eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

 

 

ผู้พลัดถิ่นหลบหนี ทหารพม่าใน เขตรัฐกะเหรี่ยงใกล้เขต สร้างเขื่อน สาละวินชายแดนไทย-พม่า หากมีการสร้างเขื่อนสาละวิน ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้จะถูก นับเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จากการสร้างเขื่อนได้อย่างไร

 

 

 

ครอบครัวของผู้พลัดถิ่น ภายในรัฐกะเหรี่ยงมี เพียงเพิงพักและอุปกรณ์ ยังชีพไม่กี่ชิ้น หากมีการสร้าง เขื่อนกั้นสาละวิน ชีวิตของผู้พลัดถิ่นเหล่า นี้จะเหลืออะไร

 

สาละวิน : เขื่อนใต้ปลายกระบอกปืน

อาทิตย์ ธาราคำ   เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ เขื่อนสาละวินไม่ได้สร้างเพื่อชาวบ้าน แต่ผลประโยชน์เป็นของรัฐบาลทหารพม่า เราอยู่ฝั่งพม่า ไม่มีสิทธิที่จะปกป้องหรือทำอะไรได้ ถ้ามีเขื่อนเกิดขึ้นจริง แผ่นดินพี่น้องทั้ง ๒ ฝั่งก็จมหาย ชีวิตคนก็ไม่เหลือ”

ชาวบ้านกะเหรี่ยงในเขตสาละวินฝั่งพม่า กล่าวถึงอภิมหาโครงการที่กำลังจะมาเยือนฟากตะวันออกของแผ่นดินกอซูเล รัฐกะเหรี่ยงบนฝั่งน้ำสาละวิน

ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นช่วงที่กระทรวงพลังงานระบุว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน แต่สิ่งที่ชัดเจนตลอดมาสำหรับนานาชาติคือ พม่ายังไม่พร้อมที่จะมีการลงทุนใดๆ จากต่างประเทศ เพราะสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงไม่สงบ โครงการพัฒนาจากต่างประเทศเท่ากับเป็นการปล้นชิงทรัพยากรไปจากเจ้าของ คือชาวบ้านผู้ซึ่งยังไม่มีสิทธิใดๆ บนแผ่นดินของตนเอง

โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า จะกั้นลำน้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์สายสุดท้ายที่ยังคงไหลอย่างอิสระ โครงการยักษ์ขนาด ๒ แสนล้านบาทนี้ประกอบด้วย ๒ เขื่อนบนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงกันข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง โดยเขื่อนล่าง (ดา-กวิน) ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน และเขื่อนบน (เว่ยจี) อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน มีกำลังผลิตติดตั้งรวมกว่า ๕,๐๐๐ เมกกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย ในราคาที่เจ้าของโครงการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คำนวณแล้วว่าถูกแสนถูก

ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำสาละวินที่เป็นโตรกเขาสูงชัน ทำให้คาดการณ์ว่าพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำจะยาวออกไปตามลำน้ำสาละวินถึง ๓๘๐ กิโลเมตรในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา รวมถึงหุบเขาของลำน้ำสาขาน้อยใหญ่อีกมากมาย

โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารพม่า แต่ภาพลักษณ์ของพม่าซึ่งซึ่งติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงที่สุดในโลก ทำให้คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าทหารพม่าอีกจำนวนมหาศาลจะเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสร้างเขื่อน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ การทำลายล้างชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยใช้เขื่อน ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการพัฒนา เหมือนกับที่รัฐต่างๆ ทั่วโลกเคยทำตลอดมาเมื่อต้องการยึดพื้นที่และขับไล่ทำลาย “ ศัตรู” กองกำลังต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อยที่รัฐไม่ต้องการ

รายงาน Damming at Gunpoint ของกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen Rivers Watch) ระบุชัดเจนถึงความกังวลของชาวกะเหรี่ยงต่อเขื่อนสาละวินในประเด็นทางการเมือง การเข้ามาของทหารพม่าในเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตามนโยบาย “ ตัดสี่” เพื่อตัดความช่วยเหลือและทรัพยากรด้านต่างๆ ของกองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อย มาซึ่งการควบคุมพื้นที่และประชาชน อันหมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ ทำลายหมู่บ้าน บังคับอพยพ ข่มขืน ทารุณกรรม ซึ่งหมายความว่า หากโครงการเขื่อนมา ทหารพม่าก็มา ประชาชนก็ต้องเผชิญชะตากรรมที่รุนแรงกว่าเดิม

รายงานชิ้นนี้ระบุว่าก่อนปี ๒๕๓๕ พื้นที่ในเขตจังหวัดพะปุน (Papun) ของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งติดกับลำน้ำสาละวิน เคยเป็นบ้านของประชาชนกว่า ๑๐๗,๐๐๐ คน แต่การเพิ่มจำนวนกองกำลังทหารพม่าในเขตดังกล่าวจาก ๑๐ กอง เป็น ๕๔ กอง ได้กวาดล้างทำลายหมู่บ้าน ๒๑๐ แห่ง โดยบังคับให้ชาวบ้านย้ายมาอยู่รวมกันในแปลงอพยพภายใต้การควบคุมของทหารพม่า ๓๑ แห่ง ซึ่งไม่มีการจัดหาที่พัก เสบียงอาหาร หรือความช่วยเหลือใดๆ แก่ชาวบ้าน

ซ้ำร้ายเมื่อกองทัพพม่ามีนโยบายให้ทหารแนวหน้าเลี้ยงตัวเอง ชาวบ้านจึงต้องเผชิญกับการรีดนาทาเร้นนานาประการจากทหารพม่า อาทิ แรงงานทาส ยึดที่นา จัดเก็บส่วยซึ่งมีทั้งเงิน ข้าว อาหาร และสิ่งของอื่นๆ

สภาพความเป็นอยู่ในแปลงอพยพนั้นลำบากแสนสาหัสและไร้ซึ่งอิสรภาพ รายงานหลายฉบับระบุตรงกันว่าในหลายกรณีชาวบ้านไม่มีแม้กระทั่งเวลาที่จะทำไร่ของตัวเอง เพราะถูกบังคับเป็นแรงงานทาส ดังที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในรายงาน “If we don’t have time to take care of our fields, the rice will die” ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน EarthRights International ว่า

“ ชาวบ้านทุกคนต้องทำไร่นาของตัวเอง แต่เราต้องไปทำนาของทหารพม่าก่อน จนเราไม่มีเวลามาปลูกข้าวของตัวเอง”

การบังคับใช้แรงงานให้กองทัพมีตั้งแต่เหลาไม้ไผ่ทำรั้วค่ายทหาร เป็นลูกหาบแบกเสบียงและยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงงานที่เสี่ยงถึงชีวิตดังเช่นการเป็นโล่มนุษย์หากับระเบิดให้แก่กองทหาร

การข่มขืนสตรีกลุ่มชาติพันธุ์โดยทหารพม่าในพื้นที่ควบคุมของกองทัพพม่าเป็น อีกประเด็นรุนแรงที่มีรายงานออกมาอยู่เป็นประจำ เมื่อปี ๒๕๔๖ องค์กรสตรีกะเหรี่ยงก็ได้ออกรายงาน Shattering Silence ซึ่งบันทึกกรณีการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีโดยทหารพม่าในแปลงอพยพเขตรัฐกะเหรี่ยง ๑๒๕ กรณี

ด้วยภาวะบีบคั้นเหล่านี้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะระหกระเหินหนีตายไปยังพื้นอื่น หรือข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน

ปัจจุบันพื้นที่พะปุนมีจำนวนประชากรลดลงกว่าครึ่งเหลือเพียงราว ๕๔,๐๐๐ คน จากการสำรวจของหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ ( Backpack Health Worker Team) ซึ่งเป็นคณะหมอที่เข้าไปช่วยรักษาผู้ป่วยตามหมู่บ้านหรือหลบซ่อนอยู่ในป่า พบว่าในจำนวนนี้กว่าร้อยละ ๖๐ เป็นชาวบ้านที่ต้องหลบหนีทหารพม่าเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPs)

เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในแปลงอพยพ และไม่ต้องการจากบ้านและครอบครัวข้ามมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย จึงหนีหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า และพยายามไปไม่ไกลจากหมู่บ้าน เพื่อรอที่จะกลับคืนสู่หมู่บ้านเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยขึ้น อาสาสามัครด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า

“ ชาวบ้านต้องซ่อนอยู่ในป่า จะก่อไฟทำอาหารก็ต้องทำตั้งแต่เช้ามืด ก่อไฟใต้ต้นไม้ที่ใบหนาๆ เพื่อไม่ให้ทหารพม่าเห็นควันไฟ เพราะถ้าทหารพม่าเห็นก็จะยิง บางครั้งไม่มีอะไรจะกิน ต้องเก็บผักเก็บลูกไม้กินกันตาย”

สถานการณ์ด้านสุขภาพของชาวบ้านในวันที่แผ่นดินระอุด้วยไฟสงครามนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ มาลาเรียเป็นโรคที่คร่าชีวิตชาวบ้านไปมากที่สุด รองลงมาคือท้องร่วง และโรคติดเชื้ออื่นๆ ข้อมูลของหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ระบุว่าในช่วงปี ๒๕๔๓-๒๕๔๖ อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปีสูงถึง ๒๕๐ คนต่อเด็กทุก ๑,๐๐๐ คน และอัตราการขาดสารอาหารของเด็กสูงถึงร้อยละ ๑๒

ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าการลงทุนร่วมกับประเทศพม่ามิใช่เพื่อความผาสุกของประชาชน แต่กลับเป็นการสนับสนุนให้บรรดาเผด็จการทหารครองอำนาจเพื่อกดขี่ประชาชนได้นานยิ่งขึ้น ดังเช่นโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่สร้างรายได้แก่รัฐบาลทหารสูงถึง ๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แทนที่การลงทุนเหล่านี้จะช่วยพัฒนาประชาชนในประเทศ งบประมาณด้านสาธารณสุขและการศึกษาของพม่าต่ำเพียงร้อยละ ๐.๔ และ ๐.๕ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่รัฐบาลทหารกลับขยายกองทัพอีกเท่าตัวด้วยงบประมาณแผ่นดินร้อยละ ๔๐

หรือประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการประณามจากสังคมนานาชาติด้วยการเดินหน้า จับมือเปื้อนเลือดของรัฐบาลทหารพม่าเพื่อสร้างเขื่อนสาละวิน ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าหยาดน้ำตาและเลือดของชาวบ้านนับหมื่น จะหลั่งลงสู่แผ่นดินและสายน้ำหากมีการสร้างเขื่อน

ประเทศไทยยังสามารถพิจารณาหาทางเลือกอื่นๆ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ หาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือส่งเสริมหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์สำหรับชุมชน

เขื่อนสาละวินอาจเป็นแหล่งไฟฟ้าราคาถูกสำหรับประเทศไทย แต่ต้องจ่ายด้วยชีวิต และแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า

ชาวบ้านเหล่านี้จะหนีไปที่ไหนหากน้ำท่วมบ้าน ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอีกเรือนแสนที่รอคอยการกลับบ้านในที่วันสงครามสงบก็คงไม่มีบ้านให้กลับไปอีก

เพราะไม่มีสิทธิเสียงใดๆ บนแผ่นดินพม่า เสียงหนึ่งของชาวบ้านที่หมู่บ้านริมฝั่งสาละวินฝากบอกว่า

“ ผมอยากให้ประเทศอื่นๆ คิดดูว่าเขื่อนสาละวินจะทำให้พวกเราเดือดร้อนแค่ไหน ขนาดไม่มีเขื่อนพวกเราก็ยังทุกข์ทรมานกับปัญหามากมาย ต้องดิ้นรนหนีตายไปวันๆ ถ้าสร้างเขื่อนจริงๆ พวกเราคงเอาชีวิตไม่รอดแน่นอน”

 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา