eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

โพธาดา-หม่อลา
ผู้รักษาวิถีพอเพียงแห่งป่าสาละวิน

เพียรพร ดีเทศน์ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
ตีพิมพ์ในมติชน ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

แม่เฒ่า โพธาดา และหม่อวา

 

เย็นลมป่าพัดมาจากยอดเขา แสงสุดท้ายของวันลาลับจากปลายไม้ ย่ำค่ำปลายฤดูฝนหมู่บ้านกะเหรี่ยงในหุบเขาสงบเงียบ เสียงลำห้วยกระซิบกระซาบเบาๆ กับหาดหิน ไกลออกไปมีเงาตะคุ่มๆ ของชาวบ้านกำลังเดินทางกลับจากไร่บนไหล่ดอยปรากฏขึ้น ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในอีก ๒-๓ วันข้างหน้า  

“พวกเราทำไร่กันลำบากขึ้นทุกปี  เพราะตอนนี้หมู่บ้านอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะทำกินแบบที่เคยทำก็ติดขัด” โพธาดา หรือฉัตรชัย บูชาช่วงโชติกุล กำนันหนุ่มแห่งตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มกล่าวในวงสนทนาบนบ้านไม้ไผ่มุงหลังคาใบไม้ คืนนี้มีชาวบ้านหลายคนทั้งหญิงชายและเด็กน้อยมา ล้อมวงแลกเปลี่ยนเรื่องราวในบ้านป่า

หมู่บ้านโพซอของชาวไทยเชื้อสายปกากญอหรือกะเหรี่ยง กว่า ๘๐ หลังคาเรือนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมลำห้วยแม่แงะ ชาวบ้านกลุ่มแรกมาตั้งรกรากถาวรนับตั้งแต่ปี ๒๔๘๗ สวนมะพร้าวต้นสูงลิ่วและต้นหมากเก่าแก่ในหมู่บ้านช่วยยืนยันได้อย่างดี

ชาวบ้านบางครอบครัวทำนาบนที่ราบริมลำห้วย แต่ครอบครัวทั้งหมดในหมู่บ้านเคยทำไร่หมุนเวียน อันเป็นวิถีการผลิตดั้งเดิมของชุมชน

“ทำนาก็ได้กินแต่ข้าว แต่ทำไร่ได้กินทุกอย่าง ทั้งข้าว แตง ฟัก ผักกาด พืชผักในไร่ของเราพอกินพอแบ่ง เจ้าของกินยังไงก็กินไม่หมด ต้องแบ่งกัน น้องไม่มีแตงก็มาเก็บในไร่พี่ พี่ไม่มีถั่วก็ไปขอจากไร่น้อง อย่างเดียวที่ต้องซื้อจากข้างนอกคือเกลือ” หม่อลา หรือ วิชัย อำพรนภา เล่าวิถีอันเรียบง่ายของชาวบ้าน

งานวิจัยของชาวบ้านปกากญอสาละวินระบุว่าในไร่ข้าวของชาวสาละวินมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองถึง ๕๐ ชนิด และพืชอาหารอื่นๆ ที่ปลูกแซมกับต้นข้าวอีกกว่า ๑๔๐ ชนิด ซึ่งเป็นฐานความมั่นคงของครอบครัวและชุมชนที่สามารถพึ่ง ตนเองได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น

การรักษาทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นภารกิจหลักของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ควบคู่ไปกับการผลิตที่เคารพธรรมชาติ  

 

ต้นสักใหญ่กลางไร่ข้าวในป่า

“ก่อนถางไร่เราไหว้ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ขออนุญาตทำไร่ ขอทำแค่พอกิน ก่อนเกี่ยวข้าวเราก็ไหว้ ขอให้ได้ข้าวเยอะๆ ให้อยู่กับป่าได้สงบร่มเย็น

“เราทำไร่ก็ไม่ใช่ทำเรื่อยเปื่อยหรือเลื่อนลอย เราไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าแบบที่เขามาสัมปทานป่า พ่อเฒ่าแม่เฒ่าสอนกันมา ป่าดิบขุนห้วยห้ามตัด ป่าชุ่มน้ำผุดห้ามตัด ป่าแก่ไม้ใหญ่ห้ามตัด ข้อห้ามเราเยอะแยะ ทำไร่หมุนเวียน ๘ ปีก็กลับมาที่เดิม เราทำไร่เราตัดตัดเฉพาะไม้เล็ก ไม่ตัดไม้ใหญ่ เหลือกิ่งไม้ไว้ให้นกได้มาเกาะ” โพธาดาว่า

แต่วันนี้วิถีอันพอเพียงของชาวบ้านโพซอจำต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอันเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่แต่ไม่เข้าใจวิถีของชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากร กลับมองว่าชุมชนบุกรุกทำลายป่า

แม้จะมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางนานนับสิบปีในการผลักดันสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะทรัพยากรป่า มีงานวิจัยและการศึกษาหลายสิบชิ้นที่ยืนยันว่าไร่หมุนเวียนมิใช่การทำลายป่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกปีในป่าสาละวินแห่งนี้คือการจับกุมชาวบ้านที่ทำไร่ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่มีการเผาไร่ นอกจากนี้ยังมีการนำกล้าไม้ไปปลูกในไร่ของชาวบ้านเพื่อเป็นการ “ปลูกป่า” และเป็นการป้องกันมิให้เจ้าของไร่เวียนกลับมาทำไร่ในแปลงเดิมได้อีก

ป่ายังอุดมเพราะชาวบ้านช่วยกันรักษา

 

“ทำไร่เดี๋ยวนี้เหมือนเราไปขโมยเขา ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กลัวถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับ หลายคนก็เลยเลิกทำไร่ ไม่ทำแล้ว บ่ม่วนใจ๋--ไม่สบายใจ” ชาวบ้านอีกคนเล่าความคับข้องใจ เมื่อจู่ๆ การทำมาหากินที่เคยทำสืบมากลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ปี ๒๕๔๙ นี้ ชาวบ้านโพซอทั้ง ๔ หย่อมบ้าน เหลือทำไร่กันเพียง ๒๐ ครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องดิ้นรนออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน หาเงินมาซื้อข้าวและอาหารเพื่อความอยู่รอด

ความมั่นคงและความผาสุกของชุมชนค่อยๆ สั่นคลอนไปกับกระแสการเข้ามาควบคุมและจัดการทรัพยากรโดยรัฐ ซึ่งทำท่าจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการก่อสร้างด่านตรวจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ท้ายหมู่บ้าน ทั้งที่ปากทางเข้าหมู่บ้านก็มีอยู่แล้วหนึ่งแห่ง

“เขาจะมาสร้างด่านตรวจ ไม่เคยบอกไม่เคยถามพวกเราสักที ชาวบ้านเลยแจ้งอบต. ขอให้หยุดไว้ก่อน ทำจดหมายเข้าชื่อกันร้องเรียนผู้ว่าฯ ขอให้เขามาถาม มาชี้แจงกับชาวบ้านก่อนว่าจะทำอะไรในหมู่บ้านของเรา” โพธาดาเล่า เขากล่าวต่อว่า เหมือนวันนี้ป่าสาละวินไม่ใช่ของชาวบ้านอีกแล้วทั้งที่ช่วยกันรักษามาหลายชั่วอายุคน

หมู่บ้านโพซอ มีการแบ่งเขตป่าต้นน้ำเป็นป่าอนุรักษ์เข้มงวด ชาวบ้านทุกคนร่วมมือมิให้ตัดไม้โดยเด็ดขาด ป่าต้นน้ำของบ้านโพซอจึงชุ่มเย็น มีน้ำใสให้ชาวบ้านได้ใช้ตลอดปี แต่เมื่อปลายปีก่อนป่าผืนนี้กลับถูกทำลายเมื่อมีการตัดถนนผ่าป่าสายใหม่ยาวร่วม ๓๐ กิโลเมตรเพื่อเชื่อมไปสู่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้รับงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)

“ได้ข่าวว่าเขาจะมาสร้างเขื่อน หัวหน้าบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วบ้านเราจะได้พัฒนา มีฝรั่งมาเที่ยว แต่ไม่รู้อีกกี่สิบปีจะได้เห็น ถึงตอนนั้นพวกเราต้องย้ายหนีกันไปอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้” ผู้นำชุมชนคนหนึ่งกล่าว

“ชาวบ้านเราทำไร่แค่นี้ทำไม่ได้ เจ้าหน้าที่เขาว่ามันผิดกฎหมาย แต่เขามาตั้งด่าน ตัดถนน แล้วยังจะสร้างเขื่อน อยากรู้ว่าอันไหนมันทำลายป่ามากกว่ากัน” หม่อลาถามโดยไม่ต้องการคำตอบ

เรื่องราวความขัดแย้งที่หนักหนาของชาวบ้านอาจหาคำตอบได้ง่ายดาย เพียงรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจต่อวิถีชีวิตและการอนุรักษ์ของชุมชน ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมแม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีสิทธิและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มิใช่เพียงคำพูดสวยหรูหรือหมึกที่เปื้อนอยู่บนกระดาษโดยไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง

 

ป้ายถนนผ่าป่าที่กฟผ.สนับสนุน

ลมหนาวแรกของปีพัดมาวูบใหญ่ หลายคนเริ่มขอตัวกลับบ้านเมื่อเวลาล่วงเลยถึงกลางดึก หนุ่มน้อยที่นั่งริมชานบ้านหยิบเตหน่า- พิณพื้นบ้านขึ้นมาบรรเลงเพลงโบราณขับกล่อมในคืนไร้จันทร์

“อ่อที กะต่อที อ่อก่อ กะต่อก่อ...กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่าให้รักษาป่า
 ถางไร่อย่าฟันไม้ให้ตาย ฟันไร่อย่าถางไผ่ให้ตาย
หากไม้และไผ่หมดไป เราจะอดน้ำอดข้าวตาย...
 เรากินไปเรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป”

วงสนทนาคืนนี้จบลงแล้ว เมื่อตะวันขึ้นในวันใหม่เรื่องราวของชาวบ้านยังคงดำเนินต่อไป วิถีพอเพียงในผืนป่าสาละวินจะดำรงอยู่ได้อีกนานสักแค่ไหน หรือจะเหลืออยู่เพียงในบทเพลง

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา