eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

คนเชียงรายโวยเขื่อนจีนทำแม่น้ำโขงวิกฤติหนัก เหือดจนไทย-ลาวชิดติดกัน

โดย : สำนักข่าวประชาไท www.prachatai.com วันที่ : 5/4/2550

คนเชียงรายอ่วมเจอวิกฤติแม่น้ำโขงแห้งขอด จนแผ่นดินไทย-ลาวเกือบชิดติดกัน โวยสาเหตุปัญหามาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนของจีน ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงท้ายน้ำอย่างหนัก                        

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงในตอนนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติอย่างหนัก เนื่องจากระดับน้ำนั้นแห้งจนทำให้แผ่นดินไทย-ลาว ยื่นติดกัน เดินข้ามถึงกันได้ ซึ่งจากการพูดคุยถึงปัญหาเรื่องน้ำแห้งนี้ ทุกคนต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า ผลกระทบนั้นมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทาง ตอนบนของประเทศจีนอย่างแน่นอน

“ปีที่แล้วก็เกิดน้ำโขงเอ่อท่วมในพื้นที่ อ.เชียงแสน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อถามเพื่อนที่ทำงานในจีน เขาก็บอกว่าน้ำมันท่วมที่จีน ก็เลยต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมา มาตอนนี้ก็เกิดปัญหาน้ำแห้งเพราะทางจีนเปิด-ปิด กักน้ำเอาไว้อีก”

นายมิติ กล่าวอีกว่า ล่าสุดมีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาในพื้นที่ อ.เชียงแสน เพื่อสอบถามข้อมูลถึงเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำโขงจากการเดินเรือ ซึ่งได้ตรวจวัดระดับน้ำ ตะกอน และการพังทลายของตลิ่งในฝั่งลาว ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงถึงผลกระทบของปัญหาน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำโขง ว่ามาจากการเขื่อนทางตอนเหนือของจีน แต่ทางนักวิชาการกลุ่มนี้ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากการสร้างเขื่อนของจีน

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงนั้น ได้กระทบต่อน้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำคำ แห้งเหือดไปด้วย ซึ่งทำให้เกษตรกรเดือดร้อนกันอย่างหนัก หลังจากเก็บใบยาสูบแล้ว ต้องหยุดการเพาะปลูกผัก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสาขาไหลลงแม่น้ำโขงจนหมด

นายเสาร์ ระวังศรี ชาวประมงหาปลา จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวถึงปัญหาในครั้งนี้ว่า สาเหตุนั้นมาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนของประเทศจีน ซึ่งสังเกตได้ว่าตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนข้างบน ก็เจอปัญหาแบบน้ำขึ้น-น้ำลงอย่างนี้มา 3 ปีแล้ว ทำให้ปลาลดหายไปหมด

“นอกจากนั้น ยังกระทบต่อแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีกด้วยพอน้ำโขงมันแห้งอย่างนี้ น้ำโขงมันขึ้น-ลง น้ำสาขาน้ำห้วยก็แห้งลงด้วย เพราะพอน้ำโขงมันลง น้ำห้วยน้ำสาขาที่ไหลลงน้ำโขงก็ถูกดึงลงมาด้วย น้ำสาขาก็แห้ง ห้วยก็แห้ง ปลาก็หาที่อยู่ในน้ำสาขาลำบาก อย่างดอนทรายบางดอนไม่มี พอมาปีนี้มีดอนทราย อย่างหาดจั่นปีนี้ทรายมูนกว่าปีก่อน ห้วยโตนน้ำก็น้อย เพราะน้ำโขงดึงน้ำจากห้วยโตนลงมาเยอะ”

นายชฏิล เฉียบแหลม คนขับเรือรับจ้างในแม่น้ำโขง กล่าวว่า  ตั้งแต่ที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนทางตอนบน กระแสน้ำเปลี่ยนไปมาก ดอนทรายที่เคยมีก็ไม่มี บางที่ไม่เคยมีดอนทรายกลางน้ำก็กลับมี กระแสน้ำขึ้น-น้ำลงไม่ปกติ ปัญหาเหล่านี้มันมาจากเขื่อนทั้งนั้น

“อย่างถ้าเรือจีนจะล่องลงมา ถ้าน้ำไหลน้อยเขาก็จะปล่อยน้ำจากเขื่อนให้น้ำสูงขึ้น เพื่อให้เรือล่องลงมาได้ จีนเขาไม่สนใจหรอกว่าใครจะเป็นยังไง เขาจะล่องเรืออย่างเดียว”      

ด้านนายสุมาตร ภูลายยาว ผู้ประสานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า จากการได้สอบถามกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ประเทศจีน มีการสร้างท่าเรือตามที่ต่างๆ และปริมาณเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้นในแม่น้ำโขง ชาวบ้านพบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวบ้าน 2 ประการ คือ 1.ตั้งแต่ทางการจีนได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงบริเวณต้นน้ำในเขตจีนทำให้จีนสามารถควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนว รวมทั้งการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งหมด และ 2.น้ำในแม่น้ำโขงมีสีขุ่นข้น ทั้งที่แต่เดิมน้ำในฤดูแล้งจะใส ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ใต้น้ำ รวมทั้งพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ด้วย

“จะเห็นได้ว่า เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้ปลาที่เคยเข้ามาสู่แม่น้ำโขงปรับตัวไม่ได้ ทำให้พันธุ์ปลาลดน้อยลง นอกจากนี้พันธุ์พืชที่เคยอยู่ในแม่น้ำโขง ตามเกาะแก่งต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบ เช่น ไก ที่ก่อนหน้านี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ไกจะเริ่มเจริญเติบโต ทำให้กลุ่มแม่บ้านในเขตอำเภอเชียงของสามารถนำมาปรุงแต่งออกจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมทุก ๆ ปี แต่ปีนี้กลับไม่มีไกเกิดขึ้นเลย”

ทั้งนี้ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต รายงานว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 10 และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความ อุดมสมบูรณ์ที่สุด ของโลก จากต้นกำเนิดในที่ราบสูงทิเบต จนไหลลงสู่ ทะเลที่ประเทศเวียตนาม รวมความยาวทั้งหมดกว่า 4,902 กิโลเมตร ทำหน้าที่หล่อเลี้ยง ประชาชนกว่า 60 ล้านคนใน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ไทย ลาว เขมร และ เวียตนาม แม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบดังชีวิตและสายสัมพันธ์ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถูกคุกคามมาโดยตลอด โดยกิจกรรมการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงความยังยืน ของสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ที่ขึ้นอยู่กับชีวิตของแม่น้ำนานาชาติสายนี้ 

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ดำเนินการในแม่น้ำโขงตอนบนได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา และวิถีชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน มี 2 โครงการ คือ 1.โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหลานซางหรือแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนาน ประเทศจีน โดยจีนสร้างเขื่อนเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อนคือ เขื่อนมันวาน เริ่มทำการผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2539 และเขื่อนด้าเฉาชาน

ส่วนอีก 2เขื่อนกำลังก่อสร้างคือ เขื่อนเซี่ยวหวาน ซึ่งหากสร้างเสร็จจะเป็นเขื่อนที่สูงที่สุดในโลกเขื่อนหนึ่งคือ มีความสูงเกือบ 400 เมตร และเขื่อนจิงหง ตั้งอยู่ใกล้เชียงรุ้ง เป็นเขื่อนที่อยู่ใกล้สามเหลี่ยมทองคำมากที่สุด

นอกจากเขื่อนข้างต้นแล้ว บริษัทเอกชนของจีนยังทำการศึกษาโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักอีกถึง 11 เขื่อน หากสร้างทั้งหมดจะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในตอนบนถึง 15 เขื่อน

และ 2.โครงการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์จากซือเหมาถึงหลวงพระบาง โครงการนี้ดำเนินการโดยรัฐบาล 4 ประเทศคือ จีน พม่า ลาว และไทย ภายใต้การนำของจีน ในช่วงปี 2544-2547จีนได้ดำเนินการระเบิดแก่งทั้งหมดในแม่น้ำโขงตั้งแต่ใต้เชียงรุ่งลงมาตามแนวพรมแดนพม่า-ลาว จนแล้วเสร็จ และยังได้ดำเนินการสร้างคันกั้นน้ำ เพื่อบังคับน้ำที่แก่งไคร้ จนกระทั่งเรือขนาด 300 ตัน สามารถเดินทางมาถึงเชียงแสนได้

โดยในรายงานระบุว่า โครงการทั้งสองส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการลดลงของระดับน้ำในฤดูแล้งนับแต่เริ่มมีการสร้างเขื่อนมันวาน ความรุนแรงของปัญหาทวีมากขึ้นในช่วงของการระเบิดแก่ง เพราะไม่เพียงแต่ระดับน้ำลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้การขึ้น-ลงของน้ำโขงผิดปกติ เนื่องจากมีการควบคุมน้ำ เพื่อทำการระเบิดแก่ง และสร้างคันกั้นน้ำ งานวิจัยจาวบ้านพบความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างชัดเจนจากการดำเนินการของทั้งสองโครงการ

จากรายงานวิจัยจาวบ้านของ 3 อำเภอ ใน จ.เชียงราย พบว่า แม่น้ำโขงเกิดการทับถมของตะกอนทราย และการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำและร่องน้ำ การทับถมของตะกอนทราย การพังทลายของตลิ่ง การลดลงของไกและพรรณพืชอาหาร สมุนไพร การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไกแม่น้ำโขง

นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการหาปลา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของคนหาปลาในเขตลุ่มน้ำโขงโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรริมโขง ซึ่งมีความสำคัญต่อชาวบ้านทั้งในแง่ของความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่การทำเกษตรริมโขงเริ่มประสบกับปัญหาตั้งแต่ปี 2540 หรือ 1 ปีหลังมีการสร้างเขื่อนมันวานในประเทศจีน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา