eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ความรู้ท้องถิ่นเรื่อง ‘พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง’
งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น
โดย คณะนักวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น

สั่งซื้อสื่อและสิ่งพิมพ์ได้ที่นี่

หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รู้จักในฐานะแม่น้ำนานาชาติ อันมีความสำคัญ เพราะประกอบด้วยระบบนิเวศหลากหลายสลับซับซ้อน แม่น้ำโขงไหลผ่าน ๖ ประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ในส่วนของพรมแดนไทย-ลาว คนท้องถิ่นทางภาคเหนือของประเทศไทยเรียกว่า ‘แม่น้ำของ’

เป็นความจริงว่า เมื่อแม่น้ำไหลผ่านบริเวณไหน ผู้คนสองฝั่งน้ำก็ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำในด้านต่างๆ บ้างก็ทำการเกษตรริมน้ำ บ้างก็หาปลา บ้างก็ใช้สัญจรไป-มาหาสู่กัน แม่น้ำจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนสองฝั่งน้ำอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะแม่น้ำสายใหญ่สายนี้

ผู้คนสองฝั่งโขงมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงแตกต่างกันออกไป การที่คนเข้าไปใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงจึงก่อเกิดวิถีของคนสองฝั่งโขงตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จากวิถีคนพึ่งพาแม่น้ำก็สั่งสมเป็นความรู้ที่หาเรียนที่ไหนไม่ได้ ความรู้เหล่านี้สามารถกล่าวได้ว่า เป็นความรู้ที่ได้รับการบันทึกไว้ด้วยชีวิต และเรียนกันทั้งชีวิต หลายครั้งที่ความรู้เหล่านี้บางด้านได้ค่อยๆ เลือนหายไป ส่วนหนึ่งอาจมาจากการไม่มีผู้สืบทอดความรู้ และไม่มีการบันทึกความรู้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถสืบค้นได้

ในบรรดาความรู้หลายอย่างที่กำลังเลือนหายไปนั้น ความรู้เรื่องปลา เรื่องระบบนิเวศในแม่น้ำโขงจึงเป็นความรู้ที่สำคัญ ซึ่งน่าจะมีการบันทึกไว้ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไว้

หากจะกล่าวโดยความจริงแล้ว การบันทึกความรู้นั้นมีหลากหลายวิธีการ แต่ชาวบ้านในอำเภอเชียงของ-เวียงแก่น เลือกที่จะบันทึกความรู้ของพวกเขาไว้ในรูปแบบของ ‘งานวิจัยจาวบ้าน-งานวิจัยไทบ้าน’ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้ความรู้ที่มีอยู่สูญหายไป การบันทึกความรู้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาความรู้เหล่านั้นจึงเกิดขึ้น ในรูปแบบของงานวิจัยจาวบ้าน อันเป็นทางเลือกหนึ่งที่ชาวบ้านใช้ในการบันทึกชุดความรู้เหล่านั้น

‘งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น’ ได้เลือกพื้นที่ทำการศึกษาตั้งแต่บริเวณแก่งคอนผีหลง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเชียงของไปจนถึงแก่งผาได เขตอำเภอเวียงแก่น โดยการทำงานวิจัยจาวบ้านมีประเด็นที่ทำการศึกษาทั้งหมด ๕ ประเด็นคือ พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวตอนบน, ระบบนิเวศ, พรรณพืช, เครื่องมือหาปลา, สังคมวัฒนธรรม

ผลการศึกษาเรื่องพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวตอนบนตั้งแต่แก่งคอนผีหลงไปจนถึงแก่งผาไดจากงานวิจัยจาวบ้านสำรวจพบว่า แม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาวตอนบนตั้งแต่แก่งคอนผีหลงไปจนถึงแก่งผาได มีพันธุ์ปลาทั้งหมด ๙๖ ชนิด ตะพาบน้ำ ๑ ชนิด และกุ้ง ๒ ชนิด คือกุ้งฝอย และกุ้งใหญ่ โดยการศึกษาได้แบ่งหมวดหมู่ของปลาออกเป็น ๒ ลักษณะคือ

๑.ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์
งานวิจัยจาวบ้านพบว่า ปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบนมีพันธุ์ปลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด ๑๓ ชนิด ได้แก่ ปลาบึก ปลาเอินหรือปลาเสือ ปลาเลิม ปลาสะนากปากบิด ปลาคูน ปลาปึ่ง ปลาฝาไม ปลาหว่าหัวคำ (นอ) ปลาหว่าแก้มแต้ม ปลากะ ปลาทราย และปลาเซือม

นักวิจัยจาวบ้านจัดให้ปลาดังกล่าวเป็นปลาหายาก และใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากจับไม่ได้ในช่วง ๕-๓๐ ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นปลาที่จับไม่ได้ตั้งแต่ ๕ ปีย้อนหลัง ๓ ชนิดคือ ปลาบึก ปลาทราย และปลาฝาไม ส่วนปลาที่จับไม่ได้ตั้งแต่ ๑๐-๓๐ ปีย้อนหลัง ๙ ชนิด คือ ปลาเอินหรือปลาเสือ ปลาเลิม ปลาสะนากปากบิด ปลาเซือม ปลาคูณ ปลาปึ่ง ปลาหว่าหัวคำ (นอ) ปลาหว่าแก้มแต้ม และปลากะ

ส่วนปลาเอี่ยนหู หรือตูหนาหูขาว เป็นปลาที่พบน้อยมาก ชาวบ้านไม่รู้จักปลาชนิดนี้และเชื่อว่าเป็นปลาพญานาค ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ มีคนหาปลาจับได้ทั้งหมด ๔ ตัว น้ำหนักสูงสุด ๖ กิโลกรัม จากข้อมูลของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ได้ระบุว่าปลาชนิดนี้วางไข่ในทะเลลึกระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

๒.ปลาต่างถิ่น
สำหรับปลาต่างถิ่น ๑๐ ชนิด พบในแม่น้ำโขงเนื่องจากมีการปล่อยลงไปโดยกรมประมง เช่น ปลา จีน สวาย จาระเม็ด นวลจันทร์ เป็นต้น บางชนิดหลุดมาจากบ่อเลี้ยงในช่วงที่น้ำท่วมบ่อปลาของชาวบ้าน และมีการปล่อยลงแม่น้ำโขงและน้ำสาขาโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ปลาดูด เป็นต้น

งานวิจัยจาวบ้านพบว่าปลาธรรมชาติหรือปลาท้องถิ่น ๙๖ ชนิด เป็นปลาที่อยู่ตามแก่ง/ผา ๑๕ ชนิด ปลาอยู่กว๊าน ๑๕ ชนิด ปลาอยู่คก ๒๔ ชนิด ปลาอยู่ดอนในยามถูกน้ำท่วม ๙ ชนิด ปลาอยู่หาด ๒๐ ชนิด ปลาอยู่ร้อง ๖ ชนิด ปลาอยู่หลง ๘ ชนิด ปลาอยู่หนอง ๑๓ ชนิด ปลาอยู่แจ๋ม ๒ ชนิด ปลาอยู่น้ำสาขา/ห้วย ๕๑ ชนิด และปลาอยู่ริมฝั่งน้ำโขง ๕๗ ชนิด ปลาบางชนิดอยู่อาศัย หากินตามระบบนิเวศย่อยมากกว่า ๑ ระบบนิเวศ

จากความรู้ที่ได้มาโดยกระบวนการของการทำงานวิจัยในครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของหนังสือ     ’ความรู้ท้องถิ่นเรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง’ กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวม และทำการบันทึกความรู้ท้องถิ่นของชุมชน เพื่ออธิบายให้เห็นคุณค่าของแม่น้ำโขงในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นด้านที่คนท้องถิ่นสองฝั่งแม่น้ำโขงเข้าถึง และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

แม้ว่าปัจจุบันแม้น้ำโขงกำลังเดินทางไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนเกิดมาจากแนวคิดหลักในเรื่องของการพัฒนา หนังสือเล่มนี้คงเป็นเครื่องมือในการบอกกล่าวจากคนท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนากับคนภายนอก และนักพัฒนาทางวัตถุทั้งหลายว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้ของคนท้องถิ่น เพื่อเป็นกรอบตัดสินในก่อนดำเนินการพัฒนาใดๆ อันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน  

หนังสืองานวิจัยจาวบ้าน ‘ความรู้ท้องถิ่นเรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง’ คงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะอธิบายให้เราได้เข้าใจ และเรียนรู้คุณค่าของแม่น้ำโขงจากคนท้องถิ่นมากขึ้น ความจริงในหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คนท้องถิ่นผู้ได้พึ่งพาแม่น้ำโขงอยากจะบอก และอยากจะสื่อสารกับผู้คนทั่วไปให้คำนึงถึงความสำคัญของธรรมชาติอันควบคู่ไปกับการเคารพในวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงชาติพันธุ์ต่างๆ และที่สำคัญความรู้ท้องถิ่นเหล่านี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ทางจิตสำนึกอันเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้เข้าใจ และร่วมกันดูแลแม่น้ำโขงให้อุดมสมบูรณ์ให้สมกับแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ที่สำคัญการดูแลรักษาแม่น้ำโขงผ่านองค์ความรู้ของคนท้องถิ่นนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาที่ว่า ‘เคารพในธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์’  

                                                           
หนังสือ ‘ความรู้ท้องถิ่นเรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง’ จัดทำและผลิตโดย โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายอนุรักษ์ทัรพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำนวนพิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่ม
 ดูสื่อและสิ่งพิมพ์ของเรา

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา