eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เครือข่ายเอ็นจีโอ 2 ฝั่งโขงค้านโครงการผันน้ำ จี้ให้ทำประชาพิจารณ์

กรุงเทพธุรกิจ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อแม่น้ำโขง เปิดแถลงข่าวค้านโครงการผันน้ำโขงของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องเปิดข้อมูลโครงการอย่างละเอียด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :      เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ประกอบด้วย นายมนตรี จันทวงศ์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาอุดรธานี และ น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกันแถลงข่าว ชี้แจงกรณี เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมสำเนาถึงสมาชิกคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทักท้วง และเรียกร้องความโปร่งใส และธรรมาภิบาลในกระบวนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ ประเด็นที่ระบุว่า รัฐบาลบิดเบือน และไม่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผันน้ำ – สร้างเขื่อนน้ำโขง พร้อมเสนอแผนที่ แผนผัง และลักษณะสภาพชีวิตจริงของพื้นที่เป้าหมายของโครงการดังกล่าว

     นายมนตรี กล่าวว่า การแถลงข่าวร่วมกันในวันนี้ถือเป็นการตอกย้ำเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ที่ส่งถึงนายสมัคร โดยเฉพาะประเด็นที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ไม่ควรละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมานายสมัคร ใช้เวทีในรายการ “พูดจาประสาสมัคร” ประกาศต่อสาธารณชนว่าเตรียมจะดำเนินโครงการผันน้ำจากน้ำงึมมายังประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการลัดขั้นตอน ทั้งที่การศึกษาต่างๆ ยังทำไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นการชี้นำ เพื่อเอาใจฝ่ายการเมืองโดยไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนเลย

     อีกทั้ง เครือข่ายเห็นว่า รัฐบาล หรือนายสมัคร พยามยามที่จะเล่นคำ เพื่อจะทำให้โครงการใหญ่ๆ กลายเป็นโครงการเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลกระทบมาก เช่น จากคำว่าเขื่อน ก็กลับบอกว่าเป็นแค่ฝาย เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดทั้งๆ ที่ โครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลกระทบมาก

     “แนวผันน้ำ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว-ชี ถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีพื้นที่ที่ต้องใช้ในโครงการรวมแล้ว ถึง 3 ล้านกว่าไร่ ชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะกำหนดไว้ว่าโครงการใดที่มีพื้นที่มากกว่า 80,000 ไร่ขึ้นไปจะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กลับบบอกว่า โครงการนี้ไม่ต้องทำอีไอเอ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

 และเครือข่ายจะเดินหน้าเรียกร้องทั้ง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงพลังงาน กรมชลประทาน ให้ เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องอย่างละเอียด รวมทั้งควรจะเปิดเวทีให้มีการพูดถึงข้อดีและข้อเสียของการทำโครงการให้ชัดเจน โดยเฉพาะกระบวนการภายในประเทศ ก่อนที่รัฐบาลจะไปเซ็นต์เอ็มโอยู กับประเทศลาว ในขณะที่ในประเทศยังไม่ความพร้อมเลย”นายมนตรีกล่าว และว่า ยังมีทางเลือกอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลทักษิณ ก็เคยใช้โครงการขุดสระน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนกระจายไปยังพื้นที่ทำการเกษตรต่างๆ แต่ มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องการประมูลการขุด ที่เป็นการนำเอกชนจากส่วนกลางเข้าไป โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทำเอง ทำให้โครงการล้มไปในที่สุด 

     นายมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นของความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค รวมไปถึงความเชื่อเรื่องกำเนิดของแม่น้ำโขงที่ถูกสร้างขึ้นจากพญานาค เป็นความเชื่อของชาวอีสานของไทย รวมไปถึง ชาวลาว และชาวกัมพูชาด้วย ซึ่งรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีไม่ควรนำเรื่องนี้มาล้อเล่นเป็นเรื่องตลก เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

     “ผมอ่านหนังสือพิมพ์เห็นว่ารัฐมนตรีอนงค์วรรณ เทพสุทิน ให้สัมภาษณ์ออกมาไม่เหมาะสม จึงควรระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีการสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขงขึ้นจริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงกระแสการไหลของแม่น้ำโขง รวมไปถึงระบบนิเวศอื่นๆ ที่แม้เรื่องนี้จะเป็นแค่ความเชื่อ แต่ก็ยังต้องรอผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อยู่ การที่รัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์แบบสนุกปากจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

     นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความสับสนในส่วนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวผันน้ำไหนก่อน ซึ่งมีอยู่ 2 พื้นที่กำลังเป็นปัญหา ในส่วนของ แนวที่มีความเป็นไปได้มากที่รัฐบาลจะเลือกก็คือ แนวผันน้ำงึม-ห้วยหลวง นั้น ชาว จ.หนองคายค่อนข้างมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบด้านความรู้สึกเกี่ยวกับการเกิดบั้งไฟพญานาค ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและ อ่อนไหวมากโดยเฉพาะกับชาวไทย และชาวลาวสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยส่วนใหญ่มีความกังวล และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อแม่น้ำสายนี้

     “ในส่วนของระบบนิเวศนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าจะต้องมีผลกระทบแน่นอน ดังนั้นควร จะต้องศึกษาและเปิดเวทีคุยกันอีกยาว แต่เรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องลึกซึ้ง และอ่อนไหว เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน หลังจากที่นายกฯพูดออกมาชาวบ้านต่างก็มีความกังวลและเป็นห่วงต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

     สำหรับประชาชนในพื้นที่ จ.เลย ที่พบว่าจะมีแนวผันน้ำอีกแนวหนึ่งเกิดขึ้นนั้นก็มีความห่วงใยเรื่องผลกระทบของแม่น้ำเลย รวมไปถึงแม่น้ำเล็กๆ อื่นที่อาจจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหากมีการสร้างแนวผันน้ำขึ้นจริงๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหายไปของที่ดินทำกิน เนื่องจากการขุดลอกร่องน้ำ อย่างล่าสุด ชาวบ้านที่ลำพะเนียง เพิ่งจะเป็นปัญหากับกรมชลประทานในเรื่องนี้ จึงมีความเป็นห่วงมาก 

     และในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดเวทีเรื่องนี้ขึ้น รวมไปถึง ที่ จ.หนองคาย ก็เตรียมที่จะเปิดเวทีเพื่อถกปัญหาเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญอย่างยิ่งกับชาวหนองคายและคนสองฝั่งแม่น้ำโขง

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา