eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เขื่อนราษีไศลและปัญหาดินเค็ม: หายนะของคนอีสาน

เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
14 มีนาคม 2543

             ปัญหาดินเค็มอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนดูเหมือนว่าจะถูกเพิกเฉยจากนักสร้างเขื่อนใน ประเทศไทยมาโดยตลอด เมื่อใดก็ตาม ที่มีการพูดถึงปัญหานี้ จะได้รับการยืนยันจากนักสร้างเขื่อน ว่า ปัญหานี้ไม่มีวันเกิดขึ้นเด็ดขาด ต่างจากพื้นที่อื่นของโลกที่มีปัญหาดินเค็มจาก การสร้างเขื่อน แต่กรณีเขื่อนราษีไศลได้ลบล้างความเชื่อเดิมๆนี้ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อปรากฏว่าได้เกิดปัญหาดินเค็มกระจายอย่างรวดเร็วภาย หลังการสร้างเขื่อนเพียง 6 ปี

             เขื่อนราษีไศลเป็น 1 ใน 22 เขื่อนภายใต้โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล เขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้กระบวนการการตัดสินใจ ที่หละ หลวม เนื่องจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้รับการอนุมัติคณะรัฐมนตรีในปี 2532 โครงการโขง-ชี-มูล  ให้สร้างฝายยางสูง 4.5 เมตร และจะกักเก็บน้ำไม่เกินตลิ่ง  แต่ในปี 2535-36 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่สูง 9 เมตร และทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำท่วมพื้นที่ถึง 80 ตารางกิโลเมตร

แม้ว่าตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2521 กำหนดให้เขื่อนที่มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโล เมตรขึ้นไปต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม  แต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานก็ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายแต่ ประการใด 

ผลของกระบวนการการตัดสินใจที่ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานก็คือ  การเกิดปัญหาดินเค็มอันเป็นหายนะของคนอีสานที่ได้กลายมาเป็นต้นทุนราคาแพงของการสร้างเขื่อนแห่งนี้

อีสาน: แหล่งเกลือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ภาคอีสานของไทยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีแร่เกลือหินมากที่สุดในประเทศไทย และยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งที่มีเกลือหินขนาด ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  ทั้งนี้ก็เพราะว่าภาคอีสานของไทยเคยเป็นทะเลมาก่อน

นักธรณีวิทยาเชื่อว่า เหตุที่ภาคอีสานมีเกลือหินมากที่สุดก็เนื่องมาจากประมาณตอนต้นของยุคครีเทเชียส (135 ล้านปีที่แล้ว) เทือก เขาเพชรบูรณ์เริ่มยกตัวจึงทำให้เกิดการผุกร่อนทำลายของชุดหินโคราชด้านตะวันตก และถูกพัดพาไปสะสมตัวในบริเวณตอนกลางและด้าน ตะวันออกของที่ราบสูงโคราชซึ่งทรุดตัวลง ต่อมาน้ำทะเลได้ไหลเข้ามาจากด้านตะวันออก เกิดการสะสมตัวของเกลือหินสามชั้นสลับกับชั้น ดินเหนียวปนเกลือ

หลังจากนั้นน้ำทะเลเริ่มเหือดแห้ง จึงเกิดเป็นแอ่งสะสมตะกอนในสภาพของทะเลทราย ต่อมาในช่วงยุคเทอร์เชียรี (63-36 ล้านปี ที่แล้ว) เกิดแรงบีบอัดทำให้ชุดหินโคราชโค้งงอ และเทือกเขาเพชรบูรณ์มีการยกตัวมากขึ้น พร้อมกับการเริ่มยกตัวของเทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาภูพาน และการเคลื่อนตัวไปด้านซ้ายของรอยเลื่อนท่าแขก-เจียโปน จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเกลือหินตามระนาบชั้นหินลง สู่ใจกลางแอ่งทำให้เกิดโดมเกลือขนาดใหญ่บริเวณ อ.บรบือ-นาเชือก และ อ.วานรนิวาส จ.มหาสารคาม

และในช่วงของยุคควาเทอร์นารี (25-1 ล้านปีที่แล้ว) ใจกลางของแอ่งโคราช-อุบล จะทรุดตัวลงมากยิ่งขึ้น การคดโค้งของหินชุด โคราชและการทรุดตัวซึ่งมีมากกว่าในแอ่งโคราช-อุบล เป็นผลให้เกิดโดมเกลือและส่งอิทธิพลของเกลือต่อน้ำใต้ดิน

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ภาคอีสานจึงเป็นพื้นที่ดินเค็มเกือบทั้งสิ้น โดยประมาณว่าจากข้อมูลการภาคอีสานมีพื้นที่ดินเค็มและมี ศักยภาพที่จะเค็มอยู่ถึง 37.2 ล้านไร่ หรือ 35 % ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นดินที่ลุ่มที่เค็มจัด 1.5 ล้านไร่ เค็มปานกลางประมาณ 3.7 ล้านไร่ เค็มน้อยซึ่งสามารถใช้ในการเกษตรได้ 12.6 ล้านไร่ และเป็นดินที่จะมีศักยภาพที่จะเค็มได้ในที่ดอนอีก 19.4 ล้านไร่ ("เอิบ เขียวรื่นรมย์" , ลักษณะเด่นและปัญหาสภาวะแวดล้อมทางดินของอีสาน. มปป.)

 ลักษณะของดินเค็มที่สังเกตได้คือ จะเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดินและมักเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการทำการเกษตรกรรม หรือหากไม่ เห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดินก็จะเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีพืชอื่นขึ้นได้ ยกเว้นพืชที่ชอบเกลือและทนเค็ม เช่น หนามแดง และหนามปี เป็นต้น และความเค็มของดินจะไม่สม่ำเสมอกันในพื้นที่หนึ่งๆ และจะเปลี่ยนไปสะสมในชั้นดินต่างๆไม่เท่ากันตามฤดูกาล เช่น ในฤดูฝนเกลือ จะถูกชะล้างไปสะสมที่ชั้นล่างของดิน ส่วนในฤดูแล้งเกลือจะระเหยขึ้นมากับน้ำสะสมอยู่ที่ดินชั้นบนสลับกันไปอย่างนี้

และด้วยสาเหตุของการเป็นสารเคมีเกลือที่มีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีประกอบกับสามารถเปลี่ยนพื้นที่ไปสะสมใน ชั้นดินอื่นได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นตัวการหรือพาหะในการนำเกลือไปสะสมในที่ต่างๆที่น้ำไหลผ่านได้ ดังนั้นหากมีวิธีการจัดการดินและน้ำในพื้นที่ดินเค็มไม่ดีพอ หรือไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายดินเค็มอย่างรุนแรงได้

 ราษีไศล อ่างเก็บ"น้ำเค็ม"  

เหตุผลของการเกิดปัญหาการแพร่กระจายดินเค็มมีที่มาจากสองส่วนหลัก คือจากฝีมือของธรรมชาติ และจากน้ำมือมนุษย์เอง

สาเหตุจากธรรมชาติเป็นไปตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเอง เช่น การสลายตัวหรือผุพังทางเคมี แต่จากน้ำมือมนุษย์ นั้นมีอันตรายและความรุนแรงยิ่งกว่า ครึ่งหนึ่งของสาเหตุที่เกิดจากมนุษย์มาจากการสร้างอ่างเก็บน้ำบนดินเค็มและการใช้น้ำชลประทาน

จากการสำรวจโดยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศประกอบทั้งการตรวจวัดคุณภาพของน้ำตามแหล่งน้ำ โดยโครงการพัฒนาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งมีปัญหาในเรื่องของน้ำ ในอ่างเค็มและเกิดดินเค็ม และเขื่อนราษีไศลก็หลีกไม่พ้นความจริงข้อนี้

จากแผนที่การแพร่กระจายดินเค็มเฉพาะของจังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจัดทำโดยกองแผนที่และการพิมพ์ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวง เกษตรและสหกรณ์ พบว่าใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีบริเวณที่มีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร กรมพัฒนาที่ดินยัง ได้มีการคาดการณ์อีกว่าในอนาคตอาจมีการแพร่กระจายของน้ำและดินเค็มอย่างคาดไม่ถึง

                เป็นที่น่าสังเกตว่า  กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทราบถึงปัญหานี้ดี ดังปรากฏในรายงานการศึกษาความเหมาะสมงานศึกษาวาง แผนโครงการและออกแบบรายละเอียดระบบชลประทานของโครงการ ซึ่งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานว่าจ้างให้ บริษัท รีซอสส์  เอนจิเนียริ่ง  คอนซัลแตนทส์  จำกัด จัดทำขึ้นเมื่อปี 2537 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการกักเก็บน้ำจะทำให้การละลายของชั้นเกลือซึ่งทำให้เกิดความ เค็มของอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น และทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม แต่กรมทพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับละเลยไม่ใส่ใจ กับผลกระทบที่จะตามมา โดยรายงานเลี่ยงไประบุว่า  "การเกิดอ่างของโครงการราษีไศลคงจะมีปัญหาน้อยมากเพราะเก็บกักเฉพาะในลำน้ำ เดิม และในบริเวณดังกล่าวมีขบวนการชะล้างความเค็มของดินบริเวณใกล้ ๆ แม่น้ำมาเป็นเวลานานจนปัญหาลดลงมากแล้ว  ส่วนกรณีของ การยกระดับน้ำใต้ดินนั้น  ปัญหาของอ่างเก็บน้ำบนลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาของโครงการราษีไศลจะมีน้อยเช่นกัน  เพราะการกักเก็บน้ำไม่ ครอบคลุมพื้นที่นอกลำน้ำเดิมมากนัก  และบริเวณดังกล่าวมีปัญหาดินเค็มไม่มาก"

                ความจริงก็คือว่า รายงานนี้จัดทำขึ้นสำหรับการสร้างฝายและกักเก็บน้ำไม่เกินตลิ่งหรือสำหรับโครงการสร้างฝายที่เก็บกักน้ำไม่ เกินตลิ่ง  ในขณะที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสร้างเขื่อนคอนกรีตและทำให้เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำถึง 80 ตารางกิโลเมตร

                ผลจากการที่เขื่อนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลตั้งอยู่บนพื้นที่ดินเค็มนั้น ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มตามมา  เนื่องจากว่าการกัก เก็บน้ำทำให้มีการยกระดับน้ำใต้ดิน(Water table) สูงขึ้น และไปละลายเกลือออกมา ทำให้ความเค็มของน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น  ดังปรากฏ ว่าในปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีความเค็มจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรได้

                การยกระดับของน้ำใต้ดินยังทำให้พื้นที่รอบๆอ่างเก็บน้ำที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเกิดเกลือโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินอีกด้วย  ซึ่งปัญหานี้ได้ปรากฏชัดมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเกิดปัญหาเหล่านี้มาก่อน ดังปรากฏว่าชาวบ้านรอบอ่างพบว่าได้ปรากฏเกลือผุดขึ้นรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลในฤดูแล้งและปัญหานี้ก็ขยายวงมากขึ้นทุกขณะ

                ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่อยู่รอบอ่างเก็บน้ำเท่านั้นที่ประสบกับปัญหานี้ ปัจจุบันยังปรากฏว่าชาวบ้านที่อยู่ทางท้ายเขื่อนก็ประสบกับปัญหาดินเค็มเนื่องจากระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นและละลายเกลือขึ้นมาบนผิวดินจน กระทั่งพวกเขาไม่สามารถทำการเกษตรได้

                ปรากฏการณ์การขยายตัวของดินเค็มรอบอ่างเก็บน้ำนี้ยังได้รับการยืนยันจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล (2536) ที่พบว่า การสร้างเขื่อนและการกักเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลรวมทั้งการสร้างระบบชลประทาน  ได้นำมาซึ่งปัญหาดินเค็มในพื้นที่ 50 % ของพื้นที่ที่ได้สุ่มตัวอย่างจำนวน 509,800 ไร่ในเขตนี้ปกคลุมไปด้วยแผ่นเกลือและสรุปว่าปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล 

                การสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลยังชี้ให้เห็นว่าชาวบ้าน 17.5% ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา ดินเค็มก่อนการสร้างเขื่อน  ขณะที่ในปัจจุบันชาวบ้านประมาณ 58.75% กำลังประสบกับปัญหานี้

                ปัญหาความเค็มของน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลยังเกิดจากการที่เกลือในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำถูกชะล้างไหลลงมาตามลำ ห้วยสาขาของแม่น้ำมูลสะสมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล แต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานละเลยปัญหานี้อย่างสิ้นเชิง 

                สำหรับคนในท้องถิ่นแล้ว  พวกเขารู้กันมาหลายชั่วอายุคนแล้วว่าแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำมูลบริเวณนี้ เช่น ลำน้ำเสียว และห้วย คลองน้ำใส เป็นต้น มีปริมาณความเค็มจนไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ ปกติแล้วน้ำเค็มจากห้วยที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลดังที่กล่าว มานั้น เมื่อไหลลงแม่น้ำมูลก็จะถูกและผสมกับน้ำในแม่น้ำมูลและลดความเค็มลง และประโยชน์ของมันก็คือการเป็นธาตุอาหารสำหรับปลา และเป็นตัวกระตุ้นให้ปลาอพยพมาจากแม่น้ำโขง แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนน้ำเหล่านี้ก็ถูกสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำโดยปริยาย 

               เขื่อนราษีไศลจึงเปรียบเสมือนปราการกักเกลือที่ไหลลงมาจากที่แอ่งมหาสารคามมาสะสมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลนั่น เอง       

ระบบชลประทานของเขื่อนราษีไศล:  หายนะของคนอีสาน

                กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้อ้างเหตุผลในการสร้างเขื่อนราษีไศลว่า เพื่อเป็นการนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้ง  แต่ผลประโยชน์นี้ก็ จะต้องแลกด้วยต้นทุนราคาแพงมหาศาล  นั่นก็คือ แทนที่ระบบชลประทานนี้จะนำมาซึ่งความผาสุขและความอยู่ดีกินดีของพี่น้องในพื้นที่ ชลประทาน ตรงกันข้ามพี่น้องกลับจะต้องเผชิญกับหายนะแทนอันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของดินเค็ม  ทั้งนี้ก็เพราะว่า

ประการแรก ผลจากการสร้างคลองหรือถนนตัดแนวลำน้ำธรรมชาติในบริเวณโครงการ จะทำให้เกิดการละลายของเกลือทางด้าน บนของคลองและด้านล่างของถนน เนื่องจากคลองและถนนเหล่านี้กีดกั้นการระบายน้ำของทางน้ำปกติ ดังนั้นเมื่อมีการชะล้างดินเค็มใน ช่วงฤดูฝนและปลายฤดูฝน ความเค็มของน้ำในทางระบายและทางสายน้ำหลากจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ

ประการที่สอง ในบริเวณพื้นที่ชลประทานที่มีดินเค็ม เมื่อมีการใช้น้ำชลประทานเต็มที่ บริเวณดินเค็มผิวดินจะจางลงเพราะการเจือ จาง แต่จะเกิดดินเค็มแพร่ออกด้านข้างแทน ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดความเสียหายกับพื้นที่ข้างเคียงที่มีความเค็มของดินน้อย หรือไม่มี ความเค็มอยู่ก่อน หรือหากมีการใช้น้ำชลประทานแบบส่งน้ำไปตามคลองย่อย เกลือจากชั้นล่างจะขึ้นมาที่ผิวดิน เกิดปัญหาการแพร่กระจาย ของเกลือออกไปอีก

ประการที่สาม หากเกิดการรั่วซึมของน้ำจากอาคารบังคับน้ำ คลองส่งน้ำและคลองชลประทานจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจาย ของเกลือ ซึ่งมาจากน้ำที่ซึมจากคลองละลายเกลือ และอาจทำให้น้ำในคลองส่งน้ำมีปริมาณคลอไรด์สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการเพาะปลูก

ผลจากการที่ดินมีความเค็มมากๆยังจะนำไปสู่การกัดกร่อนผิวคอนกรีตที่ใช้ดาดคลอง จนทำให้ค่าบำรุงรักษาคลองสูงกว่าปกติ

สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม  ได้ตระหนักถึงปัญหาดินเค็มที่จะเกิดจากระบบชลประทานดังที่กล่าวมาแล้วเป็นอย่างดีจนถึง ขั้นมีมติให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสิ่งแวดล้อมระงับการก่อสร้างระบบชลประทานไว้ก่อน  แต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กลับละเมิดมตินี้โดยเดินหน้าทำการก่อสร้างระบบชลประทาน ต่อไปจนใกล้จะเสร็จ  อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านเตรียมใช้น้ำจาก ระบบชลประทานหายนะนี้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ระบุว่า พื้นที่ชลประทานเขื่อนราษีไศลมีประมาณ 288,000 ไร่  ประกอบ ด้วยพื้นที่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำมูลครอบคลุมพื้นที่อำเภอราษีไศล  บึงบูรณ์  และเมืองศรีษะเกษ  ประมาณ 78,000 ไร่  และพื้นที่ทางฝั่งซ้าย ของแม่น้ำมูลครอบคลุมพื้นที่อำเภอราษีไศล  ยางชุมน้อย  จังหวัดศรีษะเกษ  บางส่วนของอำเภอค้อวัง  จังหวัดยโสธร  และพื้นที่อำเภอ เขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี 

                นี่คือพื้นที่ที่รอหายนะมาเยือนเมื่อระบบชลประทานในโครงการเขื่อนราษีไศลถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ 

                ปัญหาดินเค็มที่เกิดจากเขื่อนราษีไศลมิได้เป็นเพียงแค่การสะท้อนถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ของนักสร้างเขื่อนที่มิได้ทำตาม กฎหมายเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลเค็มและปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มยังเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นถึง หายนะภัยที่มาพร้อมกับโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล  โครงการผันน้ำขนาดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

                หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ก็คือ รื้อเขื่อนราษีไศลทิ้งและยกเลิกโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล !!!

รู้จักเขื่อนราษีไศล

โครงการเขื่อนราษีไศลเป็นหนึ่งใน 22 เขื่อนของโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล  โครงการผันน้ำขนาดยักษ์ในเขตลุ่มน้ำโขงทางภาค อีสานของไทยภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  เพื่อทำการผันน้ำจากแม่น้ำโขง  ชี  และมูลใช้แก้ปัญหาการขาด แคลนน้ำในพื้นที่ 4.98 ล้านไร่ในภาคอีสาน  โครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณถึง 228,000 ล้านบาท  และดำเนินการก่อสร้างนานถึง 42 ปี

เช่นเดียวกับเขื่อนอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในภาคอีสานที่ถูกผลักดันมาจากบรรดาบรรษัทสร้างเขื่อนจากตะวันตก  เขื่อนราษีไศล โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมและพลังงาน ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ตอนล่าง(Mekong Scretariat) ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในชื่อ Development of the Lower Mun Basin Feasibility Study ที่ดำเนินการโดยบริษัท Nedeco รายงานการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2525 จากรายงานสรุปได้ว่าการพัฒนาลุ่มน้ำมูลตอนล่าง สมควรที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำบนลำน้ำมูล 3 แห่ง คือที่ อ.สตึก จ.สุรินทร์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และอ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ โดยจะมีการก่อ สร้างประตูระบายน้ำและกักเก็บน้ำที่ อ.ราษีไศล ก่อน

ต่อมากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานเบื้องต้นโครงการโขง-ชี-มูล แล้วเสร็จเมื่อปี 2530 โดยจะ ผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงยังน้ำพองและลำปาวเพื่อปล่อยลงแม่น้ำชี และจากแม่น้ำชีมีคลองผันน้ำข้ามลุ่มน้ำลงไปยังลุ่มน้ำมูลรวม 4 สาย โดยทำการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำรวม 4 เขื่อน เพื่อสูบน้ำเข้าคลองผันน้ำและส่งไปยังลำน้ำมูล

โครงการราษีไศลจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล หน้าที่หลักคือการกักเก็บน้ำในลำน้ำมูลไว้ใช้ใน การเกษตร อุปโภคบริโภค รวมทั้งทำหน้าที่รับและควบคุมน้ำซึ่งจะส่งมาจากแม่น้ำโขง เพื่อส่งไปยังโครงการย่อยอื่นๆต่อไป

ปี พ.ศ. 2532 ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีดำเนินการภายใน 3 ปี โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านปากห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ เป็นฝายยางเก็บน้ำไม่เกินตลิ่ง ตั้งงบประมาณในการก่อสร้าง 140.97 ล้านบาท แต่การก่อสร้างจริงในปี 2535-2536 กลับสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก งบประมาณบานปลายไปถึง 871.9 ล้านบาท มากกว่าราคาประเมินครั้งแรกถึง 6 เท่า

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา