eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
  ชาวบ้านปากมูนตามต่อ พบผู้ว่าฯ ยื่นหนังสือจี้รัฐบาลตั้งกรรมการ ขีดเส้น 15 วัน

 

ประชาไท 3 พ.ย. 56  
http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56330

3 พ.ย.57   หลังจากชาวบ้านปากมูนเปลี่ยนเป้าหมาย จากเดิมที่เตรียมเดินทางเข้าพบ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (3 พ.ย.) มาเป็นเข้าพบ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีแทนนั้น  

เวลา 10.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัด ตัวแทนสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล 15 คนได้เข้าพบนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยื่นหนังสือถึงหม่อมหลวงปนัดดา มีการหารือถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านกันจนกระทั่งราว 11.30 น. ข้อสรุปคือ ผู้ว่าฯ จะส่งเรื่องไปให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา และการจะเปิดเขื่อนนั้นต้องได้รับคำสั่ง จากรัฐบาล

สำหรับข้อเรียกร้องในหนังสือที่ยื่นถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มี ดังนี้

1. ให้รัฐบาลเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) กับตัวแทนสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลเพื่อนำไปสู่การ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ตามข้อสรุปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา

2. ในระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ให้รัฐบาลสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประตูระบายน้ำ เขื่อนปากมูลไปจนครบ 4 เดือน หรือจนกว่าคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้น จะกำหนดแนวทางดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง ต่อไป

ในการเจรจาในวันนี้ฝ่ายราชการประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี , ผู้แทนจากชลประทานจังหวัดอุบล, ผู้แทนจากสำนักงานประมง จังหวัดอุบล,ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบล และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดอุบล ทหารและตำรวจ เข้าร่วมประชุมกว่า 20 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลเป็นประธานการ เจรจา

หลังสมัชชาคนจนนำเสนอข้อเสนอ ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลที่แต่งตั้งจากรัฐบาลโดยตรง ส่วนเรื่องการปิดเขื่อนใน ปีนี้ เนื่องจากยังไม่มีคณะกรรมการชุดใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำหนดเรื่องการปิดเขื่อนไปก่อน แต่หากมีคณะกรรมการ และคณะกรรมการมีมติอย่างไร ทางจังหวัดก็จะปฏิบัติตามนั้น

ประธานยังย้ำอีกว่า ตนสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการแต่ต้องเป็นกรรมการที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเป็นคนแต่งตั้ง ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่เรื้อรังมานานได้รับการแก้ไข และในองค์ ประกอบของคณะกรรมการก็จะต้องมีชาวบ้านผู้เดือดร้อนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยก็ยิ่งจะเป็นผลดีต้องการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ตามความต้องการของชาวบ้าน

ด้านสมัชชาคนจนเสนอว่าหากมีตั้งกรรมการเร็วก็จะทำให้การเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพิ่มขึ้นซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ตอบรับการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการ ภายใน 15 วัน ชาวบ้านอาจจะต้องมีมาตรการผลักดันถึงรัฐบาลต่อไป

ประธานยืนยันว่า หากเรื่องใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนอุบลฯ ผู้ว่าฯยินดีให้การสนับสนุนแม้ว่าใครจะว่าอะไรก็ตาม โดยในวันนี้ทางจังหวัดจะดำเนินการส่งเรื่องถึง ม.ล.ปนัดดา ให้เร่งดำเนินการ แต่การตัดสินใจสุดท้ายต้องอยู่ที่รัฐบาล หากภายหลังจากเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ชาวบ้านก็สามารถไปตามเรื่องที่กรุงเทพฯ ด้วยตัวเองได้ 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์เรียกร้องการแก้ไขปัญหาอีกครั้ง โดยระบุว่า ตามที่ชาวบ้านปากมูนได้เรียนร้องให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนปากมูลมาอย่างต่อเนื่องกว่า 26 ปี ผ่านการเจรจากับรัฐบาลมาแล้วถึง 14 นายก 17 รัฐบาล แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ความล่าช้าที่กินเวลายาวนานถึงกว่า 26 ปี สาเหตุสำคัญคือ

1.) รัฐบาลไม่มีความจริงใจ ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลที่เข้าใหม่ก็จะอ้างว่า "ยังไม่รู้ข้อมูล" และ นำไปสู่การเริ่มใหม่และพอจะได้ข้อสรุปในกา แก้ไขปัญหารัฐบาลก็มี การยุบสภาทุกครั้ง

2.) รัฐบาลกลัวการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฯ ที่ผ่านมาเคยมีข้อสรุปที่จะแก้ไขปัญหาหลายครั้ง ดังนี้

2.1 ปี 2540 ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ตกลงจะจัดหาที่ทำกินให้ชาวบ้านครอบครัวละ 15 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพจากการหาปลาไปทำนา และกำลังดำเนินการรัฐบาล ก็ลาออกไป

2.2 ปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้จ้าง ม.อุบล ศึกษาข้อเสนอและหาแนวทางแก้ไขปัญหา เมื่อ ม.อุบล ทำการศึกษาเสร็จ โดยเสนอให้ทำการเปิดประตูเขื่อนตลอดทั้งปี รัฐบาลก็ ็แปลงสาร มาเป็นเปิด 4 ปิด 8

2.3 ปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ใช้เวลากว่า 1 ปี ได้ข้อสรุป คือ (1) เห็นชอบให้ทดลองเปิดเขื่อน 5 ปี (2) เห็นชอบเยียวยาชาวบ้านครอบครัวละ 310,000 บาท และกำลังจะแก้ไขปัญหา รัฐบาลก็ยุบสภา

2.4 ส่วนรัฐบาลอื่น ๆ พวกเราก็ได้เรียกร้อง แต่ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ความล่าช้าดังกล่าว ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พวกเราก็ได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 รัฐบาลได้มอบหมายให้ รมต.ปนัดดา ดิศกุล โดยมีข้อสรุปว่า จะเร่งตั้งกรรมการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา โดยในระหว่างนี้จะยังคงเปิดประตูระบายน้ำ ไปก่อนแต่ต่อมา 9 ตุลาคม 2557 การไฟฟ้า ฯ ก็เดินหน้าปิดประตูเขื่อนปากมูล แม้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 พวกเราจะส่งตัวแทนเข้าไปพบผู้ว่าอุบล ฯ เพื่อให้ชะลอการปิดประตู เขื่อนปากมูลออกไปก่อน ซึ่งทางจังหวัดอุบลก็รับปากพวกเรา แต่คล้อยหลังพวกเราประตูเขื่อนก็ปิดลงจนสนิท

25 ตุลาคม 2557 แกนนำชาวบ้านปากมูน ได้ประชุมกันและมีมติที่จะเดินทางไปพบ รมต.ปนัดดา ดิศกุล ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เพื่อติดตามความคืบหน้าจากข้อตกลงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ทางจังหวัดอุบลกลับเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง เพื่อจะจัดการกับพวกเรา โดยอ้างว่าอยู่ในช่วงการใช้กฎอัยการศึก และเสนอตัวว่าจะแก้ไขปัญหานี้เอง

ต่อสถานการณ์เช่นนี้พวกเราแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าปัญหาเขื่อนปากมูลเป็นเรื่องที่ระดับนโบายเท่านั้นจึงจะแก้ไขได้ แต่เมื่อทางผู้ว่าอุบลเสนอตัวมาพวกเราก็ยินดีจะสนองข้อเสนอ ด้วยการส่งตัวแทนบางส่วนเข้าไปพบเจรจากับผู้ว่าอุบล ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบล

อย่างไรก็ตาม เราจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่จำเป็นสูงสุด แต่หากผลการเจรจากับผู้ว่าอุบล ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 นี้ ไม่มีความคืบหน้า การเดินทางเข้ากรุงเทพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจบริหารประเทศ ก็อย่าว่าพวกเรา

 

 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา