eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ใบแจ้งข่าว

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล

วันที่ 2 มิถุนายน 2543

ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ-วันที่ 2 มิถุนายน 2543 วันสุดท้ายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นคำขาดกับทางรัฐบาล กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนราษีไศลอย่างเร่งด่วน โดยการยกเลิกการกักเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลเสียก่อน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มิฉะนั้นกลุ่มหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน สมัชชาคนจนจะดำเนินการด้วยตนเอง

ในวันนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆจากฝ่ายรัฐแต่อย่างใด ในขณะที่ชาวบ้านกว่า 200 คนของหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 ซึ่งได้ ชุมนุมกันอยู่ที่เขื่อนราษีไศล ได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอราษีไศล เมื่อเวลา 11.30 น. เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเหตุผลที่ ต้องมาชุมนุมอยู่ที่เขื่อนราษีไศล และที่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล เนื่องจากในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ทางอำเภอ นำโดยนายพิษณุ พรมจรีญ์ ได้นำหนังสือ เรื่องให้ระงับการขุดเจาะฝายไปให้ยังกลุ่มสมัชชาคน

เนื้อหาหนังสือที่ทางกลุ่มหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนได้ยื่นชี้แจงกับทางอำเภอคือ

"ตามที่ท่านได้มีหนังสือ ที่ ศก05182/พ006 เรื่องให้ระงับการขุดเจาะฝายราษีไศล ความว่า การกระทำดังกล่าวของกลุ่มหมู่บ้านแม่มูน มั่นยืน 2 และ3 อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล สมัชชาคนจน เป็นการทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเกินขอบเขต สิทธิ เสรีภาพ ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ผู้ชุมนุมพึงมีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย และได้แจ้งให้ ทางกลุ่มระงับการรื้อและขุดเจาะเขื่อนราษีไศลนั้น

หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ3 อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล สมัชชาคนจน เรียนชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาตรา 44 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การกำจัดสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสา ธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศ อยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 46 ที่ระบุว่า บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิในกาอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ดังนั้นขอชี้แจงว่า สิ่งที่สมัชชาคนจนได้ดำเนินการกระทำอยู่นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อน ราษีไศล ที่หมักหมมมาเป็นระยะเวลา 7 ปี ชาวบ้านเสียสละให้ทางราชการให้ใช้ที่ทำกินของตนเอง แหล่งดำรงชีพป่าบุ่งป่าทาม และทรัพยากรของชุมชน ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องอพยพไปขายแรงงานในต่างถิ่น เป็นลูกจ้าง มีหนี้สินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ครอบครัวชุมชนต้องแตกสลาย การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก

ในขณะที่ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อที่จะเลี้ยงชีวิตครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ในสังคม สิ่งที่ชาวบ้านเสียสละมา 7 ปี แต่ไม่ได้รับการเหลียว แล ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและล้มเหลว ส่งผลให้แรงงานรับจ้างถูกเลิกจ้าง และต้องกลับภูมิลำเนาเดิม และเมื่อที่ดินทำกิน ทั้งแหล่งดำรงชีพถูกโกง 7 ปี โดยรัฐเป็นผู้กระทำ

ดังนั้นการดำเนินการครั้งนี้ของกลุ่มชาวบ้านจึงเป็นไปเพื่อสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายทุกประการดังที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บัญญัติไว้ข้างต้น เพราะเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตจะต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนเองดำรงชีวิตอยู่ได้ และวิธีการจัดการทรัพยากร ในชุมชนจึงเป็นสิทธิชุมชน ที่เป็นสิทธิธรรมชาติที่ได้บัญญัติไว้แล้วตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นสิ่งที่ชาวบ้านได้กระทำอยู่ในขณะนี้จึงเป็นการดิ้นรนและเรียกร้องสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเท่านั้นเอง

ตามที่ทางอำเภอราษีไศลแจ้งมานั้น จึงเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เรายืนยันว่า เราไม่ได้ละเมิด และกระทำการเกินขอบเขตแห่ง สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ที่เรากระทำก็ไม่ได้เป็นการทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ความเป็นจริงคือ การสร้างถนน ข้ามลำน้ำจะต้องมีการทำสะพานหรือใส่ท่อเพื่อที่จะให้แม่น้ำไหลผ่านไปได้ แต่การก่อสร้างถนนเข้าเขื่อนราษีไศลดังกล่าว เป็นการ กระทำที่ผิดต่อประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา และวิถีปฏิบัติของชุมชน

การก่อสร้างถนนดังกล่าวทำให้น้ำอัดเอ่อท่วมที่ทำกินของเรา การขุดเจาะเป็นเพียงเพื่อต้องการระบายน้ำออกจากที่นาเท่านั้น เพื่อให้ ทำกินได้ และให้ธรรมชาติกลับคืนมาสู่สภาพเดิม

เรายืนยันว่าหลังจากที่น้ำถูกระบายสู่สภาพเดิมแล้ว เราจะใส่ท่อให้เพื่อให้ถนนใช้การได้ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบและเข้าใจตามที่ ได้เรียนชี้แจงไปให้ถูกต้องด้วยการคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดิน คืนที่ทำกินให้ชาวบ้าน คืนป่าทามให้ชุมชน หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล"

หลังจากได้อ่านหนังสือชี้แจงให้ข้าราชการทั้งหมดได้รับฟัง และแจกจ่ายสำเนาหนังสือให้กลับประชาชนทั่วไป ทางอำเภอก็ได้ส่งตัว แทนมารับหนังสือ พร้อมทั้งกล่าวสั้นๆว่าขอบคุณแล้วจึงกลับเข้าไป

นายสมัย หงษ์คำ แกนนำชาวบ้านซึ่งนำชาวบ้านมายื่นหนังสือในครั้งนี้กล่าวว่า ทางราชการนิ่งเฉยไม่ยอมรับฟังปัญหาข้อเรียกร้อง และความเดือดร้อนของเรา เบี่ยงเบนประเด็นตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไรที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขเสียที

เวลา 14.00 น หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 อ่านแถลงการณ์ประจำวันฉบับที่ 27 เรื่อง เขื่อนราษีไศล เขื่อนที่ไร้เหตุผล เนื้อหาว่า

เป็นเวลา 10 เดือน 9 วัน ของการดำเนินการเรียกร้องให้ยกเลิกการกักเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และคืนธรรมชาติ กลับสู่ชุมชน และยังเป็นเวลา 10 เดือน 9 วันที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ยังคงนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ทุกข์ยากจากเขื่อน ราษีไศล

ที่มาของเขื่อนราษีไศล หนึ่งในหัวใจสำคัญของโครงโขง-ชี-มูล โครงการผันน้ำขนาดยักษ์ที่อ้างว่าเพื่อความอยู่ดีกินดีของคนอีสาน แต่เขื่อนราษีไศลเป็นบทพิสูจน์ได้ดีถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อนำมาซึ่งความทุกข์ยากของชาวอีสาน

หากพิจารณาถึง การดำเนินการก่อสร้างของเขื่อนราษีไศลแห่งนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาในมุมใดๆ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่เขื่อนนี้จะถูกสร้างขึ้น มาได้

ประการแรก การทำลายพื้นที่ป่าบุ่งทามที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสาน ที่เป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิตทั้งหลายร่วมกันถึง 80 ตาราง กิโลเมตร

ประการที่สอง อ่างเก็บน้ำราษีไศลส่วนหนึ่งคือพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 5,000 ครอบครัว ที่ใช้ประโยชน์ใน พื้นที่นี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ประการที่สาม อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลสร้างทับพื้นที่โดมเกลือขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ตารางกิโลเมตร จนก่อให้เกิดหายนะดินเค็ม ที่สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงในขณะนี้ เมื่อน้ำในอ่างเค็มใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรไม่ได้ มิหนำซ้ำยังจะเป็นตัวแพร่ กระจายดินเค็มไปสู่แผ่นดินอีสานอีกด้วย

ประการที่สี่ มีชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ชายขอบของอ่างเก็บน้ำที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้สร้างคันดินไว้ จนเป็นสาเหตุให้ กักกั้นทางระบายน้ำจนน้ำท่วมที่นา ปลูกข้าวไม่ได้ บริเวณนอกคันดิน ที่นาของชาวบ้านจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ

ประการที่ห้า การสร้างเขื่อนราษีไศลกั้นแม่น้ำมูลตอนกลางเป็นการตัดขาดเส้นทางอพยพของปลาในแม่น้ำและเป็นการปิดกั้น โอกาส  อยู่รอดของปลาที่รอดจากการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างสิ้นเชิง

ทั้งหมดเหล่านี้ที่ต้องสูญเสียไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ด้านชลประทานประการเดียว และเป็นพื้นที่ชลประทานที่เป็นดินทรายเพียง 55.072 ตารางกิโลเมตร

หากนำเอาประสิทธิภาพของระบบชลประทานของเขื่อนโดยทั่วไปในภาคอีสานที่มีประสิทธิภาพเฉลี่ยเพียง 37 % ก็จะเท่ากับว่า เขื่อนแห่งนี้ทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ถึง 80 ตารางกิโลเมตร ( 50,000 ไร่ ) เพื่อนำน้ำไปให้กับพื้นดินทรายเพียง 21.07 ตารางกิโลเมตร เท่านั้น

เขื่อนราษีไศลจึงเป็นเขื่อนที่ไม่คุ้มค่าอย่างที่สุด และเมื่อพิจารณาถึงภูมิหลังดังกล่าวแล้ว เขื่อนนี้จึงเป็นเขื่อนที่ไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง

การยกเลิกกักเก็บน้ำจึงเป็นหนทางประการเดียวของการแก้ไขปัญหาที่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากเขื่อนนี้ได้ดีที่สุด

ยิ่งหากมีการปล่อยให้เวลายาวนานเท่าใด ปัญหาก็จะยิ่งหมักหมมบานปลายมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และเมื่อถึงเวลานั้นการแก้ไขก็จะยาก มากขึ้นอีกเท่าตัว ความกล้าของผู้มีอำนาจและความเที่ยงธรรมในมโนสำนึก การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวทันต่อสถานการจึงจำเป็นต่อการ แก้ไขปัญหาดังกล่าว เขื่อนราษีไศลจึงเป็นบทที่จะพิสูจน์ความจริงและสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน

ดังนั้นในขณะที่กำลังจะพิสูจน์ความจริงที่เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องหยุดดำเนิน การไว้ อย่าให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะไม่มีใครมีความสุขกับการสูญเสียอย่างแน่นอน

นายไพรจิตร ศิลารักษ์ แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า จากการที่ ฯพณฯ ท่าน รมว.มหาดไทยออกมากล่าวว่า ผู้ชุมนุมที่อยู่สันเขื่อนราษีไศล ทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายนั้น พวกเราขอยืนยันว่า สิ่งที่เราทำเป็นการทำเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้ปัญหามัน บานปลายเท่า นั้นเพราะหากปล่อยให้มีการเก็บน้ำต่อไปอีกยิ่งนานเท่าใดปัญหาจะยิ่งทวีเพิ่มมากขื้น ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จะยังคงต้องเรียกร้องอย่างไม่จบสิ้น ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าบุ่งป่าทาม จะจบสิ้นไปไม่สามารถที่จะฟื้นให้คืนสภาพได้ ดินเค็มจะแผ่วง กว้างออกไปอีกอย่างมหาศาล ชุมชนจะถึงกาลวิบัติ พวกเราเรียกร้องมาตลอด 10 เดือน 8 วันแต่ทางราชการไม่เคยมาสนใจหรือร่วม แก้ไขปัญหาแต่อย่างใด จะให้พวกเรารอไปถึงเมื่อไร ตอนนี้น้ำก็ยังท่วมหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 อยู่ ชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิตไป แล้ว 1 คน ในขณะเดียวกันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยังออกไปเอ่อล้นท่วมนาที่อยู่นอกอ่างอีก จะดึงดันเก็บไว้อีกทำไม มันไม่มีใครได้ใช้ประ โยชน์จากน้ำ น้ำมันเค็ม ต้นไม้ถูกนำท่วมเสียหายขณะนี้กำลังจะตายหมดแล้ว

"ผมว่าท่านบัญญัติไม่สมควรที่จะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนราษีไศลเลย เพราะท่านไม่เคยเห็น ท่านไม่เคยมาดูเลย สิ่งที่ท่านพูดท่าน คิดเอาเอง และหากท่านอยากที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ท่านจะต้องลงมาด้วยตัวท่าน แล้วมาแก้ไขด้วย ไม่ใช่ดีแต่พูด เรารอคอย การแก้ไขมาแล้ว 10 เดือน 8 วันไม่เคยมีใครมาพบชาวบ้านเลย เมื่อรัฐบาลไม่มาแก้ปัญหาเราก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา