eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
เรื่อง คัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงอันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จำนวน 5 ครั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และสิ้นสุดที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554   เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดดังกล่าวที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในสปป.ลาว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้เลยในขณะที่โครงการก่อสร้างเขื่อนนี้มีการดำเนินงานไปอย่างเร่งรีบ และคาดว่าจะมีการประชุมแสดงความเห็นชอบอนุมัติโครงการดังกล่าวในวันที่ 19 เมษายน นี้

เขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เหนือขึ้นไปจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงประมาณ 200 กิโลเมตร ตัวเขื่อนมีความยาว 810 เมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา 4 เขื่อนจีนที่กั้นแม่น้ำโขงแม้จะอยู่ไกลกว่าเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน   ถ้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จจะเกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวลาว กัมพูชา เวียดนาม และที่สำคัญคือประเทศไทยทั้ง 8 จังหวัดดังกล่าวรวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง   ผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ การปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาโดยเฉพาะปลาบึก   การทำลายระบบนิเวศทั้งระบบของแม่น้ำโขง   การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมริมฝั่งโขง   ผลกระทบทางเศรษกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ อันเป็นการทำลายวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงโดยตรง

สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลไทยจะต้องรับผิดชอบต่อการทำลายแม่น้ำโขงครั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทช.การช่างของไทยไปสร้างเขื่อนนี้ ทุนที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็คือ 4 ธนาคารของไทย และคนที่รับซื้อไฟฟ้าก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ถึงร้อยละ 95
จากการประชุมกับเครือข่ายดังกล่าวได้มีมติเห็นพ้องต้องกันที่จะแสดงเจตนารมณ์ว่า “พวกเราไม่ต้องการเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนใดๆในแม่น้ำโขง และพร้อมที่จะต่อสู้จนถึงที่สุด” มติของเครือข่ายฯ ได้มีข้อสรุปที่จะให้การดำเนินงานร่วมกัน คือ ประการแรก จะมีการล่ารายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเพื่อยื่นเสนอต่อนายกรัฐมนตรีของไทย และผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลของประเทศเขมร ลาว และเวียดนาม ในวันที่ 18 เมษายน นี้   ประการที่สอง รณรงค์ติดป้ายแสดงจุดยืนของประชาชน 90 ตำบลลุ่มน้ำโขง ว่าไม่เอาเขื่อนไซยะบุรีและพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี   ประการที่สาม จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการปกป้องแม่น้ำโขงของเครือข่ายดังกล่าว   ประการที่สี่ การจัดทำข้อมูลท้องถิ่นเกี่ยวกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนทั้งหมดตลอดล้ำน้ำโขง รวมทั้งข้อมูลความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนต่อศาลปกครอง

ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเรียกร้อง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาลและผู้กำกับดูแลรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการสร้างเขื่อนดังกล่าว ดังนี้

  1. ให้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสร้างเขื่อนดังกล่าว เพื่อปกป้องประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศ
  2. ให้ยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยร่วมปกป้องทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขง และวัฒนธรรมของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง ให้สามารถดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืน
  3. ให้เลื่อนการตัดสินใจการให้ความเห็นชอบต่อการสร้างเขื่อนดังกล่าวของตัวแทนแต่ละประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2554 นี้ออกไป เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและชัดเจน พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง

เราคาดหวังว่ารัฐบาลไทย จะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของคนส่วนน้อย แต่ทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงนับล้านคนให้ซ้ำหนักลงไปอีก เราคาดหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถบริหารประเทศด้วยความเที่ยงธรรม และรับฟังความเห็นของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
ณ จังหวัดอุบลราชธานี
8 เมษายน 2554

“หยุดทำร้ายแม่น้ำโขง หยุดกั้นเส้นทางปลาบึก  หยุดทำลายบั้งไฟพญานาค

หยุดสร้างเขื่อนไซยะบุรี !”

 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา