eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงในยุคโลกาภิวัฒน์

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มิถุนายน ๒๕๔๗

๑.ชุมชนในลุ่มน้ำโขงกับการจัดการทรัพยากร

ชุมชนในเขตลุ่มน้ำโขงสามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน กลุ่มแรก เป็นกลุ่มพึ่งพาที่ดิน (Land-based community) ในอีสานของไทยจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนบ้านโคก” (upland community)กลุ่มที่สองคือกลุ่มพึ่งพาแม่น้ำ (River-based community) หรือที่เรียกว่า “คนบ้านน้ำ” หรือ “คนริมน้ำ”

ทั้งสองกลุ่มจะสัมพันธ์กันบนระบบการแลกเปลี่ยนผลผลิตโดยเฉพาะข้าวแลกปลา-ปลาแลกข้าว เนื่องจากคนบ้านโคกส่วนใหญ่ผลิตข้าว ส่วนคนบ้านน้ำจะหาปลารวมทั้งแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาแดก ความสัมพันธ์ของชุมชนทั้งสองกลุ่มในลักษณะนี้พบทั่วไปในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยเช่น น้ำสงคราม น้ำชี น้ำมูน ลงไปจนถึงทะเลสาบเขมร

การแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างสองกลุ่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เรียกว่า “เสี่ยวเหยเกยฮัก” ที่กินความหมายตั้งแต่ “หมู่พวก” “พ่อฮัก/แม่ฮัก-ลูกฮัก” ไปจนถึง “เสี่ยว” นอกเหนือจากความสัมพันธ์แบบเครือญาติิ และทำให้ทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงกระจายไปตามระบบความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและ ความมั่นคงทางอาหารแม้ว่าชุมชนนั้นไม่สามารถผลิตหรือเข้าถึงทรัพยากรบางประเภทได้ก็ตาม และทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบศีลธรรม (Moral economy) ที่ปัจจุบันยังคงมีการสืบทอดปฏิบัติกันในหลายพื้นที่

        ความรู้ ระบบกรรมสิทธิ์ และการจัดการทรัพยากรของชุมชน

บทความนี้จะมุ่งพิจารณาความรู้ ระบบกรรมสิทธิ์และการจัดการทรัพยากรของชุมชนในลุ่มน้ำโขงโดยเน้นไปที่กลุ่มชุมชนริมน้ำ

สำหรับชุมชนริมน้ำแล้ว แหล่งหาปลาเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากที่สุดในการเลือกที่ตั้งชุมชน ชุมชนริมน้ำจึงมักตั้งใกล้กับแหล่งหาปลาที่มีปลาชุกชุมหรือแหล่งที่สามารถใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านได้ อย่างไรก็ตาม การหาปลาในหลายพื้นที่ก็ไม่ได้เจาะจงเฉพาะแหล่งหาปลาในชุมชนเท่านั้น แต่คนหาปลาจะรวมกลุ่มกันเดินทางไปหาปลาในแม่น้ำที่ห่างออกไปจากชุมชน บางครั้งอาจเดินทางไปหาปลาเป็นแรมเดือนโดยตั้งเพิงพักอาศัยตามเกาะแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขงหรือน้ำสาขา

คนหาปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสานของไทยจะเรียกพื้นที่ในการหาปลาว่า “ลวง” ส่วนแม่น้ำโขงแถบพรมแดนไทยกับลาวทางตอนบนเรียกว่า “ลั้ง”

“ลวง” หรือ “ลั้ง” หมายถึงพื้นที่ในแม่น้ำที่ช่วงเวลาหนึ่งมีการบรรจบกันระหว่างปลาและระบบนิเวศน์ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้เครื่องมือหา ปลาพื้นบ้านชนิดใดชนิดหนึ่ง “ลวง” หรือ “ลั้ง” จะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์และชนิดปลาตลอดเวลาหมุนเวียนกันไปในรอบปี ทำให้คนหาปลาต้องเปลี่ยนเครื่องมือให้เหมาะสมกับฤดูกาลและชนิดปลา ทำให้ชุมชนคนหาปลาในลุ่มน้ำโขงมีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่หลากหลาย

“ลวง” หรือ “ลั้ง” มีความสลับซับซ้อนของระบบกรรมสิทธิ์และการจัดการซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าใครบ้างมีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรหรือมีสิทธิ์ลงหาปลา รวมทั้งการที่ต้องดูแลรักษา คือมีทั้งพื้นที่ที่หาปลาที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม(common property) และพื้นที่หาปลาที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) และกรรมสิทธิ์เฉพาะหมู่เครือญาติ

“ลวง” หรือ “ลั้ง” ที่เป็นของส่วนรวม ส่วนใหญ่เป็น “ลวงไหลมอง” ซึ่งพบได้ตลอดลำน้ำโขงและน้ำสาขาขนาดใหญ่ ส่วนลวงที่เป็นของเครือญาติก็เช่น “ฮอง” ตาม “ป่าบุ่งป่าทาม” ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านจับปลาโดยการ “ตีปลาฮอง” พบแถบลุ่มน้ำมูนตอนกลาง ส่วน “ลวง” เฉพาะบุคคลหรือครอบครัว เช่น ลวงเบ็ด ลวงลอบ ลวงตุ้ม ฯลฯ พบได้ทั่วไป

อย่างไรก็ตามระบบกรรมสิทธิ์นี้ก็ไม่ได้ตายตัวเสมอไป เช่น กรณี “ลวง” ที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะบุคคลในลุ่มน้ำมูนตอนล่าง หากเจ้าของ “ลวง” ไม่ลงหาปลา ๒ หรือ ๓ ปีติดต่อกัน คนหาปลาคนอื่นๆ ก็มีสิทธิในการใช้ “ลวง” นั้นวางเครื่องมือได้

“ลวง” เฉพาะบุคคลและเครือญาติอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ผ่านการสืบทอดตามประเพณี (customary rights) หรืออาจจะมีการเปลี่ยนมือโดยผ่านระบบการ “ขอ” คือ คนที่มี “ลวงไม่หมาน” ซึ่งหมายถึงจับปลาไม่ได้ก็สามารถขอจากคนที่มี “ลวงหมาน” ได้ นอกจากนั้น อาจมีการเอาของมาแลกกับ “ลวงที่หมาน” เช่น นำวัวควายมาแลก เป็นต้น

คนหาปลาจะเคารพสิทธิใน “ลวง” หรือ “ลั้ง” ของผู้อื่น เช่นไม่วางเครื่องมือหาปลารบกวนพื้นที่หาปลาของคนอื่น ซึ่งกฎเกณฑ์นี้พบได้ทั่วไปในทุกพื้นที่

สำหรับ “ลวง” หรือ “ลั้ง” ส่วนรวม โดยเฉพาะ “ลวงไหลมอง” คนหาปลาจะมีกฏเกณฑ์การใช้ร่วมกัน เช่น มีการเข้าคิวการลงหาปลา และไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือที่เป็นการทำลายล้าง

การหาปลาใน “ลวง” และ “ลั้ง” ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีการกีดกันคนนอกที่จะลงหาปลา แต่หากมีคิวลงหาปลาเยอะคนหาปลาก็จะย้ายไปหาตามพื้นที่อื่นแทน

คนหาปลาจะจัดการ “ลวง” หรือ “ลั้ง” ร่วมกัน โดยก่อนฤดูหาปลาของทุกปี คนหาปลาจะต้องทำความสะอาด “ลวง” หรือ “ลั้ง” ด้วยการนัดวันร่วมกันนำขอนไม้ที่น้ำพัดพามาทับถมออกจากท้องน้ำเพื่อไม่ให้มองเสียหาย หากใครไม่สามารถมาร่วมได้ก็จะสมทบเป็นอาหารเครื่องดื่มแทน ลุ่มน้ำโขงทางตอนล่างและน้ำมูนตอนล่างเรียกการทำความสะอาดนี้ว่า “ส่าวลวง” ส่วนลุ่มน้ำโขงทางตอนบนเรียกว่า “เผี้ยวลั้ง”

การจัดการลวงในแม่น้ำโขงทางตอนบนจะเป็นลักษณะการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนและนอกชุมชนที่ลงมาหาปลาโดยไม่ได้มีหัวหน้า เมื่อถึงเวลา “เผี้ยวลั้ง” ก็จะนัดกันทำ บางลวงอาจจะมีการจ้างให้คนที่ดำน้ำเก่งทำการ “เผี้ยวลั้ง” สำหรับ “ลวง” ในลำน้ำโขงพรมแดนไทย-ลาวแถบนครพนมมีหัวหน้ากลุ่มและ รองหัวหน้ากลุ่มคอยดูแลลูกทีมรวมถึงการเจรจาต่อรองในกรณีที่มีปัญหา ขณะที่ในลุ่มน้ำมูนตอนล่างคนหาปลาจะรวมกลุ่มกัน “ส่าวลวง” โดยการนัดกันเช่นกัน ซึ่งอาจมีคนจัดการนัดวันและจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่คือคนหาปลาที่รับซื้อปลาไปขายด้วย

ในลุ่มน้ำมูนตอนล่าง คนหาปลายังร่วมกันจัดงาน “ทำบุญส่าวลวง” โดยนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญตักบาตรหลังจาก “ส่าวลวง” เสร็จ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำที่ให้จับปลาได้

กฎเกณฑ์ในการใช้และจัดการ “ลวง” และ “ลั้ง” นี้กล่าวได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ตามประเพณี (traditional rules) ที่คนหาปลาจะต้องยึดถือ ทำให้การจัดการแหล่งหาปลาเปรียบเสมือนการจัดการทรัพยากรหน้าหมู่ประเภทอื่นๆ เช่น ป่าชุมชน เป็นต้น

๒.พัฒนาการของปัญหาสิ่งแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำโขง

ระลอกคลื่นของการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงที่ก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงด้วยกัน คือ

ช่วงแรก เกิดขึ้นในยุคการล่าอาณานิคมซึ่งทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงถูกขูดรีดเพื่อนำไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเจ้าอาณานิคม เช่น การสัมปทานป่าไม้ของบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมจากประเทศเจ้าอาณานิคม บรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมยังวางรากฐานในการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐจากแต่เดิมเป็นของชุมชนท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรแบบนี้ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น การให้สัมปทานแหล่งหาปลาในทะเลสาบเขมรแก่เอกชน เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันการเข้าทรัพยากรของคนท้องถิ่น

ช่วงที่สอง การพัฒนาแม่น้ำโขงเกิดขึ้นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้บริบทของสงครามเย็นที่ต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรมและสังคมนิยมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มากมาย เช่น เขื่อนผลิตไฟฟ้า ระบบชลประทาน ถนน ฯลฯ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรลุ่มน้ำโขงในยุคนี้เห็นได้อย่างชัดเจนในภาคอีสานของไทยซึ่งเป็น พื้นที่ที่กว้างใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของลุ่มน้ำโขง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาหนุนหลังให้ไทยพัฒนาภาคอีสานให้เป็นตัวอย่างของทุนนิยมอุตสาหกรรมสำหรับประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งการนำทรัพยากรมาป้อนให้กับฐานทัพอเมริกา นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคอีสานของไทยเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในประเด็นผลกระทบจากโครงการ พัฒนาขนาดใหญ่และความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร (environmental justice) มากที่สุดหากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในลุ่มน้ำโขง

การพัฒนาแม่น้ำโขงช่วงที่สามคือหลังยุคสงครามเย็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ เริ่มจากการกลับเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการพัฒนาของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมของประเทศกลุ่มเหนือ (the North) รวมถึงประเทศอดีตเครือสหภาพโซเวียต เช่น การเข้ามีบทบาทในการสร้างเขื่อนในเวียคนาม เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการพัฒนาต่างๆ จำนวนมากที่มีข้อขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรในยุคนี้ ส่วนหนึ่งคือโครงการที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เช่น โครงการเขื่อนในลุ่มน้ำชี-น้ำมูนทางภาคอีสานของไทยที่วางแผนไว้โดยอเมริกา

ในช่วงหลังทศวรรษ ๑๙๘๐ จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแม่น้ำโขง บทบาทของจีนเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการมุ่งพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีนให้เติบโตทางเศรษฐกิจและ นโยบายการพัฒนาแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงตอนบนให้เป็นเขตเศรษฐกิจ (Lancang Economic Belt) นโยบายหลังนี้ ประกอบไปด้วยโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน โครงการนิคมอุตสาหกรรม และโครงการปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์จากซือเหมาลงไปยังหลวงพระบาง

ปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเสร็จไปแล้ว ๒ เขื่อนและกำลังก่อสร้างอีก ๒ เขื่อน เขื่อนล่าสุดก็คือเขื่อนจิงหงซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงนั้นเป็นการร่วมมือระหว่างจีน พม่า ลาว และไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการระเบิดแก่งและทำการ canalization บางส่วนของแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่ากับลาวจนสามารถเดินเรือขนาด ๓๐๐ ตันลงมาจนถึงเชียงแสนได้แล้ว

ลักษณะประการหนึ่งของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงยุคปัจจุบันที่แตกต่างจากก่อนหน้านี้ก็คือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในลักษณะข้ามพรมแดน (trans-boundary enivronmental problems) ซึ่งได้ปรากฏมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการจัดการและการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากต้นตอของปัญหาอาจจะเกิดในอีกประเทศหนึ่ง เช่น การสร้างเขื่อนยาลีในเวียตนามที่กระทบต่อชนพื้นถิ่นทางท้ายน้ำในลุ่มน้ำเซซานในกัมพูชา และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน เป็นต้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเกิดการร่วมมือกันของรัฐต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงในการดำเนินโครงการพัฒนาบนแม่น้ำระหว่างพรมแดน เช่น โครงการผันน้ำไทยลาว โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำระหว่างประเทศบนพรมแดนพม่ากับไทย และโครงข่ายพลังงานอาเซี่ยนซึ่งประกอบไปด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีน พม่า และลาว

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำระหว่างพรมแดน โครงการผันน้ำข้ามประเทศ และโครงข่ายพลังงานในระดับภูมิภาคไม่ได้เกิดเฉพาะในอาเซี่ยนเท่านั้น แต่ยังพบว่าในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกก็มีการดำเนินโครงการลักษณะนี้เช่นกัน เช่น ภูมิภาคเมโส-อมริกา เป็นต้น

๓.การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรของชุมชนในยุคโลกาภิวัฒน์ กรณีการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน

ในส่วนนี้จะยกตัวอย่างของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรของชุมชน ในลักษณะของปัญหาข้ามพรมแดน นั่นคือ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

แม้ว่าน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนจะมีอิทธิพลต่อน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างในฤดูฝนน้อยเพราะน้ำจากน้ำโขงตอนล่างมาจากน้ำสาขา แต่น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนจะมีอิทธิพลต่อน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างในฤดูแล้งมาก ดังนั้นการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนหรือแม่น้ำล้านช้างโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ท้ายน้ำอย่างรุนแรง

วีระวุธ พรรัตนพันธุ์ นักอุทกวิทยา ๗ จากกรมทรัพยากรน้ำของไทยได้ระบุในการอภิปรายต่อชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมของไทยที่เชียงแสนเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การสร้างเขื่อนมันวานกั้นแม่น้ำโขงในจีนทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำไหลต่ำสุด (minimum discharg) ที่เชียงแสนลดต่ำลงจากค่าปกติ โดยในช่วง ๓๐ ปีก่อนการกักเก็บน้ำของเขื่อนมานวานค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำไหลต่ำสุดเท่ากับ ๗๕๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หลังการสร้างเขื่อนปริมาณน้ำไหลต่ำสุดได้ลดลงเหลือ ๕๖๙ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่ดำเนินการตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๔ ได้ทำให้เกิดความผันผวนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงเนื่องจากมีการปิดเขื่อน ๓ วัน และเปิด ๑ วัน เพื่อสะดวกต่อการระเบิดแก่ง ความผันผวนของระดับน้ำแม่น้ำโขงเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านเมื่อจีนทำการปรับปรุงแม่น้ำโขง โดยการสร้างคันกั้นน้ำที่แก่งไคร้ (Khrai Rapids) หรือแก่งน้ำไหลวนไกลบริเวณพรมแดนพม่า-ลาวใต้ท่าเรือกวนเหลยของจีนลงมาตามลำน้ำ ๖๘ กิโลเมตร การทำคันกั้นน้ำนี้ทำให้มีการลดระดับน้ำและอนุญาตให้เดินเรือได้เพียง ๕ ชั่วโมงในรอบ ๔ วันเท่านั้น

ปริมาณน้ำในฤดูแล้งที่ลดลงและการผันผวนของระดับน้ำดังกล่าวได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์และ ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงทางตอนล่างนับแต่แม่น้ำโขงพรมแดนพม่า-ลาว และแม่น้ำโขงทางตอนล่างลงไป รวมทั้งน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

คนหาปลาหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว แม่น้ำโขงไทย-ลาวทางตอนบน และแม่น้ำโขงแถบนครพนมระบุตรงกันว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงนั้นต้องการสภาพน้ำในแม่น้ำโขงที่ทรงตัว หากน้ำจะขึ้นหรือลงต้องเป็นไปตามธรรมชาตินั่นก็คือค่อยๆ ขึ้นหรือลง แต่ ๓ ปีที่ผ่านมาคนหาปลาระบุว่านอกจากน้ำลดต่ำผิดปกติแล้ว น้ำยังขึ้นลงไม่ปกติด้วย ทำให้ปลาไม่เคลื่อนย้ายหรืออพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่างขึ้นไปหากินหรือวางไข่ทางตอนบน

คนหาปลาที่ “ลั้งปากอิง” จ.เชียงราย ระบุว่าในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำโขงไม่เป็นธรรมชาติทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน คือมีทั้งผันผวนและปริมาณน้ำน้อยทำให้ปริมาณปลาที่จับได้ลดลงถึงร้อยละ ๕๐ หากเทียบกับปี ๒๕๔๔

ความรุนแรงของปัญหานี้เกิดมากที่สุดในฤดูแล้งที่ผ่านมา จนทำให้ชาวบ้านหาปลาได้ไม่คุ้มกับค่าน้ำมันเรือ คนหาปลาชาวไทยและลาวที่ “ลั้งผาได” ทางใต้สุดของแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวทางตอนบน ระบุว่า การที่ปลาไม่เคลื่อนย้ายออกหากินและอพยพขึ้นไปข้างบนทำให้จำนวนคนหาปลาที่ไหลมองในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เหลือเพียง ๒ รายจากปกติที่มีคนหาปลามากกว่า ๗๐ ราย

ขณะที่คนหาปลาที่ “ลวงบ้านน้อยใต้” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างท่าแขกกับนครพนมก็ยืนยันว่า แม่น้ำโขงในฤดูแล้งปีนี้มีการขึ้นลงไม่ปกติ ทำให้ไม่สามารถจับปลาได้เนื่องจากปลาไม่เคลื่อนย้าย ตลอดเดือนมกราคมถึงต้นเดือนเมษายน กลุ่มคนหาปลาที่ทำการไหลมองจำนวน ๒๕ ลำ ต้องหยุดหาปลาเหลือไว้แต่เพียงหัวหน้ากลุ่มหรือตัวแทนกลุ่ม ๑ ถึง ๒ คนคอยเฝ้าเรือ และคอยเลื่อนเรือตามระดับน้ำขึ้นหรือลงเพื่อไม่ให้เรือเสียหายจากการที่เระดับน้ำเปลี่ยนแปลงโดยเฉียบพลัน

การที่คนหาปลาไม่สามารถหาปลาได้นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวคนหาปลาอย่างรุนแรง เพราะปลาคืออาหารหลักและยังเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวด้วย

ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพราะระดับน้ำจากแม่น้ำโขงมีอิทธิพลต่อระดับน้ำในแม่น้ำสาขา โดยในฤดูฝนน้ำโขงจะไหลย้อนกลับเข้าไปในลำน้ำสาขาหรือไม่ก็ทำให้น้ำสาขาไหลลงน้ำโขงช้าลง ทำให้เกิดน้ำท่วมหลากกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณปากแม่น้ำสาขาซึ่งเป็นที่วางไข่และหากินของปลา ขณะที่ในฤดูแล้ง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะช่วยพยุงไม่ให้น้ำในแม่น้ำสาขาไหลลงแม่น้ำโขงจนแห้ง

งานวิจัยไทบ้านซึ่งขณะนี้ชาวบ้านลุ่มน้ำสงครามตอนล่างกำลังดำเนินการพบว่า ในฤดูแล้งปีนี้ น้ำสงครามแห้งขอดลึกเข้าไปตามลำน้ำสงครามถึง ๔๐ กิโลเมตร เนื่องจากน้ำโขงต่ำและน้ำสงครามไหลลงน้ำโขงหมด

การควบคุมน้ำและการระเบิดแก่งทางตอนบนยังทำให้ตะกอนทรายไหลลงมาทับถมแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว และไทย-ลาวทางตอนบน ทำให้น้ำโขงบริเวณที่มีน้ำลึกที่ชาวบ้านเรียกว่า “คก” ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของปลาและเป็น “ลั้ง” หรือแหล่งหาปลาร่วมกันของชาวบ้านสองฝั่งโขงทั้งไทยและลาวถูกทับถมด้วยตะกอนทรายไม่สามารถหาปลาได้อีกต่อไป

นอกจากนั้นแล้ว การสำรวจภาคสนามและการสังเกตการณ์แม่น้ำโขงแถบนครพนมพบว่า มีการระบาดของตะไคร่น้ำบางชนิดมากกว่าปกติ ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือหาปลา และยังเกิดการระบาดของหอยกาบชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมหอยชนิดนี้จะเกิดเฉพาะตามหาดในสาขาของแม่น้ำโขงเท่านั้น การระบาดของตะไคร่น้ำและหอยกาบนี้เป็นสัญญาณเตือนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่จำเป็นจะต้องมีการติดตามศึกษาโดยเร่งด่วน

ความไม่แน่นอนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากว่าเขื่อนเซี่ยวหวานและเขื่อนจิงหงสร้างเสร็จเพราะเขื่อนเซี่ยวหวานสูงถึง ๓๐๐เมตร ขณะที่เขื่อนจิงหงตั้งอยู่ล่างสุดของแม่น้ำโขงตอนบนในจีน นอกจากนั้นยังจะมาจากข้อตกลงระหว่างจีน พม่า ลาว และไทยในการควบคุมน้ำในฤดูแล้งให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยตามธรรมชาติเพื่อให้สามารถเดินเรือขนาดใหญ่ในฤดูแล้งได้ ซึ่งกิจกรรมทั้งสองจะทำให้วัฏจักรการขึ้นลงของน้ำเปลี่ยนไป

การเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงจากจีนลงมาไทยยังจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงระยะยาวเพราะคลื่นจาก การเดินเรือขนาดใหญ่และปริมาณการสัญจรทางน้ำที่เพิ่มจะรบกวนการอพยพและวางไข่ของปลา และยังทำให้คนหาปลาไม่สามารถใช้เรือประมงและเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านในการหาปลาได้

โครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนทั้งสองโครงการได้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำนานาชาติได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์แม่น้ำ รวมถึง “ลวง” หรือ “ลั้ง” ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรส่วนรวมที่ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงใช้ร่วมกัน นั่นหมายถึงว่าคนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างที่เคยเป็นมาหลายชั่วอายุคน

๔.ข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์การจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำโขงในยุคโลกาภิวัฒน์

ในยุคโลกาภมิวัฒน์ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงทรัพยากรไม่ได้มีขอบเขตภายในรัฐเท่านั้น ดังนั้น ข้อพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงในยุคโลกาภิวัฒน์จึงไม่ได้มีเพียงประเด็นความยุติธรรม ในการเข้าถึงทรัพยากรที่คนท้องถิ่นถูกกีดกันออกไปจากการเข้าถึงทรัพยากรที่เคยพึ่งพาเท่านั้น แต่ยังมีมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐต่างๆ ด้วย เพราะรัฐแต่ละรัฐต่างก็มุ่งไปที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน เพราะเกรงกลัวความขัดแย้งกับรัฐที่ใหญ่กว่า

การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาต่อการจัดการทรัพยากรของชุมชนในลุ่มน้ำโขงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง การร่วมมือกันนี้ รวมไปถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คนท้องถิ่นได้เข้าถึงข้อมูลการพัฒนาที่กระทบต่อการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากร และต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีข้อมูลฐานเพื่ออธิบายสภาพปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาได้อย่างทันต่อสถานการณ์

ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็จำเป็นต้องร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับโครงการขนาดใหญ่โดยการดปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ ๗ ประการของคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams: WCD) โดยเฉพาะข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพและการปรึกษาหารือกับให้ชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำ ทางด้านท้ายน้ำก่อนการดำเนินโครงการ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา