บวชป่าต้านเขื่อน "สาละวิน"

fas fa-pencil-alt
 ภาสกร จำลองราช-มติชน
fas fa-calendar
18 พฤษภาคม 2551

เสียงเจื้อยแจ้วๆ ของเด็กๆ บ้านแม่ดึในบทเพลง "โรงเรียนของหนู" ทำเอาหลายคนอึ้งและเกิดความรู้สึกยากจะบรรยาย แม้เคยฟังเนื้อหากันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ความใสบริสุทธิ์ของศิลปินตัวน้อย ทั้งเรื่องสำเนียงและภาษาไทยที่ยังกระท่อนกระแท่น ลีลาที่ยังออกจะเหนียมๆ ในชุดแต่งกายอันแสนจะบ้านๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยความตั้งใจจริงที่ฝึกซ้อมมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ท่ามกลางความมืดที่ขนาบไปด้วยแม่น้ำและป่าเขา ต่อให้ต้นตำรับอย่าง "ปู คัมภีร์" มาเองก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้ได้

แม่ดึเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านทั้งหมดเป็นกะเหรี่ยงที่ได้สัญชาติไทยแล้วบางส่วน การเดินทางจากภายนอกเข้าไปมีเพียงเส้นทางน้ำเท่านั้น

เมื่อ 3 ปีก่อนผมเคยนำเรื่องของ "โซมุ" ครูคนเดียวของเด็กๆ ในหมู่บ้านนอกแผนที่แห่งนี้ถ่ายทอดลง "คติชน" มาแล้วครั้งหนึ่งซึ่งเป็นความประทับใจที่ได้รับรู้ความตั้งใจของเขาในการมุ่งมั่นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สังคมภายนอก แม้ตัวเขาเองจะมีประสบการณ์ในสังคมใหญ่เพียงน้อยนิดจากการติดคุกในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง

ชาวบ้านร่วมกันให้กำลังใจและลงขันกันคนละเล็กๆ น้อยๆ ตามกำลังรายได้ที่มีเพื่อเป็นน้ำใจตอบแทนโซมุ

"โรงเรียนมีครูหนึ่งคน ครูผู้เสียสละตน อดทนอยู่ห่างไกลความสบาย...." ท่อนหนึ่งของบทเพลงนี้ราวกับแต่งไว้ให้โซมุ แม้ช่วงหลังจะมีครูอาสาเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่หนุ่มกะเหรี่ยงคนนี้ยังคงเป็นกำลังหลักทุ่มเทให้เด็กๆ อยู่เช่นเดิม

ค่ำคืนนี้เป็นคืนที่สองของการจัดงาน "บวชป่า" ที่ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินร่วมกันจัดขึ้น เพื่อสะท้อนให้สังคมใหญ่ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของพวกเขาที่แนบแน่นอยู่กับธรรมชาติอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเอาตัวประหลาดหรือสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่า "เขื่อน" ไปขวางกั้นแม่น้ำสาละวิน

แม่น้ำสาละวินทอดตัวยาวกว่า 2,800 กิโลเมตร จากจีนเข้าสู่พม่า สัมผัสชายแดนไทยในช่วงสั้นๆ ก่อนวกกลับพม่าและไหลลงอ่าวเมาะตะมะ

ทุกวันนี้ลำน้ำยังไหลเอื่อย-แรงได้ตามฤดูกาลเพราะยังไม่มีเขื่อนกางกั้น ซึ่งยากที่จะหาแม่น้ำสายใดในระดับนี้บนผืนโลกที่จะหลุดรอดมาได้ แต่ทั้งจีน พม่าและไทยต่างมีโครงการมหึมาที่จะสร้างเขื่อนนับสิบแห่งตลอดลำน้ำ

วันแรกชาวบ้านและแขกที่มาเยือนได้ร่วมกันบวชป่าไปแล้วจุดหนึ่งที่ดา-กวินใกล้บ้านท่าตาฝั่งซึ่งเป็นแนวสร้างเขื่อน โดยพิธีกรรมของแต่ละศาสนาถูกนำมาหลอมลวมเพื่อคุ้มกันผืนป่าผืนน้ำ และในวันที่สองทั้งหมดจะร่วมกันบวชป่าอีกแห่งหนึ่งที่ "เวยจี" ซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนด้วยเช่นเดียวกัน

กว่าจะเดินมาถึงริมน้ำสาละวินบริเวณเวยจี ผู้เฒ่า "ชุยคา" และชาวบ้านโกแปรต้องเดินมาร่วมสองชั่วโมง แต่ยังดีกว่าอีกหลายหมู่บ้านที่ต้องมาค้างแรมระหว่างทางเพื่อมาร่วมงานบวชป่า

หมู่บ้านโกแปรมีขนาด 50 ครัวเรือน อยู่ลึกขึ้นไปบนขุนเขา แต่มีลำห้วยที่เป็นเส้นเลือดของชุมชนไหลลงสาละวิน

"เราอยู่กันมาอย่างน้อย 3 ชั่วอายุคนแล้ว" ผู้อาวุโสชุยคาบอกไม่ถูกว่าหมู่บ้านโกแปรตั้งมาแล้วกี่ปี แต่ถ้านับตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ เขาพอจะบอกได้ =A

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง