eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
ยุคสมัยเปลี่ยนทำ US หันมาทุบ “เขื่อน” ทิ้ง 

ผู้จัดการรายวัน http://www.manager.co.th/asp-bin/ViewNews.asp?NewsID=2000000011170

    เขื่อนเก่าๆ จำนวนมากในสหรัฐฯกำลังถูกทุบทำลายทิ้ง เนื่องจากไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไปแล้วในทางเศรษฐกิจหรือไม่ก็ในแง่มุมทางสิ่งแวดล้อม ความเคลื่อนไหวกระแสนี้แม้เกิดขึ้นช้าๆ แต่ก็ทำให้แม่น้ำสายต่างๆ และวิถีชีวิตของปลาได้ปรับเปลี่ยนกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์

   เฮรัลด์ทรีบูน : วอชิงตันโพสต์-เขื่อนเก่าๆ จำนวนมากในสหรัฐฯกำลังถูกทุบทำลายทิ้ง เนื่องจากไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไปแล้วในทางเศรษฐกิจหรือไม่ก็ในแง่มุมทางสิ่งแวดล้อม ความเคลื่อนไหวกระแสนี้แม้เกิดขึ้นช้าๆ แต่ก็ทำให้แม่น้ำสายต่างๆ และวิถีชีวิตของปลาได้ปรับเปลี่ยนกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์

       การประกาศรื้อเขื่อนระลอกล่าสุดนั้นมาจากภูมิภาคแปซิฟิก นอร์ธเวสต์ เมื่อบริษัทพอร์ตแลนด์ เจเนอรัล อิเล็กทริก ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 16 ล้านดอลลาร์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ทุบเขื่อนมาร์มอต ในแม่น้ำแซนดี้ กับเขื่อนขนาดเล็กลงมาอีกเขื่อนหนึ่ง ในแม่น้ำลิตเติล แซนดี้ มลรัฐออริกอน ตรงบริเวณห่างจากนครพอร์ตแลนด์ไปทางตะวันออกราว 80 กิโลเมตร


       การทุบทำลายเขื่อนในออริกอนคราวนี้ ต้องถือว่าผิดกว่าธรรมดา เนื่องจากเขื่อนทั้งสองเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งยังสามารถทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่อยู่


       “นี่เป็นพัฒนาการครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันตก(สหรัฐฯ)” อีริก เอคเคิล โฆษกของกลุ่มสิ่งแวดล้อม “อเมริกัน ริเวอร์ส” ให้ความเห็น “มันเป็นการรื้อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแรกๆ และพวกเขาไม่เพียงทำลายเขื่อนเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังกำลังฟื้นฟูถิ่นอาศัยของปลาแซลมอนและปลาสตีลเฮดที่ถูกคุกคามอีกด้วย”


       บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวาดหวังว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะกลายเป็นการเริ่มต้นแนวโน้มใหม่ที่จะเป็นกระแสระยะยาวไกล

       มีเขื่อนหลายร้อยเขื่อนในสหรัฐฯที่ถูกขึ้นบัญชีไว้ว่าอาจจะถูกทุบทิ้ง โดยที่กว่า 60 เขื่อนกำหนดจะรื้อกันภายในปีนี้ปีเดียว นับเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่ที่ อเมริกัน ริเวอร์ส เริ่มเก็บตัวเลขเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา


       ทางด้าน จอห์น คิตซาเบอร์ ผู้ว่าการมลรัฐออริกอนกล่าวยอมรับว่า การทุบเขื่อนอย่างนี้เป็นงานที่มีความเสี่ยง และไม่เคยทำกันมาก่อน โดยปัญหาสำคัญที่สุดคือโคลนตะกอนก้นแม่น้ำหลังเขื่อนซึ่งสั่งสมเอาไว้จนมีขนาดมหึมา และจะต้องค่อยๆ ดูดค่อยๆ ระบายออก เพื่อไม่ให้ไปทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์และพืชทางด้านปลายน้ำ


       แต่ผู้ว่าการมลรัฐออริกอนก็กล่าวเสริมด้วยว่า ข้อดีของเรื่องนี้คือการฟื้นฟูพื้นที่ส่วนหนึ่งของมลรัฐให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การที่ทำไมเราจึงรักมลรัฐแห่งนี้”


       ตั้งแต่การทุบเขื่อนเอดเวิร์ดส์ ที่กั้นแม่น้ำเคนเนเบค ในมลรัฐเมนเมื่อ 3 ปีก่อน มีเขื่อนในอเมริกามากกว่า 250 แห่งแล้วซึ่งถูกรื้อทำลาย จำนวนมากทีเดียวอยู่ในมลรัฐทางภูมิภาคอิสเทิร์น และ มิดเวสต์ อาทิ เพนซิลเวเนีย และ วิสคอนซิน


       เขื่อนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ด้านการชลประทาน , การควบคุมน้ำท่วม , หรือการจ่ายน้ำ ทว่ายังไม่มีที่เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า


       อย่างไรก็ตาม พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลายเวลานี้ เมื่อว่างเว้นจากการฟ้องร้องนำบริษัทด้านสาธารณูปโภคทั้งหลายขึ้นศาล ต่างก็กำลังทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านี้ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดการรื้อเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ๆ ยิ่งขึ้น


       ในระยะสองสามปีต่อนี้ไป เขื่อนขนาดใหญ่อีกอย่างน้อย 3 แห่งในภูมิภาคแปซิฟิก นอร์ธเวสต์ อาจจะถูกทุบ ได้แก่ เขื่อนเอลวา บนคาบสมุทรวอชิงตัน , เขื่อนซาเวจ แรปิดส์ ในแม่น้ำโรก มลรัฐออริกอน , และเขื่อนคอนดิต ในแม่น้ำไวต์แซลมอน มลรัฐวอชิงตัน


       ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างปลากับเขื่อน กลายเป็นเรื่องถกเถียงร้อนแรงที่สุดในแปซิฟิก นอร์ธเวสต์ เนื่องจากจำนวนปลาแซลมอนในธรรมชาติกำลังลดน้อยลง โดยที่ปลาสายพันธุ์นี้ถือกันว่าน่าจะเป็นตัววัดได้ดีที่สุด ว่าสภาพป่าตามธรรมชาติสามารถอยู่ยงเคียงข้างได้ดีแค่ไหนกับบรรดาอุตสาหกรรม อย่างเช่น ไมโครซอฟท์ , โบอิ้ง , เกษตรกรปลูกข้าวสาลี , และผู้ผลิตไวน์


       เขื่อนกั้นน้ำเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคสำหรับปลา เนื่องจากสกัดกั้นทำให้ปลาจำนวนมากไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ เพื่อช่วยให้ปลาข้ามเขื่อนไปได้ จึงมีการนำมาตรการอันละเอียดอ่อนหลายรูปแบบมาใช้ เป็นต้นว่า เขื่อนจำนวนมากจะต้องสร้าง “บันไดปลาโจน” หรือแซลมอนบางส่วนจะถูกขนใส่เรือท้องแบนและรถบรรทุก แล้วขนย้ายขึ้นไปที่ต้นน้ำ


       แม้ความขัดแย้งถกเถียงกันในเรื่องรื้อเขื่อนนี้ เมื่อสมัยก่อนมักทำให้พวกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องประจันหน้ากับบริษัทสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ตลอดจนรัฐบาล แต่เวลานี้ฝ่ายต่างๆ กลับดูจะปรากฏความเห็นพ้องต้องกันเพิ่มขึ้นทุกทีว่า เขื่อนกั้นน้ำจำนวนมากได้หมดหน้าที่ของมันแล้ว และสมควรถูกปลดประจำการ


       บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพยายามแจกแจงด้วยว่า การทุบเขื่อนทิ้งไม่เพียงเป็นผลดีสำหรับปลา แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภาคบริการใหม่ๆ ซึ่งอาศัยแม่น้ำลำธารที่สามารถไหลละล่องไปได้อย่างอิสระเสรี เป็นต้นว่า กิจการด้านตกปลา และการล่องแพ อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวและพวกตั้งบ้านเรือนหน้าใหม่ๆ ซึ่งต้องการได้พื้นที่อันยังไม่ถูกเบียดเบียนเสื่อมโทรมมากนัก


       ในส่วนที่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำรุ่นเก่า เกิดมาถูกมองด้วยทัศนะใหม่ๆ กันเพิ่มขึ้นทุกทีในระยะนี้นั้น เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าเหล่านี้จะต้องต่ออายุสัมปทานกันใหม่ทุกๆ 50 ปีกับทางสำนักงานคณะกรรมการจัดระเบียบพลังงานแห่งสหรัฐฯ หากเขื่อนเหล่านี้จะต้องปรับปรุงยกเครื่องกันใหม่ เพื่อทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งกำหนดให้ต้องจัดทำช่องทางที่ปลาจะว่ายขึ้นไปวางไข่ได้ชนิดทันสมัยสุดเฉียบ ต้นทุนค่าใช้จ่ายก็อาจจะสูงลิ่วจนบรรดาเจ้าของและผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้ามาถึงบทสรุปที่ว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลทั้งทางเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อมที่จะปลดประจำการเขื่อนพวกนี้เสียดีกว่า


       สิ่งเหล่านี้แหละคือเรื่องที่ เพกกี้ ฟาวเลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พอร์ตแลนด์ เจเนอรัล อิเล็กทริก บอกว่าเธอนำมาคิดคำนวณ เมื่อตอนที่บริษัทสาธารณูปโภคแห่งนี้ตัดสินใจที่จะรื้อเขื่อน 2 แห่งของตนในลุ่มแม่น้ำแซนดี้


       เขื่อนมาร์มอต อันเป็นแห่งที่ใหญ่กว่าใน 2 เขื่อนนี้ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1912 และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนกันอย่างมโหฬารทีเดียว หากจะบรรลุถึงมาตรฐานเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยของปลา


       เขื่อนทั้งสองแห่งนี้รวมแล้วผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่ถึง 1% ของปริมาณไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ที่ พอร์ตแลนด์ เจเนอรัล อิเล็กทริก ปั่นออกมาได้ นอกจากนั้นไฟฟ้าซึ่งผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้ยังจัดว่ามีต้นทุนแพง เพราะใช้ระบบการปั่นไฟที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคของเมื่อปี 1912


       ฟาวเลอร์บอกว่า ผลงานทางวิศวกรรมของยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แห่งนี้ นับว่า “น่ามหัศจรรย์” และ “มันเป็นสิ่งน่าพิศวงที่จะสร้างขึ้นมาในตอนเริ่มต้นตอนนั้น” แต่เธอก็เสริมด้วยว่า “เรื่องถูกต้องที่จะต้องทำกันในตอนนี้ ก็คือการทุบมันทิ้ง"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา