๑๐๘ ม.รทก. คือระดับเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตใช้น้ำเพื่อปั่นไฟ การปิดเขื่อนปากมูลสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านจำนวนมาก งานวิชาการหลายฉบับยืนยันได้ถึงผลกระทบดังกล่าว

งานศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และผลการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเท่าที่รวบรวมได้มี ๒๒ ชิ้น ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ “คณะทำงานกลั่นกรองผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี” ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๕ ได้จัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๖ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเมื่อมีการทดลองเปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๘ บาน สุดบาน วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากระบบนิเวศได้ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น

มติ ครม. ๑๒ มิถุนายน เป็นเสมือนการปิดเขื่อนปากมูล โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่แต่อย่างใด

๒. ไม่ได้คำนึงถึงมติ ครม.ที่ผ่านมา และความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากรณีเขื่อนปากมูลเป็นการเฉพาะ

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายชุดได้พิจารณากรณีเขื่อนปากมูล ตลอดจนได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล อีกหลายชุด

มติ ครม. และ ความเห็นของคณะกรรมการที่สำคัญมีดังนี้

๒.๑. มติครม. เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๔ ให้เปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา ๔ เดือน และให้ดำเนินการศึกษาลุ่มน้ำธรรมชาติจากการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๘ บาน

๒.๒. สำนักเลขาธิการได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ในระหว่างทำการศึกษา ได้มีมติครม.เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ขยายการเปิดประตูระบายน้ำในครบ ๑ ปี เพื่อให้การศึกษาได้ครบรอบวัฎจักรของปลาและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ตามหลักวิชาการ

๒.๓. ภายหลังการศึกษาโดย ม.อุบล ได้มีข้อเสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนตลอดปี แต่มติครม. เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ เห็นชอบให้เปิดประตูระบายน้ำปีละ ๔ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึง ๓๑ ตุลาคมของทุกปี

๒.๔. มติครม. วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ขยับมาให้เปิดวันที่ ๑ พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่ได้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล ซึ่งมีลักษณะภาคี โดยประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตประธานบอร์ดกฟผ. เคยเป็นประธาน และปัจจุบันประธานคณะกรรมการคือ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ และดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน

๒.๕.ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐ มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี ตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำ เป็น ๒ ทางเลือกคือ

ทางเลือกที่ ๑.ให้เปิดประตูระบายน้ำเร็วที่สุด โดยเริ่มลดระดับน้ำตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นต้นไป และให้เปิดประตูระบายน้ำสูงสุดภายในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

ทางเลือกที่ ๒.ให้เริ่มระบายน้ำและเริ่มลดระดับน้ำตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นต้นไป และให้เปิดประตูระบายน้ำสูงสุดภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

ต่อมากระทรวงพลังงานเสนอ ครม. ให้มีมติเปิดประตูระบายน้ำวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๐และ เปิดสุดบานในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

๒.๖. ภายใต้กลไก กอ.รมน. ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ ๒ ครั้ง คือ ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ณ หอประชุมกองทัพบก และวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ณ ที่ทำการเขื่อนสิรินธร และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ที่ประมาณ ๑๐๖-๑๐๘ ม.รทก.

มติครม.วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นการเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยไม่มีเหตุผลประกอบที่ชัดเจน และไม่ได้คำนึงถึงมติครม.และความคิดเห็นของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา

จากเหตุผล ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น คณะนักวิชาการและผู้ที่เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ ดังมีรายนามท้ายหนังสือนี้ จึงขอกราบเรียนให้ พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ในฐานะ ผอ.รมน./ผอ.ศจพ. ดำเนินการให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(รศ.สุริชัย หวันแก้ว)

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(นายศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์)

อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ)

ประธานมูลนิธิเพื่อนป่า

(ดร.นลินี ตันธุวนิตย์)

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(ดร.ชวลิต วิทยานนท์)

กองทุนสัตว์ป่าสากล

(นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง)

ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

(อาจารย์ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต)

ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน

(นายสมเกียรติ พ้นภัย)

(คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.))

(นายทองเจริญ สีหาธรรม)

คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.)

(นางสมปอง เวียงจันทร์)

คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.)

 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา