eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

พพ.ชี้แค่ฝายกั้นโขงไม่ใช่เขื่อน ปัดระเบิดแก่งกระทบ"เขตแดน"

มติชน 1 สิงหาคม 2551

กรมพลังงานทดแทนแจงแค่สร้าง"ฝายกั้นโขง"ไม่ใช่เขื่อน ยันไม่มีระเบิดแก่งจึงไม่กระทบเขตแดน ท่วมฝั่งไทยแค่หมู่บ้านเดียว คาดเอ็มโอยู"ไทย-ลาว"ให้อิตัลไทยฯศึกษาความเป็นไปได้ ชาวอุบลฯค้านหวั่นกระทบวิถีชีวิต อาชีพจับปลา วอนรัฐบาลทบทวน เอ็นจีโองงบัวแก้วทำหน้าที่จัดหาพลังงาน

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน มีหนังสือชี้แจง "มติชน" เรื่อง โครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มูลค่า 90,000 ล้านบาท ที่บริเวณบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ไม่ได้ให้ พพ.ดำเนินการศึกษาโครงการ "ฝายบ้านกุ่ม" ต่อจากที่เคยศึกษาเบื้องต้นเอาไว้ แต่คาดว่าบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัท เอเชียคอร์ปฯ ดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและเสนอให้รัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับ พพ.แต่อย่างใด

นายพานิชชี้แจงต่อไปว่า ในการศึกษาเบื้องต้นของ พพ.จะเกิดน้ำท่วมฝั่งไทยประมาณ 1 หมู่บ้าน จำนวน 29 ครัวเรือน ท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง 5,313 ไร่ คือ บ้านท่าเกวียน อ.โขงเจียม และท่วมฝั่งในเขต สปป.ลาว ประมาณ 3 หมู่บ้าน จำนวน 215 ครัวเรือน ท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง 8,069 ไร่ ทั้งนี้ ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาและการลดผลกระทบของโครงการโดยการสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมตลิ่งเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ส่วนที่มีผู้กังวลว่า หากมีการระเบิดร่องน้ำบริเวณแนวเขตแบ่งแยกดินแดนระหว่างไทยและลาว จะมีผลปัญหาเรื่องเขตแดนนั้น ขอชี้แจงว่า การก่อสร้างฝายขั้นบันไดในแม่น้ำโขง จะไม่มีการระเบิดร่องน้ำ เนื่องจากจะก่อสร้างในลำน้ำ โดยตัวฝายมีลักษณะเป็นฝายน้ำล้น เพื่อทดน้ำและควบคุมการระบายน้ำด้วยประตูเหล็กบานโค้งเท่านั้น

"จากมติ ครม. 11 มีนาคม 2551 ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับอีไอเอ โดยผู้ศึกษาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ต่อไป แต่ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่ได้มอบหมายให้เอกชนรายใดเป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการนี้" นายพานิชชี้แจงในตอนท้าย

ทางด้านความเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบนั้น นางสาคร ขันธิวัฒน์ ราษฎรบ้านเลขที่ 62 หมู่ 5 บ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนบ้านกุ่ม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "ศูนย์ข่าวประชาสังคม" จ.อุบลฯ ว่า ถ้าสร้างเขื่อนแล้วเสียดายเรื่องการหาปลา ชาวบ้านอยู่ที่นี่ได้หาปลาในแม่น้ำโขงเลี้ยงชีวิต ทุกวันนี้ชาวบ้านดงนาเอาปลาแลกข้าวกับคนหมู่บ้านอื่น เลยมีข้าวกิน เพราะที่บ้านดงนาไม่มีที่ให้ทำนา ถ้าไม่เอาปลาไปแลกข้าวก็ขายเอาเงิน มีรถพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ชาวบ้านหาปลาบางวันได้ 50 กิโลกรัม อย่างน้อยก็วันละ 20 กิโลกรัม ถ้าช่วงปลาขึ้น ฝนตก จะได้ปลามาก นอกจากนี้ ชาวบ้านยังปลูกผักตามริมฝั่งแม่น้ำโขงกันแทบทุกหลังคาเรือน ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย ปลูกไว้ทั้งขายทั้งกิน อย่างถั่วลิสงขายได้กิโลกรัมละ 120 บาท เป็นอย่างต่ำ ปีหนึ่งมีรายได้เป็นหมื่น

นางสาครกล่าวอีกว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการสร้างเขื่อนลงพื้นที่มาพูดคุยกับชาวบ้านว่า เขื่อนดังกล่าวมีความจำเป็นต้องสร้างเพื่อประเทศไทยจะได้มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านยังสงสัยว่าไฟฟ้าไม่พอใช้จริงหรือเปล่า เจ้าหน้าที่บอกอีกว่าหากหาปลาไม่ได้เหมือนเดิมจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากเลี้ยงปลาในกระชังเพราะลงทุนสูง ไม่เหมือนการหาปลาธรรมชาติ อยากฝากว่าก่อนจะสร้างเขื่อนต้องศึกษาผลกระทบให้ดีและถี่ถ้วนเสียก่อนว่าได้คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่

นายสำรอง พิมพ์วงศ์ ชาวบ้านปากลา ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ พื้นที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อน เพราะจะกระทบถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม อยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการอีกครั้ง และควรให้ความรู้ประชาชนให้มากขึ้น เช่น น้ำจะท่วมที่ไหนบ้าง จะทำอาชีพอะไร จะต้องอพยพไปอยู่ที่ไหน และหากมีการชดเชยจะมีในลักษณะใด เพียงพอต่อสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่ เพราะที่ดินสามารถใช้ทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ชั่วลูกชั่วหลาน

นางบุตรศรี พวงพันธ์ ชาวบ้านบ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง กล่าวว่า อยากขอให้หยุดโครงการ ไม่อยากให้มาสร้างความเดือดร้อนให้คนริมโขง ซึ่งทำมาหากินมาหลายชั่วอายุคน

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า เมื่อปลัดกระทรวงพลังงานไม่เห็นเอ็มโอยูศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนกั้นโขง ปฏิเสธไม่ได้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องออกมาชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในเมื่อกระทรวงนี้ไม่มีหน้าที่สร้างเขื่อน หรือทำเรื่องการซื้อขาย หรือจัดหาพลังงาน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา