วิถีสาละวิน

fas fa-pencil-alt
กรุงเทพธุรกิจ
fas fa-calendar
20 มีนาคม 2549

แม่น้ำสาละวิน: ดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

คนส่วนใหญ่รู้จักแม่น้ำสาละวินในฐานะดินแดนแห่งความลึกลับ ทว่าเบื้องหลังภาพสีเทานั้น สาละวินคือแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในแถบอินโดจีน อีกทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนสองฟากฝั่งมาเนิ่นนาน สิ่งเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปหากมีโครงการเขื่อนสาละวินเกิดขึ้น

ภาพ: มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

ปลาตัวใหญ่ 3 ตัวถูกมัดรวมกัน ก่อนที่ชายร่างกำยำสองคนจะแบกด้วยไม้ไผ่ไปไว้บนฝั่ง น้ำหนักของมันประมาณด้วยสายตาน่าจะมากกว่า 100 กิโลกรัม ปลาตัวใหญ่เป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนริมน้ำสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พวกเขาต่างรู้ดีว่าแม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยปลาขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ยากในลำน้ำสายอื่น การหาปลาจึงเป็นอาชีพหลักหล่อเลี้ยงคนย่านนี้มายาวนาน

“สาละวินไม่ใช่แม่น้ำลี้ลับ แถมมีแต่คนเข้ามาใช้ประโยชน์มากมาย บางคนเข้ามาตัดป่า บางคนก็เอาโครงการเขื่อนมาตั้ง” จันทร์ ปัญญาคม หญิงชาวบ้านจากบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง กล่าว

โครงการเขื่อนที่จันทร์กล่าวถึงนั้นเรียกเต็มๆ ว่า 'โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน' ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับพม่าเมื่อปีที่แล้ว มันกำลังนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของจันทร์และเพื่อนบ้านอีกหลายร้อยชีวิต พร้อมกับความสูญสลายของวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สั่งสมกันมา

จันทร์บอกว่าหากมีโอกาสพวกเธออยากจะบอกเล่าความสำคัญของแม่น้ำสาละวินให้คนทั่วไปรับรู้ เพราะนี่อาจจะเป็นทางเดียวที่ทำให้เห็นคุณค่าของสาละวินอย่างที่จันทร์รับรู้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“ต่อไปพวกเราอาจไม่ต้องหาปลา แต่ต้องไปทำงานก่อสร้าง ปลาโตๆ พวกนี้ก็คงไม่มี เพราะบ้านของพวกมันถูกทำเป็นเขื่อนไปหมดแล้ว” หญิงสาวกล่าว

ความหลากหลายของพันธุ์ปลา

แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดเดียวกับแม่น้ำโขงและแยงซีเกียง จากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต ไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน รัฐฉานและรัฐคะยาห์ของพม่า ก่อนจะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันทางตอนใต้ของพม่า แม้ว่าสาละวินไหลผ่านประเทศไทยเพียง 100 กว่ากิโลเมตร แต่เพียงเท่านี้ก็สร้างความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนบริเวณนั้นมาช้านาน

ความสมบูรณ์ลำดับแรกที่ซุกซ่อนอยู่ในสายน้ำคือพันธุ์ปลานานาชนิด ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ จากกองทุนสัตว์ป่าโลก ซึ่งทำการวิจัยพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวินมาตลอด 10 ปี โดยการเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลาในบริเวณต่างๆ ตลอดสายน้ำ พบว่าแม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงมาก ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารแห่งหนึ่งของโลก สิ่งเหล่านี้มีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณแม่น้ำสาขาทั้งไทยและพม่า

นักวิชาการคนเดิมยกตัวอย่างจากการดูพันธุ์ปลาในพื้นที่แคบๆ สามารถพบปลาได้มากราว 20-30 ชนิด ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ โดยรวมแล้วปลาในแม่น้ำสายนี้มีไม่น้อยกว่า 200 ชนิด

"ปลาเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของสายน้ำที่ดี เช่น ปลาถ้ำพบที่นี่ที่เดียวในโลก ทำให้แม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายมากกว่าแม่น้ำโขงเสียอีก เพราะพบปลาเฉพาะถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในจำนวนนี้มีปลาที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น ปลาหมูซึ่งมีขนาดเท่าปลาบึก ปลาเขี้ยวไก่ ปลาหว้า เป็นต้น ดังนั้นหากมีการสร้างเขื่อน ปลาเหล่านี้จะสูญหายทันที" ดร.ชวลิตกล่าว

ความหลากหลายของพันธุ์ปลานำไปสู่การออกแบบเครื่องมือจับปลาที่แตกต่างกันออกไป ดร.ชวลิตมองว่าเป็นการบ่งบอกถึงความมั่นคงทางอาหารสูง เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของโลก ความสมบูรณ์นี้ไม่เพียงหล่อเลี้ยงคนแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ปลาจากแม่น้ำสาละวินยังถูกแปรรูปส่งไปขายในกรุงเทพฯ และไปไกลถึงมาเลเซีย

ดร.ชวลิตพบว่าในแม่น้ำสาละวินมีปลาที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวประมงและพ่อค้าปลาราว 60 ชนิด โรงงานแปรรูปปลาและร้านอาหารหลายแห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดตากเป็นผู้รับซื้อหลัก

"การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศอินเดีย ในรัฐอุตรประเทศ มีการกั้นแม่น้ำทำให้น้ำแห้งไปหมด ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง พันธุ์ปลาพื้นเมืองหลายชนิดก็สูญหาย และอาจจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำสาละวิน"

ข้อมูลของดร.ชวลิตสอดคล้องกับผลวิจัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ที่ร่วมกันเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนตลอดสายน้ำสาละวิน โดยพบพันธุ์ปลา 70 ชนิด และมีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน 19 ชนิด ซึ่งสอดคล้องกันกับระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน

ธวัชชัย อมรใฝ่ยุทธนา นักวิจัยปกาเกอะญอ ให้ข้อมูลว่าวิธีการหาปลาหลายชนิดแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ตึกแค หรือการกั้นลำน้ำเพื่อจับปลา ชาวบ้านเชื่อว่าหากมีการกั้นลำห้วยเพื่อจับปลาแล้วไม่ปล่อยน้ำให้เป็นอิสระดังเดิม ต่อไปจะไม่มีปลากินอีก

“การเก็บข้อมูลทำให้เราเห็นความหลากหลายของชีวิตรอบๆ สาละวิน พวกเขาหาอยู่หากินกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน มีการแลกเปลี่ยนอาหารกันระหว่างคนสองฟากฝั่ง โดยไม่เลือกว่าเราอยู่ฝั่งไทย และเขาอยู่ฝั่งพม่า” ธวัชชัยกล่าว

พ่อหลวงชวลิต คงเพชรศักดิ์ นักวิจัยจากสบเมยกล่าวว่า “แต่ก่อนนี้มีปลาเยอะ ตัวใหญ่ ชาวบ้านเคยเห็นตัวเท่าลำเรือหางยาวก็มี เคยจับได้ใหญ่สุดประมาณร้อยกว่ากิโล แต่เดี๋ยวนี้ปลาเริ่มลดลง มีคนข้างนอกเข้ามาใช้เครื่องมือช็อตปลา ทำให้ปลาลดลง”

คุณค่าโบราณคดี

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในสายน้ำสาละวินหล่อเลี้ยงผู้คนสองฟากฝั่งมายาวนาน หลักฐานทางโบราณคดียืนยันชัดเจนว่า คนสมัยโบราณไม่เพียงใช้แม่น้ำเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังใช้แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางเดินเรือทำการค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ มายังพม่าและสยาม

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทำการศึกษาประวัติศาสตร์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมานาน พบข้อมูลสำคัญว่า ตั้งแต่สมัยล้านนาโบราณ สองฝั่งแม่น้ำสาละวินปรากฏบ้านเมืองของผู้คนที่หลากหลาย เช่น เมืองนาย เมืองไลคา เมืองสีป้อ ในเขตรัฐฉาน และเมืองยวมใต้ จ.แม่ฮ่องสอน เมืองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของล้านนา เพราะเป็นฐานกำลังในการช่วงชิงอำนาจ

ความหลากหลายของชุมชนทำให้สาละวินกลายเป็นเส้นทางสัญจรสายสำคัญแห่งหนึ่งในอินโดจีน บริเวณนี้พบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา พบตามเทือกเขาสูงด้านตะวันตกของไทย และด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน

“เคยขุดค้นโครงกระดูกในแม่น้ำสาขาของสาละวิน พบว่ามีอายุ 12,000 - 13,000 ปี สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้ดีว่าในประวัติศาสตร์นั้นมีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขามากมาย บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำสาละวินได้ดี” ผศ.ดร.รัศมี กล่าว

การสำรวจบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวินใน อ.แม่สะเรียง โดยนักธรณีวิทยาชาวเยอรมัน เมื่อปี 2509-2511 พบว่าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสาละวินอาจปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 10,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจทางโบราณคดีโดยทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส ค้นพบร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน

หากใครเข้าใจว่าสาละวินเป็นเพียงป่าเขาและที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ถือเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อน ผศ.ดร.รัศมีกล่าวว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความหมายในแง่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เกี่ยวโยงอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์ชุมชนโดยรอบ ดังเช่น การลงพื้นที่ศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในหมู่บ้านท่าตาฝั่ง หมู่บ้านเล็กๆ ริมน้ำสาละวิน พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก เช่น เครื่องเคลือบดินเผา ชิ้นส่วนกล้องยาสูบ เครื่องมือโกลนหินขัด เป็นต้น

“ข้อมูลทางโบราณคดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า แม่น้ำสาละวินเป็นกุญแจสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เป็นแหล่งพบปะของประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน พม่า มาเลเซีย น่าเสียดายหากร่องรอยอารยธรรมเหล่านี้จะสูญหายไปเพราะการสร้างเขื่อน” ผศ.ดร.รัศมี ย้ำ

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า แต่ไหนแต่ไรมาเคยคิดว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสภาพเหมือนเมืองที่เข้าถึงยาก ไม่ต่างจากไซบีเรียในประเทศรัสเซีย ความจริงแล้วแม่ฮ่องสอนมีความสำคัญทางโบราณคดีอย่างยิ่ง

ดร.ชาญวิทย์กล่าวเปรียบเทียบกับโครงการเขื่อนไตรโตรก ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง ก่อนจะมีการสร้างเขื่อนบริเวณนั้นเคยขุดค้นพบโลงศพมากมาย เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่ามีชุมชนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกนำไปพิจารณาก่อนการสร้างเขื่อน เพราะขณะนั้นผู้ปกครองจีนนิยมสร้างเขื่อน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง