eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

รายงานจากปากมูน สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

                การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนการปากมูน ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ในปี ๒๕๕๒  กดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปากมูนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ข่าวคราวการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนเงียบหายไประยะหนึ่ง เพื่อหลีกทางให้กับความขัดแย้งครั้งใหญ่ของสังคมไทย นับแต่การรัฐประหารในปี ๒๕๔๙

                การเปิด(ประตูน้ำ)สี่ ปิดแปด  ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีในสมัย ทักษิณ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล ชาวบ้านปากมูนต้องกดดันให้ฝ่ายปฏิบัติการระดับจังหวัด เปิดประตูน้ำตามมติ ครม.เกือบทุกปี ในบางปี การเปิดล่าไปจากมติเดิม ส่งผลต่อฤดูการจับปลาของชาวบ้าน  ภายหลังการรัฐประหาร ได้มีการยกเลิกมติ ครม.ในปี ๒๕๔๕ และยกอำนาจการเปิดปิดประตูน้ำให้กับคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธาน

                ความจริงมติ ครม.ปี ๒๕๔๕ เปิดสี่ปิดแปด  เป็นมติที่ไม่ต้องการแก้ปัญหามาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง จะได้รับสัญญาณที่ไม่จำเป็นต้องกระตือรือล้นในการเปิดประตูน้ำ

                ในตอนต้นปี ๒๕๔๖ รัฐบาลทักษิณ ดำเนินการอย่างรวบรัด อนุมัติเงินกว่าหนึ่งพันล้าน ในการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากมูน  ทั้งที่งานวิจัยต่างๆชี้ให้เห็นว่า ภูมิประเทศในลุ่มน้ำมูล เป็นตลิ่งสูง สภาพดินเป็น “ผลาญหิน” ดินในที่ดอนเป็นดินตื้น ชั้นล่างมีหินปน ชาวบ้านปากมูน จึงไม่นิยมทำนาในหน้าแล้ง

                การสร้างคลองส่งน้ำจึงไม่ได้ต้องการให้ชาวบ้านปากมูนเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมงเป็นเกษตรกร  แต่ต้องการคำอธิบายแบบใหม่ว่า  เขื่อนปากมูน จำเป็นต่อการกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน  และรัฐได้พยายามทุ่มเททรัพยากรเพื่อชดเชยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวประมงได้อย่างเพียงพอ

                นอกเหนือจากการสร้าง “วาทกรรม” ชุดใหม่ เพื่อใช้อธิบายการคงอยู่ของเขื่อนปากมูนแล้ว งบประมาณกว่าพันล้าน ย่อมทำให้รัฐสร้างอิทธิพลร่วมกับผู้นำในท้องถิ่น  ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านชาวบ้านปากมูน  เป็นการสร้างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการต่อสู้ของฝ่ายรัฐ ที่ต้องการเห็นการคงอยู่ของเขื่อนปากมูนตลอดไป

                การรัฐประหารในปี ๒๕๔๙  ต่อเนื่องถึง การหวนกลับมายึดอำนาจคืนของกลุ่มชนชั้นนำเดิมในปี ๒๕๕๒ ผ่านรัฐบาลอภิสิทธิ  ทำให้ชนชั้นนำต้องปรับตัวกับความขัดแย้ง ที่จำเป็นต้องพึ่งพิงคนรากหญ้ามากยิ่งขึ้น  หลังจากที่เห็นความสำเร็จของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ 

                การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ และ เขื่อนปากมูน  จึงเป็นความพยายามที่จะปรับตัวในการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของคนรากหญ้าบางส่วน  และดูเหมือนจะเริ่มต้น และดำเนินไปด้วยท่าทีที่เห็นอกเห็นใจ และพยายามที่จะแก้ปัญหา 

                คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน  ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูน โดยมีสมมติฐานว่า มีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูนเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และคัดค้าน  การนำงานวิจัยที่สำคัญในรอบยี่สิบปี มาทำการศึกษาเปรียบเทียบ รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมในบางประเด็นเพื่อให้เป็นปัจจุบันเพียงพอที่จะทำให้มีข้อสรุป และมีข้อเสนอในการตัดสินใจของรัฐบาล

                นอกจากนั้น ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ตลอดลุ่มน้ำมูล ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

                คณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองชุด ได้สรุปและมีข้อเสนอการแก้ปัญหาตรงกันในประเด็นสำคัญ คือ การเปิดเขื่อนเพื่อให้ระบบนิเวศฟื้นฟูกลับมาตามธรรมชาติ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการทดลองเปิดเขื่อนในปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕  และให้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบภายหลังการสร้างเขื่อน

                ข้อค้นพบที่สำคัญในการเปรียบเทียบงานวิจัยหลายชิ้นในรอบยี่สิบปี ทั้งในด้าน ผลกระทบของระบบนิเวศ จำนวนและชนิดของพันธุ์ปลาที่ลดลงอย่างมาก วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความยากจนและการสูญเสียอาชีพ รายได้  และ ความคุ้มค่าของการผลิตไฟฟ้า รวมทั้ง ความมั่นคงทางพลังงานที่ได้ไม่คุ้มเสีย ได้รับการตอกย้ำจากงานวิจัยทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้าน รวมทั้งได้ตอกย้ำข้อเสนอของ งานวิจัยของ ม.อุบลฯ เมื่อปี ๒๕๔๕  ที่เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้รัฐบาลทักษิณ คือการเปิดเขื่อนถาวร

                คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการเสนอข้อสรุปดังกล่าวให้กับคณะรัฐมนตรี

                แต่แล้วในที่สุด ชนชั้นนำก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดในตอนนั้นว่า เขื่อนปากมูล จะเป็นเส้นแบ่งสุดท้ายที่ไม่อาจยอมให้กับการรุกคืบในเรื่องพลังงานของภาคประชาชนอีกต่อไป  นับตั้งแต่การลุกฮือของท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ ที่ต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เขื่อน จนทำให้แผนการขยายการผลิตพลังงานต้องเปลี่ยนเป็นการรับซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก  ซึ่งนั่นหมายถึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ต้องเปลี่ยนไปอยู่ในส่วนอื่นแทน ที่สำคัญ สิ่งที่ชนชั้นนำยอมไม่ได้ คือ การรวมศูนย์อำนาจ ที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน จะถูกท้าทายยิ่งๆขึ้น  และทำให้ความเชื่อมั่นขององค์กร เครือข่าย บริวารทั้งหลายของตนสั่นคลอน หากต้องยอมเลิกใช้ เขื่อนปากมูล

                คณะรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ จึงมีมติในปี ๒๕๕๓ ให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)  ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็น ผลกระทบของผู้ใช้น้ำที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำมูล  เนื่องจากมีข้อโต้แย้งจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำเกษตรกรรม  โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

                มติ ครม.ดังกล่าว จึงเป็นการย้อนรอย มติ ครม.ในสมัยทักษิณ ที่ตัดสินใจว่า จะไม่ทำตามความเห็นทางวิชาการ และความเห็นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะเขื่อนปากมูล เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  เกินกว่าจะแลกกับการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ และเกินกว่าข้อเสนอจากความรู้ของนักวิชาการบริสุทธิ์ทั้งหลาย

                เขื่อนปากมูลจึงยังต้องขวางลำน้ำมูน  ขวางเส้นทางการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง และขวางพวกไพร่ ที่กล้าท้าทายอำนาจของรัฐ

                ถ้าพี่มดยังอยู่ ก็จะบอกพวกเราว่า สู้ไปเรื่อยๆ  ถ้าปุ๋ย ยังอยู่ ก็จะบอกพวกเราว่า สะสมชัยชนะ(บนความพ่ายแพ้)ไปทีละนิด  ส่วนพี่พิเชษฐ์ก็จะถกเถียงกับพวกเราอย่างยืดยาวถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ๆอย่างมีชีวิตชีวา

                สำหรับผู้ที่ยังอยู่  การต่อสู้ดูเหมือนจะไม่จบสิ้น  แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างบางอย่างที่สำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา  แต่กับการจัดการปัญหาภาคประชาชนยังคงไม่มีอะไรคืบหน้า  ชาวบ้านในเขตป่า  คนไทยพลัดถิ่น แรงงานอพยพ ชนกลุ่มน้อย คนไร้ที่ทำกิน ฯลฯ รวมทั้งชาวบ้านปากมูน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในรอบสามสิบปีทั่วทุกหนทุกแห่ง  ยังคงอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิม ความทุกข์เดิมๆ ที่มองไม่เห็นทางออก มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

                แต่ผมเชื่อว่า  ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนพวกเราสังเกตไม่ออก  ตราบจนเวลาผ่านไปหลายสิบ หรือหลายร้อยปี  ประวัติศาสตร์จะอธิบายได้ว่า พัฒนาการที่เกิดจากการต่อสู้ในช่วงชีวิตของเรานั้น ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

                ยุคมืดในยุโรป ใช้เวลากว่าพันปี ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ  และใช้เวลาต่อมาอีกกว่าสี่ร้อยปี เพื่อเข้าสู่ยุคโลกสมัยใหม่  ก่อนหน้านั้น กรีกและโรม ช่วยกันสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่าสองพันปีก่อนที่จะล่มสลาย

                การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูน และของพวกเรา รวมทั้งพี่มด พี่พิเชษฐ์ ปุ๋ย และเพื่อนๆอีกหลายคน จะส่งต่อมรดกของความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไปสู่คนรุ่นหลัง  เหมือนที่ชาวบ้านปากมูน ได้ส่งต่อมรดกความคิดการไม่ยอมจำนนให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วสังคมไทย เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว

                                                                            พรชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์
ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
บ้านไทรงาม  กรกฎาคม ๒๕๕๖

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา