eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แผนพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Greater Mekong Subregion-GMS [1]  

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย-เอดีบีได้เสนอแผนพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรือ GMS แก่รัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง๖ ประเทศ (กัมพูชาแคว้นยูนานของประเทศจีนลาว พม่าเวียดนาม และ ไทย) เมื่อปี๒๕๓๕ และแผนนี้ได้มีแนวทางดำเนินการเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดย เอดีบีได้จัดทำเป็นแผนพัฒนาเพื่อใช้ในการประชุมรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และนำมาซึ่งความมั่งคั่งและปราศจากความยากจนในภูมิภาคอีกต่อไป โดยเน้นที่การพัฒนาการขนส่งและเส้นทางเศรษฐกิจ (economic corridor), การสื่อสาร, การแลกเปลี่ยนพลังงาน, การค้าข้ามพรมแดน, การจัดการการลงทุน, ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

แผนพัฒนานี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าประเทศในภูมิภาคนี้กำลังก้าวเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้นบางประเทศพัฒนาไปอย่างมากแต่อีกหลาย ประเทศก็ยังยากจนและพึ่งพากับเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเองดังนั้นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ควรขายให้แก่ประเทศที่ต้องการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

โครงการหลักของ GMS

เนื่องจากการค้าข้ามพรมแดนต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนโครงการดังต่อไปนี้จึงมีความสำคัญ

เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ The North-South Economic Corridor

เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก The East-West Economic Corridor

เส้นทางเศรษฐกิจด้านใต้ The Southern Economic Corridor

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพในการขนย้ายสินค้าและประชาชนในภูมิภาคโดยไม่มีอุปสรรค (ดูแผนที่แนบ)

                โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ  ICT

การเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคและการค้า

โดยให้เหตุผลว่าบางประเทศมีพลังงานเหลือหรือมีศักยภาพในการผลิตพลังงานได้มากในขณะ ที่ประเทศอื่นขาดแคลนพลังงานเป็นการเชื่อมต่อพลังงานเพื่อให้มีความมั่นคงและมีราคาถูกลง

                อำนวยความสะดวกแก่การค้าข้ามพรมแดนและการลงทุน

มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค , สร้างบรรยากาศในการลงทุนให้นักลงทุนทั้งในและนอกภูมิภาค

                ขยายการมีส่วนร่วมและการแข่งขันของภาคเอกชนเพื่อให้ธุรกิจภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะ

                โครงงานยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม

                การควบคุมน้ำท่วมและการแก้ไขปัญหา

                การพัฒนาการท่องเที่ยว

แผนพัฒนาเหล่านี้นอกจากเน้นที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังรวมถึงการแก้ไขนโยบายและกฎระเบียบต่างๆของประเทศสมาชิกเพื่อให้การค้าข้ามพรมแดน เหล่านี้เป็นไปได้อย่างสะดวกเช่นขั้นตอนศุลกากรแบบขั้นตอนเดียว  

โครงการหลักๆ ที่ควรให้ความสนใจ

เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก The East-West Economic Corridor

ส่วนมากเป็นโครงการการพัฒนาการขนส่งเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันประเทศพม่าทะลุผ่านประเทศไทย ออกทะเลจีนใต้ในเวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อกับนอกภูมิภาค โดยเฉพาะญี่ปุ่น โดยมีโครงการหลักๆ เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่มะละแหม่ง , ถนนในประเทศพม่า มะละแหม่ง-เมียวดี

รวมถึงเขตอุตสาหกรรมพิเศษที่อ.แม่สอด ซึ่งรัฐบาลไทยวางแผนไว้ว่าจะพิจารณาในปี 2546-2547

เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ The North-South Economic Corridor

แทบทั้งหมดเป็นโครงการเกี่ยวกับการขนส่ง เช่น ปรับปรุงถนนเชื่อมคุนหมิง-ผ่านพม่า-เข้าเชียงราย,โครงการปรับปรุงการเดินเรือแม่น้ำโขงเพื่อการพาณิชย์ (ระเบิดแก่ง)

รวมถึงการเชื่อมส่งพลังงาน เช่น

1)      สายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์ 1 สาย จาก นาบอน ประเทศลาว-อุดร

2)      สายส่งขนาด 500 กิโลวัตต์ 2 สาย จากเขื่อนท่าซาง-แม่เมาะ-ท่าตะโก

3)      การเชื่อมต่อระหว่างเขื่อนจิงหง ในแคว้นยูนาน-ประเทศไทย

การเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคและการค้า

เน้นที่การใช้พลังงานน้ำจากเขื่อนและก๊าซธรรมชาติ เพราะใหเหตุผลว่าไม่ก่อปรากฎการณ์เรือนกระจก เป็นการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคและสร้างตลาดพลังงาน/ระบบซื้อขายพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน-IPP เข้ามามีส่วนร่วมด้วย และโครงการที่สำคัญที่สุดคือโครงการเขื่อนจิงหง เพื่อส่งพลังงานมาประเทศไทย และเขื่อนท่าซางที่ส่งพลังงานมาประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ในแผนงานยังระบุว่า “โครงการเหล่านี้ยังไม่รวมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆที่อาจเป็นไปได้ในลุ่มน้ำอื่นในภูมิภาคนี้ เช่น เขื่อนแม่น้ำสาละวิน”

ข้อสังเกต

จะเห็นได้ว่า GMS เป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยดึงทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวเพื่อขายให้แก่ประเทศไทย หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพม่า เช่น ถนน และเขื่อน ทั้งนี้เพื่อดูดทรัพยากรเหล่านั้นให้เปลี่ยนเป็นตัวเงิน โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่เน้นที่ประเทศอื่นๆนอกจากประเทศไทย เนื่องจาก “ประเทศไทยผ่านขั้นตอนพัฒนาเหล่านี้มาแล้ว” (คำกล่าวของประธานจีเอ็มเอส ของเอดีบี ที่กล่าวกับชาวบ้านและเอนจีโอในที่ประชุมเมื่อปี 2545)

และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค (hub) เพราะอาจจะไม่มีทรัพยากรเหลือให้แปรเป็นเงินอีกแล้ว

แผนพัฒนานี้มองว่าทรัพยากรเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้เพื่อก่อความมั่งคั่งแก่ภูมิภาค และเชื่อมต่อการค้ากับประเทศอื่นนอกภูมิภาค โดยจะเห็นว่ามีการสร้างถนนมากมายเพื่อขนส่งสินค้าออกสู่ทะเล เพื่อดึงทรัพยากรมาใช้ให้มากที่สุด

แม้จะมีแผนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่อ้างว่าเพื่อช่วยจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ก็เป็นไปเพื่อพาณิชย์ เช่น โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทะเลสาบเขมร ที่ส่งเสริมให้รัฐเข้าไปควบคุมการจัดการทรัพยากรประมงของชุมชนในทะเลสาบเขมร

อย่างไรก็ตาม เอดีบีกล่าวว่านี่คือแผนพัฒนาร่วมกันของ 6 ประเทศ และเอดีบีเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่สามารถรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นได้

หลังจากการประชุมรัฐมนตรีฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ ที่พนมเปญ ซึ่งมีการลงนามข้อตกลงในการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน จะเห็นว่าโครงการต่างๆในภูมิภาคเริ่มดำเนินการมากมายหลังจากนั้น


 [1] ถอดความจาก Development Matrix, September 2002

เอกสารสำหรับการประชุมรัฐมาตรีประเทศลุ่มน้ำโขงที่พนมเปญ พฤศจิกายน 2545 เตรียมโดย เอดีบี

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา