eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
อาคารที่ทำการอำเภอเมืองหนองคาย (หลังเก่า)
ถ.ประจักษ์ อ.เมือง จ.หนองคาย 43000

วันที่    22   เมษายน   2554

เรื่อง     ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเขื่อนไซยะบุรีและเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว

กราบเรียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            ตามที่  เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ติดตามข้อมูลการสร้างเขื่อนไซยะบุรี มาด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ   

ที่ผ่านมา  เครือข่าย ฯ ได้เข้าร่วมเวทีชี้แจงข้อมูล ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย  3 เวที และ มีการจัดเวทีของภาคประชาชนในเขตลุ่มน้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด จำนวน  8 ครั้ง  ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีไทย 3 ครั้ง   นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  สมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน   โดยภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการชะลอการตัดสินใจโครงการออกไปก่อน  จนกว่าจะได้มีการเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมด   ตลอดจนขอให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นที่เปิดกว้างและมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย    เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนทั้งลุ่มน้ำ  รวมทั้งความมั่นคงทางอาหารที่เอื้อประโยชน์ต่อภูมิภาคอื่นๆด้วย

ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ให้แต่ละประเทศจัดกระบวนการรับฟังความเห็น ซึ่งกระบวนดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด แต่มีรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า ได้มีการดำเนินการก่อสร้างและเตรียมอพยพชาวบ้านแล้วล่วงหน้า นั่นแสดงถึงการไม่เคารพกติกาและได้ละเมิดข้อตกลง

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศคือ สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ณ กรุงเวียงจันทน์ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นพ้องร่วมกันว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ควรจะยกให้ระดับรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ  

ในขณะเดียวกัน  ประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ แสดงความกังวลถึงผลกระทบ และมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน    แต่ทางรัฐบาลลาวกลับยืนกรานว่ากระบวนการทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องยืดเวลาออกไปอีก เนื่องจากผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น   และหากมีการศึกษาเพิ่มเติมจะต้องเสียเวลาอีกมากกว่า 6 เดือน   ดังนี้แล้วเท่ากับว่ารัฐบาลลาวได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยอมรับฟังเสียงของประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพิงทรัพยากรแม่น้ำโขงร่วมกัน

พวกเราเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงผู้กำลังประสบความเดือดร้อนอย่างหนักจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน   เนื่องจากระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป น้ำขึ้นลงไม่ปกติมีผลต่อห่วงโซ่อาหาร การขยายแพร่พันธุ์ของปลา ทำให้ปริมาณปลาลดลงและบางชนิดใกล้สูญพันธุ์

นอกจากนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำแห้ง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลและมีผลการศึกษาอย่างชัดเจนว่าเกิดจากเขื่อนจีน   ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่อยู่ริมน้ำโขงอย่างมากมาย และความเสียหายดังกล่าวยังไม่ได้รับการชดเชยเยี่ยวยา (ข้อมูลความเสียหายจากกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2551 ของจังหวัดเชียงราย เป็นจำนวนเงินถึง 85 ล้านบาท)

รวมถึงการพังทลายของตลิ่งริมฝั่ง และที่สำคัญร่องน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีผลต่อแนวเขตแดนระหว่างประเทศซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงขึ้นอีก ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดขึ้นอีกมากมายแน่นอน   โดยเฉพาะเขื่อนที่จะกั้นในช่วงกลางของแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนไซยะบุรีที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้กับทุกประเทศในลุ่มน้ำโขง ยังเป็นการทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารสำคัญของโลก

ที่สำคัญหากรัฐบาลลาว  ไม่เคารพกติกาของการอยู่ร่วมกัน ไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมิตรประเทศ จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขงซึ่งดำรงความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งเท่ากับสร้างผลกระทบสู่ประชาคมอาเซียน

ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงกราบเรียนมายังท่าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวและเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว   เพื่อระงับโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไว้ก่อน โดยให้เคารพต่อสิทธิและความคิดเห็นของประเทศร่วมภูมิภาค   เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดตามมา และธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของชีวิต ธรรมชาติ และสันติภาพในภูมิภาค

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านในฐานะผู้นำอาเซี่ยน  ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงด้านต่างๆในภูมิภาค จะเล็งเห็นถึงความสำคัญของข้อเรียกร้องของภาคประชาชน    และเร่งดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาที่กำลังจะก่อตัวขึ้น

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประเทศไทย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา