"พรหมินทร์"เบรกสร้างโรงไฟฟ้าสาละวิน อ้างโครงการระยะยาว-ต้องศึกษาเพิ่ม
พรหมินทร์"เบรกก่อสร้างโครงการ โรงไฟฟ้าเขื่อนสาละวินไม่มีกำหนด อ้างเป็นโครงการระยะยาว ต้องศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมอีก และยังเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง ของการใช้ประโยชน์จากพลังงานในอนาคต
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงานได้สั่งให้ กฟผ.ชะลอแผนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน สาละวิน ในประเทศพม่าออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเรื่องโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน (Asean Pipeline) และโครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในอาเซียน ( Asean Power Grid) ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ก่อน
"กฟผ. ควรจะหยุดพูดถึงการดำเนิน โครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนสาละวิน ซึ่ง เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ในช่วงนี้ เพราะโครงการดังกล่าว ยังเป็นโครงการในระยะยาว ที่ยังต้องมีการศึกษารายละเอียด และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกมาก หรือควรจะดำเนินการไปอย่างเงียบๆ เนื่องจากพลังงานน้ำจากเขื่อนยังเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากพลังงานในอนาคต นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน "นายเชิดพงษ์กล่าว
นายเชิดพงษ์ กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้น จะรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะโครงการน้ำเทิน 2 ในประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งขณะนี้บริษัทอีดีเอฟ ของฝรั่งเศส ได้มีหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการมาที่รัฐบาลลาวแล้วว่า จะยังคงถือหุ้นในโครงการน้ำเทิน 2 ตามเดิม ซึ่งหากโครงการมีความพร้อม และ กฟผ.ก็จะรับซื้อไฟฟ้าตามเป้าหมายเดิม
อย่างไรก็ตามในการประชุมเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเวทีหารือถึงความร่วมมือด้านพลังงานในอนาคตกับประเทศต่างๆเช่น จีน,รัสเซีย,อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ไม่ได้มีการกล่าวถึงเรื่องของโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนสาละวินเลย เพราะไม่ใช่บรรยากาศที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือ ประกอบกับกระทรวงพลังงานต้องการให้ความสนใจเรื่อง ความร่วมมือเกี่ยวกับ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการกฟผ. ได้พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจในเรื่อง ASEAN POWER GRID แก่นักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลความเป็นมาและความจำเป็นของโครงการในกระเป๋าเอกสารของผู้นำและผู้ติดตามที่เข้าร่วม การประชุมเอเปคทั้งหมด ซึ่งโครงการ ASEAN POWER GRID มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนสาละวิน เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้ ได้ใช้แหล่งพลังงานราคาถูก โดย กฟผ. ตั้งเป้าหมายว่า โครงการโรงไฟฟ้าสาละวิน จะเข้าสู่ระบบได้ในปี 2012 ซึ่งเป็นช่วงที่กฟผ. ต้องการมี โรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีน (เอ็กซิมแบงก์) และ บริษัท China National Machinery Electric Corporation หรือ CNMEC ผู้ก่อสร้าง Three Gorges Project ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาด 18,000 เมกะวัตต์ ของจีน แสดงความสนใจและได้หารือเบื้องต้นกับ กฟผ. แล้ว
สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า ที่ศึกษาไว้กฟผ.ถือหุ้น 50% รัฐบาลพม่าโดยบริษัท Myanmar Electric Power Enterprise ถือหุ้น 50% มูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท คิดเป็นค่าไฟเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ 50 ปีในราคา 0.90 บาทต่อหน่วยจำนวนพลังงาน 35,400 ล้านหน่วยต่อปี เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ผลิตเองในประเทศ ขณะนี้จะลดค่าไฟ กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ 0.15 บาทต่อหน่วยหรือประหยัดได้ 30,000 ล้านบาทต่อปี