eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ”

สุมาตร ภูลายยาว  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์     ๗ มกราคม ๒๕๕๑

บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก

ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคม

นอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจ

ว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’

อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้

เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่อง

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะ ผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง

ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน

เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไป

บทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา

เขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน

วันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง

แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

แม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา