รอยยิ้มกลางลมแล้ง ที่หุบเขาชายแดนตะวันตก
ลมแล้งพัด มาวูบใหญ่หอบเอาใบไม้ชราปลิดปลิวร่วงหล่นลงสู่ผืนดิน วันนี้ดูเหมือนต้นไม้แทบทั้งผืนป่าพร้อมใจกันสละใบยืนต้นเปลือยเปล่าให้แสงแดดยามสายลอดผ่าน เงาของเหล่าต้นไม้สูงทอทาบลงพื้นดินเป็นริ้วเงาสีดำตัดกับสีทองของใบไม้แห้ง กลิ่นหอมอ่อนๆ โชยมากับสายลมแผ่วเบา เมื่อเงยหน้าขึ้นไปก็พบกับดอกไม้สีขาวดอกเล็กดอกน้อยพากันผลิบานอยู่บนกิ่งสูง ฉากชีวิตแห่งฤดูแล้งเริ่มต้นขึ้นแล้ว
เช่นเดียวกับฤดูกาลดอกไม้บานมาที่เยือนในวันแห่งสายลมแล้งพัดโบกโบย ในหุบเขาไกลโพ้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตก
ห้วยสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำสาละวินในป่าเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีชื่อเรียกเป็นชื่อท้องถิ่นว่า แหม่แหยะโกล--ลำห้วยแม่แงะ ไหลรินแผ่วเบาอยู่เบื้องหน้า เสียงลำห้วยคุยกับแก่งหินดังกระจุ๋งกระจิ๋ง ปลาตัวเล็กตัวน้อยว่ายแหวกในธารน้ำใส บ้างก็กระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ เหมือนกำลังเล่นกายกรรมอยู่บนเวทีเล็กๆ ให้ผู้ชมแปลกหน้าได้ยลโฉม
“ ล้างหน้าล้างตาแล้วเดี๋ยวไปกันต่อนะ จากนี้ก็ไม่ค่อยมีฝุ่นแล้ว พวกเราจะเลาะข้ามห้วยไปเรื่อยๆ ”
จ้อโพดา หนุ่มกะเหรี่ยงวัย ๓๐ เจ้าถิ่นบอกพวกเรา ซึ่งกำลังล้างหน้าล้างตา ผมเผ้าของแต่ละคนแดงเหมือนผมฝรั่ง เพราะเจอฝุ่นมาเต็มๆ ตลอดทาง หลังจากออกจากตัวเมืองแม่สะเรียงมาจนถึงบ้านโพซอ ระยะทางแม้เพียง ๔๐ กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานราวๆ ๓ ชั่วโมง
ตลอดทางก่อนถึงบ้านโพซอ ผู้โดยสารต่างถิ่นที่นั่งหลังกระบะรถพากันส่งเสียงกันไม่หยุด เมื่อบนคาคบไม้ ดอกเอื้องแซะและเพื่อนๆ พากันเบ่งบานอวดดอกสวย เอื้องสีขาวขุ่นแกมเหลืองบานเป็นกลุ่มตัดกับต้นไม้สีเข้ม
เจ้าเอื้องแซะดอกน้อยนี่เองที่พ่อเลี้ยงชาวปะหล่องผู้มั่งคั่งห้อมล้อมด้วยเหล่าบริวาร ถึงกับยอมเสี่ยงชีวิตปีนหน้าผาสูงชันและลื่นขึ้นไปเด็ดลงมามอบให้เจ้าจันท์คนงาม เพื่อให้นางได้นำมาแซมมวยผมหอม ในนิราศพระธาตุอินทร์แขวน ที่ประพันธ์โดย มาลา คำจันทร์
ดอกไม้นานาพันธุ์บนยอดไม้ไกลลิบเล่นเอาพวกเราเงยหน้ามองหาจนปวดคอไปตามๆ กัน
“ อยู่ป่ามาตลอดตั้งแต่เกิดนะ ผมว่าป่าหน้าแล้งนี่สวยที่สุด ดอกไม้เยอะ ป่าก็เปลี่ยนสี สีแดงสีเหลือง” จ้อโพดายืนยันถึงความงามของป่าหน้าแล้งที่เขาคุ้นเคย
ฝุ่นตลบอบอวลอีกครั้ง เมื่อล้อทั้งสี่ของรถกระบะขับเคลื่อนพุ่งทะยานไปบนถนนลูกรังอันทอดยาวคดเคี้ยวไต่ระดับขึ้นไปตามยอดดอย มองลงไปเบื้องล่าง นาข้าวแปลงเล็กไต่ลำดับลดหลั่นกันลงไปราวกับขั้นบันได ท้องนากำลังเขียวชอุ่มด้วยพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว
“ หมดหน้านาเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านก็ปลูกถั่วเหลือง ยาสูบ กระเทียม เอาไว้กินกันเอง ไม่ได้ขาย น้ำห้วยแม่แงะไหลดีตลอดปี ชาวบ้านทำฝายเล็กฝายน้อย ขุดคลองส่งน้ำเข้านา ปลูกพืชผักได้ทั้งปี” พี่สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ หนุ่มกะเหรี่ยงเจ้าถิ่นเล่า
ห้วยแม่แงะ ห้วยแม่เจ แม่ป๋อ แม่แส่ และห้วยป่าตาล คือลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวินซึ่งไหลมาจากขุนน้ำบนดอยสูงแห่งเทือกเขาถนนธงชัย ลำน้ำไหลผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ตลอดหุบเขา ก่อนลงสู่แม่น้ำสาละวินสายใหญ่ที่สบแงะ ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
ห้วยใหญ่น้อยเหล่านี้คือแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการทำนาของ ชาวบ้านเชื้อสายกะเหรี่ยงและไทใหญ่ในเขตตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนกว่า ๑๐ หมู่บ้าน นับตั้งแต่บ้านห้วยเดื่อสุดพรมแดน ไหลเลาะเรื่อยมาจนถึงบ้านโพซอ
ฝายพื้นบ้าน ซึ่งทำด้วยท่อนไม้หรือก้อนหินจำนวนมากปักกั้นลำห้วย ส่งน้ำเข้าสู่ลำเหมืองที่ขุดไว้ลงในนาขั้นบันไดของชาวบ้าน น้ำใสไหลรินหล่อเลี้ยงกล้าข้าวให้เติบโต ไหลลงสู่แปลงนาที่มีระดับต่ำกว่าไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไหลลงลำห้วยเช่นเดิม
หากมีเรือใบไม้เล็กๆ สักลำ บนเรือลำนั้นมีมดแดงตัวน้อยเป็นผู้โดยสารเดินทางในลำห้วย มุ่งหน้าออกไปยังแม่น้ำสาละวิน เมื่อล่องตามลำห้วยลงมา เรือและผู้โดยสารคงได้พบกับฝายกั้นน้ำ เจ้ามดตัวน้อยก็จะได้ท่องลำเหมืองที่ชาวบ้านขุดไว้ ผ่านหมู่บ้าน บางแห่งที่เป็นร่องลึกพาดขวางลำเหมืองเจ้ามดก็จะได้นั่งเรือบนสะพานไม้ซุงทั้งท่อนที่ชาวบ้านเซาะจนกลวง เพื่อเป็นลำเหมืองลอยฟ้าให้น้ำข้ามผ่านร่องนั้นไปสู่ผืนนา เมื่อเข้าสู่ผืนนา เรือน้อยคงลอยผ่านต้นข้าวและนานาพรรณพืชที่กำลังโตวันโตคืน เมื่อเรือล่องผ่านผืนนาที่ลดระดับลงเรื่อยๆ และเรือกับผู้โดยสารก็ไหลลงลำห้วยอีกครั้งที่ท้ายนา ในที่สุดเรือใบไม้ชราก็พาผู้โดยสารตัวจ้อยเดินทางไปถึงแม่น้ำสาละวินได้ในไม่ช้า
การทำฝายและทำเหมืองของคนทำนาแบบจึงคล้ายกับ “ การขอยืมน้ำ” จากลำห้วยมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา และคืนน้ำที่เหลือจากการใช้กลับสู่ลำห้วยห้วยเช่นเดิม
ระบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝายของคนที่อยู่ในป่า ซึ่งห่างไกลเทคโนโลยีทันสมัยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการจัดการน้ำที่มีต้นทุนสูงจากภายนอก แต่สามารถที่จะจัดการน้ำให้กับสมาชิกในชุมชนได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ
พะตีพะซู้ ชาวบ้านโพซอ หนึ่งในนักวิจัยไทบ้าน: ภูมิปัญญาสาละวิน ซึ่งศึกษาการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เล่าว่าฝายแต่ละแห่งจะส่งน้ำเข้านาได้ราว ๑-๘ แห่ง สำหรับฝายที่มีนาหลายเจ้า คนที่เริ่มทำฝายขุดเหมืองครอบครัวแรกจะได้รับตำแหน่ง ทีบอโขะ– แก่ฝาย หรือหัวหน้าฝาย ซึ่งเป็นผู้กำหนดการใช้น้ำของนาเจ้าต่างๆ ที่ใช้ฝายร่วมกัน
“ แล้วมีการแย่งน้ำกันบ้างไหมคะ ?” ผู้มาเยือนตั้งคำถามตามประสาคนที่มาจากเมืองใหญ่
“ ตั้งแต่เคยอยู่กันมาก็ไม่เคยน้ำไม่พอสักที ไม่มีนะที่แย่งน้ำกัน ไม่เคยได้ยินเลย น้ำมีตลอด อีกอย่าง ชาวบ้านก็ไม่ได้ปลูกอะไรกันมาก แค่พอกินก็พอแล้ว ปลูกไปเยอะๆ ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เหลือก็แบ่งขายบ้างนิดๆ หน่อยๆ” จ้อโพดาเล่าเสริม
“ ชาวบ้านปลูกข้าวปลูกพืชไว้กินเอง ไม่ได้ใส่ปุ๋ยใส่ยา ก็เลยไม่ต้องทำนาหลายครั้ง ปลูกข้าวครั้งเดียวก็พอกินทั้งปี เพราะชาวบ้านที่นี่ทำไร่หมุนเวียนบนดอยด้วยทุกบ้าน อย่างหน้าแล้งในนานี่ก็ปลูกพืชผักเล็กๆ น้อยๆ แค่พอมีกิน ถ้าปลูกขายคงแย่ ต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แล้วยังต้องเสียค่าจ้างคนมาช่วยทำนาด้วย” พี่สะท้านกล่าว
...............................................................
ฉันนึกย้อนถึงข่าวที่ได้ยินเมื่อวันก่อนเข้าป่า ข่าวที่เกษตรกรในภาคอีสานเกิดความเครียดจนพยายามฆ่าตัวตายเนื่องจาก ไม่มีน้ำพอที่จะปลูกแคนตาลูปเพื่อส่งออก ผลผลิตท่าจะไม่ได้ขณะที่หนี้สินกำลังรุมเร้า เพราะไปกู้เงินค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมูลค่านับแสนบาท
ภาพของเกษตรกรหลั่งน้ำตาหมดอาลัยกับความแห้งแล้งซึ่งมาเยือนแปลง พืชผลที่ฉันเห็นมาในโทรทัศน์ทำเอาฉันสะท้อนใจ
ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเผชิญกับภาวะ “ ขาดแคลนน้ำ” อย่างแสนสาหัส แต่ที่ลุ่มน้ำแม่แงะแห่งป่าสาละวินกลับยังคงอุดมสมบูรณ์อย่างไม่น่าเชื่อ
“ วิกฤติขาดแคลนน้ำ” คงไม่จริง หากแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “ วิกฤติการจัดการน้ำ” เมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่ถูกส่งเสริมให้ปลูกพืชหิวน้ำในดินแดน ที่ไม่ได้มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปีอย่างเช่นที่ราบสูงภาคอีสาน
พืชเศรษฐกิจถูกส่งเสริมอย่างกว้างขวางพร้อมๆ กับภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ซึ่งเกษตรกรตาดำๆ ต้องเป็นผู้แบกรับ ขณะพืชท้องถิ่นซึ่งปลูกตามฤดูกาลเพื่อบริโภคในครัวเรือนกลับถูกตีค่าว่าไม่มีราคาทางเศรษฐกิจ
ซ้ำร้ายการปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องพึ่งพาระบบชล ประทานขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ที่ต้องมีเขื่อนขนาดใหญ่ต้นทุนมหาศาล ซึ่งรายงานการศึกษาหลายชิ้นรวมทั้งรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบชลประทานและเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาความอดอยากยากจน ดังที่รายงาน “ คู่มือประชาชน: เขื่อนกับการพัฒนา” ระบุว่า
“ เขื่อนขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อการชลประทานมักจะได้ผลต่ำกว่าเป้าหมาย เขื่อนทั้งหมดที่ได้ศึกษา สามารถนำน้ำมาหล่อเลี้ยงที่ดินและนำน้ำมาใช้ในพื้นที่ไร่นาน้อย กว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากการสร้างเขื่อนได้ ๑๕ ปี มีเพียง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชลประทานที่สามารถดำเนินการไปตามความคาดหมาย คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่มักจะมีผลการดำเนินการที่ล้มเหลวมากที่สุด ”
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีให้เห็นเกลื่อนตาบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ยามหน้าแล้งเขื่อนขนาดใหญ่แทบทุกแห่งทั่วประเทศไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำ ท้องอ่างกลายเป็นผืนดินแตกระแหงกว้างไกลยามฤดูแล้ง ขณะที่ตัวอ่างเก็บน้ำเองกลับทำให้ผืนป่าอันเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติต้องหายไป
เขื่อนขนาดใหญ่และระบบชลประทานที่ใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการลงทุนสูง อาจให้ผลผลิตสูงในช่วงระยะสั้นๆ กับเกษตรกรรายย่อย แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์ตัวจริงคือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดินและทุนจำนวนมาก และเกษตรกรรายย่อยที่บังเอิญมีที่ทำกินอยู่ในเขตชลประทานซึ่งมีอยู่จำกัด แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนและไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเองได้เช่นเดิม ในหลายกรณีทั่วโลกพบว่าท้ายที่สุดเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากต้อง กลายเป็นแรงงานรับจ้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็นของตนเอง
วิธีแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การสร้างเขื่อน แต่อยู่ที่การกำหนดนโยบายปฏิรูปที่ดินมิให้คนเพียงหยิบมือถือครองที่ดินมหาศาล แต่กระจายที่ดินแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมวิธีการเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับระบบนิเวศ รวมทั้งเน้นการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนในท้องถิ่นเป็นหลัก ก่อนการผลิตเพื่อส่งออกเพื่อการเป็นครัวของโลก
ด้วยนโยบายส่งเสริมเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขายและส่งออกจึงต้องอยู่ในภาวะวิกฤติทุกครั้งที่ฤดูแล้งมาเยือนทุกปี
.....................................................................
แม่น้ำสาละวินมิได้หล่อเลี้ยงเพียงหมู่บ้านริมลำห้วยแม่แงะ แต่เป็นสายเลือดของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๒๐ กลุ่มในลุ่มน้ำนับจากเขตต้นน้ำในประเทศจีน พม่า และไทย ก่อนไหลลงปากน้ำบริเวณรัฐมอญ
ที่ปากน้ำนี่เองเป็นเขตเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า ผืนนาในรัฐมอญอุดมด้วยตะกอนที่ถูกพัดมากับสายน้ำในช่วงหน้าน้ำหลากและทับถม จนกลายเป็นปุ๋ยและให้ประโยชน์กับพืชพรรณที่ชาวบ้านปลูกบนที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ
เมื่อหน้าแล้งมาเยือน กรอบความคิดที่ว่าแม่น้ำที่ไหลลงลุ่มสาละวินไหลออกนอกประเทศไทยลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ เป็นผลให้เกิดโครงการขนาดใหญ่หลายๆ โครงการ ผลักดันด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าจะนำน้ำเหล่านั้นมาใช้เพื่อให้เกิดรายได้เป็นตัวเงินให้กับประเทศ
โครงการใหญ่ๆ หลายๆ โครงการที่กำลังก่อตัวขึ้นบนแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา มีทั้งโครงการผันน้ำและสร้างเขื่อน ดังที่หนังสือ “ สาละวิน: โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมไทย-พม่า ระบุว่า โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปี ๒๕๓๕ เมื่อรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก
โครงการผันน้ำนี้ประกอบด้วยการสร้างเขื่อน คลองและอุโมงค์ส่งน้ำครอบคลุมสาขาหลักของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดที่ไหลจากฝั่งไทย ได้แก่น้ำปาย น้ำยวม และสาขาของน้ำเมย เช่น น้ำแม่ละเมา โครงการทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนยันฮีในจังหวัดตาก เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ได้เพียงพอตามที่วางแผนไว้
แต่ด้วยการคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนและผันน้ำแม่ละเมา ในช่วงปี ๒๕๓๘ ประกอบกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งธนาคารโลกสนับสนุนเช่นเดียวกัน ได้ประท้วงธนาคารโลกอย่างรุนแรงเนื่องจากอ่างเก็บน้ำจะทำให้ผืนป่าสักทองจมหายไป มีผลให้ธนาคารโลกจำต้องถอนตัวจากการสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงการผันน้ำแม่ละเมาด้วย
แม้ว่าโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยานี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ประสบการณ์ของการดำเนินโครงการผันน้ำที่ผ่านมาทั้งในระดับสากลและในประเทศไทยเองพบว่า ไม่มีโครงการผันน้ำใดที่ไม่สร้างหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในสายน้ำที่ถูกผันน้ำไป
บทเรียนของประเทศไทยก็คือโครงการผันน้ำโขง - ชี - มูลในภาคอีสานที่ลงทุนไปแล้วนับแสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้แม้แต่หยดเดียว เนื่องจากโครงการนี้ทำให้เกิดการกระจายของดินเค็มไปทั่วภาคอีสาน
ใครจะรับประกันได้ว่าเมื่อผันน้ำจากลุ่มสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยาแล้ว จะมีน้ำเพียงพอให้แก่แปลงเกษตรพาณิชย์ขนาดใหญ่ในภาคกลางตลอดไป ทำไมจึงไม่ปรับเปลี่ยนการจัดการน้ำและภาคเกษตรกรรม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เพียงพอ ?
ชุมชนพื้นถิ่นแห่งลุ่มสาละวินไม่มีสิทธิเลยหรือที่จะรักษาแม่น้ำไว้เพื่อดำรงชีวิตต่อไป ?
......................................................................
ดวงตะวันกลมโตค่อยๆ โผล่พ้นทิวเขา ทอแสงสีทองฉายฉาบทุ่งนาของแม่จ้อโพดา ซึ่งบัดนี้ต้นถั่วเหลืองระบัดใบเขียวขจี ที่แปลงลิบๆ ริมห้วยคือต้นกระเทียมกำลังออกใบงาม หมายถึงหัวกระเทียมลูกโตภายใต้ผืนดิน ดุจสินในนารอให้ชาวบ้านมาเก็บเกี่ยวภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“ เห็นพี่น้องในเมืองแม่สะเรียงเขาว่ากระเทียมที่โน่นไม่ค่อยงาม น้ำน้อย แล้วต้องซื้อปุ๋ยแพงอีก ” แม่เฒ่ากะเหรี่ยงกล่าวเป็นภาษาไทยกระท่อนกระแท่น
แสงอาทิตย์ทอทาบใบหน้ายับย่นบอกถึงประสบการณ์ของผู้พูด
“ แล้วนาที่นี่ใส่ปุ๋ยอะไรคะ งามดีจัง ? ”
“ ใส่ไม่ได้หรอกปุ๋ย ใส่แล้วทั้งข้าวทั้งถั่วมันออกเม็ดใหญ่เกิน ต้นล้มหมด ดินในนาก็พอแล้ว มีน้ำในห้วยมาเลี้ยงแค่นี้ก็โตกันกินไม่ไหว ”
“ หน้าแล้งแบบนี้น้ำห้วยมีพอให้ปลูกข้าวปลูกถั่วทุกปีเลยเหรอคะ ? ”
“ พอสิ ปีไหนมีน้ำเยอะเราก็ปลูกมากหน่อย ปีไหนมีน้อยเราก็แบ่งๆ กัน เหมือนที่คนเฒ่าคนแก่สอนมาว่า
ต่าชิอ่อปี่ ต่าโดะอ่อนอ
ของน้อยให้จิ้ม (จิ้มแบ่งกันกิน) ของมากให้แบ่ง ”
จริงอย่างที่แม่เฒ่าแห่งขุนเขาว่า หากเรารู้จักจะจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ และส่งเสริมการจัดการโดยชุมชน เราก็จะพบว่าฤดูแล้งมิใช่ปัญหา แต่คือวัฏจักรของฤดูกาลที่จะมาเยือนในทุกๆ ปี พร้อมกับดอกไม้ที่แบ่งบานและรอยยิ้มของชาวนา