eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ประชาชนริมฝั่งโขงไม่เอาเขื่อน รายงาน SEA ชี้ชัดมีผลกระทบมหาศาล

ให้เริ่มต้นเวทีชี้แจงข้อมูลอีไอเอไซยะบุรีใหม่อีกครั้ง

ถาม ช.การช่างและกลุ่มทุนธนาคารไทยสัญชาติอะไร?

 รายงานโดย : โครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง   ๒๒ ม.ค.

                เชียงของ : ๒๒ ม.ค. นี้ เวลา ๙.๐๐ น. สำนักงานเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู โรงเรียนหัวเวียงโกศัลย์วิทย์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีชาวบ้านริมฝั่งโขง เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ และนักวิชาการ กว่า ๕๐ คน เข้าร่วมอภิปราย บรรยากาศในช่วงเช้าเต็มไปด้วยความสงสัยต่อการทำงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และต่อหลักธรรมาภิบาลของบริษัท ช. การช่าง

            ดร.วิเทศ ศรีเนตร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธสาสตร์ (SEA) และกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) โดยมีนางผกาวรรณ จุฟ้ามาณี ผอ.สำนักประสานงานต่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ เป็นผู้จัดกระบวนการประชุมและให้ข้อมูลเพิ่มเติม

            ดร.วิเทศ ศรีเนตร ให้ข้อมูลว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธสาสตร์ (SEA) ทั้ง ๑๒ เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนล่างนี้  แม้จะมีรายงานของคณะที่ปรึกษาเสนอให้ชะลอการสร้างเขื่อนไปเป็นระยะ ๑๐ ปี และมีประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนกับการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ในระดับประเทศและท้องถิ่นเป็นสำคัญ ทว่ารายงานนี้มีเป้าหมายที่ส่งต่อให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของแต่ละประเทศตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพิจารณาโครงการใด โครงการหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด

            ส่วนกระบวนการภายใต้ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งให้ทราบ การปรึกษาหารือล่วงหน้าและการตกลง (PNPCA) ตามที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้ยื่นความประสงค์ในการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกต่อเอ็มอาร์ซี ในวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๕๓ มีบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทยเป็นผู้ลงทุน และมีการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลาการดำเนินงานกระบวนการนี้ ๖ เดือน จะแล้วเสร็จในวันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๓

            อย่างไรก็ตาม ในเวทีได้แจกแจงเพียงเอกสารรายงานบทสรุปฉบับสุดท้ายของการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลักกับเอกสารจากเพาเวอร์พอยท์ที่ชี้แจงกระบวนการการทำ SEA กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และประเด็นการพิจารณาข้อเสนอโครงการเขื่อนไซยะบุรีของ MRC ที่ระบุว่ามีประเด็นใดที่เอกสารของผู้เสนอโครงการยังขาดอยู่เท่านั้น ทว่ายังขาดรายละเอียด รวมทั้งเอกสารรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเขื่อนไซยะบุรี หรือ EIA ซึ่งเป็นเอกสารที่ผู้เข้าร่วมเห็นว่าเป็นข้อมูลสำคัญซึ่งจะให้ข้อมูลที่ช่วยในการพิจารณาให้ความเห็นที่ดี ทำให้เกิดการทวงถามจากที่ประชุมว่า จะพิจารณากันอย่างไรหรือตัดสินใจกันอย่างไร ในเมื่อข้อมูลโครงการฯ และรายงานอีไอเอ (EIA) ซึ่งจัดทำโดยบริษัททีมคอลซัลติ้งเอนจิเนียริ่งแอนด์แมนเนจเมนท์ จำกัด ยังไม่ได้รับการเปิดเผยสู่การรับรู้ของประชาชนอย่างทั่วถึง ยังไม่เป็นกระบวนการที่เป็นสากลโลกทำกัน รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของการจัดทำอีไอเอ (EIA) นี้เป็นอย่างไร

            นางผกาวรรณ จุฟ้ามาณี ผอ.สำนักประสานงานต่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวให้ข้อมูลว่า การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องระหว่างประเทศ อีไอเอ (EIA) เป็นลิขสิทธิ์ของลาวไม่ให้เปิดเผย การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจึงติดเรื่องข้อกฏหมายและระเบียบ รวมทั้งอีไอเอ (EIA) เป็นภาษาอังกฤษมีความหนามากและยังไม่แปลเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม ดร.วิเทศ ศรีเนตร กล่าวเสริมว่า รายงานอีไอเอ (EIA) เขื่อนไซยะบุรี ยังขาดเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะจัดทำในกรอบจำกัดเฉพาะบริเวณรอบที่ตั้งเขื่อน

            นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า การเปิดเผยรายงานอีไอเอ (EIA) กระทำได้ตามหลักสากลของคณะกรรมการเขื่อนโลก และแม้อีไอเอ (EIA) จะเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาระของประชาชนหรือเอ็มอาร์ซี (MRC) ที่ต้องมาแปล แต่ต้องเป็นภาระของบริษัททีมคอลซัลแตนท์ฯ กับบริษัท ช.การช่าง ที่เป็นผู้ศึกษาและเป็นผู้เสนอโครงการ นอกจากนี้ เวทียังขาดรายงานเอกสารอีไอเอ (EIA) ที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ เวทีนี้จึงเป็นเพียงเวทีการให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่เวทีประชาพิจารณ์ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้เสร็จสิ้นแล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการ PCNCA หรือประชาพิจารณ์

            ด้าน ดร.รองศาสตราจารย์ ชัยยุทธ สุขศรี หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ กล่าวว่า ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ข้อ ๔ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สิทธิการสร้างหรือไม่สร้างเป็นเอกสิทธิ์ของ สปป.ลาว ประเทศอื่นหาศึกษาหาผลกระทบต่างๆ เพื่อการเสนอความคิดเห็นเท่านั้น แต่การตัดสินใจเป็นของ สปป.ลาว ซึ่งรายงาน SEA และกระบวนการ PCNCA เป็นเพียงฉันทานุมัติของข้อสรุป แต่ไม่ใช่ฉันทานุมัติในการตัดสินใจการสร้างเขื่อนหรือไม่ และเป็นการพยายามเสนอข้อมูลเพื่อให้โครงการนั้นดีขึ้น แต่เอกสิทธิ์การตัดสินใจเป็นของ สปป.ลาว ไม่ใช่คณะกรรมาธิการร่วมหรือผลจากการประชุมร่วม

            พ่อหลวงทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นหมู่บ้านท้ายสุดในเขตน้ำโขงของไทยในส่วนของภาคเหนือ กล่าวว่า ประชาชนบ้านห้วยลึกต้องพบกับกรณีการพัฒนาจากส่วนกลางที่จะมีผลกระทบกับชุมชน โดยที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลก่อนในลักษณะนี้มาหลสยต่อหลายครั้ง จากการกระทำของรัฐที่คิดว่าจะเป็นที่พึ่งได้ของชาวบ้านริมน้ำโขง หนึ่งเรื่องการปักปันเขตแดนที่ผาได สองเรื่องการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง มาครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม อยู่ๆ ก็รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อน ครั้งแรกก็มีข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนปากแบงก่อน บ้านผมจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมก่อนถึงเชียงของ ตรงนี้เราเคยยื่นหนังสือให้ชะลอการสร้าง

ครั้งนี้จะสร้างเขื่อนไซยะบุรี คนเชียงของ เวียงแก่น ไปจนถึงอีสานเพิ่งได้รับข้อมูล ผมหวังว่าคณะกรรมาธิการของไทยจะเป็นที่พึ่งพาของราษฎรไทยทั้งหมดที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิง หากิน เติบโตมากับน้ำโขง แต่กระทั่งข้อมูลก็ยังมีการปิดบังอยู่ พวกผมยืนยันเลยว่ายังไงก็ไม่เอาเขื่อน เพราะผลกระทบมีมากมาย ไหนจะสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน พวกผมเติบโตมากับแหล่งน้ำแห่งนี้ใช้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ถ้ามีการสร้างเขื่อนข้างล่าง ข้างบนก็มีเขื่อนจีนแล้ว ถึงเวลาน้ำหลากมา ข้างบนปล่อยน้ำ ข้างล่างปิดเขื่อน อะไรจะเกิดขึ้น เราก็ลอยแพตายกันหมดครับ แต่ถ้ามันท่วมถึงกรุงเทพฯ ไม่ว่ากันตายก็ตายด้วยกันหมด

            นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา  กล่าวว่า เมื่ออ่านรายงาน SEA แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่า มีผลกระทบมากมายทั้งระบบนิเวศ พันธุ์ปลา พันธุ์สัตว์น้ำ และวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง แต่ประเด็นสำคัญคือเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำโขงใครได้รับผลประโยชน์จากไฟฟ้ามหาศาล คาดว่าเป็นภาคอุตสาหกรรม เพราะเทียบกันแล้วชาวบ้านใช้ไฟฟ้าในแต่ละหลังน้อยนิดเท่านั้น

ส่วนนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า  หากเราไม่ใช้ความรู้ตัดสินกันแล้วเราจะมีความหวังอะไรกันอีกกับประเทศไทย เท่าที่ชี้แจงมาก็บอกว่ายังไม่มีข้อมูล ยังไม่มีความรู้เรื่องแม่น้ำโขงที่เพียงพอ เพราะแม่น้ำโขงมีความหลากหลายซับซ้อน แล้วจะสร้างกันไปทำไมอีก ผลกระทบจากเขื่อนจีนก็มีแล้ว รายงาน SEA ก็ชัดเจนแล้วในผลกระทบ แล้วจะสร้างไปเพื่อความโลภของบริษัท ช.การช่าง หรืออย่างไร? บริษัทนี้และธนาคารทั้งสี่ที่ให้ทุนน่าจะย้ายไปอยู่ประเทศลาว

 

ในช่วงท้ายของเวทีมีข้อเสนอทิ้งท้ายจากผู้เข้าร่วมในหลายประเด็นที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือนายหาญณรงค์ เห็นว่าความชัดเจนของเวทีนี้คือมีความไม่แน่นอนในหลายประเด็น ซึ่งเห็นควรนำไปสู่ข้อเสนอใน SEA ที่ให้ชะลอไปก่อน ๑๐ ปี

“ขณะนี้มีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน EIA ยังเปิดเผยไม่ได้ แม้แต่รายงานเรื่องที่ผู้เสนอโครงการยังไม่ได้ทำและจะทำหรือไม่ จะส่งกลับมาเมื่อไหร่ MRC ก็ตอบไม่ได้ ผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้างก็ยังไม่รู้ ผมจึงมีความเห็นสอดคล้องกับหลายท่านว่าให้เลื่อนไป ๑๐ ปี เพื่อทำทุกอย่างให้ชัดเจน กรณีเขื่อนไซยะบุรี ไทยถูกอ้างว่าเป็นผู้ลงทุน เป็นเจ้าของโครงการ ช.การช่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ธนาคารไทยให้การสนับสนุนและคนไทยก็จะใช้ไฟจากเขื่อนนี้ตั้ง ๙๐ % ในฐานะเป็นคนไทย ถ้ามีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีก็เหมือนเราร่วมมือกันข่มขืนแม่น้ำโขง และเราจะบอกว่าจีนทำให้แม่น้ำไม่ไหลลงมาไม่ได้อีก อีกประการผมเห็นว่า ดร.วิเทศ มีข้อจำกัดในการตอบคำถาม เป็นไปได้หรือไม่ที่ในเวทีแบบนี้จะให้บริษัทที่ปรึกษา เจ้าของโครงการเป็นผู้ที่มาตอบคำถาม แทนที่ MRC จะมาเป็นหนังหน้าไฟอย่างที่เป็นอยู่

ด้านนายจิรากร คชเสนีย์ อาจารย์อาวุโส สถาบันการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความเห็นว่า “ในทางวิชาการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมบอกไว้ชัดเจนว่า ถ้าข้อมูลการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม ยังไม่แน่นอนสมบูรณ์ รวมทั้งความโปร่งใสของกระบวนการมีส่วนร่วม ประเทศต่างๆ ได้ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วว่า ต้องใช้หลักของการปลอดภัยไว้ก่อน ซึ่งกรณีเขื่อนไซยะบุรีนี้ชัดเจน ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลของสปป.ลาวเองก็ไม่สามารถดิ้นจากหลักนี้ได้ อีกประการผมเห็นว่าเวทีนี้ไม่ใช่หน้าที่หรือบทบาทของ MRC แต่ควรเป็นของบริษัทที่ทำ EIA เจ้าของโครงการที่ต้องชี้แจงข้อมูล เพราะเป็นกระบวนการชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่เวทีวันนี้เหมือนการข้ามขั้นตอน”

เช่นเดียวกับนายนิวัฒน์ที่กล้าวทิ้งท้ายพร้อมสรุปปิดเวทีในครั้งนี้ “วันนี้คิดว่าพวกเราเข้าใจเหมือนกันว่าขั้นตอนยังไม่แน่นอน และเป็นแค่การให้ข้อมูลเบื้องต้นไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง แต่อย่างน้อยต้องขอขอบคุณ MRC ที่ได้ปรับเปลี่ยนบทบาท การมาร่วมกันระหว่าง MRC และภาคประชาชนผมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราหวังมาตลอด ผมอยากให้ MRC เมืองไทยรักษาเมืองไทย ทุกวันนี้ประชาชนยังหวังพึ่งข้าราชการให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวัฒนธรรมการทำงานให้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงจัง ผมว่า ๑๐ ปีเลื่อนออกไปอย่างน้อยการพัฒนาแนวคิดของผู้คนในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็จะเปลี่ยนไป และถ้าศึกษาอย่างถูกต้องจริงจังจริงๆ ยังไงก็ไม่ได้สร้าง เพราะสถานการณ์แม่น้ำโขงทุกวันนี้มีเรื่องย่ำแย่มากมาย และเขื่อนจะยิ่งซ้ำเติมเข้าไปอีก ขอให้ MRC เป็นกรรมาธิการของคนลุ่มน้ำโขงจริงๆ หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดลจิตดลใจของพวกเราทุกคนให้ต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขงด้วยความรักและศรัทธาเพื่อโลกนี้และวันข้างหน้าของลูกหลานเราที่จะเกิดมา

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา