eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของผู้คนสาละวิน

อนุชิต สิงห์สุวรรณ
นิสิตฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สภาพธรรมชาติบนสองฟากฝั่งน้ำ “ สาละวิน ” ในระหว่างการเดินทางไปที่บ้านสบเมย ปรากฎอยู่ในห้วงความทรงจำของผม ภาพของต้นไม้ที่แข่งขันกันขึ้นเบียดเสียดแน่นขนัด บนภูเขาตลอดสองฝั่งน้ำ ภาพของหาดทรายที่เริ่มโผล่พ้นน้ำเผยให้เห็นทราย เม็ดละเอียดสีขาว และแปลงเกษตรของชาวบ้านกระจายอยู่ทั่วไป ภาพของเครื่องมือดักปลานานาชนิดที่อยู่ริมฝั่งน้ำ

มโนภาพเหล่านี้ทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์อย่างผม นึกถึงรายงานหลวงประชาคดีกิจที่กราบทูลต่อรัชกาลที่ ๕ ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในลุ่มน้ำแห่งนี้ว่า

“ฝ่ายตะวันออก (แม่น้ำคง) นั้นเป็นต้นไม้ก็แต่ป่าผึ้ง และป่าไม้ขอนสักในแขวงเมืองปุ เมืองกาง เมืองต่วน เมืองหาง เมืองกวด เมืองทา เมืองสกุน ตลอดภาคใต้แลภาคเหนือ”  i

ในอดีต ความอุ่นหนาฝาคั่งของทรัพยากรในลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ทำให้ศูนย์กลางอำนาจทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าพยายามที่ จะเข้าครอบครองอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งที่ศูนย์กลางทั้งสองได้แผ่อิทธิพลเหนือลุ่มน้ำแห่งนี้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนพื้นถิ่น ยกตัวอย่างเช่น

ในรัชสมัยพระเจ้าพุกามมินกษัตริย์พม่า (ครองราชย์ปีพ.ศ.๒๓๗๙-๒๓๙๖) ได้ยกทัพไปตีเมืองยางแดง และได้เกณฑ์ไพร่พลมาเพื่อตีเมืองเชียงใหม่ ไพร่พลที่เกณฑ์มานี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกระเหรี่ยง เมืองยางแดง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางเมืองแม่ฮ่องสอนได้สัก หมายรูปช้าง ให้กับชาวบ้านในบริเวณนี้เพื่อให้เป็นการง่ายในการเก็บส่วยสาอากร และการควบคุมกำลังคนเพื่อใช้แรงงานให้กับรัฐสยาม ii

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมามีการสัมปทานทำไม้สาละวินกันอย่างเข้มข้น เมื่อปิดป่าแล้วก็ยังมีการลักลอบทำไม้ต่อเนื่องอีกหลายปี นับเป็นการทำลายป่าสาละวินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ความทุกข์ยากของผู้คนสาละวินมีปรากฎอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ได้บอกกับผมว่าเช่นนั้น

ในปัจจุบัน ไม่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ความพยายามเข้าครอบครองทรัพยากรลุ่มน้ำของรัฐ โดยผ่านโครงการสร้างเขื่อนสาละวินที่จะเกิดขึ้นกำลังจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านบนสองฝั่งน้ำ ด้วยความต้องการปกป้องฐานทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น ด้วยความต้องการแสดงสิทธิที่จะดำรงอยู่บนลุ่มน้ำแห่งนี้ ชาวบ้านปกากญอซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้จึงได้ร่วมกันทำงาน “ วิจัยชาวบ้าน ” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับอำนาจจากภายนอกที่กำลังคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

“ วิถีแม่น้ำ วิถีป่า ของปกากญอสาละวิน ” คือ งานวิจัยของชาวปกากญอลุ่มน้ำสาละวินทั้ง ๕๐ หย่อมบ้านที่ร่วมมือกันทำขึ้น โดยศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน โดยแบ่งการศึกษาออก ๖ ประเด็น ดังนี้ ๑) ระบบนิเวศแม่น้ำสาละวิน และลำน้ำสาขา ๒) พันธุ์ปลา ๓) เครื่องมือหาปลา ๔) พรรณพืชอาหารและสมุนไพรจากป่า ๕) เกษตรปกากญอ ๖) โป่ง สัตว์ป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยชุมชน

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น ๒ ปี ๗ เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖-กันยายน ๒๕๔๘) โดยเป็นงานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นผู้วิจัย และมีผู้ช่วยวิจัย คือ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน มีเป้าหมายเพื่อ ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาเพื่อให้ตรงกับสภาพจริงของพื้นที่ อันเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน

ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ ขั้นตอนสำคัญในงานวิจัยชาวบ้านได้มาถึง เมื่อมีการจัดงาน “ ยาแอะโคโละโกล -ฉันรักสาละวิน ” เพื่อนำเสนองานวิจัยชาวบ้านต่อสาธารณะชน ในวันนั้นมีผู้มาเข้าร่วมงานมากหน้าหลายตาจากหลายสถานที่ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวิน และเครือข่ายวิจัยไทบ้านปากมูน ราษีไศล เชียงของ ฯลฯ  ดูประมวณภาพกิจกรรมในงาน

ผู้คนที่มีที่มาหลากหลายช่วยสร้างบรรยากาศให้หลากหลายไปด้วย อย่างไรก็ดีความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เป้าหมายของผู้ที่มารวมงานแตกต่างกันอย่างไร เพราะทุกคนใคร่ที่จะอยากรู้ถึงเรื่องราวของปกากญอในการจัดการทรัพยากร และอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้น ณ.ลุ่มน้ำแห่งนี้

การนำเสนองานวิจัยนั้น มีชาวบ้านปกากญอที่เป็นนักวิจัยเป็นผู้นำเสนอ นักวิจัยชาวบ้านได้นำเสนอเกี่ยวกับระบบนิเวศ และความสำคัญของแม่น้ำสาละวินว่า

“ ระบบนิเวศของแม่น้ำได้เลี้ยงดูผู้คนมากมาย ในฤดูน้ำลดชาวบ้านได้ใช้ที่ดินบริเวณริมน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งที่ดินริมน้ำจะมีความอุดมสมบูรณ์สูง อันเกิดจากกระแสน้ำที่พัดพาดินตะกอนมาในช่วงฤดูน้ำหลาก ในช่วงหน้าร้อนคนขับเรือและชาวบ้านได้ใช้น้ำในแม่น้ำในการอาบ และดื่มกินแก้กระหาย

“ แม่น้ำสาละวินในเวลาปกติจะนำความสงบสุขมาแก่ญาติพี่น้องสองฟากฝั่ง ถ้าสาละวินถูกทำลายพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ทั้งหมดล่มสลาย ”

นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำสาละวินยังเห็นได้จากการที่มีพันธุ์ปลาที่ชาวบ้าน จับมาเป็นอาหารได้ถึง ๗๐ ชนิด ซึ่งความหลากหลายของพันธุ์ปลานี้ทำให้ชาวบ้านมีเครื่องมือจับปลาที่หลากหลายด้วย เกี่ยวกับเรื่องปลาในลุ่มน้ำสาละวินนี้ ชาวบ้านได้นำเสนอว่า

“ แม่น้ำสาละวินจะมีปลามาก ชาวบ้านจะใช้เครื่องมือจับปลาที่ประดิษฐ์จากภูมิปัญญา เครื่องมือหาปลาเหล่านี้จะทำขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับแม่น้ำละวินเท่านั้น มีเรื่องเล่าของชาวบ้านเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของสาละวินว่า ที่แม่น้ำสาละวินมีปลาตัวใหญ่ตัวหนึ่งหัวอยู่ฝั่งพม่า หางอยู่ฝั่งไทย ซึ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ”

จากที่ชาวบ้านนำเสนองานวิจัยทำให้ทราบว่าความมั่งคั่งของทรัพยากรของ ลุ่มน้ำสาละวินได้ทำให้ชาวบ้านปากญอสามารถดำรงชีพอยู่ได้ นอกเหนือจากการหาอยู่หากินตามสภาพธรรมชาติแล้ว สายน้ำสาละวินยังทำให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพื้นน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกลไกสำคัญของสังคมชาวปกากญอในการอยู่ร่วมกันในสังคม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เมื่อเสร็จสิ้นจากการนำเสนองานวิจัยโดยชาวบ้านแล้ว ก็มีความคิดเห็นของนักวิชาการต่องานวิจัยที่ชาวบ้านได้ทำขึ้น โดย อ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านต้องทำงานวิจัยว่า

“ คำถามคือว่าทำไมพื้นที่นี้ถึงต้องทำงานวิจัยไทบ้าน โจทย์ที่สำคัญคือที่นี้มีกิจกรรมที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ประวัติศาสตร์ของที่นี้คือประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร และผู้คนที่ตกระกำลำบากที่สุดคือชาวบ้าน ประโยชน์ของงานวิจัยคือพี่น้องจะได้มีเครื่องมือในการต่อรองระหว่างรัฐกับทุน เราสามารถใช้งานวิจัยในการพัฒนา ใช้ในการเจรจาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับพื้นที่ ”

ทางด้าน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า

“ งานนี้ชี้ให้เห็นว่าพี่น้องรักษาความหลากหลายของท้องถิ่น ทั้งความหลากหลายของทรัพยากร และความหลากหลายของชาติพันธุ์ไว้ได้ ความรู้ท้องถิ่นทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้บอกลักษณะของพี่น้อง ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าปกากญอคือใคร

“ งานชิ้นนี้เป็นการหว่านพืชบริเวณชายแดน ชายแดนรัฐและชายแดนทุน ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของชาวบ้านในการรักษาทรัพยากร ชี้ให้เห็นถึงสิทธิของชาวบ้านในการดำรงตนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ รัฐบาลและ NGO ควรนำงานนี้ไปใช้ในการพัฒนาจึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ” iii

หลังจากที่นักวิชาการได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยไทบ้านเสร็จสิ้น ก็เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มาร่วมงาน ในประเด็นเรื่อง “ สาละวินในมุมมองที่หลากหลาย ” การที่วันนี้ทุกคนให้ความสำคัญกับความเป็นไปของชีวิตผู้คนและสายน้ำแห่งนี้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางสังคมได้มีพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้แสดงความมีตัวตนของตนเองที่อาศัยอยู่กินกับลำน้ำสาละวินมาช้านาน วิจัยชาวบ้านปกากญอจึงเป็นเครื่องมือที่สร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับชาวบ้านโดยแท้ ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าการพัฒนาลุ่มน้ำสาละวินจะต้องนึกถึงชาวบ้าน ที่เป็นคนในพื้นที่จึงจะเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุข

การเสวนาแลกเปลี่ยนเสร็จสิ้นลงในช่วงเย็น พร้อมๆกับแสงอาทิตย์ที่ลับลงหลังภูเขาในฝั่งพม่า แม่น้ำสาละวินในวันนี้ยังคงไหลช้าๆอย่างเป็นอิสระ วิถีชีวิตผู้คนดูเรียบง่ายมีความสุขตามอัตรภาพ

ในอนาคต การพัฒนาลุ่มน้ำสาละวินจะเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่งานวิจัยชาวปกากญอได้บอกกับเราแล้วว่าสายน้ำแห่งนี้มีความผูกพันกับวิถีชีวิต ของชาวบ้านอย่างแน่นแฟ้น ฉะนั้นถ้าหากวันพรุ่งนี้สายน้ำไม่ไหลตามวิถีธรรมชาติเช่นเดิม นั้นหมายถึงชีวิตของผู้คนสาละวินก็หยุดนิ่งเช่นกัน

---------------------------------

i. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ต.๔๐/๓ รายงานหลวงประชาคดีกิจ กราบทูลเรื่องเขตแดนเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ

ii. นคร พันธุ์ณรงค์. ปัญหาชายแดนไทย-พม่า. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ : กรุงเทพฯ.2540

iii. บันทึกของผู้เขียนระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา