eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

บทความชุด หมายเหตุราษีไศล ตอนที่ 4

ผู้เดือดร้อน 17,000 คน-ทับซ้อน-อยู่นอกอ่าง-ไม่ทำประโยชน์

วิธีการ = วิธีกล = วิธีโกง

โดยสนั่น  ชูสกุล

             การเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาวบ้านเขื่อนราษีไศลในปัจจุบัน มีความระส่ำระสายเหมือน สมัยไทยเสียกรุงให้แก่พม่าทีเดียว เพราะผู้เดือดร้อนแตกออกเป็น 6-7 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีมวลชน 400 , 500 , 2,000 , 3,000 , 10,000 คน ทั้งที่ชุมนุมยืดเยื้ออยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นปีบ้าง หกเดือนบ้าง บางกลุ่มเคลื่อนไหวเกาะเกี่ยวกับหน่วยราชการ บางกลุ่มรอความหวังลมๆ แล้งๆ อยู่กับบ้าน และกลุ่มหนึ่งชุมนุมสร้างหมู่บ้านยึดหัวงานเขื่อนมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2542

            ทุกกลุ่มรู้ดีว่างานนี้ยากเสียเหลือเกินที่รัฐบาลนี้จะยอมจ่ายค่าชดเชยให้ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาเรื่อง และกล่าวโจมตีกลุ่มสมัชชาคนจนซึ่งรับค่าชดเชยไปแล้วว่าทุจริต ถึงขั้นจับนักการเมืองฝ่ายค้าน แกนนำสมัชชาคนจน จับแม้กระทั่งหมอผี ประจำม็อบและจับผู้นำองค์กรประชาธิปไตย ยิ่งข่าวและเหตุการณ์นี้ถูกขับเน้นให้มีสีสันมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งลดความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะ ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่กลุ่มที่เหลือลงไปเท่านั้น

            ถึงแม้การผลักดันของชาวบ้านจะดุเดือดขึ้น จนหน่วยราชการและรัฐบาลต้องแสดงอย่าง "เสียไม่ได้" ว่ากำลังดำเนินการให้มีความคืบ หน้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสอบสวนสิทธิ์ผู้เดือดร้อนด้วยขบวนการที่ซับซ้อน(และซ่อนเงื่อน )

            แต่เมื่อถึงขั้นหนึ่ง หลักการแก้ปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 รอที่จะสังหารความหวังของพวก เขาอยู่เบื้องหน้า กล่าวคือ มติ ครม. 21 เมษายน "จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยซ้ำซ้อนย้อนหลัง แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้าง เสร็จแล้ว"

            เมื่อถึงขั้นนั้น ยากที่จะพยากรณ์จริงๆ ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะมวลชนหมื่นกว่าคนได้ลงทุนลงแรงในการต่อสู้วัดใจกับ รัฐบาลมาเป็นแรมปี เดินขบวนหลายยก ชุมนุมครั้งละ 5-6 เดือน บางกลุ่มถึงหนึ่งปี หมดเนื้อหมดตัวถึงขนาด "เอาใบนาไปไว้บ้านเจ๊ก" แล้วก็มีไม่น้อย

            เมื่อถึงขั้นนั้น คำพูดของผู้เดือดร้อนหลายคนที่เคยได้ยินมาอาจเป็นเรื่องน่าคิดขึ้นมา เขาพูดว่า "ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาให้เราไม่ได้ ให้เอาเขื่อนออก เอาที่ทำกินเราคืนมา" ประสานกับกระแสอนุรักษ์ระดับโลกที่ชูคำขวัญ "ปล่อยแม่น้ำให้ไหลอิสระ...ฟรี เดอะ ริเวอร์"

            ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับชาวราษีไศลชวนให้เราคิดอย่างนั้นจริงๆ

             ยิ่งเห็นกระบวนการแก้ปัญหาที่รัฐบาลนี้ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ผนึกกำลังนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์อย่างนาย พรเทพ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังผลักดันอยู่ขณะนี้ ก็ยิ่งเศร้าใจแทนชาวบ้าน เราจะดูกันทีละประเด็น

             1.  จำนวนผู้ร้องเรียน ทำไมมีมากถึง 17,000 คน

            นายพรเทพ  เตชะไพบูลย์ แถลงเมื่อ 15 ธันวาคม 2541 ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า มีผู้เดือดร้อนที่เหลือทั้งหมด 15,392 ราย(จาก 4 กลุ่ม) และแถลงอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ว่า มี 17,391 ราย คือ กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกยอ-1) 2,104 ราย,กลุ่ม สมัชชาเกษตรกรอีสาน(สกอ.) 582 ราย,สมัชชาลุ่มน้ำมูล(สลม.) 407 ราย,และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านมีมากถึง 14,398 ราย รวมเนื้อที่ที่ร้องว่าได้ รับผลกระทบ 140,000 ไร่

            ทำไมรายชื่อผู้เดือดร้อนจึงมากมายมหาศาลถึงเพียงนั้น

            คำตอบที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ซึ่งคนพื้นที่รู้เรื่องนี้ดีก็คือ กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งทางราชการเป็นผู้นำพาจัดตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์เบื้อง แรกเพื่อต่อต้านสมัชชาคนจนนั้น ส่วนมากเอาคนนอกพื้นที่มาลงชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ตรวจสอบไม่ยากเลย แต่นายพรเทพและคนในรัฐบาลให้ สัมภาษณ์โดยใช้ตัวเลขนี้มาปีกว่าแล้ว ไม่เคยแสดงข้อมูลรายละเอียดมากไปกว่าตัวเลข 2 ตัวนี้เลย

            การพูดถึงตัวเลขนี้ก็เพื่อหวังผลที่แน่นอนคือทำลายความชอบธรรมของคนทุกกลุ่มว่า "มันเรียกร้องเกินไปจริงๆ"

            คำตอบประการต่อมาก็คือ รัฐบาลใช้วิธีที่ ใครมาชี้ที่ดินแปลงไหนก็สั่งให้ "ส่องกล้อง" แล้วลงรูปแปลงในแผนที่ให้ทุกคน โดยไม่ ผ่านการตรวจสอบหรือการไต่สวนคัดค้านแต่อย่างใด

            ที่ดินแปลงเดียวกัน คนกลุ่มหนึ่งเคยลงไปชี้แล้วเสร็จ ขณะที่พวกเขาไปชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล อยู่ข้างหลังกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ พาคนอื่นๆ ลงไปชี้เอาอีก

            นี่คือวิธีที่รัฐบาลใช้อยู่ วิธีที่อ้างว่าดีที่สุดแล้ว

            รูปแปลงที่ปรากฏบนแผนที่จึงปรากฏมีรูปแปลงที่ทับซ้อนกันวุ่นวาย บางแปลงมีคนแจ้งเป็นกรรมสิทธิ์ถึง 5-10 คน

            แล้วในที่สุดคนเหล่านั้นจะหันกลับมาทะเลาะกันเอง ไม่ต้องไปทะเลาะกับรัฐบาล

            รัฐบาลก็จะนั่งบนภูดูหมูกัดกัน แล้วชี้ลงมาพร้อมป่าวประกาศว่า "พวกนี้แจ้งเท็จ แจ้งเกินจริง"  

            2. กรณีทับซ้อนเกิดขึ้นโดยรัฐบาลจงใจทำ

            นายพรเทพแถลงอีกครั้งในวันที่ 22 เมษายน 2542 ว่า ในบรรดาผู้เดือดร้อน 17,391 คนนั้นมีเพียง 824 รายเท่านั้นที่ไม่มีปัญหาการทับ ซ้อน นั่นแสดงว่า ที่ตรวจสอบแล้วมีปัญหาแปลงที่ดินที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง 16,567 ราย อันจะหมายถึงพวกแจ้งเท็จแจ้งเกินนั่นเอง

            กรณีแปลงที่ดินทับซ้อนจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าการตรวจสอบสิทธิ์ในที่ดินของผู้เดือดร้อนเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพราะที่ดินตรง นั้นเป็นของใครก็ย่อมเป็นของคนนั้น มีวัฒนธรรมชุมชนรับรองสิทธิ์ในที่ดินของบุคคลมาตามจารีตประเพณี แม้ที่ดินจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ตาม

            เพียงแต่มีกระบวนการที่ให้ผู้แจ้งทุกคนมาไต่สวนพิสูจน์กันพร้อมหน้าพร้อมตากันก็แก้ปัญหาได้แล้ว

            ซึ่งกระบวนการที่เรียกว่า " 5 ขั้นตอน"  ที่ใช้ตรวจสอบผู้เดือดร้อนกลุ่มสมัชชาคนจนมีหลักประกันอยู่แล้วที่จะไม่ให้มีปัญหาแปลง ที่ดินทับซ้อน กล่าวคือ ขั้นที่ 1 ราษฎรยื่นคำร้อง ขั้น 2 อนุกรรมการสอบสวนโดยใช้แบบสอบสวนสิทธิ์อิงแบบของ สปก.จนได้ข้อมูลประวัติ, การทำกิน,การได้มา ฯลฯ ขั้น 3 เอาข้อมูลจากขั้น 2 มาปูลงแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศกรมที่ดินเพื่อป้องกันการทับซ้อน ขั้น 4 ให้พยานบุคคล รับรอง(คือผู้มีแปลงที่ดินทั้ง 4 ทิศและกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือผู้อาวุโส) ขั้นที่ 5 จึงมีการนำผลการสอบสวนประกาศ 30 วัน เพื่อให้มีการคัดค้าน (ตามกฎหมายที่ดิน)

            ในขั้นตอนที่ 3 ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าลงรูปแปลงเพื่อ "ป้องกันการทับซ้อน" เมื่อดำเนินการแล้ว ยังปรากฏมีแปลงที่ดินทับซ้อนกันอยู่ ก็แปลว่าการตรวจสอบยังใช้ไม่ได้

 

            3. การระบุว่าที่ดินของราษฎรอยู่นอกอ่างเก็บน้ำ จับเท็จคาหนังคาเขา

            เมื่อประมาณต้นปี 2541 นี่เองที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ขีดเส้นขอบเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลลงในภาพถ่ายทางอากาศ แล้วจำแนกรูปแปลงที่ดินที่ราษฎรแจ้งไว้ออกเป็นที่ดินที่อยู่ "ในอ่าง" กับ "นอกอ่าง"

            ขั้นตอนนี้ปรากฏแปลงที่ดินของราษฎร 80% อยู่นอกอ่างเก็บน้ำทันที

            แปลว่าพวกนี้ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ

            เรื่องนี้แสดงความขี้โกงซึ่งหน้าของหน่วยงานรับผิดชอบ

            ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ  ก่อนการก่อสร้าง เขื่อนราษีไศลไม่เคยรู้มาก่อนว่าขอบเขตอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอยู่ตรงไหน

            ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งมีการเริ่มเก็บกักน้ำ หัวหน้าเขื่อนราษีไศลบอกกับแขกทุกชุดที่เข้าเยี่ยมชมเขื่อนว่า "เรากำลังกักเก็บน้ำเพื่อดูผล กระทบ"

            เกี่ยวกับพื้นที่จริงของอ่างเก็บน้ำ ทางกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานมีการกล่าวเท็จและตกแต่งตัวเลขมาตลอด ในเอกสารเผย แพร่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 ระบุพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 20 ตารางกิโลเมตร(12,500 ไร่) ในเอกสารเล่มที่แจกวันเปิดเขื่อน 30 มิถุนายน 2537 ไม่ได้ ระบุพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ในการประชุมเจรจากันระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจนเดือนกุมภาพันธ์ 2540 หลายรอบ เมื่อถามพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เจ้าหน้าที่ทุกระดับของกรมตอบไม่ได้ แต่ต่อมาให้ข้อมูลเมื่อต้นปี 2541 ว่า พื้นที่อ่างเท่ากับ 38,781 ไร่ ซึ่งจากการสำรวจภาคสนามและดูแผน ที่ตามแผนการก่อสร้างเดิมของเขื่อน พื้นที่อ่างมีไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร เป็น 4 เท่าของเอกสารเดือนกุมภาพันธ์ 2537

            การกำหนดขอบเขตอ่างของเขื่อนราษีไศลทำขึ้นหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว 5 ปี ใช้ 2 วิธีคือ

                        1. เก็บกักน้ำถึงระดับสูงสุด(119 ม.รทก.) แล้วนั่งเรือดูว่า น้ำท่วมถึงไหน วิธีนี้เป็นวิธีที่เด็ก ป.4 ก็ทำได้ และเป็นวิธีที่โหดร้าย คือ ใช้ชาวบ้านเป็นหนูทดลองยา โดย 5 ปี ที่ชาวบ้านเดือดร้อน ทางเขื่อนไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ

                        ที่ใช้ไม่ได้และถ้าดื้อใช้ก็ถือเป็นวิธีการที่โคตรโกงก็คือ การกักเก็บน้ำดัง กล่าวกระทำในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูแล้ง น้ำนิ่งสนิทแล้ว ไม่มีแรงอัดเอ่อเหมือน ฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูลจนทำกินไม่ได้ทุกปี

                        2. ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ในการขีดเส้น อ่างเก็บน้ำ วันดังกล่าวยังไม่มีการสร้างเขื่อน และ ในวันดังกล่าวเป็นฤดูน้ำลงแล้ว พื้นที่ที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเป็นผืนน้ำก็ถือว่าเป็น "ในอ่าง" ส่วนพื้นที่ที่มีดินโผล่ก็จะเป็น "นอกอ่าง" ทั้งที่ในปัจจุบันพื้นที่จริงตรงนั้นจะถูกน้ำท่วมถาวรก็ตาม

            4. การแปลการทำประโยชน์ในที่ดิน บนภาพถ่ายทางอากาศทำในห้องแล๊ปเพื่อแปล "ป่าทาม" ที่คนแปลไม่รู้จัก

            รูปแปลงที่ดินที่ปรากฏทับซ้อนวุ่นวายสุดๆ แล้วนั้น ต่อมาก็จะถูกเส้นขอบอ่างจอมปลอมกันออกไป 80% หลุดกรอบหมดสิทธิ์ไปโดย สิ้นเชิง

            แล้วถัดจากนั้นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานก็ส่งภาพถ่ายไปให้กรมพัฒนาที่ดินทำการดูด้วยกล้องขยายเพื่อจำแนกว่า แปลงที่ดินที่ อยู่ในอ่าง ราษฎร "ทำประโยชน์จริง" เป็นเนื้อที่เท่าไหร่ ช่างแผนที่กรมพัฒนาที่ดินก็จะจำแนกพื้นที่แต่ละแปลงออกเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำที่คนสร้างขึ้น ทุ่งหญ้า พุ่มไม้ หาดทราย พื้นที่เหล่านี้จะถูกกันออกไปทันทีเพราะถือว่า "ไม่ได้ทำประโยชน์"

            เหลือพื้นที่ทำนาและพืชไร่ประมาณไม่ถึง 10% ของพื้นที่ที่อยู่ในอ่าง

            ที่ดินที่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ครอบครองและทำประโยชน์ตามระบบธรรมชาติที่หลากหลายในพื้นที่บุ่ง-ทาม เป็นพื้นที่ 5-10 หรือประมาณ 20-30 ไร่ จะถูกลดเหลือ 0 ไร่ 1 งาน/2-3 งาน ทันที

            วิธีการวิธีกลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทางราชการทำเอง โดยไม่มีการมีส่วนร่วมใดๆ จากกลุ่มชาวบ้าน ไม่มีคณะกรรมการชุดใด ๆได้รับรู้ด้วย

            วัฒนธรรมการทำกินด้วยระบบการผลิตอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับวัฏจักรของธรรมชาติในพื้นที่บุ่ง-ทามริมฝั่งแม่น้ำ ชุมชนได้ลองผิดลองถูก สั่งสมสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทำกินมาตามจารีตประเพณีอันสงบสันติ ผลการส่องกล้องขยายลงบนภาพถ่ายทางอากาศวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้บดขยี้คุณค่าของกลุ่มชนแห่งลำน้ำมูลให้แหลกสลายลงไป พร้อมกับความร้าวรานใจฝังลึก

            แต่วันนี้พวกเขาผ่านการเรียนรู้อะไรมากพอที่จะไม่ยอมรับการกดขี่อันสามานย์อีกต่อไป

            ผู้คนหลั่งไหลกันไปชุมนุมยึดเขื่อนราษีไศลจาก  20 เมษายน และยืดเยื้อถึงปัจจุบัน

            กับอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังพากันลงไปยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในขณะนี้

            กลุ่มอื่นๆ ก็กำลังหมดความอดทนเช่นกัน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา