eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

โครงการนิทรรศการเคลื่อนที่
“ปลาและเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านลุ่มน้ำโขง: ความเชื่อมโยงของผู้คนและสายน้ำ”

รูปแบบกิจกรรม

     

   

   

   

ดูรูปปลาเพิ่มเติม

  1. ภาพวาดปลาแม่น้ำโขงบนแผ่นไม้ ชุดที่ 2 (โครงการวาดปลาฮักษาโขง) ศิลปิน: คลื้ม
  2. ภาพวาดปลาแม่น้ำโขงบนแผ่นไม้ ชุดที่ 1(โครงการวาดปลาฮักษาโขง) ศิลปิน: คลื้ม

1. ชื่อโครงการ    นิทรรศการ “เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านลุ่มน้ำโขง: ความเชื่อมโยงของผู้คนและสายน้ำ”

2. หลักการและเหตุผล

แม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย การดำรงอยู่มาหลายชั่วอายุคนของชุมชนริมฝั่งน้ำโขงและแม่น้ำสาขาใน 6 ประเทศตลอดทั้งลุ่มน้ำ ต้องพึ่งพิงการหาปลาเป็นหลักสำคัญ เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านจึงไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เป็นอุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพของคนชนบทเท่านั้น แต่มันยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณค่าทางสังคมหลายด้าน ทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและแม่น้ำ ความรู้ท้องถิ่น วัฒนธรรมลุ่มน้ำ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกผันกับแม่น้ำ โดยแยกออกเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้

การสั่งสมของภูมิปัญญาท้องถิ่น   การสร้างและใช้เครื่องมือหาปลาซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ชนิด เพื่อจับปลาแต่ละชนิดซึ่งมีกว่า 1,200 สายพันธุ์ในแม่น้ำโขงนั้น ต้องอาศัยความรู้ในหลายด้านเป็นอย่างดี เช่น ความรู้เรื่องพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิด ระบบนิเวศของแม่น้ำ ฤดูกาล และความรู้เรื่องวัสดุในการสร้างเครื่องมือหาปลา ชาวบ้านต้องรู้ว่า ปลาแต่ละชนิดอาศัย วางไข่ หรือหากินที่ใด ระบบนิเวศแต่ละจุดน้ำตื้นลึก ไหลเร็วช้าแค่ไหน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา เหยื่อล่อปลาแบบไหนเหมาะกับปลาชนิดไหนหรือระบบนิเวศแบบใด จะใช้ไม้หรือวัสดุอะไรสร้างเครื่องมือหาปลา และจะปรับใช้มันอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันและกับชนิดปลาต่างประเภท เพราะเครื่องมือแต่ละอย่างอาจจะใช้จับปลาได้หลายชนิดแต่มีเคล็ดลับการใช้ต่างออกไป   ซึ่งความรู้มากมายเหล่านี้ต้องผ่านการลองผิดลองถูก คิดวิเคราะห์และสั่งสมกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย และพรานหาปลาแต่ละคนแต่ละรุ่นก็ต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนความรู้เหล่านี้ให้ชำนาญตลอดชั่วชีวิตของเขา เพราะมันไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การได้ปลามากินเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการมีชีวิตรอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ   จากการที่ต้องเรียนรู้เพื่อดำรงอยู่ด้วยการหาปลา ความรู้ต่างๆดังกล่าวข้างต้น รวมถึงระเบียบและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สร้างขึ้น เช่น การหาปลาอย่างพออยู่พอกิน การไม่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ชุมชนท้องถิ่นต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและกฎของธรรมชาติ

การจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม เครื่องมือหาปลายังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้คนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกผันกับแม่น้ำ การหาปลาจึงก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้องในชุมชนและต่างชุมชน จนเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนหาปลา ดังจะเห็นได้จากการใช้เครื่องมือหาปลาบางชนิด ต้องใช้ร่วมกันหลายคนเป็นหมู่คณะ การใช้เครื่องมือหาปลาบางชนิดเช่นการวางอวนต้องจัดคิว พื้นที่หาปลาบางพื้นที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะครอบครัวที่ตกทอดสู่ลูกหลานได้

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งเหนือธรรมชาติ เครื่องมือบางชนิดต้อง มีการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางก่อนมีการใช้ เช่น การบวงสรวงก่อนการล่าปลาบึกของชาวอำเภอเชียงของ ซึ่งพิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้แฝงไว้ซึ่งการเคารพธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและสังคม

งานวิจัยไทบ้านที่จัดทำขึ้นในพื้นที่ต่างๆ 4 พื้นที่ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา มีการศึกษาประเด็นต่างๆอย่างครอบคลุมรวมถึงองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน งานวิจัยได้พบว่าแม่น้ำมูลบริเวณเขื่อนปากมูนมีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน 75 ชนิด ในแม่น้ำสงคราม จ.นครพนมมี 80 ชนิด ในแม่น้ำมูลช่วงเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกศมี 48 ชนิด

จากงานวิจัยไทบ้านในพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบว่าจากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนในบริเวณดังกล่าวมีการใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านถึง 69 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ เครื่องมือดักปลา 33 ชนิด เช่น ไซลั่น โพงพาง ตุ้ม จิบ จั๋ม มอง เป็นต้น เครื่องมือล่อปลา 17 ชนิด เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดข้าม เบ็ดแขวน เป็นต้น เครื่องมือจับปลา 13 ชนิด เช่น แห สุ่ม ลิม หิง เป็นต้น และเครื่องมือช่วยในการหาปลา 7 ชนิด เช่น เรือ ข้องใส่ปลา เป็นต้น
แต่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและการลดลงของพันธุ์ปลา ซึ่งเกิดจากผลของการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง ได้ทำให้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านเหล่านี้ ลดลงและสูญหายไป การหายไปนี้จึงไม่ได้หมายถึงการหายไปของตัวเครื่องมือเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการหายไปหรือเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังได้กล่าวข้างต้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านลุ่มน้ำโขง โครงการนิทรรศการนี้จึงจะจัดแสดงภาพวาดเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านลุ่มน้ำโขงจำนวน 100 ภาพ โดยเป็นภาพวาดสีน้ำและสีน้ำมันบนแผ่นกระดาษและผืนผ้าใบของ พร้อมกับคำบรรยายเกี่ยวกับเครื่องมือหาปลาแต่ละชนิด   นอกจากนี้เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุ์ปลาลุ่มน้ำโขงซึ่งมีความสัมพันธ์กัน นิทรรศการนี้ยังมีการแสดงภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้ของชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นลุ่มน้ำโขงจำนวน 40 ภาพด้วย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา