ตะกอนยม ต้นกล้าแกร่ง แก่งเสือเต้น
เพิ่งจะ 6 โมงครึ่งเท่านั้น แต่กาดมั่ว (ตลาด) บ้านดอนชัย ใกล้จะวายแล้ว
ถึงกระนั้น เธอและพลพรรคอีก 4-5 คนก็ยังชื่นมื่น สบายใจ กับการจับจ่ายอาหารเช้าและของกินเล่น
เช้าวันนั้นเธอถือเงินออกจากบ้านไปตลาดเพียง 40 บาทเท่านั้น แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า ภายใต้ความเพลิดเพลินกับการชื่นชมสินค้าและจับจ่ายนั้น ยังมีเงินเหลือติดกระเป๋ากลับบ้านอีกตั้ง 20 บาท
จะไม่ให้เหลือได้อย่างไร ในเมื่อกาแฟร้อนแก้วละ 5 บาท ข้าวราดหน้าหมูกรอบ มีหมูกรอบชิ้นขนาดพองามอยู่ตั้ง 8 ชิ้น 5 บาทเหมือนกัน และไข่พะโล้รสชาติเยี่ยม ประกอบด้วยไข่ไก่ 3 ฟอง เต้าหู้อีก 2 ชิ้น ราคา 10 บาทเท่านั้น เพื่อนโต๊ะข้างๆซื้อผักดองเค็มถุงใหญ่แล้วแบ่งให้ลองชิม บอกว่าถุงละ 5 บาทเหมือนกัน กินอิ่มจนพุงกาง
น่าเสียดาย ถ้าเราไปช่วงหน้าร้อน จะได้กินไข่มดแดง เปรี้ยวๆ มันๆ ผลิตผลจากป่าผืนงามที่ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ช่วยกันดูแลด้วย
เห็นแผงผักข้างๆ มีแต่ผักแปลกๆ เขียวๆ สดๆ น่ากินทั้งนั้น อยากซื้อกลับไปกินที่กรุงเทพฯใจจะขาด ยิ่งได้ยินแม่ค้าบอกราคาก็ยิ่งตกใจ ต้องถามกลับไปอีกรอบ เพราะกลัวฟังผิด ยอดฟักแม้ว มัดละ 2 บาทเท่านั้น แต่ละมัดก็มีแต่ยอดอ่อนงามๆ ไม่ใช่ใบแก่ๆ เหมือนที่เคยซื้อในกรุงเทพฯ และที่เคยซื้อนั้น มัดขนาดเดียวกันนี้ราคาปาเข้าไปตั้ง 30 บาท
แต่ไม่ได้ไปตลาดนานแล้ว ป่านนี้ไม่รู้ว่ามันขึ้นราคาไปหรือยัง
"ราคาเท่านี้แหละ ขายแพงกว่านี้ แถวนี้ใครจะซื้อ ขายเท่านี้ก็กำไร และอยู่ได้แล้ว" ป้าแม่ค้าคนขายผักบอก
แกบอกด้วยว่า ผักทั้งหมดไม่ได้ซื้อหามาจากไหน แต่ลูกหลานช่วยกันเก็บมาจากป่าบ้าง ปลูกเอาไว้ข้างบ้านบ้าง ต้นทุนแทบจะไม่มี ไม่รู้จะขายแพงไปทำไม แต่ก็กังวลอยู่ลึกๆ ว่า ถ้ารัฐบาลจะเอาเขื่อนแก่งเสือเต้น ป่าที่เคยไปเก็บผักก็คงไม่มี รวมทั้งบ้านที่แกอยู่ก็คงหายไปด้วย เพราะหมู่บ้านนี้ทั้งหมู่บ้านน้ำจะต้องท่วมทั้งหมด
นึกถึงวันแรกที่เดินทางมาที่นี่ ชาวบ้านบ้านสะเอียบจัดพิธีบวชป่าให้พื้นที่ป่าสัก เป็นพิธีการอย่างหนึ่งที่ต้องการปกป้องผืนป่า
ทุกคนในหมู่บ้าน ทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และพ่ออุ้ย แม่อุ้ย ปิดบ้านเข้าร่วมพิธีกันถ้วนหน้า สะดุดตาตรงที่เด็กวัยรุ่นชายหญิงกลุ่มหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีการครั้งนี้อย่างขมีขมัน
ใครคนหนึ่งบอกว่า เด็กเหล่านี้เป็นพวกตะกอนยม
เสร็จจากพิธีบวชป่า โดยขั้นตอนทางสงฆ์ พวกเราได้รับแจกผ้าเหลือง หรือจีวร สำหรับผูกลำต้นไม้สักในป่า เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าสักต้นนั้นผ่านการบวชแล้ว ป่าที่ผ่านพิธีบวชเป็นเสมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่อาจเข้าไปทำลายได้ ใครเข้าไปตัดหรือทำลายไม้ในป่าที่บวชแล้ว เชื่อกันว่าความบาปจะเทียบเท่ากับการฆ่าพระสงฆ์ 1 รูป
เราต้องเดินเข้าป่าลึก เพื่อนำจีวรไปห่มต้นสัก
ยิ่งเดินลึกเท่าใด ยิ่งเห็นว่าป่ายังอุดมสมบูรณ์ และรู้สึกขนลุกทุกครั้งที่ได้เอาผ้าเหลืองไปห่มต้นสัก
"ต้นนี้ผมมาถ่ายรูปทุกเดือนว่ามันโตแค่ไหนยังไง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ทำมา 3 ปีแล้ว" หนุ่มน้อยคนหนึ่งบอก เธอจำได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มตะกอนยม เดินทำโน่นทำนี่ไม่ได้หยุดระหว่างงานในตอนเช้า
ถ่ายไปทำไม เพื่อนคนหนึ่งถาม
"เพื่อจะอธิบายว่าแต่ละช่วงเวลามันจะเป็นอย่างไร หน้าฝนมันเขียว หน้าร้อนมันผลัดใบ หน้าหนาวมันเป็นแบบไหน จะได้รู้จะได้อธิบายให้คนอื่นรู้ได้ ใครมาดูป่าหน้าแล้ง ชอบพูดไปเรื่อยว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะเขาไม่รู้ธรรมชาติของป่าที่นี่ดี" หนุ่มน้อยคนเดิมอธิบาย
ออกมาจากป่าเย็นวันนั้น หลังอาหารเย็น ได้แวะไปเยี่ยมบ้านหลังเล็กริมถนน หน้าบ้านหลังนั้นมีป้ายขนาดใหญ่พองาม บอกว่าเป็นที่ทำการของตะกอนยม กลุ่มเยาวชนที่จะทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักในอุทยานแห่งชาติแม่ยมเท่าชีวิต
วุฒิชัย ศรีคำภา หนุ่มน้อยวัย 20 ปีเศษๆ ซึ่งเจอกันในป่าเมื่อตอนกลางวัน นั่งรออยู่ เขายิ้มทักทายผู้ไปเยือน เขาเริ่มต้นเล่าเรื่องความเป็นมาของกลุ่มตะกอนยมอย่างน่าทึ่ง
"ตะกอนยมตั้งมาเมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่รัฐบาลครั้งนั้นจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตอนนั้นผมยังเด็กมาก ยังไม่ขึ้น ป.1 ด้วยซ้ำ แต่ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เห็นพวกพี่ๆ ตะกอนยมในหมู่บ้านทำงานมาตลอด ผมเข้ามาร่วมกิจกรรมกลุ่มเมื่อตอน ม.3 ได้ไปค่าย พี่ๆ สอนให้รู้เรื่องป่า สมัยนั้นแม้ว่าผมจะเป็นเด็กในพื้นที่ก็จริง แต่ผมไม่รู้เรื่องป่าเลย และเมื่อรู้แล้วตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้ผมเรียนรู้เพิ่มเติมตลอด จนเรียนจบชั้น ม.6 ผมตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อในเมืองหรือที่กรุงเทพฯ เพราะคิดว่า องค์ความรู้ในบ้านเกิดของผมยังมีให้เรียนอีกมาก" วุฒิชัยบอก
ปัจจุบันนี้เยาวชนหนุ่มสาวเกือบมากกว่าครึ่งใน ต.สะเอียบ เป็นสมาชิกกลุ่มตะกอนยม พวกเขาต่างมีธงร่วมกันคือ ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
วุฒิชัยบอกว่า ก่อนที่จะต่อต้าน เพื่อจะปกป้องอะไร พวกเขาจะต้องรู้ก่อนว่า สิ่งที่พวกเขาจะปกป้องนั้นเป็นอย่างไร ต้องเรียนรู้อย่างถ่องแท้ เรื่องที่มาที่ไปแห่งการเกิดชุมชนของพวกเขา เรื่องทรัพยากรทั้งหมดในพื้นที่ กระบวนการและแนวทางการต่อสู้ ถูกถ่ายทอดจากผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และพี่ๆ ตะกอนยมรุ่นแล้วรุ่นเล่า
"พวกพี่ก็เห็นกันด้วยตาตัวเองแล้วว่า ป่าสักบ้านผมมันอุดมสมบูรณ์แค่ไหน หมดจากตรงนี้ไปคงหาจากที่อื่นไม่ได้อีก พวกผมอาจจะยังเด็ก หากจะพูดเรื่องการต่อสู้ แต่พ่อแม่พี่น้องของเราสู้เรื่องนี้มาตลอด เราก็จะช่วยพวกเขาสู้เรื่องนี้ สู้จนกว่าจะสู้ไม่ได้แหละครับ"
ตะกอนยมรุ่นใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยอีกคน อย่างแคน หรือชาติชาย ธรรมโม ซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกล ยิ้มชอบใจกับเรื่องที่น้องพูด
"เขื่อนจะทำให้ชุมชนเราแตกสลาย ทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่ารัฐจะเอายังไงกันแน่ ความคิดเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีปีละ 2 ครั้ง คือหน้าแล้งกับหน้าฝน แต่ถึงแม้จะไม่มีเขื่อน ชุมชนก็อาจจะล่มสลายได้เหมือนกัน หากเด็กรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ และทำงานในเมืองกันหมด ปล่อยให้คนแก่เฝ้าบ้าน แบบนี้มันอาจจะทำให้ชุมชนล่มสลายเร็วกว่าการสร้างเขื่อนด้วยซ้ำ" แคนบอกเสียงเครียด
เขาบอกด้วยว่า ถ้าตะกอนยมยังอยู่แบบนี้ เขายังรู้สึกอุ่นใจว่าชุมชนของเขาจะไม่ล่มสลายไปง่ายๆ ถึงกระนั้นก็ไม่ได้วางใจ ตะกอนยมทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ยังคงมุ่งมั่นที่จะสั่งสมองค์ความรู้ ทั้งใหม่และเก่า ทั้งข้างในและนอกพื้นที่
ความรู้จะเป็นเหมือนเกราะเพชรอันมั่นคงที่จะทำให้พวกเขาสามารถปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนได้
อาจจะลำบากหน่อยและเหนื่อยบ้าง หากต้องสู้ความอยาก ความโลภอย่างไร้เหตุผล ของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way01290651&day=2008-06-29§ionid=0137