รายงานพิเศษ : ไปเรียนรู้ ‘คุณค่าสาละวิน’ ก่อนเผชิญหายนะที่ชื่อว่า ‘เขื่อน’ (1)
องอาจ เดชา : รายงาน ประชาไท 10/5/2549
เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ หลายคนมักนึกถึง แม่น้ำของความขัดแย้ง แม่น้ำที่มีตำนานการต่อสู้ระหว่างชาติพันธุ์ แต่แท้จริงแล้ว แม่น้ำสาละวิน นั้นถือได้ว่าเป็นแม่น้ำที่มีคุณค่าทางชีวภาพและชาติพันธุ์หลากหลายที่สำคัญอีกสายหนึ่งของโลก ‘ประชาไท’ จะพาไปสัมผัสถึงคุณค่าความหมายของสาละวินในหลากหลายมิติ ก่อนทุกอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม หลังจากมีข่าว ‘โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน’ ที่รัฐบาลไทยเพิ่งได้ลงนามกับพม่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
สาละวิน : แม่น้ำนานาชาติสายยาวอันดับ 26 ของโลก
แม่น้ำสาละวิน ถือได้ว่าเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดสายสุดท้ายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ อย่างเป็นธรรมชาติ ‘สาละวิน’ หรือ ‘ทาลวิน’ ที่ชาวพม่าเรียกขาน หรือ ‘น้ำคง’ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองในไทยและพม่าเรียกกันนั้น มีต้นกำเนิดจากการละลาย ของหิมะบริเวณที่ราบสูงธิเบต เหนือเทือกเขาหิมาลัย ก่อนไหลลงสู่มลฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่ซึ่งเรียกสายน้ำนี้ว่า ‘นู่เจียง’ จากนั้นก็ไหลต่อเข้าสู่แผ่นดินเขต ประเทศพม่าผ่านรัฐฉาน รัฐคะยา ก่อนที่จะกลายเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดน ระหว่างไทยกับพม่าที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง
หลังจากไหลกั้นพรมแดนไทยกับพม่า 118 กิโลเมตร จึงไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย ที่บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินจึงไหลวกกลับเข้าประเทศพม่า และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ ที่รัฐมอญ รวมระยะทางทั้งหมด 2,800 กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก
และที่สำคัญก็คือ ลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งถือว่าเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 14 กลุ่มทั้งในจีน พม่า และไทย ปัจจุบันลุ่มน้ำแห่งนี้กลับกลายเป็นเป้าหมายของโครงการสร้างเขื่อนมากมายกระจายหลายพื้นที่ นับจากเขื่อนชุด 13 แห่งในเขตจีน เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน และเขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า ในนาม ‘โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน’
นั่นทำให้เมื่อไม่นานมานี้ หลาย ๆ ฝ่าย ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักวิจัย และชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน จำต้องมาร่วมนั่งถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ที่ห้องประชุมโรงแรมธารา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในหัวข้อเรื่อง ‘คุณค่าสาละวิน’ อย่างจริงจังกันอีกครั้ง ทั้งในเรื่องของความสมบูรณ์ของป่า สัตว์ป่า และพันธุ์ปลา ทั้งในเรื่องการทำเกษตรริมน้ำ และการใช้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันกับแม่น้ำสาละวิน
ดิน น้ำ ป่า ผู้คนสาละวิน คือความอุดมสมบูรณ์ที่พึ่งพา
เมื่อพูดถึงเรื่องผืนป่าสาละวิน ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ป่าสาละวินผืนนี้อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง โดยมีแม่น้ำสาละวินและลำห้วยสาขาไหลผ่าน ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับทับซ้อนมีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังผสมสน และยังเป็นแหล่งกำเนิดไม้สักที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยและของโลกเลยทีเดียว
จากรายงานโครงการสาละวินศึกษา ระบุว่า ป่าผืนนี้ได้รับอิทธิพลทางด้านการกระจายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่ามาจากแถบเทือกเขาหิมาลัย ลงมาตามเทือกเขาสูงที่ขนาบแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง จนกระทั่งมาบรรจบกับเทือกเขาถนนธงชัยทางตอนเหนือของไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินที่เป็นพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน นั้นมีพื้นที่รวมกันเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านไร่ ดังนั้น ป่าผืนนี้นอกจากมีความสมบูรณ์ในเรื่องของไม้สักแล้ว ยังอุดมสมบูรณ์พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก
ว่ากันว่า จากแถบเทือกเขาหิมาลัยยาวไกลลงมาตามเทือกเขาสูงที่ขนาบกับแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง มีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 235 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่กำลังอยู่ในภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่ง เสือไฟ กระทิง ชะนีขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางผา เลียงผา นกยูงไทย นกกก นกหัวขวานใหญ่สีดำ ไก่ฟ้าหลังเทา เต่าปูลู รวมถึงชะนีคิ้วขาวที่พบเฉพาะในฝั่งพม่าเท่านั้น
ป่าสาละวินยังเป็นแหล่งพรรณพืชพันธุ์ไม้และสมุนไพรที่สำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของผู้คนแถบนี้ จากงานวิจัยปกากญอ เรื่อง ‘วิถีแม่น้ำ วิถีป่าของชาวปกากญอสาละวิน’ จาก 50 หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ในเขตพรมแดนไทย-พม่า ของ อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า ในป่าสาละวินมีพืชที่ใช้เป็นอาหารทั้งหมด 39 ชนิด มีพืชสมุนไพรที่นำมาใช้บำบัดรักษาโรค จำนวน 77 ชนิด และพืชที่เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร อีกจำนวน 23 ชนิด
นอกจากนั้น ในแถบริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ชุมชนปกากญอยังคงใช้พื้นที่บริเวณนั้นทำการเกษตรริมน้ำ ในช่วงน้ำลด เป็นวิถีการเกษตรที่ผูกพันกับสายน้ำมาอย่างสอดคล้องและยาวนาน เมื่อหมดฝน ย่างเข้าฤดูหนาว แม่น้ำสาละวินจะเริ่มลดระดับลง พื้นที่ริมฝั่งที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำมาตลอดห้วงฤดูฝน จะค่อย ๆ โผล่พ้นน้ำกลายเป็นหาดทรายอันอุดมด้วยปุ๋ย แร่ธาตุที่ธรรมชาติได้สะสมบ่มไว้ให้เป็นอย่างดี
เมล็ดพันธุ์พืชหลากหลาย อาทิ ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง งา ยาสูบ มะเขือเทศ แตงกวา แตงโม ถั่วฝักยาว ผักกาด ฟักทอง มันเทศ กระเจี๊ยบ ผักชี ฯลฯ ต่างนำมาเพาะปลูกไว้ในดินทรายที่ยังชื้นอยู่ เพียงไม่นานวัน เมล็ดพันธุ์ก็เริ่มผลิแตกหน่อใบออกมาให้ชาวบ้านได้เก็บกินเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน
เกษตรริมน้ำคง: สองฝั่งสาละวินยามน้ำลด
เมื่อหันมาดูงานวิจัยปกากญอ ในเรื่องพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน ‘ธวัชชัย อมรใฝ่ชนแดน’ ผู้ใหญ่บ้านห้วยแห้ง จาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า การศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน รวมทั้งในลำห้วยสาขาบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ในเขต อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง พบพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านจับมาเป็นอาหารได้ถึง 70 ชนิด แยกเป็นปลาหนัง 22 ชนิด ปลาเกล็ด 48 ชนิด
ว่ากันว่า แท้จริงแล้ว ปลาในลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มน้ำสาขานั้นมีไม่ต่ำกว่า 100 ชนิด แต่มีปลาหลายชนิดที่ชาวบ้านไม่สามารถจับได้ด้วยเครื่องมือหาปลาแบบดั้งเดิม นอกจากใช้ไฟฟ้าช๊อต หรือระเบิด แต่ชาวบ้านยังคงยึดวิถีการหาปลาแบบดั้งเดิมเท่านั้น
ชวลิต คงเพชรศักดิ์ นักวิจัยชาวปกากญอจากสบเมย บอกว่า แต่ก่อนนี้มีปลาเยอะ ตัวใหญ่ ชาวบ้านเคยเห็นตัวเท่าลำเรือหางยาวก็มี เคยจับได้ใหญ่สุดประมาณร้อยกว่ากิโล แต่เดี๋ยวนี้ปลาเริ่มลดลง มีคนข้างนอกเข้ามาใช้เครื่องมือช็อตปลาทำให้ปลาลดลงไปมาก
สาละวิน : แหล่งความมั่นคงทางอาหารสำคัญของโลก
ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญแหล่งน้ำจืด กองทุนน้ำจืดโลกแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอในเวทีอภิปราย ‘คุณค่าสาละวิน’ ว่า ได้ทำการวิจัยเรื่องพันธุ์ปลาสาละวินมากว่า 10 ปี ในแถบแม่ฮ่องสอน ตามชายแดนไทย-พม่า ขึ้นไปถึงเมาะละแหม่ง ในประเทศพม่า และได้ทำการเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลาสาละวิน จึงรู้ว่าแม่น้ำสาละวินนั้นมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงมาก ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารแห่งหนึ่งของโลก สิ่งเหล่านี้มีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาขาทั้งไทยและพม่า
ดร.ชวลิต บอกว่า การศึกษาพันธุ์ปลาสาละวินนั้น จำต้องศึกษาในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินไปด้วย รวมทั้งการศึกษาถึงฤดูกาลการเดินทางของปลา ซึ่งสามารถพบปลาในแม่น้ำสาละวิน ไม่น้อยกว่า 200 ชนิด และในแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะในแม่น้ำปาย และแม่น้ำเมย พบสายพันธุ์ปลาอย่างน้อย 170 ชนิด โดยเป็นปลาเฉพาะถิ่น ประมาณ 57-60 ชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลาหมูค้อ เป็นต้น
“จะเห็นว่า เมื่อถึงฤดูกาลวางไข่ ปลาหลายชนิดจะมีการโยกย้ายจากแม่น้ำสาละวิน ว่ายทวนน้ำขึ้นมาถึงแม่น้ำปาย เพื่อวางไข่ที่นั่นด้วย”
"ยกตัวอย่าง ปลาถ้ำ ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบที่บริเวณถ้ำแม่ละนา ของแม่ฮ่องสอน และพบได้ที่นี่ที่เดียวในโลก ทำให้แม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายมากกว่าแม่น้ำโขงเสียอีก เพราะมีการพบปลาเฉพาะถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ปลาสะแงะ ที่มีการขึ้นลงไปวางไข่ถึงทะเลอันดันมัน นี่เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าระบบนิเวศน์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี”
ดร.ชวลิต บอกอีกว่า แม่น้ำสาละวิน ได้สร้างรายได้หลักให้กับชาวประมงและพ่อค้าปลา ราว 60 ชนิด โดยมีโรงงานแปรรูปปลาและร้านอาหารหลายแห่งใน จ.แม่ฮ่องสอนกับ จ.ตากจะเป็นผู้รับซื้อหลัก และว่ากันว่า แม่น้ำสาละวิน นั้นเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว เพราะใช่เพียงแต่หล่อเลี้ยงคนแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ปลาจากแม่น้ำสาละวินยังถูกแปรรูปส่งไปขายในกรุงเทพฯ และมาเลเซียโน่นเลย
“ในความหลากหลาย ในเรื่องวิถีการดำรงอยู่ จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนอาวุโส ล้วนยึดถืออาชีพประมงกันทุกคน โดยเราจะเห็นเครื่องมือจับปลาที่หลากหลาย มีมากมายจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก นี่ถือว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารจริง ๆ”
ในความอุดม มีความเสี่ยงขั้นใกล้วิกฤติ
อย่างไรก็ตาม ดร.ชวลิต ได้บอกกับทุกคนว่า ล่าสุดมีการประชุมนานาชาติ มีการระบุว่า “แม่น้ำสาละวิน เป็น 1 ใน 200 แม่น้ำที่มีระบบภูมินิเวศน์ที่สำคัญและกำลังเข้าสู่วิกฤติของโลก”
นั่นหมายความว่า ในความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสาละวิน นั้นก็กำลังใกล้เข้าสู่วิกฤติเช่นกัน
“ในจำนวนนี้มีปลาที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น ปลาหมูซึ่งมีขนาดเท่าปลาบึก ปลาเขี้ยวไก่ ปลาหว้า เป็นต้น และจากการสำรวจดัชนีชี้ให้เห็นว่า ปลามีความมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด เพราะว่าบางชนิดนั้นเพาะพันธุ์ไม่ได้ เช่น ปลาเสือตอในสาละวิน ดังนั้นหากมีการสร้างเขื่อนปลาเหล่านี้จะสูญหายทันที” ดร.ชวลิต กล่าวย้ำ
นอกจากนั้น ในบรรดาสัตว์จำพวก แมลง นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
เขื่อน คือปัจจัยคุกคามอันตราย
ดร.ชวลิต บอกว่า ปัจจัยคุกคามต่อปลาสาละวิน ก็คือ หากมีการสร้างเขื่อน ก็จะทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสีย และอาจถูกคุกคามโดยผู้คนที่ไม่เข้าใจทำการจับปลาผิดธรรมชาติ เช่น การระเบิด รวมไปถึงถูกคุกคามโดยสัตว์และพืชต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานแม่น้ำสาละวิน เช่น ผักตบชวา หรือหอยเชอรี่ เป็นต้น นอกจากนั้นอาจถูกคุกคามจากภาวะมลพิษ หรือจากการพัฒนาอื่น ๆ ที่เข้ามา
“ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่อินเดีย ในรัฐอุตรประเทศ จากแต่ก่อนนั้นดินดี อุดมสมบูรณ์มาก แต่ปัจจุบันน้ำแห้งหมดเลย ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะช่วยกันรักษาแม่น้ำสาละวินให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างนี้เอาไว้ เรา ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเราเอง แต่เราต่อสู้เพื่อเด็กรุ่นหลัง เพื่อชนเผ่า เพื่อคนท้องถิ่น...” ดร.ชวลิต กล่าวทิ้งท้าย
เหมือนกับ ‘ธวัชชัย อมรใฝ่ชนแดน’ ผู้ใหญ่บ้านห้วยแห้ง จาก อ.แม่สะเรียง ที่กล่าวไว้ในวันนั้น...เป็นน้ำเสียงที่ซ่อนความวิตกกังวลในวิถีสาละวินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป
“ในขณะนี้ ป่าสาละวินและแม่น้ำสาละวินยังถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะว่าแผนการทำลายของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะที่มีข่าวว่าเขากำลังจะสร้างเขื่อนสาละวิน”
อ้างอิง : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3604&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai