eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

มาศึกษาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนปากชมกันเถอะ
สุมาตร ภูลายยาว  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
ตีพิมพ์ครั้งแรกหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเกี่ยวกับเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม และติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารเกี่ยวกับแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงมึนงงระคนสังสัยว่า ข่าวที่ได้รับมานั้นเป็นจริงแค่ไหน

ข่าวที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่  ๒๔ กรกฏาคม ๒๕๕๒ โดยเนื้อในข่าวได้กล่าวถึงการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พพ.ได้เตรียมจัดทำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่บริเวณอำเภอปากชม จังหวัดเลย โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 60 ล้านบาทให้ว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการศึกษารายละเอียดภายในระยะเวลา 18 เดือน เวลานี้อยู่ระหว่างการเตรียมประมูลว่าจ้างบริษัท และนำเสนอต่อนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน พิจารณาต่อไป

หากพิจารณาในเนื้อหาข่าวนั้นจะเห็นอย่างชัดเจนว่า พพ.กำลังปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนทั่วไปควรได้รับ เพื่อการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่นคำว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ในถ้อยคำนี้ได้ซ่อนวาระอันสมควรปกปิดเอาไว้ โดยผู้พูดได้หลงลืมโดยเจตนาที่จะบอกกับประชาชนว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง เราจะสร้างแบบไหน แท้จริงแล้วการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำนานาชาติเช่นแม่น้ำโขงก็มีเพียงอย่างเดียวที่จะได้พลังงานไฟฟ้ามาคือ การสร้างเขื่อนนั่นเอง

ข้อสังเกตบางประการคือทำไมกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พพ.จึงเลือกใช้คำว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง แทนที่จะบอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า หรืออาจเป็นเพราะคำว่า ‘เขื่อน’ ได้สร้างความขมขื่น และความชิงชังให้เกิดกับผู้คนทั่วไปที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง เพราะโดยส่วนหนึ่ง ผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนมาพอสมควร

เพราะบทเรียนจากเขื่อนในจีนจึงได้ทำกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ไม่กล้าที่จะบอกความจริงทั้งหมดกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบหากมีการดำเนินการในเร่องนี้ในพื้นที่ และไม่แน่หากบอกความจริงกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงแล้ว ผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขงอาจลุกขึ้นมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ทำไมกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไม่ทำการศึกษาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนปากชมบ้าง ทำไมถึงศึกษาแต่ความเหมาะสม’

ทำไมเราต้องมาศึกษาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อน โดยตรรกะง่ายๆ คือ เมื่อมีการก่อสร้างหรือมีโครงการเตรียมการเพื่อการก่อสร้างเขื่อน สิ่งที่ได้รับรู้เสมอว่าคือ รัฐได้บอกกับพลเมืองในรัฐว่า เราจะศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ในการก่อสร้าง และศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรับฟังเสียงของประชาชน คำถามคือทำไมเราต้องศึกษาความเหมาะสมเพียงอย่างเดียว เรามาร่วมกันศึกษาความไม่เหมาะสมบ้างไม่ได้หรือ

ทำไมเราต้องศึกษาความไม่เหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพิ่มเติมอีก  ต่อคำถามนี้คงมีหลายคำตอบ อย่างแรกที่น่าสนใจคือ เรื่องของผลกระทบท้ายน้ำจากการสร้างเขื่อน เพราะตอนนี้แม่น้ำโขงมีเขื่อนอยู่แล้วในประเทศจีน เขื่อนเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบมากมาย แม้จะอยู่ไกลออกไปจากประเทศไทย อย่างที่สองคือ การกล่าวอ้างถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเรื่องเหล่านี้ดูเป็นการปั้นตัวเลขขึ้นมา เพื่อหลอกเด็กให้กลัวผีมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าอยู่ 26,000 เมกะวัตต์ และใช้อยู่ 22,000 เมกะวัตต์ มีกำลังไฟฟ้าสำรองอยู่ 4,000 เมกะวัตต์ จากตัวเลขของจำนวนฟ้าที่ถูเปิดเผยออกมานี้ ไม่ได้บอกเลยว่า ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานน้ำกี่เมกะวัตต์ และจำเป็นแค่ไหนในการต้องแสวงหาไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเพิ่มขึ้น (เดลินิวส์   24 กรกฎาคม 2552) โดยเฉพาะในกรณีของเขื่อนปากชมที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด ๑,๐๗๙ เมกะวัตต์ แต่มีกำลังผลิตติดตั้งที่พึ่งได้คือ ๒๑๐.๑๔ เมกกะวัตต์หรือเทียบเป็นประมาณร้อยละ ๒๐ ของกำลังผลิตติดตั้งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น

รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนปากชม เพราะหากมีการก่อสร้างเขื่อนนี้แล้วน้ำจากอ่างเก็บน้ำจะท่วมพื้นที่ ๔,๑๒๗ ไร่ ในจำนวนนี้มีทั้งบ้าน ที่ทำกิน พันธุ์ปลาที่มีความหลากหลายจะถูกทำลายลง รวมทั้งระบบนิเวศอันหลากหลายก็จะถูกทำลายลงเช่นกัน

นอกจากจะมองเรื่องการแสวงหาพื้นที่ในการสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียวแล้ว เราน่าจะได้หยิบยกนำประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาด้วย เช่น ความคุ้มค่าของโครงการกับการลงทุนที่สูงถึง ๖๙,๖๔๑ ล้านบาท แต่สามารถพึ่งพาไฟฟ้าได้เพียง ๒๑๐.๑๔ เมกะวัตต์หรือคิดเป็นการลงทุน   เมกะวัตต์ละ ๓๓๑.๔ ล้านบาท (ราคาลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ ๔๐ ล้านบาทต่อ ๑ เมกะวัตต์) นอกจากนั้นการสร้างเขื่อนยังจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดนไทย-ลาว จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำท้ายเขื่อไฟฟ้าพลังน้ำปากชม รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว อย่างน้อยๆ เกาะแก่งที่งดงามในแม่น้ำโขงก็จะจมอยู่ใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำ ความสวยงามที่จะเกิดขึ้นในหน้าแล้งก็จะหายไป แม้ว่าจะมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า ภายหลังมีเขื่อนชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงกับไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อเราเห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นมากกว่าผลดีในด้านของพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ทำไมเราไม่ลองหันมาศึกษาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนปากชม และเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขงดูบ้าง อย่างน้อยๆ ข้อมูลที่ได้จากการทำการศึกษาอย่างจริงจังก็คงพอจะทำให้ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ได้หยุดคิดว่า ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นน้อยกว่าผลเสียที่จะตามมา 

ดังนั้นโดยภูมิศาสตร์ของแม่น้ำโขงจึงไม่เหมาะสมที่จะทำการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนอีกต่อไป เพราะแม่น้ำโขงเหมาะสมที่จะเป็นสายธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นโดยประการทั้งปวง เอาผลการศึกษาเกี่ยวกับความเหมาะสมของพื้นที่ในการสร้างเขื่อนปากชมที่จะทำขึ้นโยนลงแม่น้ำโขงไปเสียเถอะ แล้วให้เปลี่ยนความเชื่อเสียใหม่ว่า แม่น้ำโขงคือแม่น้ำแห่งชีวิตของผู้คน ไม่ใช่แม่น้ำเพื่อทำการค้าขายพลังงานอีกต่อไป...

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา