คนสะเอียบเผาหุ่น “หมัก” จับถ่วงน้ำ-ต้านสร้างแก่งเสือเต้น
แพร่ - ชาวแก่งเสือเต้นสาปแช่ง “หมัก” ไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ทั้งเผาหุ่นถ่วงน้ำ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ไปไม่กลับแน่ พร้อมเชิญสื่อมวลชนเข้าดูพื้นที่ป่าดงสักงาม แหล่งที่อยู่นกยูง พิสูจน์คำพูดนายกฯ ก่อนทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำยม
หลังจากที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยยืนยันในวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า ป่าดงสักงามในพื้นที่สร้างเขื่อนหมดไปแล้ว พร้อมทั้งนกยูงในป่าแห่งนี้มีอยู่ 3 ตัวโง่ๆ ซึ่งเป็นการเหยียดหยามธรรมชาติและไม่ดูข้อเท็จจริง ทำให้เกิดขบวนการคัดค้านไปทั่วในกลุ่มนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ล่าสุด ชาวบ้านใน ต.สะเอียบ จำนวน 500 คนนำโดยนายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ, นายเส็ง ขวัญยืน และแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ร่วมประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำยม ซึ่งเป็นพิธีกรรมของชาวภาคเหนือ โดยได้นิมนต์พระสงฆ์เข้าร่วมพิธีด้วยเป็นการสืบชะตาแม่น้ำและบวชป่าดงสักงาม
ในการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธีสืบ นาคะเสถียร โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต โดยมีนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชในพระบรมราชินูปถัมภ์, นายประนูญ สุวรรณภักดี รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการประกอบพิธีครั้งนี้ยังมีนายบำเพ็ญ บิณไทยสงค์ นายอำเภอสอง เดินทางมาร่วมประกอบพิธีด้วย
การจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำและบวชป่าดงสักงามของชาวสะเอียบ มีการอ่านแถลงการณ์ ยืนยันเจตนารมณ์ของชุมชนที่จะปกป้องสิทธิ์ของชุมชน และท้าทายให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกและยุติโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในรัฐบาลชุดนี้ ขณะเดียวกันได้มีการประกอบพิธีสาปแช่งนายสมัคร พร้อมทั้งเผาหุ่นและนำวิญญาณนายสมัคร ใส่หม้อดินถ่วงแม่น้ำยมไม่ให้ไปผุดไปเกิดอีกต่อไป
นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง กล่าวว่า การทำพิธีดังกล่าวถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีการดำเนินการกับผู้บริหารประเทศที่คิดสร้างเขื่อนมาโดยตลอด ซึ่งถ้ามีการสาปแช่งแล้ว มักพบว่ารัฐบาลชุดนั้นๆ ไปไม่รอด และเชื่อว่ารัฐบาลสมัคร ก็จะไม่รอดเช่นกัน จากการประท้วงที่ กทม.และแรงสาปแช่งจะทำให้นายสมัคร พังพินาศไปไม่สามารถกลับมาเป็นผู้นำประเทศได้อีก
นายประนูญ สุวรรณภักดี รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การคิดที่จะสร้างเขื่อนไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐบาลสมัคร แต่เกิดมาแล้วหลายรัฐบาล โดยทำเป็นโครงการใหญ่ แต่เห็นว่าไม่สามารถสู้กับแรงต่อต้านได้จึงย่อยโครงการและทำเป็นส่วนๆ ไป ในที่สุดเป็นการบริหารจัดการน้ำที่รัฐสามารถจัดการได้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักการเมืองเมื่อคิดแล้วก็กำหนดบนโต๊ะทำงานไม่ได้มาดูพื้นที่จริง ที่ประชาชนมีการบริหารจัดการอยู่ทำให้เกิดปัญหา ความจริงแล้วการพัฒนาไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต่อต้านเสมอไป แต่ทุกรัฐบาลยังคิดที่จะทำฝ่ายเดียวไม่คำนึงผลกระทบและสิทธิของชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการประกอบพิธีดังกล่าว ชาวสะเอียบได้เชิญ สื่อมวลชนสายสิ่งแวดล้อมเข้าดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและสภาพป่าดงสักงามพร้อมทั้งป่าเต็งรัง หรือป่าแพะ ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของนกยูง นอกจากนั้นยังนำสื่อมวลชนเข้าสัมผัสกับประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบใน อ.เชียงม่วน อ.สอง เพื่อให้เห็นความต้องการอย่างแท้จริงของชุมชนอีกด้วย