eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ใคร? ทำน้ำโขงแห้งขอด – ข้อโต้แย้งสถานทูตจีน

มติชน 21 มีนาคม 2553   ประสาร มฤคพิทักษ์

ในระยะหนึ่งเดือนเศษนับแต่ปลายเดือนมกราคม 2553 มานี้ น้ำโขงแห้งขอดมากที่สุดในรอบ 50 ปี เป็นสภาพที่ยอมรับใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง เนื่องจากจีนเป็นเจ้าของเขื่อนผลิตไฟฟ้าด้านหลังน้ำ 3 แห่งในลุ่มน้ำโขงในมณฑลยูนนาน คือ เขื่อนต้าเฉาซาน เขื่อนม่านวาน และเขื่อนจิ่งหง ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำโขง จึงกลายเป็นจำเลยของประเทศท้ายน้ำไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ 11 มีนาคม 2553 นายเฉิน เต๋อ ไห่ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและข่าวสารบทสถานทูตจีน แถลงเรื่องเขื่อนจีนกับแม่น้ำโขงแห้งว่า น้ำโขงแห้งเนื่องจากภัยแล้ง โดยชี้ว่า “ทั้ง 3 เขื่อนปล่อยน้ำไหลตามปกติ ไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด และเขื่อนจีนก็ห่างไกลกับไทย” และยังชี้ว่า “แม่น้ำโขงในไทยส่วนใหญ่ รับปัจจัยมาจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เป็นปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง  35% มาจากฝนตกในลาว เขื่อนจีนส่งปลกระทบต่อแม่น้ำโขงเพียง 4% เท่านั้น”

ความจริงเป็นเช่นไร

1. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงเร็วผิดปกติ 

            เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม 2553 สื่อมวลชน 17 สำนัก รวม 22 คน เป็นสื่อไทย 13 แห่ง และสื่อต่างประเทศ 4 แห่ง พร้อมผู้เขียน ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ใน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา และคณะ รวม 30 คน ล่องเรือในแม่น้ำโขงบริเวณคอนผีหลง-เชียงของ-ปากอิง-ผาได (สุดชายแดนไทย-ลาว) ได้สัมผัสด้วยตนเองว่า ในช่วงสัปดาห์นั้นน้ำขึ้นเร็วอย่างผิดปกติ ดูจากสถานีวัดน้ำเชียงของ โดยกรมทรัพยากรน้ำ มีความแจ่มชัดว่า เวลา 06.00 น.

27 กุมภาพันธ์ 2553 วัดน้ำได้ 0.36 มม.

28 กุมภาพันธ์ 2553 วัดน้ำได้ 0.56 มม.

ในวันเดียวระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 20 เซนติเมตร โดยไม่มีฝนตกเลยแม้แต่เม็ดเดียว เพราะน้ำสาขาต่าง ๆ เช่น น้ำกก น้ำอิง ล้วนแห้งขอดเพราะภัยแล้ง

ในขณะที่ในเดือนสิงหาคม 2551 น้ำโขงขึ้นเร็วผิดปกติ วัดเมื่อเวลา 06.00 น. ดังนี้

11 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 11.18 มม.

12 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 12.50 มม.

13 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 13.60 มม.

ในช่วงนั้น หมู่บ้านหลายแห่งริมน้ำกก ริมน้ำอิง ต่างจมน้ำ บางแห่งท่วมถึงระดับหลังคาบ้าน ตลิ่งโขงพังพินาศจนเพื่อนมิตร ทั้งชาวบ้านและนักสิ่งแวดล้อมจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ร่วมระดมกำลังกันไปซ่อมตลิ่งพังที่บ้านปากอิง และปรากฏเป็นข่าวทั่วไป

แม้ว่าช่วงนั้นจะมีฝนตกหนัก แต่ฝนไม่ได้เลือกตกเฉพาะใต้เขื่อน ฝนได้ตกเหนือเขื่อนด้วย ฝนจึงไม่ใช่สาเหตุแห่งน้ำท่วมในปีนั้น หากแต่เป็นเพราะเขื่อนจีนปล่อยน้ำออกมาเป็นระลอกใหญ่ เพราะน้ำมากล้นเกินความต้องการของเขื่อนจีนในเวลานั้น

หากน้ำท่วมและน้ำแห้งเป็นเพราะฝนมาก หรือเป็นเพราะภัยแล้ง น้ำจะไม่ขึ้นลงเร็วฉับพลันในระดับนี้

2. สาละวินปกติ โขงผิดปกติ 

            ในขณะที่น้ำโขงขึ้นเร็วลงเร็วผิดปกติ ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีข้อเท็จจริงว่า แม่น้ำสาละวินซึ่งมีต้นน้ำจากที่ราบสูงทิเบตทางตอนเหนือของจีน แหล่งกำเนิดเดียวกับต้นน้ำโขง ไหลคู่ขนานมากับแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานเข้าสู่พม่า ปรากฎว่าน้ำในแม่น้ำสาละวินไหลเคลื่อนอย่างอิสระ กล่าวคือ เมื่อฝนตกระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ย่างเข้าหน้าแล้งน้ำจะแห้งลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการขึ้นลงเร็วอย่างผิดปกติ

            นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เพิ่งเดินทางกลับจากการล่องน้ำสาละวินเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2553 กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าวันนี้แม่น้ำสาละวินยังคงไหลได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีเขื่อนกั้น ทำให้แม่น้ำยังคงอุดมสมบูรณ์และชาวบ้านอยู่ดีกินดี แตกต่างจากแม่น้ำโขงที่กำลังวิกฤต ทั้งน้ำท่วมและน้ำแห้งจนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า” (น.ส.พ.มติชน 15 มีนาคม 53)

3. สัดส่วนที่เป็นจริงของปริมาณน้ำ   

            ตามตัวเลขของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) ระบุว่าลำน้ำโขงนั้น มีสัดส่วนของน้ำดังนี้

            จีน 16% ลาว 35% ไทย 18% กัมพูชา 18% เวียดนาม 11

            นี่เป็นเหตุให้จีนกล่าวอ้างว่า จีนมีส่วนต่อน้ำโขงเพียงเล็กน้อย

            ความจริงก็คือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเฉลี่ยตลอดทั้งปี และเป็นการวัดที่ปากน้ำโขงตรงเวียดนามที่ไหลลงทะเลจีนใต้ และเป็นการวัดในช่วงฤดูฝน (ดูกราฟตารางเปรียบเทียบ)

            ตารางของ MRC ทั้ง 2 นี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นความจริงในฤดูฝนมีสัดส่วนน้ำจากจีนเพียง 16% ที่ปากแม่น้ำโขง เพราะน้ำจากแม่น้ำสาขาในลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เข้ามาเติมน้ำโขง

            แต่ในฤดูแห้ง บริเวณอำเภอเชียงของ เชียงแสน และเวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นพื้นที่รับน้ำจากจีนเต็ม ๆ ถึง 95% และอยู่ห่างจากจีนเพียง 200 กิโลเมตร ไม่มีแม่น้ำสาขาใหญ่ของลาวมาเติมแต่อย่างใด

            นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่าน้ำโขงแห้งในระยะเดือนเศษที่ผ่านมาเป็นเพราะเขื่อนจีนเป็นปัจจัยสำคัญ

4. ผู้ว่าสิบสองปันนายอมรับว่าเขื่อนจีนกักเก็บน้ำไว้  

            จากการติดต่อระหว่าง คุณสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ผู้เขียนจึงโทรศัพท์คุยตรงกับคุณสุเมธ ซึ่งแจ้งว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพบว่าน้ำโขงแห้ง ท่านจึงโทรศัพท์คุยกับนางเตาหลินอิง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เพื่อหารือเรื่องแม่น้ำโขงแห้ง  โดยนางเตา หลินอิง ยอมรับว่า “จำเป็นต้องกักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ เพราะยูนนานแห้งแล้งมาก”

            เหตุผล 4 ประการนี้ ขอหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งกับผู้แทนสถานทูตจีนเพื่อตรวจสอบความเป็นจริงระหว่างภัยแล้งกับการกักเก็บน้ำของเขื่อนจีน อะไรเป็นสาเหตุหลัก อะไรเป็นสาเหตุรอง

            หากจีนยืนกรานว่าเขื่อนจีนไม่ได้เป็นสาเหตุให้น้ำโขงแห้ง ก็แปลว่าการร่วมมือกันฉันท์มิตรของ 6 ประเทศรวมถึงจีนด้วย คงเป็นไปได้ยาก

            การประชุม 6 ชาติลุ่มน้ำโขง โดยมีจีนกับพม่าร่วมสังเกตการณ์ต้นเดือนเมษายนนี้ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะผ่านไปโดยไม่ได้มีแนวทางอะไรที่จะไปแตะต้องเขื่อนจีนทั้ง 3 แห่ง และเขื่อนจีนกั้นแม่น้ำโขงอีก 5 แห่ง ที่กำลังก่อสร้างก็จะเดินหน้าต่อไป

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา