ชาวสะเอียบวิจัย อาหารจากป่า ดงสักงาม หวั่นเขื่อนแก่งเสือเต้นทำลาย

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวประชาธรรม
fas fa-calendar
3 มิถุนายน 2547

แพร่/ชาวสะเอียบลุยวิจัยอาหารจากป่า และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน อ.บ.ต.สะเอียบหนุนเต็มที่ เพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ยกป่าดงสักงามเป็นแหล่งเรียนรู้เยาวชน ย้ำพร้อมปกป้องป่าดงสักงามจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และกลุ่มเยาวชน “ตะกอนยม”เตรียมศึกษาวิจัย 


 พืชและสัตว์ธรรมชาติในป่าดงสักงาม อุทยานแห่งชาติแม่ยม ที่เป็นแหล่งอาหาร และสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี เช่น ดอกก้าน เห็ดป่าหลากชนิด ผักหวาน ไข่มด ตัวต่อ ผึ้ง ด้วงต่างๆ หนอนไม้ไผ่ (รถด่วน) เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ แล้ว 


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการวิจัยดังกล่าวเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยมีกำหนดการทำงาน 1 ปี เยาวชนกลุ่มตะกอนยมและชาวบ้านที่เข้าหาของป่าจะร่วมกันสำรวจแหล่งอาหารธรรมชาติและสัตว์ขนาดเล็กจำพวกแมลงที่เป็นอาหาร เช่น ไข่มดแดง แมงมัน รับต่อ รวมถึงศึกษาการเจริญเติบโต ด้วยสภาพดิน สภาพอากาศ อุณหถูมิ และน้ำอย่างไร แหล่งที่พืชและสัตว์เหล่านั้นอยู่เป็นอย่างไร ความรู้ที่ได้ชาวบ้านจะนำไปใช้เพื่อการรักษาไม่ให้สูญพันธุ์ และสร้างสภาพแวดล้อมให้กับพืชและสัตว์เหล่านี้ได้มีการเจริญเติบโตได้ดีตามธรรมชาติ 


 นอกจากนั้นยังเก็บสถิติในการนำพืชผักพื้นบ้านที่มีปริมาณการนำออกมาจำหน่ายในแต่ละฤดูกาลมีปริมาณมากน้อยเพียงใด สร้างรายได้ให้กับแต่ละครอบครัวอย่างไร และภาพรวมเม็ดเงินเข้าหมู่บ้านเท่าใด ซึ่งจะเป็นสถิติที่สำคัญของ อบต.สะเอียบในการพัฒนารายได้ และอนุรักษ์ป่าอย่างถูกต้องยั่งยืนในอนาคต \


นายอุดม ศรีคำภา ชาวบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ กล่าวว่า เดิมสะเอียบเต็มไปด้วยป่าไม้สักหนาแน่นมาก ทั้งสัตว์ป่าเช่น วัวแดง ช้าง นกยูง เสือ แม่น้ำยมมีน้ำไหลตลอดทั้งปีมีปริมาณมาก หน้าแล้งยังสามารถล่องซุงขนาดใหญ่ได้ แต่ป่าก็ถูกทำลายไปในยุคสัมปทานทำไม้ แม้หมดยุคสัมปทานแล้วก็ยังมีขบวนการลักลอบทำไม้เถื่อนอยู่ ชาวบ้านบางส่วนก็มีอาชีพตัดไม้ จนกระทั่งป่าถูกทำลายไปมาก ชาวบ้านเริ่มเห็นผลกระทบของการทำลายป่า เพราะยังต้องพึ่งพิงอาหารจากป่า ทำให้ชาวสะเอียบเลิกตัดไม้เพื่อการค้า หันมาช่วยดูแลรักษาป่า ปรากฎว่าป่าฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 


 นายอุดมกล่าวต่อว่าจากบทเรียนในอดีต ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าสักงามที่เหลืออยู่ เมื่อมีโครงการจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงรวมตัวกันปกป้องอย่างเต็มที่ ขณะนี้เราก็ยังต้องเฝ้าระวังว่าจะมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นตลอดเวลา หัวหน้าโครงการวิจัยชาวบ้านกล่าวว่ากลุ่มตะกอนยม จะเป็นหัวเรี่ยงหัวแรงเก็บข้อมูลอาหารจากป่าในช่วง 12 เดือน เมื่อได้ข้อมูลมาสามารถมาสังเคราะห์ และนำไปเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าเพื่อเพิ่มปริมาณอาหาร และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้หากงานวิจัยดังกล่าวเสร็จจะมีการผลักดันให้เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย พร้อมกับย้ำว่าชาวบ้านต้องการให้ป่าดงสักงามที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน มากกว่าจะนำไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น.

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/06/01&s_tag=03pro12010647§ionid=0313&show=1&sk=2&searchks=''

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง